เทคนิคฝึกลูกให้เป็นเด็กช่างจำ ให้ลูกเป็นเด็กฉลาด เรียนรู้ไว

5 เคล็ดลับ ตัวช่วยฝึกให้ลูกจดจำในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สอน

คุณพ่อคุณแม่ทุกคนก็อยากให้ลูกเป็นเด็กฉลาด เข้าใจในเรื่องต่าง ๆ ได้ง่ายและสามารถเรียนรู้ไว ทำอย่างไรที่จะช่วยให้ลูกเกิดกระบวนการเรียนรู้ได้ดี และมีประสิทธิภาพอย่างเห็นผล เพื่อให้ลูกได้นำคำสอนไปใช้ในชีวิตประจำวัน  สามารถนำสิ่งที่เรียนรู้จากสิ่งที่พ่อแม่ปลูกฝังไปปรับใช้รับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง และให้เขาเติบโตได้อย่างสมวัย

ทุกๆ วันของลูกน้อยคือการเรียนรู้สิ่งใหม่ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ลูกน้อยพร้อมที่จะซึมซับเข้าใจเรื่องราวต่างๆ รอบตัว และสามารถจดจำคำสอนที่พ่อแม่สอนได้ หัวใจสำคัญคือการพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การเข้าใจ และจดจำอย่างแท้จริง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มต้นสอนลูกน้อยได้ด้วยตัวเองทันทีหลังจากอ่านบทความนี้ค่ะ

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://unsplash.com/@daiga_ellaby

1. การสอน
การสอนในที่นี้ คือการเปิดโอกาสให้ลูกได้สอนคุณพ่อคุณแม่ โดยอาศัยเรื่องง่ายๆ รอบๆ ตัวที่ลูกเคยเรียนรู้ อย่างเช่น การแยกหมวดหมู่สิ่งของ และเก็บของเข้าที่ โดยคุณพ่อคุณแม่อาจขอให้ลูกน้อยสอนวิธีการเก็บของเล่นเข้าที่ให้ดูว่าต้องทำอย่างไร ต้องแยกประเภทแบบไหน ซึ่งในระหว่างที่ลูกน้อยแสดงวิธีการเก็บของให้ดู คุณพ่อคุณแม่สามารถให้คำแนะนำ หรือหากลูกทำไม่ถูกต้อง คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถพูดอ้างอิงถึงสิ่งที่ได้เคยสอนลูกไป ด้วยวิธีนี้ลูกน้อยจะเกิดการประมวลวิธีการเก็บของที่ได้เคยเรียนรู้มา และถ่ายทอดแสดงออกมาให้คุณพ่อคุณแม่ดู ซึ่งการให้ลูกได้ลงมือทำด้วยตัวเอง จะช่วยเพิ่มการจดจำ และความเข้าใจได้มากกว่าการฟัง หรือทำตามพ่อแม่ แถมยังเปิดโอกาสให้พ่อแม่ได้รับรู้ถึงความเข้าใจของลูก เพื่อที่จะสามารถแนะนำเพิ่มเติม และมีส่วนช่วยให้ลูกมีความมั่นใจ กล้าแสดงออกอีกด้วย

2. เรียนรู้อย่างเข้าใจผ่านการเล่นรอบตัว
เพราะธรรมชาติของเด็กเล็กในวัยนี้คือการเล่น คุณพ่อคุณแม่สามารถสร้างโอกาสในการเรียนรู้อันนำไปสู่ความเข้าใจ ผ่านการเล่นอย่างสร้างสรรค์โดยไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์ราคาแพง ตัวอย่างเช่น การเล่นขายของ โดยอาจนำสิ่งของต่างๆ ที่มีอยู่ที่บ้านมาใช้ประกอบการเล่น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถเล่นกับลูกได้ พูดคุยถามไถ่ว่าขายอะไร ราคาเท่าไหร่ ของที่ขายมีวิธีการใช้อย่างไร ซึ่งระหว่างการเล่นคุณพ่อคุณแม่สามารถสอดแทรกความรู้ หรือสอนสิ่งที่ถูกต้องให้ลูกได้ การเล่นแบบนี้นอกจากจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจากการเล่นโต้ตอบกับคุณพ่อคุณแม่แล้ว การที่ลูกน้อยได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากประสบการณ์ตรงจะก่อให้เกิดการจดจำ และมีความเข้าใจถึงสิ่งต่างๆ รอบตัวมากขึ้น ซึ่งเด็กสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้นี้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ต่อไป

