ปลากะพง เลี้ยงด้วยคุณภาพอาชีพที่ทำเงินมากว่า 2 ทศวรรษ

WM

ภาพจาก sriseafood

อาชีพที่ทำเงินมากว่า 2 ทศวรรษ ปลากะพง เลี้ยงด้วยคุณภาพ

ปลากะพง เป็นปลาที่เลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในเขตจังหวัดชายฝั่งทะเลของไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lates calcarifer ชื่อสามัญเรียกว่า Giant Bass เป็นปลาที่อยู่ได้ทั้งในน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม เลี้ยงง่าย โตเร็ว เนื้อมีรสชาติดี ผู้บริโภคทั้งภายในประเทศ ต่างประเทศ ชอบทำให้เป็นปลาที่สร้างรายได้ดีให้กับผู้เลี้ยงเป็นอย่างดี

ด้วยคุณสมบัติพิเศษที่อยู่ได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย จึงทำให้ปลากะพงในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องเลี้ยงในน้ำเค็มเพียงอย่างเดียว ยังสามารถเลี้ยงในน้ำจืดและเลี้ยงได้แบบธรรมชาติ หรือที่บ่อบริเวณบ้าน หรือในบ่อสวนมากขึ้น เมื่อปลามีขนาดที่ตลาดต้องการสามารถจับจำหน่ายเป็นรายได้เสริมได้ ปัจจุบัน เป็นที่นิยม นำมาเลี้ยงสร้างรายได้ในเกษตรกรภาคกลาง

การเลี้ยงปลากะพงในช่วงแรก ๆ เจออุปสรรคนับครั้งไม่ถ้วนแต่ก็จากปัญหาและอุปสรรคที่ประสบพบเจอ จึงทำให้เขาเป็นเกษตรกรตัวยงในเรื่องการเลี้ยงปลากะพงเลยทีเดียว การเลี้ยงปลากะพงจึงเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้เขาได้เป็นอย่างดี เกษตรกรที่เลี้ยงปลากะพงมาแล้ว 20 ปีอย่าง สุทธิ มะหะเลา เกษตรกร จังหวัดชลบุรี กล่าว

เดิม คุณสุทธิประกอบธุรกิจเป็นพ่อค้าอาหารกุ้ง จึงเริ่มทำการทดลองเลี้ยงกุ้งและปลากะพง ในช่วงแรกที่เลี้ยงปลากะพงจะเน้นให้อาหารแบบเหยื่อสด และเมื่อเหยื่อที่ใช้เลี้ยงเป็นอาหารสดเริ่มมีจำนวนลดลง จึงได้ปรับเปลี่ยนการเลี้ยงมาฝึกให้กินอาหารเม็ดแทน จึงทำให้การเลี้ยงปลากะพงมีความสะดวกมากขึ้น

ช่วงแรก ๆ เลี้ยงแบบอาหารเม็ด ช่วงนั้นเรายังไม่ได้ศึกษาอะไรมากเรื่องเลี้ยงปลากะพง พอดีมันเริ่มจะมีการเข้ามา เราก็เลยเปลี่ยนมาเลี้ยงแบบอาหารเม็ดเลย ช่วงนั้นปลากินอาหารเม็ดไม่เก่ง เรียกว่าไม่ค่อยกินเลยดีกว่า ปลาที่ได้ก็แค่ 10 เปอร์เซ็นต์เองของผลผลิตทั้งหมด

WM
ภาพจาก เทคโนโยลีชาวบ้าน

เอาง่ายๆ ทุนหายกำไรหดเจ๊งสนิท เมื่อความสำเร็จที่ได้รับไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ก็ยังไม่ลดละความตั้งใจที่จะเลี้ยงปลากะพงจึงได้ศึกษาทดลองมาเรื่อย ๆ จนประสบผลสำเร็จ โดยนำความผิดพลาดทั้งหมดที่ผ่านมา ทำการวิเคราะห์ว่าสิ่งที่ทำแล้วไม่ประสบผลสำเร็จนั้นเกิดจากอะไร

ปี 2545 ได้มีโอกาสเดินทางประเทศเวียดนามได้เห็นเขาทำอาหารปลาสวาย คนทำอาหารปลากล่าวว่า “ทำอาหารให้ปลากิน ไม่ได้ทำให้คนดม เพราะคนบ้านเราชอบดมอาหารที่หอมๆ แต่คุณค่าอาหารดีหรือเปล่าไม่รู้ ที่นั้นเขาศึกษากันอย่างจริงจัง

