“ปลากัด” เสน่ห์แห่งปลาสวยงาม เลี้ยงง่าย แถมสร้างรายได้อีกด้วย

WM

คนรักปลาต้องรู้! ความรู้เกี่ยวกับวิธีเลี้ยงปลากัด ให้เจริญเติบโต

เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คนรักปลาว่า ปลากัด เป็นปลาที่นิยมเลี้ยงมานาน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งชาวต่างชาติมักรู้จักในชื่อ Fighting Fish หรือ Siamese Fighting Fish และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta splendens Regan ปลากัดนั้นจัดเป็นปลาพื้นเมืองดั้งเดิมของไทยที่นิยมเลี้ยงมาตั้งแต่สมัยโบราณเพื่อดูเล่น และเพื่อกีฬากัดปลา

ปลากัด จัดเป็นปลาสวยงามที่นิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในด้านความสวยงาม การกีฬา และการสร้างรายได้ที่แน่นอนให้กับเกษตรกรหรือผู้ชื่นชอบ โดยปลากัดที่นิยมเลี้ยง ได้แก่ ปลากัดหม้อ และปลากัดจีน โดยปลากัดจีนจะเพาะเลี้ยงเพื่อเป็นปลาสวยงาม และเพื่อการส่งออกเป็นหลัก ส่วนปลากัดหม้อจะเพาะเลี้ยงเพื่อการนำมาต่อสู้กัน มูลค่าการซื้อขายในประเทศแต่ละปีประมาณ 5 – 10 ล้านบาท ส่วนตลาดต่างประเทศที่มีการส่งออกสามารถสร้างรายได้มากกว่า 20 – 30 ล้านบาทต่อปี ปลากัดไทย ถูกยกให้เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ด้วยเอกลักษณ์ของปลากัดไทยที่มีความดุดัน และในเวลาสงบก็อ่อนโยนมีเสน่ห์น่าดึงดูด ปลากัดเป็นปลาที่มีความผูกพันกับคนไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ใครที่หลงใหลปลากัด เรามาอ่านเรื่องราวของปลากัด สายพันธุ์ปลากัดสวยงาม และวิธีเลี้ยงปลากัดไปพร้อม ๆ กันเลย

WM
ขอบคุณภาพจาก : https://pixabay.com/th/users/yancabrera-3521614/

วิธีเลี้ยงปลากัด
ปลากัดเป็นปลาสวยงามที่นิยมเลี้ยงเนื่องจากโตไว เลี้ยงง่าย ไม่ยุ่งยากใช้พื้นที่น้อย และไม่ต้องให้ออกซิเจนเพิ่ม เรามาดูวิธีเลี้ยงปลากัดกันเลย

1. หาซื้อตู้ปลาหรือโหลปลากัด

  • ขวดแก้ว: ใช้เลี้ยงปลากัดวัยรุ่น ที่ตัวยังไม่ใหญ่ ไม่เหมาะกับการเลี้ยงปลากัดครีบยาว
  • โหลกลม: ใช้วนน้ำเพื่อฝึกปลากัดให้แข็งแรง เหมาะกับปลาขนาดใหญ่
  • โหลทรงกระบอก: ใช้วนน้ำฝึกปลากัดได้เช่นกัน
  • โหลสี่เหลี่ยมทรงสูง: ใช้ในการเทียบปลากัดเพื่อเตรียมผสมพันธุ์
  • โหลสี่เหลี่ยมทรงเตี้ย: เหมาะกับการเลี้ยงปลากัดเพื่อโชว์ความพริ้วไหวของครีบและหางของปลากัด
WM
ขอบคุณภาพจาก : https://pixabay.com/th/users/4361694-4361694/

อาหารปลากัด ปลากัดกินอะไรเป็นอาหาร

วิธีเลี้ยงปลากัดอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญคือ อาหารปลากัด ถึงแม้ปลากัดจะเป็นปลาขนาดเล็ก แต่เป็นปลาที่กินเก่ง ผู้เลี้ยงสามารถให้อาหารปลากัดเช้า-เย็น หรือให้วันละ 1 ครั้งก็ได้ อาหารปลากัดแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ

