คอกาแฟควรรู้ประโยชน์และโทษของกาแฟที่มีผลต่อสุขภาพ!!

WM

กาแฟ หนึ่งในเครื่องดื่มยอดนิยมที่หลายคนดื่มในยามเช้าหรือยามง่วงนอน

ในตอนเช้าของวันทำงานอันแสนจะวุ่นวายและรีบเร่งของ มนุษย์ออฟฟิศส่วนใหญ่มักจะปลุกตัวเองให้ตื่นเต็มตาด้วย “กาแฟ” สักแก้วหนึ่ง ก่อนไปลุยงานให้ได้เต็มที่ บางคนดื่มกาแฟแทนมื้อเช้าด้วยซ้ำ รวมถึง “สาวออฟฟิศ” เองก็ดื่มกาแฟกันแทบทุกวัน เรียกว่ามีกาแฟอยู่ในสายเลือดกันจริงๆกาแฟ” เป็นเครื่องดื่มที่ทำจากผลของต้นกาแฟ ภายในผลกาแฟก็จะมีเมล็ดซ่อนอยู่ 2 เมล็ด ต้นกาแฟเป็นไม้พุ่มไม่ผลัดใบขนาดเล็กในตระกูล Coffea โดยมีหลากหลายสปีชีส์ด้วยกัน แต่สายพันธุ์ที่นิยมปลูกมากที่สุด ได้แก่ กาแฟอาราบิก้า ที่ให้กลิ่มหอมกรุ่นติดจมูก แต่มีรสชาติไม่ค่อยเข้ม และกาแฟโรบัสต้า ที่ให้รสชาติเข้มข้นกว่า มีกลิ่นหอมอ่อนๆ 

กาแฟ หนึ่งในเครื่องดื่มยอดนิยมที่หลายคนดื่มในยามเช้าหรือยามง่วงนอน เพื่อปลุกสมองให้ตื่นตัว คลายความเหนื่อยล้าทั้งทางกายและทางจิตใจ และนอกจากประโยชน์ที่คุ้นเคยกันนี้ เชื่อว่ากาแฟยังอาจมีประโยชน์ทางการแพทย์ด้านอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ป้องกันโรคพาร์กินสัน โรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เก๊าท์ อัลไซเมอร์ หืด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งปอด และมะเร็งเต้านม เป็นต้นทั้งนี้สรรพคุณทางการแพทย์และทางสุขภาพของกาแฟนั้นเชื่อว่ามาจากคาเฟอีน สารกระตุ้นที่พบได้สูงจากกาแฟที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง หัวใจ และกล้ามเนื้อ การศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของกาแฟในการป้องกันและรักษาโรคส่วนใหญ่จึงมุ่งไปที่สารคาเฟอีนในกาแฟเป็นหลัก โดยกาแฟสำเร็จรูปโดยทั่วไป 1 แก้วประกอบด้วยคาเฟอีนประมาณ 85-100 มิลลิกรัม แต่หากเป็นกาแฟชงสดจะมีคาเฟอีน 100-150 มิลลิกรัมต่อแก้ว ส่วนกาแฟที่ผ่านการลดคาเฟอีนนั้นก็ยังคงมีคาเฟอีนประมาณ 8 มิลลิกรัมต่อแก้ว ทั้งนี้กาแฟที่ผ่านกระบวนการคั่วจนเข้มจะมีคาเฟอีนน้อยกว่ากาแฟสีอ่อน

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://unsplash.com/@muustudio

ประโยชน์ที่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอจะระบุประสิทธิภาพของกาแฟ

ป้องกันโรคเก๊าท์

บางงานวิจัยแนะนำว่าการดื่มกาแฟอาจช่วยป้องกันการเกิดโรคเก๊าท์ได้ การศึกษาหนึ่งที่สนับสนุนคุณประโยชน์ด้านนี้ของกาแฟทำการทดลองในหญิงและชายจำนวนมาก โดยแบ่งกลุ่มให้ดื่มกาแฟปกติที่มีคาเฟอีน กาแฟที่ผ่านการลดคาเฟอีน ชา และคาเฟอีนอย่างเดียว เป็นเวลานานกว่า 4 ปี ปรากฏว่าการบริโภคกาแฟในระยะยาวมีส่วนช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคเก๊าท์ได้ และพบว่าส่งผลให้ระดับกรดยูริกซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคลดต่ำลง

