5 วิธีสอนเด็กๆ ให้เข้าใจในวันที่น้องหมาจากโลกนี้ไปแล้ว

WM

เราไม่อาจปฏิเสธจากความตายที่จะเกิดกับคนใกล้ตัวหรือสัตว์เลี้ยงที่รักได้

เป็นธรรมดาที่คนเราต้องมี เกิด แก่ เจ็บ ตาย น้องหมาของเราก็เช่นกัน ไม่มีสุนัขตัวไหนที่หลีกหนีความตายได้ ถ้าหากบ้านไหนที่มีเด็กน้อยที่ยังไม่เข้าใจถึงความตาย เมื่อความตายนั้นมาเกิดขึ้นกับสุนัขที่เรารัก เป็นธรรมดาที่เราต้องเศร้าและผู้ใหญ่อย่างเรามีวิธีจัดการกับความเจ็บปวดได้ด้วยวิธีที่แตกต่างกัน แต่สำหรับเด็กเล็ก ๆ ที่ยังไม่สามารถทำความเข้าใจได้ด้วยตนเองว่าความตายนั้นคืออะไร แล้วทำไมน้องหมาถึงไม่หายใจ ทำไมเราต้องฝังมัน

ทีนี้จะเกิดอะไรขึ้นหากสัตว์เลี้ยงที่รักต้องตาย? … แน่นอนว่าร้อยทั้งร้อยคำตอบคือเศร้า แต่กับเด็กที่ยังไม่เข้าใจความเป็นไปของโลกจะมองว่าความตายเป็นสิ่งที่มาพรากของรักไปชั่วคราว เหมือนกับการเล่นของเล่นอยู่ ๆ แล้วก็มีเด็กคนอื่นมาแย่งไป เดี๋ยวเดียวเราก็จะได้ของเล่นชิ้นนั้นกลับมา แต่กลับสิ่งมีชีวิต ความตายนั้นคือการพรากจากไปอย่างสิ้นเชิง ไม่มีวันหวนกลับ หน้าที่ของผู้ใหญ่จึงต้องอธิบายให้เด็ก ๆ ฟังว่าทำไมน้องหมาถึงหลับ ทำไมไม่ลืมตา ทำไมไม่หายใจ และทำไมมันถึงไม่มาเล่นด้วยกันเหมือนอย่างเคย

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/alexas_fotos-686414/

1. ยอมรับความเป็นจริง
ก่อนเราจะไปอธิบายความตายให้เด็กฟัง อย่างน้อย ๆ ตัวเราเองนั่นแหละค่ะที่ต้องยอมรับความจริงข้อนั้นให้ได้ด้วยว่าตอนนี้เราได้สูญเสียน้องหมาไปแล้ว การยอมรับความจริงโดยไม่หลอกความรู้สึกตัวเองว่าไม่เป็นไรเป็นสิ่งที่ผิด คนทุกคนสามารถมีความรู้สึกเศร้า เสียใจ เจ็บปวดและทรมานได้ การยอมรับสภาพจิตใจของตัวเองในขณะนั้นเป็นเรื่องยาก แต่เราจะค่อย ๆทำใจได้ถึงแม้ที่ตรงนั้นไม่มีน้องหมาแล้ว มันยังคงอยู่ในความทรงจำ

2. ใช้คำง่าย ๆ วาดภาพประกอบ
สำหรับเด็กเล็กอย่างวัย 2 ขวบจะเริ่มมีพัฒนาการทางสมองที่ค่อนข้างเร็ว ช่างสังเกตรอบข้าง มีความอยากรู้อยากเห็นและตั้งคำถามด้วยคำว่า “อะไร” อาจเป็นเรื่องง่ายที่เด็กวัยนี้ยังไม่เข้าใจความรู้สึกสูญเสีย แต่หากมองในมุมกลับกันเราควรสอนให้เขาเข้าใจว่าความตายคืออะไร ด้วยคำพูดสั้น ๆ ที่ไม่ใช่การอธิบายยืดยาวหรืออาจใช้ภาพประกอบแทน เพราะด้วยความสนใจของเขาจะอยู่ที่ความตื่นตาตื่นใจเป็นพิเศษ

