9 กลยุทธ์เด็ด “สอนการบ้านลูก” ให้สนุกและสำเร็จ!!

WM

สำหรับเด็กส่วนใหญ่จะชอบมองว่า การทำการบ้านเหมือนเป็นการแบกรับภาระอันหนักอึ้ง

ในสถานการณ์ที่โรคโควิด-19 กำลังระบาดอย่างหนัก ทำให้โรงเรียนต้องหยุดเรียนตามมาตรารการป้องกันโรคระบาด ลูก ๆ จึงต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน และจะต้องทำการบ้านส่งคุณครูอีกด้วย ในช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องคอยรับบทเป็นคุณครูที่ต้องคอยสอนการบ้านให้ลูกกันใช่ไหมคะ ซึ่งอีกปัญหาที่พบกันอยู่เป็นประจำคือ ในการทำการบ้านกับคุณพ่อคุณแม่นั้น ลูกขอคุณมักจะอิดออด ไม่ยอมทำ และในบางครั้งที่ทำการบ้านก็จะต้องเสียน้ำตากันไปบ้าง

การสอนการบ้านลูก เป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะการทำการบ้านนอกจากจะเป็นการทบทวนความรู้จากโรงเรียนแล้ว ยังเป็นการฝึกในเรื่องของความรับผิดชอบของลูกด้วย บ่อยครั้งเราพบว่า ลูกของเราไม่อยากทำการบ้าน นั่นเป็นเพราะเราสอนผิดวิธีหรือเปล่า ลองสังเกตดูว่าเราเร่งให้เขาทำการบ้านให้เสร็จไว ๆ หรือดุเขาเวลาที่ตอบผิดไหม ถ้าใช่ คุณพ่อคุณแม่ต้องเปลี่ยนวิธีการสอน แล้วมาดูใหม่ว่าสอนแบบไหนลูกเราถึงอยากทำการบ้าน

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/ddimitrova-1155171/

1.เข้าใจ
คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจจะกำลังวิตกกังวลว่า ลูกจะเรียนได้ช้า เรียนไม่เก่ง ไม่ทันเพื่อน จนบางที ก็เผลอหงุดหงิด หรือไม่พอใจที่ลูกไม่ยอมทำการบ้าน อาจเผลอดุว่า หรือเอ็ดตะโรใส่ลูกแรง ๆ กับพฤติกรรมที่ไม่ได้ดั่งใจ แต่การจะพิชิตใจลูกให้อยากทำการบ้านได้สำเร็จนั้น ต้องเริ่มจากตัวคุณพ่อคุณแม่ก่อน ที่จะต้องเข้าใจในความเป็นเด็ก ที่ติดเล่นเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นห้ามหงุดหงิด ตำหนิ หรือดุด่า ควรสงบสติอารมณ์ แล้วค่อยพูดโน้มน้าว “ทำการบ้านเสร็จแล้วค่อยไปเล่นนะลูก” เป็นการกระตุ้นให้ลูกรีบทำการบ้านให้เสร็จจะได้ไปเล่นไว ๆ

2.ใกล้ชิด
ไม่ควรปล่อยให้ลูกทำการบ้านตามลำพัง ในระหว่างที่ลูกทำการบ้านอยู่นั้น ควรอยู่ใกล้ ๆ เพื่อคอยสอน คอยตรวจดูว่าลูกทำการบ้านครบถ้วน ถูกต้อง หากลูกมีคำถาม หรือมีข้อสงสัย จะได้ช่วยอธิบายเพิ่มเติมได้ อีกทั้งการที่ คุณพ่อหรือคุณแม่อยู่ใกล้ชิดแบบนี้ ยังจะได้สังเกตด้วยว่า ลูกทำการบ้านได้ถูกผิดมากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้าลูกทำไม่ได้ หรือทำผิดอยู่บ่อยครั้ง ก็อาจจะเป็นได้ว่าตอนอยู่โรงเรียน ลูกอาจจะไม่ได้ตั้งเรียน ถ้าเป็นเช่นนี้ก็อาจจะต้องคุมเข้มลูกให้มากขึ้นกว่าเดิม

3.กระตุ้น
อาจจะต้องทำข้อตกลงกับลูก เพื่อสร้างแรงจูงใจหรือเพื่อกระตุ้นให้ลูกอยากทำการบ้าน นั่นก็คือการนำสิ่งที่ลูกชอบมาเป็นตัวกระตุ้น “แม่รู้นะว่าลูกอยากดูการ์ตูน ไว้ทำการบ้านเสร็จก่อนเดี๋ยวแม่เปิดให้ดูเลย” หรือ “อยากเล่นเกมก็ต้องทำการบ้านให้เสร็จก่อนนะ” แบบนี้รับรองว่าลูกจะต้องรีบกระตือรือร้นทำการบ้านให้เสร็จอย่างรวดเร็ว

4.ชมเชย
เมื่อลูกมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเอง ขยันทำการบ้านให้เสร็จตามที่ตกลงกับคุณแม่ไว้ อาจจะใช้เทคนิคพิชิตใจลูกด้วยคำชมเชยเพื่อให้รู้ว่า ภูมิใจในตัวลูกอยู่ไม่น้อย เช่น “เก่งจังเลยลูก” หรือ “วันนี้ตั้งใจทำการบ้านดีมากลูก” หรือ “แม่ภูมิใจในตัวหนูที่สุด” แต่ไม่ควรพูดจาในด้านลบ ในเชิงตำหนิลูกว่าโง่ ว่าขี้เกียจ ว่าไม่ได้ดั่งใจ เพราะนอกจากไม่ช่วยอะไรแล้ว ยังสะท้อนภาพที่คุณแม่มองลูกว่าเป็นอย่างไรด้วย เมื่อลูกได้ยินบ่อย ๆ ลูกจะเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น และมันก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของลูกไปจริง ๆ

