5 เคล็ดลับในการเลี้ยงลูกหมาตัวใหม่ให้แข็งแรงตามหลักวิทยาศาสตร์

WM

การเลี้ยงลูกสุนัขตัวใหม่นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าของจะต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ

เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมากเมื่อคุณมีสามาชิกใหม่ตัวน้อย ๆ มาสร้างสีสันให้กับบ้าน แต่การที่น้องหมาตัวน้อยเข้ามาเลี้ยงนั้น เป็นเรื่องที่เราต้องใส่ใจให้มากเพราะในช่วงแรกที่น้องเข้ามาอยู่ด้วย น้องอาจจะยังปรับตัวไม่ได้ การเลี้ยงดูลูกสุนัขหลังจากหย่านมแล้ว เป็นช่วงที่คนเลี้ยงต้องให้ความสำคัญให้การบำรุงและดูแลลูกสุนัขเป็นอย่างยิ่งค่ะ

หลายคนอาจจะกำลังมองหาลูกสุนัขสักตัวมาเลี้ยง แต่การเลี้ยงลูกสุนัขนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าของจะต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะช่วงวัยนี้เป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้และจดจำในทุก ๆ สิ่ง ซึ่งจะติดตัวสุนัขไปจนกระทั่งเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ช่วงอายุที่เราสามารถแยกลูกสุนัขจากแม่สุนัขมาเลี้ยงที่ดีที่สุดก็คืออายุ 8-10 สัปดาห์ขึ้นไป คือ หลังจากหย่านมแล้ว สำหรับสิ่งสำคัญที่จะทำให้สุนัขเติบโต มาเป็นสุนัขที่มีสุขภาพทั้งกายและสุขภาพใจดีนั้น ก็มีเคล็ดลับง่าย ๆ ที่เจ้าของสามารถทำตามได้ดังนี้

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/eminens-4359359/

1.อาหารการกิน
การตามใจลูกสุนัขให้กินอาหารร่วมโต๊ะหรือกินเศษอาหารคนที่กินเหลือจากโต๊ะตั้งแต่เด็ก ๆ อาจทำให้สุนัขติดนิสัยกินอาหารคนได้ อีกทั้งอาหารที่คนกินบางชนิด ก็ไม่เหมาะสมกับสุนัข และอาจก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อสุนัขได้ เจ้าของควรเลือกให้อาหารสำหรับลูกสุนัขที่แบ่งตามขนาดของพันธุ์เป็นหลัก เพราะมีการคำนวณสารอาหารและพลังงานตามความต้องการของลูกสุนัขอย่างเหมาะสมและครบถ้วนแล้ว

2.การออกกำลังกาย
การพาลูกสุนัขออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ดี แต่ควรทำให้เหมาะสมกับช่วงวัยและสายพันธุ์ของสุนัขด้วย โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์ใหญ่ การออกกำลังกายที่รุนแรงเกินไปนั้น อาจมีผลเสียต่อตัวของสุนัขได้ อย่างปัญหากระดูกและข้อต่อ ซึ่งอาจไปรบกวนการเจริญเติบโตของลูกสุนัขในช่วงแรกได้ และอาจทำให้เกิดผลเสียตามมาในระยะยาว การออกกำลังกายที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดอันตรายกับลูกสุนัขได้ทุกสายพันธุ์เช่นเดียวกัน ในทางตรงกันข้าม การออกกำลังกายที่น้อยเกินไปหรือไม่เพียงพอ ย่อมทำให้การพัฒนาการของร่างกายสุนัขนั้นไม่สมบูรณ์ ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะพาลูกสุนัขเดินเล่นนั้น คือ อย่างน้อยวันละ 15-20 นาที สำหรับลูกสุนัขที่มีอายุ 16 สัปดาห์ขึ้นไป แนะนำให้ออกกำลังกายทุกวันอย่างน้อยวันละ 30-40 นาที

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/stocksnap-894430/

3.การพาเข้าสังคม
ช่วงอายุระหว่าง 8 ถึง 12 สัปดาห์เป็นช่วงที่เหมาะสำหรับการฝึกลูกสุนัขให้เข้าสังคม ช่วงอายุนี้เป็นช่วงที่ลูกสุนัขจะจดจำทั้งประสบการณ์ที่ดีและไม่ดี ซึ่งจะติดตัวเขาไปตลอดชีวิตในอนาคต การพาสุนัขเข้าสังคม ให้ชินกับสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัว รวมถึงคนแปลกหน้าและสัตว์ชนิดอื่น ๆ ช่วยทำให้ลูกสุนัขมีอารมณ์ที่อ่อนโยนและเข้ากับผู้อื่นได้ง่าย ไม่หวาดกลัว เมื่อเขาทำเรื่องที่ดีก็ควรได้รับคำชมเชย อาจเป็นของรางวัลชิ้นเล็ก ๆ อย่าง ขนมสำหรับสุนัข หรือของเล่นที่เขาชื่นชอบ ก็จะช่วยกระตุ้นพฤติกรรมในเชิงบวกของสุนัขได้

4.การฝึกให้อยู่ตามลำพัง
สุนัขบางตัวที่ถูกแยกออกจากกลุ่มอื่นหรือถูกเลี้ยงให้อยู่ตามลำพัง อาจทำให้เกิดภาวะเครียดได้ ซึ่งทำให้เกิดการหลั่งของฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์สูงขึ้น อาจนำไปสู่ภาวะวิตกกังวลจากการถูกแยกหรือถูกทิ้งได้ มีการศึกษาพบว่า สุนัขที่มีประสบการณ์ไม่ดีจากการเรียนรู้ในวัยเด็ก อาจทำให้เกิดปัญหาพฤติกรรมดังกล่าวได้

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/mirkosajkov-14973806/

5.การฉีดวัคซีน
การฉีดวัคซีนให้สุนัขเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการป้องกันโรคในช่วงปีแรกของชีวิต ลูกสุนัขควรได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกที่อายุ 6-8 สัปดาห์ และฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำอีก 1-2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์  จะไม่แนะนำให้ลูกสุนัขสัมผัสกับสุนัขตัวอื่น ๆ ที่ไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันการป่วยจากการได้รับเชื้อโรคบางอย่าง ทั้งนี้เนื่องจากภูมิคุ้มกันของลูกสุนัขที่ได้จากการฉีดวัคซีน ยังไม่ถึงระดับที่สามารถป้องกันโรคได้เต็มที่ จึงไม่ควรพาสุนัขไปเดินในสวนสาธารณะ หรือพาสุนัขไปแหล่งชุมชนที่มีสุนัขรวมตัวอยู่จำนวนมาก

ทั้งหมดนี้คือวิธีการดูแลลูกสุนัขตัวใหม่ที่เราเพิ่งรับมาเลี้ยงค่ะ DooDiDo แนะนำให้เจ้าของค่อย ๆ ฝึกสุนัขในเรื่องเหล่านี้แบบใขเย็นนะคะ อย่ากดดัน อย่าดุน้องจนเกินไป อาจทำให้น้องกลัวและไม่มีความสุขได้ค่ะ คอยเลี้ยงดูแลน้องด้วยความรัก และหาเวลาพาน้องไปทพกิจกรรมร่วมกันนะคะ น้องจะได้ไม่เครียด และจะได้มีสุขภาพที่ดีอีกด้วยค่ะ

ขอบคุณแหล่งที่มา : www.dogilike.com