ป้องกันโรคอัลไซเมอร์

มีการกล่าวถึงสรรพคุณของคาเฟอีนต่อการชะลอภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์กันมาก การดื่มกาแฟจะให้ผลดีจริงหรือไม่นั้นก็ยังไม่ทราบแน่ชัด เนื่องจากยังมีการทดลองในด้านนี้ไม่มากนัก ทั้งนี้ได้มีการทบทวนการศึกษาที่ผ่านมา ซึ่ง 3 ใน 5 ให้การสนับสนุนประโยชน์ของกาแฟในการป้องกันภาวะสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ แต่ 2 ใน 3 งานนั้นเป็นการศึกษาโดยใช้ชาผสมกับกาแฟ ซึ่งคุณประโยชน์ของชาในด้านนี้ก็ยังคลุมเครืออยู่เช่นกัน ส่วนงานวิจัยเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของกาแฟและโรคนี้โดยตรง กล่าวว่าการดื่มกาแฟวันละ 3-5 แก้วตั้งแต่ในช่วงวัยกลางคนอาจมีความเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ในวัยสูงอายุที่ลดลงประมาณ 65 เปอร์เซ็นต์

ลดอาการปวดศีรษะและไมเกรน

หนึ่งในคำแนะนำสำหรับวิธีบรรเทาอาการปวดศีรษะที่อาจเคยได้ยินบ่อยครั้งก็คือการดื่มกาแฟ สาเหตุอาจมาจากการที่คาเฟอีนนั้นมักถูกใช้เป็นส่วนผสมในยาบรรเทาอาการปวดบางชนิด โดยอาจช่วยให้ยามีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ทว่าการรับประทานกาแฟที่มีคาเฟอีนนั้นจะช่วยให้หายจากอาการปวดศีรษะได้จริงอย่างที่เชื่อกันหรือไม่ ทางวิทยาศาสตร์เองยังไม่พบคำตอบในเรื่องนี้ ตรงกันข้าม ยังคาดว่าคาเฟอีนอาจเป็นตัวการให้เกิดอาการปวดศีรษะเสียเองได้เช่นกัน

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://unsplash.com/@brucemars

ลดความตึงเครียด

ว่ากันว่าการดื่มกาแฟช่วยลดความตึงเครียด แต่หลักฐานการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสรรพคุณลดความเครียดของกาแฟนั้นไม่ยังไม่พบแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ชี้ว่าการได้รับคาเฟอีนอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้าในเด็กชั้นมัธยมอีกด้วย

ดีต่อสุขภาพหัวใจ

ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่ากาแฟให้คุณหรือให้โทษต่อหัวใจกันแน่ โดยเชื่อว่าในกาแฟนั้นอาจมีสารที่สามารถให้ทั้งประโยชน์และโทษต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด บางงานวิจัยกล่าวว่ากาแฟอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และอีกหลาย ๆ งานที่แนะนำว่าการดื่มกาแฟในปริมาณปานกลางสามารถป้องกันการเกิดโรคนี้ได้ นักวิจัยบางคนจึงคาดว่ากาแฟอาจประกอบด้วยสารอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ เช่น สารต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น

ควบคุมน้ำหนัก

กล่าวกันว่ากาแฟสามารถช่วยลดน้ำหนัก ลดความอ้วนได้ สำหรับประโยชน์ของกาแฟในด้านนี้ มีการศึกษาบางงานที่แนะนำว่าการดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนทุกวันอาจมีส่วนช่วยควบคุมและลดน้ำหนัก หรือในอีกงานวิจัยหนึ่งที่พบว่ากาแฟหรือคาเฟอีนในกาแฟอาจไปช่วยกระตุ้นอัตราการเผาผลาญและส่งผลให้ทั้งผู้ที่มีน้ำหนักปกติและผู้ที่มีภาวะอ้วนมีน้ำหนักตัวลดลงได้ อย่างไรก็ตาม การศึกษาเหล่านี้ยังเป็นเพียงงานวิจัยที่ทดลองในคนจำนวนไม่มากและมีข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ยังเชื่อถือได้ไม่มากพอ

รักษาโรคหืด

อีกคุณประโยชน์ของกาแฟที่ยังเป็นที่สงสัยว่าจะมีประสิทธิภาพต่อการรักษาได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งจากการศึกษาที่รวบรวมงานวิจัยด้านนี้ พบว่าคาเฟอีนอาจช่วยให้การทำงานของระบบทางเดินหายใจในผู้ป่วยโรคนี้ดีขึ้นได้ปานกลางนานถึง 4 ชั่วโมง และอาจต้องแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการได้รับคาเฟอีนก่อนการตรวจการทำงานของปอดเป็นเวลาอย่างน้อย 4 ชั่วโมง เนื่องจากคาเฟอีนอาจทำให้ผลลัพธ์การตรวจคลาดเคลื่อนได้ คาดว่าหากในอนาคตมีการศึกษาเพิ่มเติมคงได้ทราบกันว่ากาแฟส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคหืดจริงหรือไม่