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/klimkin-1298145/

5.ฝึกฝน
ให้ความสำคัญกับเรื่องของการฝึกฝน โดยการจะฝึกให้ลูกสนใจทำการบ้านนั้น อาจต้องใช้เวลาสักหน่อย งานนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องอดทน และไม่ใจอ่อนกับลูกเพราะเมื่อลูกได้รับการฝึกอย่างสม่ำเสมอจนเป็นกิจวัตร มีการจัดตารางประจำวันที่ชัดเจน เลือกเวลาทำการบ้านที่เหมาะสมให้กับลูก รวมทั้งช่วยลูกวางแผน การทำการบ้านในวันที่มีการบ้านหลายวิชา เชื่อว่าเมื่อลูกได้รับการฝึกฝนอย่างเป็นระบบ ลูกก็จะรู้หน้าที่ของตัวเอง และมีวินัยในการทำการบ้านได้ไม่ยาก

6.ใส่ความสนุก
สอดแทรกการ์ตูน นิทาน หรือ เรื่องที่ลูกสนใจลงไป เพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาการบ้าน ให้ลูกรู้สึกสนุกขึ้น หรือ อาจสอดแทรกการเล่นเกมสนุกเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น “มาแข่งกันดีกว่า”, “ดูซิว่าใครจะตอบถูกมากกว่ากัน” หรือ “ใครจะบวกเลขเหล่านี้เร็วกว่ากัน”

7.อารมณ์เสียให้หยุดสอน
เมื่อเริ่มรู้สึกอารมร์คุกรุ่น หงุดหงิด ว่าทำไมลูกทำไม่ได้เสียที ต้องหยุดสอน และเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอย่างอื่น ๆ กับลูกแทน เช่น เล่นเกม วาดภาพระบายสี เมื่ออารมณ์ดีทั้งสองฝ่าย ค่อยเริ่มใหม่

8.เลิกตำหนิติเตียน
ไม่ว่าลูกของเราจะทำการบ้านช้า หรือทำผิด ก็ไม่ควรตำหนิลูก เพราะอาจทำให้เขารู้สึกแย่และกดดัน ส่งผลให้ปิดกั้นตัวเอง จากการเรียนรู้ได้ การที่เด็กอยากเริ่มทำการบ้าน ต้องเข้าใจก่อนว่า การบ้านคือ การเอากลับมาทำที่บ้านที่มีพ่อแม่อยู่ด้วย เพื่อให้เด็กได้ใช้เวลากับครอบครัว เพราะการที่เด็กจะเก่งหรือไม่เก่งนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับโรงเรียนอย่างเดียว แต่อยู่ที่ครอบครัวว่าให้เวลากับลูก และใส่ใจพวกเขาดีแค่ไหน ดังนั้น เราควรที่จะให้กำลังใจ เช่น ถ้าลูกระบายสีออกนอกเส้น พ่อกับแม่ไม่ควรบอกว่าระบายแบบนี้ไม่สวยหรือพูดว่า “อย่าระบายออกนอกเส้นสิลูก” ควรบอกเขาว่า “กล้ามเนื้อมือหนูยังไม่แข็งแรงเหมือนแม่ ไว้เราฝึกกันไปเรื่อย ๆ เนาะ เดี๋ยวมันจะสวยขึ้นเอง”

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/finelightarts-890049/

9.สอนให้คิด
การมีคุณพ่อคุณแม่ช่วยถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ช่วยอย่างไรให้ลูกของเราคิดได้โดยที่ไม่ต้องบอกเฉลยนี่สิยาก เข้าใจว่าคุณพ่อคุณแม่บางคน อยากให้ลูกทำการบ้านเสร็จไว ๆ เลยรีบเฉลยคำตอบด้วยการถาม “ตอบข้อนี้ใช่ไหม ?” เด็กอาจจะตอบใช่ แต่ยังไม่ทันคิด ยิ่งในอนาคตที่ต้องเจอกับการบ้านที่ยากขึ้นแล้วทำไม่ได้ เขาก็จะขอให้เราช่วยอีก และถ้าวันไหนที่ต้องทำเองคนเดียวแล้วคิดไม่ออก เขาก็จะรู้สึกว่าไม่อยากทำ นั่นเป็นเพราะเราที่ไม่สอนให้เขาคิดตั้งแต่แรก ดังนั้น เราควรสอนให้เขาคิดเองตั้งแต่ยังเด็ก เริ่มจากเปลี่ยนการตั้งคำถามแล้วคิดไปพร้อม ๆ กัน เช่น “แม่ให้เงิน 15 บาท หนูซื้อขนมไป 5 บาท จะเหลือเงินกี่บาท” โดยที่นับนิ้วไปพร้อมกัน หรือลองหาสื่อการสอนมาช่วยคิดให้เห็นภาพมากขึ้นก็ได้

ทั้งหมดที่ DooDiDo นำมาฝากในวันนี้เป็นการสอนการบ้านลูกให้สำเร็จ ให้ลูกทำงานได้เสร็จโดยที่ไม่ต้องเสียน้ำตา และคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องหงุดหงิดและอารมณ์เสียอีกด้วย ซึ่งวิธีเหล่านี้ไม่ใช่แค่สอนให้ลูกได้ทำการบ้านให้เสร็จแบบมีความสุขเท่านั้น แต่ยังเป็นการได้ใช้เวลาร่วมกับลูก ให้คุณพ่อคุณแม่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไปกับลูกได้ดีอีกด้วยนะคะ

ขอบคุณแหล่งที่มา : www.mamykid.com