10 วิธีช่วยแก้ปัญหาลูกกินแต่อาหารแบบเดิมๆ

การที่ปล่อยให้ลูกได้รับสารอาหารซ้ำซากจะทำให้ลูกขาดสารอาหาร

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายบ้านคงจะต้องเจอกับปัญหาลูกกินยาก เลือกกินแต่อาหารซ้ำซากในเมนูที่ตัวเองชอบ จนทำให้ได้รับสารอาหารเดิม ๆ เสี่ยงทำให้ลูกขาดสารอาหารได้ เพราะอาหารแต่ละชนิดให้คุณค่าทางโภชนาการที่ไม่เหมือนกัน ร่างกายคนเราจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่หลากหลายและครบถ้วน หากขาดสารอาหารส่วนใดส่วนหนึ่งไปะจะส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ค่ะ

การที่ปล่อยให้ลูกได้รับสารอาหารซ้ำซาก ถ้าอาหารที่ลูกชอบกินซ้ำ จำเจ ขาดสารอาหารชนิดใดจะทำให้ลูกขาดสารอาหารชนิดนั้นจนอาจมีผลเสียต่อการเจริญเติบโตและภูมิต้านทาน หรือถ้าอาหารนั้นมีสารอาหารชนิดใดมากเกินไปลูกก็จะได้รับมากเกินและสะสมในร่างกาย เช่น ถ้าอาหารมีไขมันสูงจะทำให้ลูกอ้วน และอาจส่งผลให้ร่างกายไม่เจริญเติบโตสมวัย ไม่แข็งแรง เจ็บป่วยบ่อยและผลเสียต่อพัฒนาการสมองของลูกได้

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/csifferd-12684332/

กินยากอยู่ที่เลี้ยงดู
– บังคับ ตามธรรมชาติเด็กและทุกคนมักจะรู้สึกไม่แน่ใจ ไม่อยากลองกินอาหารใหม่ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีหน้าตา ลักษณะ สีที่ตัวเองไม่ชอบ ซึ่งถ้าพ่อแม่และคนเลี้ยงไม่เข้าใจ บังคับ ขู่เข็ญ คะยั้นคะยอให้ลูกกินอาหารชนิดใหม่นั้น จะทำให้ลูกเครียด ต่อต้านและไม่ยอมกิน จนมีนิสัยกลัว ไม่กินอาหารใหม่ที่ไม่คุ้นเคย
– ไม่ให้กินเอง เด็กวัย 1-3 ขวบเป็นวัยที่เป็นตัวของตัวเอง อยากทำอะไรด้วยตัวเอง ตักอาหารกินเอง แต่พ่อ แม่คนเลี้ยงหลายรายมักชอบตามป้อน ทำให้เด็กมีปัญหาต่อต้านและปัญหาพฤติกรรมการกิน
–  มีของโปรดทดแทน ไม่กินก็ได้กินของอร่อยแทนเมื่อลูกไม่กินอาหารนั้น พ่อแม่คนเลี้ยงส่วนมากมักกลัวว่าลูกจะอดและหิว เลยเอานม ขนม หรืออาหารอื่นที่หน้าตาชวนกิน มีรสอร่อยหรืออาหารชนิดเดิมที่ลูกคุ้นเคยให้กินแทน ทำให้ลูกเข้าใจผิดว่าถ้าไม่กินอาหารที่พ่อแม่ทำจะได้รางวัลกินอาหารที่อร่อยและชอบแทน จึงไม่ยอมกินอาหารใหม่จนกลายเป็นนิสัยกินซ้ำซาก
– ถูกดึงความสนใจ เนื่องจากมีสิ่งเร้าเยอะ เช่น เด็กเล่นกัน ของเล่น ทีวี เกม โทรศัพท์ มาแย่งซีนทำให้ลูกสนใจกินอาหารน้อยลง