  • อาหารปลากัดสำเร็จรูป ปกติปลากัดไม่ค่อยชอบกินอาหารสำเร็จรูป อาหารปลากัดสำเร็จรูปที่ปลากัดชอบที่สุดคือ อาหารแบบเกล็ด ปลากินง่าย ลอยบนผิวน้ำ
  • อาหารปลากัดที่ยังมีชีวิต เป็นอาหารปลากัดที่ปลาชอบกินมากกว่าอาหารสำเร็จรูป แต่ทั้งนี้การให้อาหารปลากัดเป็นสิ่งมีชีวิต ก็ควรระวังเรื่องของความสะอาด เพราะอาจทำให้ปลากัดติดโรคได้ อาหารปลากัดแบบสิ่งมีชีวิตคือ ลูกน้ำ ไรแดง หนอนแดง ไข่ของสัตว์ เช่น ไข่มด ไข่กุ้ง ไข่กบ ฯลฯ
WM
ขอบคุณภาพจาก : https://pixabay.com/th/users/4361694-4361694/

การเปลี่ยนน้ำปลากัด

วิธีเลี้ยงปลากัดหรือปลาสวยงามชนิดอื่น ๆ จำเป็นต้องเปลี่ยนน้ำให้ปลาอยู่เสมอ สำหรับปลากัดควรเปลี่ยนน้ำอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ขั้นตอนการเปลี่ยนน้ำปลากัดคือ

1. เตรียมน้ำที่จะเปลี่ยนและน้ำที่ต้องใช้ในการพักปลา
2. ให้นำปลาออกไปพักไว้ในน้ำใหม่ แล้วทำความสะอาดโหลด้วยผ้าสะอาด
3. เติมน้ำเดิม 1 ส่วน และน้ำใหม่ 3 ส่วน เพื่อรักษาสมดุลของแบคทีเรียในโหลเลี้ยงแล้วจึงนำปลากัดใส่ลงไป
ใช้น้ำหมักปลากัด เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการดูแลปลากัดให้สวยงาม ทำให้ปลาคึกกว่าปกติ และเร่งให้ปลากัดอยากก่อหวอดอีกด้วย

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับวิธีเลี้ยงปลากัด
– การหายใจของปลากัด ปลากัดเป็นปลาที่ไม่จำเป็นต้องมีปั๊มออกซิเจนในตู้ เนื่องจากปลากัดสามารถว่ายขึ้นมาด้านบนเพื่อฮุบอากาศได้เอง แต่หากเลี้ยงเพื่อความสวยงาม ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงในโหลแคบ ๆ มืด ๆ เสมอไป
– น้ำในการเลี้ยงปลากัด ควรเป็นน้ำสะอาด และมีคลอรีนให้น้อยที่สุด เปลี่ยนน้ำบ่อย ๆ ไม่ควรปล่อยให้ปลากัดปล่อยเมือกจนน้ำขุ่น
– ปลากัดมองตาก็ท้องไม่เป็นความจริง แต่การนำโหลปลากัดมาเทียบกัน ให้ปลากัดได้มองหน้ากันเป็นการลดความก้าวร้าวของทั้งคู่ เมื่อความก้าวร้าวลดลงจึงสามารถจับพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ใส่ในโหลเดียวกันเพื่อผสมพันธุ์ได้

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับวิธีเลี้ยงปลากัดที่ DooDiDo นำมาฝากนั้น ง่ายๆ มากๆ เลยใช่ไหมคะ เมื่อรู้แบบนี้แล้วก็อย่าลืมนำไปเตรียมความพร้อมก่อนที่จะซื้อปลากัดมาเลี้ยงนะคะ ที่สำคัญเวลาเราเลี้ยงปลาเราต้องหมั่นดูแลความสะอาดของตู้ปลา และต้องหาเวลาเอาใจใส่ปลาของเราอยู่เสมอ เพื่อให้เค้าเติบโต อยู่กับเราไปนานๆ ค่ะ

ขอบคุณแหล่งที่มา : https://sites.google.com/a/email.nu.ac.th/jutamart-hongorn/pla-nk-kae

https://sites.google.com/site/siamfishs/naeana-say-phanthu-pla-tang/pla-kad