8 วิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเมื่อลูกพูดคำหยาบ!!

WM

เด็กวัย 1-3 ปี เป็นวัยหัดพูดจึงมักจะใช้คำพูดต่างๆ โดยไม่รู้ความหมายที่ชัดเจน

คุณพ่อคุณแม่หลายบ้านคงจะเจอกับปัญหาที่ลูกของเรานั้นพูดไม่เพราะ และในบางครั้งลูกก็พูดคำหยาบออกมาด้วย เนื่องจากเด็ก ๆ ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าคำไหนควรพูดหรือไม่ควรพูด การที่ลูกพูดคำหยาบนั่นเพราะลูกเลียนแบบคำพูดมาจากในบ้านหรือคนใกล้ชิด ดังนั้นหากไม่อยากให้ลูกของคุณพูดคำหยาบ คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังในเรื่องของคำพูดให้มากขึ้นค่ะ

เด็กวัย 1-3 ปี เป็นวัยหัดพูดและกำลังเรียนรู้ภาษา จึงมักจะใช้คำพูดต่าง ๆ โดยไม่รู้ความหมายที่ชัดเจน บางทีก็ไปรับคำหยาบคายมาเลียนแบบ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรรับมือด้วยความสุภาพ และค่อย ๆ สอนให้ลูกรู้ว่าคำใดไม่ควรพูด ด้วยท่าทีที่จริงจังแต่อ่อนโยนนะคะ เพื่อไม่ให้หนูน้อยสูญเสียความมั่นใจในการหัดพูดจาประสาเด็กค่ะ วันนี้เรามี 8 เทคนิค ปรับพฤติกรรมลูกพูดคำหยาบ มาดูกันค่ะ

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/nastya_gepp-3773230/

1. พ่อแม่และคนใกล้ชิดต้องระวังคำพูด
สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่ในบ้านต้องระวัง ไม่พูดคำหยาบให้เด็กได้ยินเป็นอันขาด เพราะลูกจะไม่เข้าใจว่าทำไมผู้ใหญ่พูดได้ แต่เด็กพูดแล้วกลับถูกลงโทษ อาจทำให้ลูกกลายเป็นคนไม่มีเหตุผลในอนาคตได้ ลองหาแหล่งที่มาของคำหยาบเหล่านั้น แล้วพยายามกันลูกออกจากคน หรือแหล่งนั้น ๆ เพราะสิ่งแวดล้อมมีผลกับพฤติกรรมของเด็กด้วยเช่นกัน

2. ระวังสื่อที่ลูกดู
คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจ เลือกรายการโทรทัศน์ที่เหมาะกับเด็กเล็ก หรือควรเลือกดูรายการที่ไม่มีคำสบถหรือคำไม่สุภาพแทน

3. หากลูกพูดคำหยาบ ต้องสอนให้พูดคำอื่นแทน
เด็กยังไม่รู้ว่าคำไหนหยาบหรือไม่หยาบ ดังนั้นเมื่อลูกพูดคำหยาบคุณพ่อคุณแม่ต้องชี้เป็นคำๆ ไปว่าคำนี้พูดไม่ได้ และสอนด้วยว่าควรใช้คำใดแทน แล้วให้ลูกหัดพูดตาม เช่น หากลูกคำว่า “ตีน” อาจสอนลูกว่าคำนี้ไม่เพราะ พูดแล้วไม่น่ารักเลย พูดแล้วพ่อแม่ไม่ชอบ ให้พูดคำว่า “เท้า” แทน แล้วสอนให้ลูกพูดตาม

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/stocksnap-894430/

4. ห้ามเผลอหัวเราะชอบใจ
อย่าเผลอหัวเราะชอบใจเมื่อเด็กพูดคำแปลกๆ ที่เป็นคำหยาบออกมา ยิ่งคนรอบข้างหัวเราะชอบใจ เป็นการเสริมพฤติกรรมให้เด็กพูดอีกเพราะคิดว่าถูกต้องเหมาะสมแล้ว

5. เมื่อลูกไม่พอใจ ให้พูดคำว่า “โกรธแล้วนะ”
บางครั้งลูกเรียนรู้ว่าการใช้คำหยาบเป็นการระบายอารมณ์ เพราะเห็นตัวอย่างจากผู้ใหญ่หรือจากเด็กคนอื่นที่เวลาไม่พอใจก็สบถคำหยาบออกมา คุณพ่อคุณแม่ควรจะสอนให้เด็กใช้คำอื่นที่น่าฟังกว่าแทน เช่น เวลาโกรธ ก็ให้พูดว่า “โกรธแล้วนะ” แทน

6. ไม่ดุด่าเมื่อลูกพูดคำหยาบ
หากพูดคำหยาบเพื่อเรียกร้องความสนใจ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรแสดงสีหน้าตกใจหรือไปจ้ำจี้จ้ำไชดุด่าลูก หรือลงโทษรุนแรงจะทำให้ลูกเสียความเชื่อมั่นในตนเอง บางครั้งย้ำคิดแต่คำนั้น และเลิกพูดคำนั้นไม่ได้ ยิ่งพ่อแม่ดุมากยิ่งเลิกพูดไม่ได้

7. ลูกกำลังทดสอบอำนาจของคำหยาบ
สำหรับเด็กเล็ก ๆ การพูดคำหยาบเป็นการทดสอบอำนาจของคำนั้น และเด็กกำลังเรียนรู้เกี่ยวกับอำนาจของถ้อยคำ หากรู้ว่าลูกกำลังทดสอบอยู่ คุณพ่อคุณแม่อาจทำเป็นเพิกเฉย ให้เขารู้สึกว่าคำหยาบไม่มีความหมายสำหรับพ่อแม่ แล้วลูกจะเลิกพูดไปเอง เช่น หากลูกเรียกคุณพ่อคุณแม่ด้วยคำหยาบไม่ควรหันไปมอง เด็กจะเรียนรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและไม่มีใครสนใจ

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/stocksnap-894430/

8. อย่าคาดคั้นให้ลูกไม่พูดอีก
อย่าทำให้ลูกเครียด โดยการไปคอยกังวลถามย้ำ คาดคั้นให้ลูกสัญญาว่าจะไม่พูดอีก การย้ำและการห้ามลูก ยิ่งเป็นการไปเพิ่มความสนใจในคำนั้นให้แก่ลูกมากขึ้น ทำให้ลูกจดจำและพูดคำนั้นอยู่เรื่อย ๆ บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจต้องปล่อยวาง และลองเพิกเฉยกับคำนั้น ลูกจะค่อย ๆ เลิกพูดได้เอง

ทั้ง 8 วิธีที่ DooDiDo นำมาฝากคุณพ่อคุณแม่ในวันนี้ เป็นวิธีที่สามารถปรับเปลี่ยนไม่ให้ลูกของคุณพูดคำหยาบ เพราะเด็กเล็ก ๆ ไม่ได้จะพูดคำหยาบได้เอง จุดเริ่มต้นมาจากเขาได้ยินได้ฟังแล้วนำมาพูดตามนั่นเองค่ะ คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นตัวอย่างให้กับลูก เพราะเด็ก ๆ จะเลียนแบบพฤติกรรมจากคนใกล้ตัวของเขา ถ้าอยากให้ลูกพูดเพราะพ่อแม่ก็ต้องพูดเพราะก่อนนะคะ

ขอบคุณแหล่งที่มา : www.rakluke.com