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://unsplash.com/@gaberce

3. การพูดคุยทบทวนเหตุการณ์ต่าง ๆ
การพูดคุย คือหัวใจสำคัญของการสื่อสารในครอบครัว คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มพัฒนาการจดจำให้กับลูกด้วยการพูดคุยกับลูกถึงเรื่องเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้วในแต่ละวัน หรือเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมา เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ลูกเริ่มใช้สมองในการคิดทบทวนความจำ อย่างเช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง สิ่งไหนที่ลูกชอบ หรือไม่ชอบ ให้ลูกได้คิดทบทวนเพื่อหาคำตอบ โดยตรงนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถพูดคุย ให้คำแนะนำเพิ่มเติมกับลูกน้อยได้ เพื่อให้ลูกเกิดความเข้าใจในสิ่งต่างๆ รอบตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ความสามารถในการปรับใช้ที่ดีขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ หากทำให้เป็นกิจวัตรประจำในครอบครัว จะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กช่างจำ ช่างสังเกตุรายละเอียดรอบตัวไปโดยแทบไม่รู้ตัว

4. วาดภาพ
ศิลปะ กับ ความจำ มีความเกี่ยวข้องกันอย่างมาก จากรายงานผลการวิจัย* เป็นที่ยอมรับว่า การวาดรูป ช่วยให้สมองจดจำได้ดียิ่งขึ้น เพราะทำให้ลูกน้อยได้ใช้สมองคิดทบทวนก่อนที่จะถ่ายทอดออกมาเป็นภาพ ซึ่งการวาดรูปยังเป็นการการฝึกฝนให้ลูกน้อยรู้จักการเก็บรายละเอียดของเรื่องราวต่างๆ เข้าในระบบความคิดของลูกน้อยอีกด้วย โดยคุณพ่อคุณแม่อาจจะเริ่มฝึกลูกน้อยให้ถ่ายทอดความทรงจำของสิ่งของต่างๆ รอบตัวออกมาเป็นรูปวาด หรือหัดให้ลูกจินตนาการภาพสิ่งของต่างๆ ในหัวตามโจทย์ที่คุณพ่อคุณแม่บอก เช่น ให้ลูกนึกภาพบ้านสีขาว หลังคาสีแดง ทีมีประตูสีส้ม ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นทักษะจินตนาการ (Visualization skill) อันมีส่วนช่วยพัฒนาทักษะด้านความจำและความคิดสร้างสรรค์ให้แก่ลูกน้อย

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://unsplash.com/@everythingcaptured

5. การพูดคุยตอบคำถามลูกอย่างสนุกสนานเพื่อสร้างความเข้าใจ
เพราะทุกอย่างรอบตัวคือสิ่งใหม่สำหรับลูกน้อย จึงเป็นเรื่องปกติที่ลูกน้อยมักจะมีคำถามมาถามคุณพ่อคุณแม่เสมอว่า ทำไม อะไร ยังไง ซึ่งบางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่รู้จะตอบยังไงแต่ขอให้คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งรู้สึกรำคาญใจ หรือดุลูกน้อย เพราะจะทำให้ลูกเกิดความรู้สึกไม่กล้าที่จะถามในครั้งหน้า และปิดโอกาสในการเรียนรู้ของลูก คุณพ่อคุณแม่จึงควรเก็บเกี่ยวช่วงเวลานี้ด้วยการตอบคำถามด้วยความสนอกสนใจ พูดคุยด้วยน้ำเสียงสนุกสนาน อันเป็นการกระตุ้นให้ลูกรู้สึกสนุกที่จะเรียนรู้ และต่อยอดจากการพูดคุยด้วยการตั้งคำถามลูกกลับไป อันนำไปสู่การเรียนรู้ด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริง

คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกฝนให้ลูกเป็นเด็กที่ช่างจำได้ด้วยวิธีง่าย ๆ ตามที่ DooDiDo นำมาเสนอในวันนี้นะคะ สิ่งสำคัญต้องให้เวลากับพวกเขา อย่าใจร้อน อย่ากดดันทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด และอย่าดุลูกน้อยโดยเด็ดขาดนะคะ เพราะการดุลูกจะทำให้ส่งผลต่อพัฒนาการของลูกได้ค่ะ เพื่อสร้างให้ลูกเป็นเด็กที่เก่งและมีความสุข สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันเมื่อพวกเขาโตขึ้นคุณพ่อคุณแม่ต้องเริ่มฝึกตั้งแต่ตอนที่ลุกยังเล็ก ๆ ได้เลยนะคะ

ขอบคุณแหล่งที่มา : www.dumex.co.th