เราก็เลยเอาข้อคิดจากเขาตรงนั้นมาวิเคราะห์ ว่าเราจะไปคิดเองไม่ได้ว่าปลาต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เราก็เลยกลับมาเรียนรู้นิสัยปลากะพง ใช้เวลาอยู่นาน ว่าเราต้องทำยังไงให้มันกินอาหารเม็ดให้เป็น เรียนรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับปลากะพงเลย สุดท้ายปี 49 มันก็ประสบผลสำเร็จสมกับที่เราศึกษาอย่างจริงจัง” คุณสุทธิ กล่าว

การเลี้ยงปลากะพงไม่มีขั้นตอนอะไรที่ยุ่งยากเริ่มเลี้ยงใหม่ๆ จะต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปหาซื้อเหยื่อสดมาบดให้ปลากินเมื่อปลาเริ่มทานอาหารเม็ดได้แล้ว ก็จะจัดการเลี้ยงไปในรูปแบบให้อาหารเม็ดแทนทั้งหมด ถึงแม้ว่าคนทั่วไปมองว่าปลากะพงไม่น่าจะเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดได้ ควรเลี้ยงด้วยเหยื่อสด

เดิมเหยื่อสดมีราคาถูกมาก แต่ต้องตื่นตี 3 เพื่อไปหาซื้อเหยื่อ แล้วนำเอามาบดให้ปลากิน จึงได้ศึกษาว่าทำไมปลาไม่ยอมกินอาหารเม็ดตั้งแต่เริ่ม พบว่า ปลากะพง ที่เราเลี้ยงมันไม่ได้ถูกฝึกให้กินเหยื่อเม็ดมาตั้งแต่ต้น

ขั้นตอนการเลี้ยงปลา

ต้องเริ่มจากการเตรียมบ่อเลี้ยงให้มีขนาดประมาณ 3-5 ไร่ เป็นขนาดที่เหมาะสม แต่ถ้าหากใครมีพื้นที่มากกว่านี้ ก็สามารถเลี้ยงได้ถึงขนาด 10 ไร่ จากนั้นนำปูนขาวมาโรยที่ก้นบ่อเพื่อฆ่าเชื้อ ทำการดักตาข่ายกันไว้สำหรับปล่อยลูกปลากะพงตัวเล็กลงไปในบ่อเสียก่อน

“เราก็เตรียมที่ใส่น้ำ โดยเอาน้ำมาบำบัดก่อน แล้วค่อยใส่ลงในบ่อเลี้ยง จะมีทั้งฆ่าเชื้อหรือจะเป็นการลงจุลินทรีย์เพื่อเตรียมน้ำ พร้อมทั้งเช็คค่า pH และก็ค่าอัลคาไลน์ แต่จริง ๆ แล้วปลากะพงมันก็เลี้ยงได้ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม

แต่ที่เราต้องเช็คความเค็มที่บ่อ ก็เพื่อจะได้รู้ว่า ลูกปลาที่เราเอามาเลี้ยง เคยอยู่ที่น้ำเค็มประมาณเท่าไรมาก่อน เราก็จะได้มาปรับถูก ไม่ให้ลูกปลารู้สึกว่าอยู่ในน้ำที่มีค่าความเค็มแตกต่างกันไปมากนัก ในช่วงที่เราเอามาเลี้ยง” คุณสุทธิ อธิบาย

เมื่อใส่น้ำลงไปในบ่อเลี้ยงแล้วทำการเช็ค pH และอัลคาไลน์อีกครั้ง ซึ่ง pH ที่เหมาะสมจะอยู่ที่ประมาณ 7.5-8.5 ค่าอัลคาไลน์อยู่ที่ 100 ขึ้นไป และความเค็มที่เหมาะสมอยู่ที่ 7-15 ppt ความเค็มสามารถขึ้นไปสูงถึง 30 ppt ได้

จากนั้นนำลูกปลากะพงที่ฝึกการกินอาหารมาปล่อยลงภายในบ่อ ปลาที่ปล่อยลงเลี้ยงอย่าไซซ์ขนาดต่างกันมากเกินไป มีไซซ์ขนาด 4 นิ้ว และ 5 นิ้ว อยู่รวมกันได้ แต่ถ้าเป็น 2 นิ้ว กับ 4 นิ้ว แบบนี้ห่างกันมากเกินไป บ่อขนาด 5 ไร่ ปล่อยปลาเลี้ยงประมาณ 15,000-30,000 ตัว