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/explore_more_uk-1782376/

ทางแก้กินซ้ำซาก
1.พ่อแม่รวมถึงคนในครอบครัวต้องทำและกินให้เป็นแบบอย่างให้ลูกเห็นจะได้เลียนแบบ
2.ทำอาหารให้มีหน้าตา ลักษณะ รส ชวนกินและเหมาะกับวัยของลูก ไม่หยาบแข็งกระด้าง หรือ มีรสหรือกลิ่นที่ลูกไม่ชอบ
3.เมื่อเริ่มต้นต้องใจเย็นๆ ให้ค่อยๆ เติมหรือผสมอาหารที่อยากให้ลูกกิน เช่น เนื้อ ผัก ฯลฯ ลงไปในปริมาณน้อยๆ จนลูกไม่รู้สึกปฏิเสธ เมื่อลูกคุ้นเคยกินได้แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้นตามที่ลูกสามารถรับได้
4.ตักอาหารที่ต้องการให้ลูกกินปริมาณน้อยๆ วางตรงหน้าระยะลูกเอื้อมถึง ให้ลูกสามารถตักกินเองได้ หมดแล้วค่อยตักเพิ่ม
5.ปล่อยให้ลูกตัดสินใจและเลือกตักอาหารกินเอง ไม่บังคับหรือคะยั้นคะยอมากจนทำให้ลูกรู้สึกเครียดและต่อต้าน
6.ชมเมื่อลูกเริ่มกิน ชมอีกครั้งเมื่อลูกกินเสร็จ
7.ถ้าลูกไม่กิน ให้วางเฉยไม่รุกเร้าหรือพูดจาบังคับ ขู่
8.หมดเวลากิน (ไม่เกิน 30-35 นาที) ให้เก็บ และไม่ให้ลูกกินนม อาหารอื่นหรือขนมทดแทนหรือกินระหว่างมื้อ เพื่อให้ลูกรู้สึกหิวและอยากกินอาหารมื้อถัดไป
9.ทำอาหารใหม่ที่ต้องการให้ลูกกินวางไว้ให้ลูกเห็นบ่อยๆ ประมาณ 10-15 ครั้ง ลูกมักจะเริ่มคุ้นเคยและอาจลองกิน เมื่อลูกเริ่มตักกินเองให้ชมเชย ให้กำลังใจหรือให้รางวัลเป็นดาวเด็กเก่ง เด็กดี หรือของเล็กน้อย เช่น สติกเกอร์สะสมแต้ม
10.ทำบรรยากาศการกินที่โต๊ะอาหารให้ดี สนุกสนาน ชวนรับประทาน ไม่จู้จี้ จุกจิก ชวนทะเลาะหรือขัดแย้งจนเสียบรรยากาศ

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/avitalchn-3017371/

3 ปัจจัยแวดล้อมลูกกินซ้ำซาก
1.พ่อแม่ทำอาหารให้ลูกกินซ้ำซาก ไม่หลากหลาย จนติดเป็นนิสัย
2.พ่อแม่หรือคนเลี้ยงมีพฤติกรรมการกินจำเจ ซ้ำซาก ลูกจึงเลียนแบบและมีนิสัยการกินเช่นเดียวกัน
3.พฤติกรรมการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม ไม่เข้าใจธรรมชาติของลูก

หากลูก ๆ บ้านไหนที่มีพฤติกรรมการเลือกกินอาหารที่ซ้ำซากกินแต่อาหารเดิม คุณแม่ต้องนำวิธีที่ DooDiDo ได้เสนอมาข้างต้นนี้ไปปรับใช้นะคะ เพื่อที่ลูกจะได้ทานอาหารที่หลากหลาย และได้สารอาหารครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ จะส่งผลให้ลูกมีสุขภากร่างกายที่แข็งแรง ทำให้มีพัฒนาการทางด้านสมอง ร่างกาย และจิตใจ สามารถเติบโตได้อย่างสมวัยค่ะ

ขอบคุณแหล่งที่มา : www.rakluke.com