“สุนัข” แรกเกิดต้องเลือกอาหารแบบไหนดี??

ผู้เลี้ยงสุนัขจึงต้องให้ความสำคัญในการให้ อาหารสุนัข ที่เหมาะสมกับช่วงวัย

สำหรับคนที่มีความสุขจากการที่ได้เลี้ยง”สัตว์เลี้ยง” ไว้ที่บ้านเราคงไม่ต้องอธิบายว่าชีวิตมีความสุขอย่างไรบ้างแล้วละค่ะ สุขที่ได้มอง สุขที่ได้เล่น สุขที่ได้เอาใจใส่ ฯลฯ ใครมีความสุขที่ได้เลี้ยงสัตว์ชนิดไหนก็หาสัตว์ชนิดนั้นมาเลี้ยงในช่วงที่ผ่านมา ถ้าสังเกต จะเห็นว่าเริ่มมีผู้คนเสาะหา “สัตว์เลี้ยง” มาเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัวมากยิ่งขึ้นจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นขนาดของครอบครัวที่เล็กลง หรือจากอัตราการการเกิดของเด็กที่ลดลงสำหรับคนที่ชอบเลี้ยง สุนัข ซึ่งมักเลี้ยงตั้งแต่ยังเป็น “ลูกสุนัข” การดูแล ลูกสุนัขที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของบ้าน มีหลายเรื่องที่พ่อแม่มือใหม่ต้องเรียนรู้

แต่สิ่งที่สำคัญอันดับต้นๆในการดูแล ลูกสุนัข น่าจะเป็นเรื่อง อาหารการกิน หลายๆบ้านอาจจะคุ้นชินกับการให้ อาหารคน กับสุนัขของตัวเอง ทั้งข้าวคลุก หมูปิ้ง ตับย่าง ไก่ย่าง และอื่นๆแต่คุณรู้หรือไม่ ว่าอาหารเหล่านั้นเป็นอาหารที่ไม่เพียงพอต่อการส่งเสริมพัฒนาการของลูกสุนัข โดยเฉพาะ ‘อาหารคน’ มักมีการปรุงแต่งรสชาติ ซึ่งไม่จำเป็นและไม่เป็นผลดีต่ออวัยวะภายในที่สำคัญของสุนัข โดยเฉพาะ ‘ไต’ดังนั้น ผู้เลี้ยงสุนัขจึงต้องให้ความสำคัญในการให้ อาหารสุนัข ที่เหมาะสมกับช่วงวัยของการเจริญเติบโตของลูกสุนัข

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/lauralucia-4142204/

เจ้าของ ‘ลูกสุนัข’ จึงต้องเลือกอาหารที่มีปริมาณสารอาหารตามความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตที่แข็งแรงและเหมาะสม

สุนัขมีการเติบโต 2 ช่วงตั้งแต่แรกเกิดจนกว่าจะโตเต็มวัยเพราะ “ลูกสุนัข” มีการเติบโตเป็น 2 ช่วง

ลูกสุนัขจะมีการเจริญเติบโตในช่วงก่อนโตเต็มวัยแบ่งเป็น 2 ช่วงด้วยกัน ในช่วงแรกเป็นช่วงที่ลูกสุนัขจะโตเร็วมากในระยะเวลาอันสั้นคือ ช่วงประมาณแรกเกิดถึง 4 เดือนแรก และช่วงที่ 2 คือ หลัง 4 เดือนเป็นต้นไปจนถึงโตเต็มวัย ซึ่งลูกสุนัขจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องอย่างช้าๆการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันนี่เองที่ทำให้ความต้องการสารอาหารในแต่ละช่วงวัยของการเจริญเติบโตนั้นต่างกัน

ในช่วงแรกเกิดถึง 4 เดือนแรก ลูกสุนัขต้องการพลังงานและสารอาหาร เช่น โปรตีน และ แคลเซียม ในปริมาณที่สูงกว่าในช่วงของการเจริญเติบโตในระยะที่ 2 อย่างไรก็ตาม ‘ในช่วงระยะที่ 2’ ลูกสุนัขก็ยังต้องการสารอาหารและพลังงานที่สูงกว่าช่วงโตเต็มวัย

ลูกสุนัขมีฟันซี่เล็กๆ งอกในสัปดาห์ที่ 3

ฟันยังขึ้นไม่ครบ

ช่วงระยะเวลาตั้งแต่ แรกเกิดจนถึงอายุ 2 สัปดาห์ ลูกสุนัขจะยังไม่มีฟันขึ้น อาหารที่เหมาะสมที่สุดก็คือ นมแม่ แต่เมื่ออายุก้าวเข้าสู่ สัปดาห์ที่ 3 ฟันเล็กๆ ก็จะค่อยๆ งอกขึ้นมา เป็นช่วงเวลาดีที่จะแนะนำให้เจ้าตัวเล็กรู้จักและทำความคุ้นเคยกับอาหารอื่นๆ ที่ไม่ใช่นมแม่ ตัวอย่างเช่น อาหารเปียก ซึ่งเป็นอาหารที่เหมาะสมกับลูกสุนัข เพราะมีความนิ่ม ทำให้ฝึกกินหรือเลียได้ง่าย

