5 เรื่องอันตรายจากโลกโซเชียลยุค New Normal ที่พ่อแม่ต้องระวัง!

WM

โซเชียลมีเดียคือต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวได้

ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตของคนเรามากขึ้น ทำให้สื่อโซเชียลนั้นเข้าถึงเราอย่างง่าย ไม่ว่าจะเป็นวัยไหนก็มีสื่อออนไลน์อยู่ในมือกันทั้งนั้น โดยเฉพาะกับลูกๆ ของคุณพ่อคุณแม่ที่ยังอยู่ในวัยเด็กนั้น ยังไม่สามารถแยกแยะสิ่งต่างๆ ได้ว่าดีหรือไม่ดีจากสังคมออนไลน์ อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย คือตัวแปรสำคัญที่เปลี่ยนโลกที่เราเคยรู้จักให้กลายเป็น New Normal เต็มรูปแบบ

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาทาง We are Social ได้ปล่อยรายงาน Digital Thailand ประจำปี 2020 พร้อมตัวเลขทางสถิติที่น่าตกใจ พวกเขาพบว่าในประเทศไทยมียอดผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงถึง 52 ล้านคน โดยแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุดสำหรับคนไทยได้แก่ Facebook Youtube และLine ตามลำดับ ล่าสุดยังมีแพลตฟอร์มน้องใหม่ที่ได้รับความนิยมสูงในเวลาอันสั้นอย่าง Tiktok อีกด้วย

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://unsplash.com/@kellysikkema

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดี กรมสุขภาพจิต กล่าวว่าข่าวสาร ภาพ สื่อ และเรื่องเล่าในโซเชียลมีเดียคือต้นเหตุสำคัญที่ทำให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมและการใช้ภาษาที่รุนแรงมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรช่วยเหลือและแนะนำลูกๆ ให้รู้เท่าทันอันตรายในโลกโซเชียลเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับข้อมูลมหาศาลอย่างรอบคอบและมีสติ วันนี้ได้รวบรวมอันตรายทั้ง 5 จากโลกโซเชียลยุค New Normal ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้ามมาฝากกัน ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลย

1. ข้อมูลล้น
แม้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียจะเติบโตแบบก้าวกระโดด จนมีข้อมูลความรู้มากมายที่ถูกสร้าง พัฒนา และป้อนเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่ข้อมูลขนาดใหญ่ก็ไม่อาจนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่เพราะข้อมูลมีปริมาณมากจนล้น ทำให้การกรองข้อมูลทำได้ยาก

2. ข่าวสารไร้ประโยชน์
ปัญหาที่ต่อเนื่องมาจากข้อมูลที่มีมากจนล้นก็คือ สัดส่วนของข่าวสารไร้ประโยชน์ที่มีปริมาณมากจนบดบังข่าวสารที่มีประโยชน์ ส่งผลให้เด็ก ๆ หลงทางไปกับข้อมูลที่สนับสนุนพฤติกรรมเชิงลบ เช่น การเสพข่าวที่เต็มไปด้วย Hate Speech หรือความเกลียดชัง การคอมเมนท์คนอื่นด้วยถ้อยคำรุนแรง การเลียนแบบพฤติกรรมของคนในโลกโซเชียล ไปจนถึงการท้าทายกันให้ทำกิจกรรมที่เป็นอันตราย เช่น การเล่นไฟ หรือกินอาหารแปลกๆ เป็นต้น

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://unsplash.com/@anniespratt

3. โฆษณาหรือข้อมูลชวนเชื่อ
ไม่ใช่แค่เด็กๆ และครอบครัวเท่านั้นที่เข้ามาใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าใครก็เข้ามาหาผลประโยชน์ในโลกออนไลน์กันทั้งนั้น ดังนั้นเด็กๆ จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาวิจารณญาณของตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้หลงเชื่อ หลงใช้ หรือหลงทำตามโฆษณาหรือข้อมูลชวนเชื่อจนเกิดผลร้ายกับตัวเอง

4. ข้อมูลหลอกลวงจากผู้ไม่หวังดี
นอกจากจะต้องระมัดระวังตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของโฆษณาชวนเชื่อแล้ว เด็ก ๆ ยังต้องรู้จักระมัดระวังตัวจากผู้ไม่หวังดีในโลกโซเชียลอีกด้วย คนกลุ่มนี้มักจะมากับข้อมูลปลอมที่ชวนให้เชื่อและไว้ใจ ก่อนจะพยายามเรียกเอาสิ่งที่พวกเขาต้องการหรือที่น่ากลัวที่สุดก็คือการขอนัดเจอกันในโลกความเป็นจริงเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย จิตใจ และบางครั้งอาจรุนแรงถึงชีวิต

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://unsplash.com/@emily_wade

5. คลิกผิดชีวิตเปลี่ยน
ปัจจุบันแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มยอดนิยมอย่าง Facebook และ Youtube ได้พัฒนาระบบอัลกอริทึมจนสามารถแยกประเภทและรวบรวมข้อมูลที่ใกล้เคียงกับความสนใจมาเสิร์ฟให้ถึงหน้าจอหลักโดยไม่ต้องร้องขอ แต่ปัญหาของระบบนี้ก็คือถ้าเด็ก ๆ ของเราเผลอกดเข้าไปดูข้อมูลที่รุนแรง ไม่เหมาะสม หรือเป็นอันตรายต่อความคิด ความเชื่อ และส่งเสริมพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ข้อมูลแบบเดียวกันก็จะถูกรวบรวมและส่งมาหา กลายเป็นกับดักที่ทำให้เด็ก ๆ ต้องติดอยู่ในวังวนของข้อมูลไร้คุณภาพ

ในยุค New Normal เด็กๆ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้จากสื่อโซเชียล เพื่อการเรียนรู้และค้นหาสิ่งใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาความรู้ให้ตัวพวกเขาเอง DooDiDo คุณพ่อคุณแม่ควรจะดูแลลูกในเรื่องของการใช้สื่อโซเชียลทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกต้องเจออันตรายจากสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ค่ะ

ขอบคุณแหล่งที่มา : www.yournextuyoung.com