รักษาโรคตับ

การดื่มกาแฟอาจยังให้ผลดีต่อผู้ป่วยโรคตับ โดยมีการทบทวนงานวิจัยที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ จากการสรุปข้อมูลที่พบในปัจจุบัน งานวิจัยบางงานกล่าวว่าการดื่มกาแฟอาจมีความสัมพันธ์กับระดับเอนไซม์ตับและผลตรวจการทำงานของตับที่ดียิ่งขึ้นในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคตับทั้งหลาย

ส่วนการดื่มกาแฟในผู้ป่วยโรคตับเรื้อรังนั้นอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับแข็ง ลดอัตราการเกิดเซลล์มะเร็งตับ และการเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคตับแข็ง นอกจากนี้ ด้านการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี กาแฟก็อาจมีประโยชน์ในการช่วยให้ผลการรักษาระยะยาวดีขึ้น ทว่าผลการศึกษาทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนยังไม่สามารถยืนยันได้ว่ากาแฟจะมีประโยชน์ทางการแพทย์มากพอที่จะนำมารักษาผู้ป่วยโรคตับได้

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://unsplash.com/@srosinger3997

บุคคลที่ควรระมัดระวังในการดื่มกาแฟ

-หญิงที่ตั้งครรภ์ควรได้รับคาเฟอีนไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่ากับกาแฟสำเร็จรูปไม่เกิน 2 แก้ว หรือเท่ากับกาแฟชงสด 1 แก้ว หากได้รับกาแฟมากกว่านี้อาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการแท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด และทารกมีน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อยได้ โดยยิ่งได้รับกาแฟมากเท่าใดก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้น

-การดื่มกาแฟวันละ 1-2 แก้วดูเหมือนจะไม่เป็นอันตรายสำหรับแม่ที่ต้องให้นมบุตรและทารก แต่การดื่มกาแฟในปริมาณมากอาจส่งผลต่อระบบย่อยอาหารของทารก อีกทั้งทำให้เด็กนอนไม่หลับและเกิดอาการหงุดหงิดฉุนเฉียวได้

-การให้เด็กดื่มกาแฟอาจไม่ปลอดภัย เพราะอาจมีผลข้างเคียงจากการดื่มที่รุนแรงมากกว่าในผู้ใหญ่

-ผู้ป่วยโรควิตกกังวลอาจมีอาการวิตกกังวลที่แย่ลงได้จากการดื่มกาแฟ

-ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการมีเลือดออกผิดปกติ การดื่มกาแฟอาจยิ่งทำให้อาการแย่ลงได้

-การดื่มกาแฟต้มจะยิ่งทำให้ได้รับคอเลสเตอรอลและไขมันชนิดอื่น ๆ ในเลือดสูงขึ้น รวมถึงระดับโฮโมซีสเตอีน (Homocysteine) ในร่างกายที่อาจจะสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจ และยังมีงานวิจัยที่ชี้ว่าการดื่มกาแฟนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน

-บางงานวิจัยแนะนำว่าสารคาเฟอีนที่มีอยู่ในกาแฟอาจส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยมีรายงานว่ากาแฟอาจไปเพิ่มหรือลดระดับน้ำตาลในเลือดก็ได้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงควรใช้กาแฟอย่างระมัดระวังและหมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือด

-การดื่มกาแฟอาจส่งผลให้ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงอยู่แล้วมีระดับความดันโลหิตสูงยิ่งขึ้น ทั้งนี้ผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำอยู่แล้วอาจได้รับผลกระทบนี้น้อยกว่า

-ผู้ป่วยโรคต้อหินไม่ควรดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีน เพราะอาจทำให้ความดันภายในดวงตาสูงขึ้น โดยจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ภายใน 30 นาทีแรกและคงอยู่อย่างน้อย 90 นาที

สำหรับใครที่ชื่นชอบการดื่มกาแฟ จากนี้ก็รู้ถึงโทษของการดื่มกาแฟ กันแล้วนะคะว่ามีอะไรบ้าง เพราะแม้คุณอาจจะเคยได้ยินว่า ประโยชน์ของการดื่มกาแฟ ดีต่อสุขภาพจริง แต่กระนั้นก็ย่อมหมายถึงการรู้จักดื่มในปริมาณที่พอเหมาะบวกกับการดูแลสุขภาพในด้านอื่นๆ เสริมควบคู่กันด้วย แต่สำหรับใครที่ผ่านมาหากติดคาเฟอีนมากเกินไปถ้าไม่อยากให้สุขภาพพังลง ต้องพยายามหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟซะแล้วล่ะ หรือพยายามดื่มให้น้อยลง เพราะการปล่อยให้ร่างกายรับคาเฟอีนมากเกินไป ย่อมนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพดังที่เรา DooDiDo กล่าวไปเบื้องต้นก็เป็นได้

ขอบคุณแหล่งที่มา: www.pobpad.com