มาทำความรู้จักกับ พยาธิในเม็ดเลือดปัญหาสุขภาพของน้องหมา

WM

 “โรคพยาธิในเม็ดเลือด” เป็นโรคที่สามารถพบได้ในน้องหมาทุกเพศ ทุกวัย และทุกสายพันธุ์

โรคพยาธิเม็ดเลือดนั้นเป็นโรคที่สามารถสังเกตได้ยาก รู้ตัวอีกทีจึงพบว่าน้องหมาเป็นโรคนี้ไปแล้ว พยาธิเม็ดเลือด เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อจำพวกโปรโตซัวและริคเก็ตเซีย ไม่ว่าจะเป็นบาบิเซีย  เฮปปาโตซูน หรือ เออร์ลิเซีย ฯลฯ ซึ่งเป็นโรคที่สามารถพบได้ในน้องหมาทุกเพศ ทุกวัย และทุกสายพันธุ์ เมื่อร่างกายน้องหมาเกิดการติดเชื้อ จะทำให้น้องหมามีไข้ขึ้นสูง ซึม ไม่อยากกินอาหาร โลหิตจาง น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นอัมพาตขาหลัง และอาจทำถึงขั้นเสียชีวิตได้หากมีอาการรุนแรง เนื่องจากเห็บเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้โรคนี้เกิดขึ้น การจัดการกับเห็บตัวร้ายให้หายไปจากชีวิตของน้องหมาจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้น้องหมารอดพ้นจากโรคนี้ได้ วันนี้เราจะพอเพื่อนรักสัตว์เลี้ยง มารู้จักกับ พยาธิในเม็ดเลือด ปัญหาสุขภาพของน้องหมา ที่ควรรู้

ในช่วงฤดูฝนอย่างนี้ ปัญหาที่เจ้าของน้องหมาหลายคนมักจะกังวลก็คือปัญหาเรื่อง เห็บ เพราะเจ้าเห็บตัวร้ายเนี่ยแหละ นอกจากจะสร้างความรำคาญแล้ว ยังเป็นพาหะของ “โรคพยาธิในเม็ดเลือด” มาติดสุนัขของเราอีกด้วย ซึ่งส่วนมากแล้วเจ้าของสัตว์เลี้ยงมักจะยังไม่เข้าใจว่าโรคนี้มันเป็นยังไง และจะมีคำถามที่ถามสัตวแพทย์อยู่เป็นประจำ วันนี้หมอจะรวบรวมคำถามที่สำคัญๆ มาตอบกันค่ะ

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://unsplash.com/photos/zwLbYhSKj_0

5 คำถามเกี่ยวกับพยาธิในเม็ดเลือดสุนัข

1.โรคนี้เกิดจากอะไรอ่ะหมอ?

โรคพยาธิในเม็ดเลือด ที่พบได้บ่อยในบ้านเราคือ เชื้อเออร์ลิเคีย (Ehrlichia sp.) บาบิเซีย (Babesia sp.) และเฮปปาโตซูน (Hepatozoon sp.) ซึ่งเราเรียกรวมๆ กันว่าโรคที่ติดต่อจากเห็บ หรือ Tick-borne diseases พูดง่ายๆ ก็คือ มีเห็บเป็นพาหะนั่นเอง บางคนคิดว่าหมาหนูไม่เห็นมีเห็บเลยทำไมเป็นได้คะ บางทีไม่เห็นเห็บไม่ได้แปลว่าไม่มีนะครับ อาจจะมีแต่ซ่อนอยู่ตามซอกหลืบบนตัวสุนัข หรือหล่นลงจากตัวสุนัขไปแล้วครับ

2.จะรู้ได้ยังไงอ่ะหมอว่าหมาเป็นโรคนี้?

ดูจากอาการสุนัข ส่วนใหญ่จะเริ่มด้วยอาการซึม เบื่ออาหาร เจ็บปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ โดยไข้จะขึ้นๆ ลงๆ สลับกัน บางตัวมีปื้นเลือดออกใต้ผิวหนัง เลือดกำเดาไหลไม่หยุด (เจอบ่อยในพวกโกลเด้น) และถ้าสุนัขเป็นโรคนี้มาซักระยะหนึ่งแล้ว มักจะมีอาการเลือดจาง สังเกตุดูจากสีของเหงือกก็ได้ครับ มันจะมีสีออกขาวๆ แต่ถ้าเป็นมานานมากเหงือกอาจจะมีสีเหลือง แปลว่าเกิดภาวะดีซ่านร่วมด้วย แต่อาการที่ว่ามาก็ไม่ได้บอกว่าเป็นโรคนี้ทั้งหมดนะครับ ต้องพามาพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจยืนยันด้วยการเจาะเลือดไปตรวจหาเชื้อ หรือใช้ชุดตรวจสำหรับโรคนี้ก็ได้ครับ ชุดตรวจสามารถรู้ผลได้ทันที

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://unsplash.com/photos/3WOh54znPGU

3.โรคนี้รักษาหายไหมอ่ะหมอ?