นอกจาก ‘อาหารเปียก’ ในปัจจุบันยังมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยทำให้ อาหารเม็ด นิ่มลงได้ด้วยการแช่น้ำให้นิ่มในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งก็เป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่งสำหรับลูกสุนัขที่เพิ่งหย่านม เมื่อเข้าสู่ ช่วงอายุ 5-6 สัปดาห์ จะเป็นเวลาที่จะฝึกให้เจ้าตัวเล็กกิน อาหารเม็ดได้อย่างจริงจัง เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ฟันน้ำนมเริ่มขึ้น

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/yodaa-3588984/

ฟันน้ำนมจะขึ้นครบเมื่อลูกสุนัขอายุครบ 8 สัปดาห์ ดังนั้นนอกจากเรื่องพลังงานและสารอาหารที่แตกต่างกันแล้ว  ขนาดและความแข็งกรอบของเม็ดอาหาร ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง เพื่อให้เหมาะสมกับความสามารถในการเคี้ยวและการขึ้นของฟันลูกสุนัข สุนัขต่างพันธุ์ต่างขนาด มีช่วงเวลาเข้าสู่อายุโตเต็มวัยไม่เท่ากันขนาดต่างกัน โตเต็มวัยที่อายุไม่เท่ากัน

หลายคนอาจเคยคิดว่า ลูกสุนัขโตเต็มวัยที่อายุ 1 ขวบเท่ากันหมด แต่รู้หรือไม่ว่าลูกสุนัขต่างสายพันธุ์ที่มีขนาดไม่เท่ากันนั้น มีอายุที่โตเต็มวัยไม่เท่ากันด้วยเหตุผลทางสรีระวิทยา ทำให้ สุนัขขนาดใหญ่ ใช้เวลาในการเจริญเติบโตมากกว่า สุนัขขนาดเล็ก ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น สุนัขชิสุห์ ใช้เวลาเพียง 10 เดือน ในการเจริญเติบโตจากลูกสุนัข จนมีโครงสร้างภายนอกเหมือนพ่อและแม่ ในขณะที่ โกลเดนท์ รีทรีฟเวอร์ ต้องใช้เวลาถึง 15 เดือน ทั้งนี้เป็นเพียงระยะเวลาที่ใช้ต่างกันเท่านั้น แต่สารอาหารที่ต้องการยังคงเหมือนกัน

ที่สำคัญเพื่อให้ ลูกสุนัข สามารถมีพัฒนาการที่เติบโตแรง สมบูรณ์ สมวัย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ อาหารสูตรลูกสุนัข ไปจนถึงระยะเวลาที่จะเปลี่ยนผ่านสู่ช่วงโตเต็มวัยตามที่กล่าวไว้ในข้างต้น หลังจากนั้นก็จะสามารถเปลี่ยนจาก ‘อาหารสูตรลูกสุนัข’ ไปเป็น อาหารสูตรสุนัขโตเต็มวัย ทั่วไปได้

สารอาหารที่สำคัญสำหรับ ลูกสุนัข เช่น

-โปรตีนที่ใช้ในการสร้างกล้ามเนื้อ

-แคลเซียม ฟอสฟอรัส แร่ธาตุสำคัญสำหรับกระดูกและโครงสร้าง

-ช่วงเปลี่ยนผ่านจากลูกสุนัขสู่ช่วงโตเต็มวัย ความต้องการพลังงาน-สารอาหารลดลงจากช่วงแรก

หากสุนัขผ่านพ้นช่วง ‘ลูกสุนัข’ เข้าสู่ สุนัขโตเต็มวัย ไปแล้ว แต่ยังคงกินอาหารสูตรลูกสุนัขอย่างต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลให้สุนัขโตเต็มวัยนั้นมีภาวะอ้วนได้เช่นกัน เพราะได้รับพลังงานและสารอาหารมากเกินความต้องการจริงๆ แล้ว การเสริมแคลเซียมในลูกสุนัข ไม่มีความจำเป็น หากลูกสุนัขได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและสมดุล

“การเลือกชนิดของอาหารสำเร็จรูปที่เหมาะสม ทำให้มั่นใจได้ว่า ลูกสุนัขได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและสมดุล เพียงพอต่อการเจริญเติบโตในแต่ละช่วงที่แตกต่างกันของลูกสุนัข สะดวกในการเตรียม อีกทั้งประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายอีกด้วย” ดังนั้นเรามาดูแลการกินของเจ้าตัวน้อยให้ถูกวิธี เพื่อสุขภาพและพัฒนาการที่ดีตามที่สัตวแพทย์แนะนำกันเถอะ DooDiDo ขอแนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงอาหารคน เลือกอาหารให้เหมาะกับความต้องการของลูกสุนัขในแต่ละวัยและอย่าลืมแบ่งเวลามาเล่นกับเจ้าตัวน้อยเพื่อพัฒนาการที่ดีทั้งทางอารมณ์และสุขภาพ จะเห็นได้ว่าสุนัขแต่ละวัยต้องการอาหารที่แตกต่างกัน ดังนั้นในเมื่อเลี้ยงเขาแล้ว ก็ต้องใส่ใจและดูแลให้เหมาะสม จะได้ทำให้สุนัขอยู่เป็นเพื่อนซี้สี่ขาของเราไปได้นาน ๆ นั่นเอง

ขอบคุณแหล่งที่มา: www.bangkokbiznews.com