แต่ถ้าเป็นเด็กวัยตั้งแต่ 3-4 ขวบขึ้นไปจะเริ่มมีความสามารถในการจำแนกสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากขึ้น มีการเลียนแบบพฤติกรรมคนรอบข้าง การอธิบายเรื่องความตายให้เด็กวัยนี้อาจง่ายกว่า 2 ขวบ แต่ก็ยังยากกว่าเด็กวัย 10 ขวบขึ้นไป เราอาจใช้หลักการง่าย ๆ ว่าน้องหมาหลับไปแล้วและจะไม่ตื่นมาเล่นด้วยกันอีก เพราะเขาได้ตายจากเราไปในที่ที่ไกลแสนไกลจนเราตามไปไม่ถึง

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/nastya_gepp-3773230/

3. ชวนคุยโดยไม่โทษความผิดให้ใคร
เมื่อพบเจอกับความสูญเสียเป็นเรื่องที่มักจะมาพร้อมกับความโกรธ ความผิดหวัง ยิ่งสำหรับเด็กเล็กเขาอาจไม่เข้าใจว่าความรู้สึกที่เป็นอยู่ตอนนี้ควรแสดงออกอย่างไร ความโกรธที่ต้องสูญเสียน้องหมาที่รักไปอย่างกระทันหันอาจทำให้เขาโทษพ่อแม่หรือหมอ เป็นเรื่องยากที่เขาจะคิดโทษว่าเป็ฯความผิดของตัวเองหากไม่ใช่เพราะการชี้นำของผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กช่วงวัย 3- 4 ขวบยังไม่สามารถทำความเข้าใจเชิงตรรกะเหตุผล หากมีความผิดพลาดเขาจะโทษคนอื่นก่อนเป็นอันดับแรก ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำคือการชวนคุยอย่างใจเย็นและไม่กล่าวโทษหรือโยนความผิดให้ใคร

4. ไม่ต้องพยายามลืม แค่จดจำในช่วงที่เคยหายใจ
คนเรามักจะคิดว่าการลืมคือการช่วยให้หายเศร้าไวขึ้น วิธีนี้สำหรับบางคนอาจใช้ได้ดีแต่ในความเป็นจริงแล้วการพยายามลืมไม่ได้ช่วยให้ความเศร้าหายขาด กลับกันมันเป็นวิธีที่แค่ช่วยให้เราหลุดโฟกัสระยะสั้น ๆ แต่เดี๋ยวเดียวเราก็กลับมาเศร้าอีกและยาวนานขึ้น แทนที่เราจะลืมเรื่องทั้งหมดเกี่ยวกับน้องหมา เรามาสร้างความทรงจำใหม่และจดจำเรื่องราวดี ๆ ที่เคยมีร่วมกัน เราอาจชวนเด็กพูดคุยเมื่อครั้นที่น้องหมาเคยทำวีรกรรมฮาๆ หรือสุดป่วน เปลี่ยนจากความเศร้าเป็นเสียงหัวเราะ

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/goranh-3989449/

5. เศร้าได้แต่อย่านาน
ตามหลักจิตวิทยาแล้วคนเราจะเศร้าจากความสูญเสียนานได้ไม่เกิน 6 เดือน ถ้ามากกว่านั้นอาจต้องไปปรึกษาจิตแพทย์ ซึ่งจริง ๆ แล้วการปรึกษาจิตแพทย์ไม่ใช่ความคิดที่แย่ หรือหมายความว่าเราบ้า แต่มันเป็นการปลดปล่อยเรื่องราวที่ทำให้เรารู้สึกเศร้าจนไม่เป็นอันทำอะไร ด้วยการเล่าให้ผู้เชี่ยวชาญฟังเพื่อหาวิธีคลายทุกข์นั้น

ทั้งหมดที่ DooDiDo นำมาฝากวันนี้เป็นวิธีที่ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่นำไปช่วยจัดการความเศร้าให้กับเด็ก ๆ ค่ะ เพราะเราไม่สามารถกำหนดได้ว่าน้องหมาของเราจะต้องจากเราไปวันไหน แต่เมื่อถึงเวลาที่น้องต้องจากไปอย่างไม่มีวันกลับ เราก็ต้องทำความเข้าใจถึงความจริงของชีวิต และบอกให้เด็ก ๆ เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกันนะคะ

ขอบคุณแหล่งที่มา : www.dogilike.com