ถ้าเป็นเชื้อ เออร์ลิเคีย กับ บาบิเซีย รักษาหายครับ ถ้าเป็นเออร์ลิเคีย หมอจะฉีดยาฆ่าเชื้อให้และจ่ายยาไปกินต่ออีก 1 เดือน ส่วนบาบิเซีย หมอจะฉีดยาให้ 2 เข็ม ห่างกัน 2 สัปดาห์ครับ ระหว่างนี้ก็อาจจะจ่ายยาบำรุงเลือดให้ไปกินด้วย ส่วนเชื้อ เฮปปาโตซูน นั้นรักษาไม่หายขาดเพราะเชื้อมันมักจะเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในกล้ามเนื้อ ตับ ม้าม และต่อมน้ำเหลืองได้ เมื่อสัตว์ที่เคยเป็นโรคนี้อ่อนแอลง ก็อาจจะกลับมาป่วยได้อีก ยาสามารถฆ่าเฉพาะเชื้อที่อยู่ในกระแสเลือดเท่านั้น

4.หมาจะตายไหมอ่ะหมอ?

อันนี้ขึ้นอยู่กับว่าพามาหาหมอเร็วแค่ไหนนะครับ ถ้ารักษาแต่เนิ่นๆ และไม่มีภาวะแทรกซ้อนอย่างอื่น เช่นเลือดจางอย่างรุนแรง ตับวาย ไตวาย ก็รักษาหายแน่ครับ แต่ถ้ามาแบบไม่รู้สึกตัว อ่อนแรงมากๆ หรืออยู่ในภาวะช๊อค แบบนี้ก็ต้องบอกว่าโอกาสน้อยครับ

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://unsplash.com/photos/W2c4aS6d3BE

5.โรคนี้มีวัคซีนป้องกันไหมอ่ะหมอ?

โรคนี้ไม่มีวัคซีนป้องกันครับ รักษาหายแล้วก็สามารถกลับมาเป็นได้อีกถ้ายังไปถูกเห็บที่มีเชื้อกัด เพราะฉะนั้นเจ้าของต้องพยายามป้องกันเห็บให้ได้มากที่สุดครับ หมอรู้ว่ามันยากเพราะบางทีพาไปอาบน้ำหรือออกไปเล่นที่สนามก็มักจะติดเห็บกลับมา เจ้าของก็อาจจะใช้วิธีสังเกตุที่ตัวสุนัขอยู่เป็นประจำครับ เห็นก็รีบดึงออก และถ้าใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บที่มีทะเบียนด้วยยิ่งดีครับ ย้ำนะครับว่าต้องมีทะเบียนยา เพราะถ้าใช้ผลิตภัณฑ์เถื่อนอาจจะได้รับผลเสียที่ร้ายแรงยิ่งกว่าเดิม

เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับสาระความรู้ดีที่ DooDiDo ได้นำมาฝากให้กับโรคในสัตว์เลี้ยงสุดน่ารักอย่างน้องมะหมากับเรื่อง ที่เรานำมาฝากวันนี้กับมารู้จักกับ พยาธิในเม็ดเลือด ปัญหาสุขภาพของน้องหมา ที่ควรรู้ พยาธิเม็ดเลือดนั้นมี “เห็บ” เป็นพาหะนำโรค หากเราสามารถกำจัดเห็บให้หมดไปไม่มารังควาญเจ้าตัวน้อยได้ โอกาสที่พยาธิเม็ดเลือดจะเล่นงานน้องหมาของเรานั้นก็จะลดลงตามไปด้วยค่ะ ซึ่งควรกำจัดทั้งเห็บบนตัวน้องหมา และในสิ่งแวดล้อมที่น้องหมาอาศัยอยู่ควบคู่กันไปค่ะ

ขอบคุณแหล่งที่มา: www.vetbasket.com