อาหารสำหรับปลากะพงจะเริ่มให้เป็นอาหารเบอร์เล็ก ที่มีโปรตีน 45 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาปลาเจริญเติบโตมีขนาดไซซ์กลาง ก็จะเปลี่ยนอาหารเป็นเบอร์ที่ใหญ่ขึ้น โปรตีนลดลงอยู่ที่ 42 เปอร์เซ็นต์ และส่วนปลาใหญ่อาหารจะมีขนาดใหญ่ขึ้น โปรตีนลดลงอยู่ที่ 38 เปอร์เซ็นต์ โดยอาหารจะเปลี่ยนเบอร์ทุก 15-20 วัน ซึ่งเบอร์ของอาหารเล็กสุดอยู่ที่เบอร์ 1 ส่วนเบอร์ใหญ่สุดจะเป็นเบอร์ 7 อาหารจะให้ปลากะพงกินในเวลาเช้าและเย็น

ด้านโรคที่เกิดกับปลากะพงไม่ค่อยมีถ้ารู้จักการควบคุมเรื่องน้ำให้ดี ๆ และอาหารที่ให้ปลากะพงกินก็ไม่ตกลงไปสะสมที่ก้นบ่อ ทำให้ไม่มีของเสียสะสมที่ก้นบ่อจนทำให้ปลาเกิดโรคได้ ซึ่งปลากะพงใช้เวลาเลี้ยงทั้งหมดประมาณ 5 เดือน ก็สามารถจับจำหน่ายได้

“ในเรื่องของการทำการตลาดนั้นช่วงแรก ๆ ไม่เป็นที่ยอมรับเพราะปลาที่เลี้ยงด้วยอาหารเม็ดจะมีลักษณะอ้วน ไขมันเยอะ ไม่ค่อยได้ทรง ทำให้ตลาดปลากะพงยังไม่ยอมรับมากนัก เพราะ ปลากะพงต้องเป็นทรงเรียวยาว รูปทรงดีต้องมาปรับเรื่องอาหารใหม่ จนได้ปลาทรงสวยขายได้ดี”

“ปลากะพงที่ตลาดต้องการน้ำหนักอยู่ที่ 700 กรัม ถึง 1 กิโลกรัมขึ้นไป มีคนมาจับถึงบ่อจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 95-120 บาท ซึ่งราคาจำหน่ายดูตามเกณฑ์ที่ตลาดกำหนด ถ้าปลามีไซต์ขนาดต่ำกว่าที่ตลาดต้องการหรือพิการราคาก็จะต่ำลงมาตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้” คุณสุทธิ บอกอุปสรรคของการจำหน่าย

“หลักของการเลี้ยงปลากะพง คือ ลูกปลาต้องดี ต้องฝึกกินอาหารเม็ดมาแล้ว ต่อมาก็จะเป็นเรื่องของคุณภาพอาหาร ต้องดีมีคุณภาพ ไม่แพง แต่มีคุณภาพเลี้ยงแล้วปลาโตดี หรือแพงหน่อยแต่ผลตอบแทนเราดีก็ต้องเลือกให้ดี การจะทำอะไรให้ประสบผลสำเร็จ ความซื่อสัตย์เป็นเรื่องสำคัญ โดยที่ผู้ที่เลี้ยงทั้งหมดต้องร่วมมือกัน เพราะราคาปลาก็มีขึ้นมีลง ส่วนการเลี้ยงถ้าจัดการดี ๆ เราก็จะได้กำไร มันก็มีช่วงน้อยที่จะขาดทุน ใครสนใจก็ลองมาศึกษาดูได้ถ้าจะทำเป็นอาชีพ” คุณสุทธิ แนะนำ

สำหรับท่านใดสนใจอยากศึกษาในเรื่องของการเลี้ยงปลากะพง สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุทธิ มะหะเลา ที่หมายเลขโทรศัพท์ (089) 244-1344, (089) 894-3709

เกษตร และ บทวิเคราะห์ เทคโนโลยีทางการเกษตร ตลาดขายพืชผลทางการเกษตร ผลกระทบทางการเกษตร งบประมาณและนโยบายรัฐเพื่อการเกษตร และการส่งออกพืชผลทางการเกษตร ที่ได้รับความสนใจ ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน