ข้อควรระวัง!! 8 อาหารที่เป็นสาเหตุให้ลูกน้อยเกิด “การแพ้อาหาร”ได้

WM

การให้อาหารหลากหลายตั้งแต่เป็นทารก อาจจะมีผลป้องกันการแพ้อาหารในช่วงที่เด็กมีอายุมากขึ้น

อาหารแต่ละชนิดที่ลูกน้อยทานเข้าไป เป็นสาเหตุของการแพ้อาหารได้ค่ะ คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจในการเลือกอาหารการกินให้กับลูกน้อย เพราะถ้าหากลูกทานเข้าไปแล้วเกิดอาการแพ้อาหาร อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของลูกได้ค่ะ วันนี้เราจะพาคุณพ่อคุณแม่ไปดูอาหารที่อาจทำให้ลูกเกิดอาการแพ้อาหารได้ค่ะ

การแพ้อาหาร (Food allergy) คือ ผลต่อสุขภาพ ที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งเกิดเนื่องจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่เฉพาะเจาะจง และจะเกิดซ้ำได้เหมือนเดิมเมื่อรับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง การแพ้อาหารอาจจัดแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ชนิดที่เกิดอย่างเฉียบพลันโดยมี อิมมูโนโกลบูลิน อี เกี่ยวข้องด้วย และชนิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับ อิมมูโนโกลบูลิน อี ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะชนิดแรกซึ่งเป็นชนิดที่พบบ่อยและอธิบายได้

การแพ้อาหาร 90% มีสาเหตุมาจากอาหาร 8 อย่างดังนี้

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/imoflow-2614430/

1.นมวัว
อาการแพ้นมวัวพบมากในเด็กเล็กที่มีอายุประมาณ 6 เดือน เนื่องจากร่างกายไม่สามารถย่อยโปรตีนในนมวัวได้ อาการแพ้นมวัวพบมากกว่าโรคภูมิแพ้ไข่ และถั่วลิสงถึง 2 เท่า นอกจากการรับจากนมวัวโดยตรงแล้วให้คุณแม่คำนึงถึงอาหารที่มีส่วนผสมของนมวัวและผลิตภัณฑ์ที่มีการแปรรูปมาจากนมวัวด้วย เช่น คุ้กกี้ เบเกอรี่ เนย ชีส โยเกิร์ต ครีม
แต่อย่าเพิ่งตื่นตูมไปนะคะ นมวัวไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะอัตราการแพ้นมวัวที่เจอในเด็กไม่ถึง 1% หรือถ้าแพ้ก็สามารถดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะหลัง 1-2 ขวบ (ส่วนใหญ่จะกลับมากินนมวัวได้ตามปกติ)

2. ไข่
เด็กหลายคนแพ้โปรตีนในไข่ขาว เพราะในไข่ขาวมี อัลบูมิน ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทนความร้อนได้ดีมาก ไม่ว่าจะทำให้สุกอย่างไรโปรตีนตัวนี้ก็ยังคงอยู่ เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 8 เดือน ระบบย่อยยังทำงานไม่เต็มที่ จึงมีโอกาสแพ้ ได้ แนะนำให้ลูกเริ่มทานไข่ขาวได้เมื่ออายุสัก 10 เดือนขึ้นไป โดยให้เริ่มแค่ครึ่งฟองก่อน

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/forwimuwi73-519165/

3. ถั่วลิสง
เด็กที่มีอาการแพ้ถั่วจะแพ้ไปตลอดชีวิต และมีความไวต่อการแพ้มาก อีกทั้งมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่แล้วพบว่าเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายจะแพ้ถั่วลิสงตั้งแต่อายุ 2-3 ขวบเป็นต้นไป ซึ่งสาเหตุก็มาจากการแพ้โปรตีนในถั่วลิสงนั่นเอง นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ที่แพ้ถั่วลิสงมีแนวโน้มแพ้ถั่วเปลือกแข็งอีกหลายชนิด เช่น วอลนัท แมคคาเดเมีย และควรระวังผลิตภัณฑ์ที่มีถั่วเป็นส่วนผสมด้วยเช่น พีนัทบัตเตอร์

4.ถั่วเปลือกแข็ง
ถั่วเปลือกแข็งหรือถั่วตระกูลไม้ยืนต้น เช่น อัลมอนด์ วอลนัท เฮเซลนัท ถั่วบราซิล แมคคาเดเมีย เกาลัด พิสตาชิโอ เป็นต้น อย่างที่ทราบว่าคนที่แพ้ถั่วลิสงมีแนวโน้มจะแพ้ถั่วประเภทนี้ด้วย แต่บางครั้งก็พบว่าคนที่แพ้อัลมอนด์ก็อาจไม่ได้แพ้วอลนัทด้วยเสมอไป คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปทำการทดสอบกับคุณหมอเพื่อความแน่ใจจะดีที่สุดค่ะ

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/skitterphoto-324082/

5.แป้งสาลี
ตัวการคือโปรตีนกลูเตนในแป้งสาลี ซึ่งเราสามารถเลือกอาหารที่ปลอดกลูเตนได้ ด้วยการสังเกตฉลาก หากมีคำว่า Gluten Free หรือเลือกอาหารทดแทนอย่างการใช้แป้งข้าวจ้าวแทนแป้งสาลี อย่างไรก็ตาม กลูเตนไม่ได้มีอยู่ในแป้งสาลีอย่างดียว แต่ยังมีอยู่ในอาหารอื่นๆ ด้วย เช่น ซีอิ๊ว น้ำมันหอย อาหารเจ เบเกอรี่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป คุณแม่ควรระวังและอ่านฉลากให้ละเอียดว่ามีแป้งสาลี เป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยหรือไม่

6.ปลา
การแพ้ปลาเกิดจากแพ้โปรตีนในเนื้อปลา เด็กแต่ละคนอาจแพ้ปลาที่ไม่เหมือนกัน เช่น บางคนแพ้ปลาแซลมอน บางคนแพ้ปลาดุก บางคนแพ้ปลาทูน่า หรือแพ้ปลาทะเล การแพ้ปลานี้ ซึ่งนอกจากทานปลาไม่ได้แล้ว การสัมผัส การใช้ภาชนะที่มีปลาปนเปื้อน หรือการทานผลิตภัณฑ์ที่มีปลาผสมอยู่ แม้เพียงเล็กน้อยก็ทำให้แพ้ได้เช่นกัน

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/publicdomainpictures-14/

7. อาหารทะเล
เป็นอาหารอีกประเภทที่เด็กมีอาการแพ้บ่อย บางคนอาจมีอาการแพ้ไม่เหมือนกัน เช่น แพ้แค่กุ้ง บางคนแพ้แค่หอย แต่ทั้งนี้แพทย์จะแนะนำให้งดอาหารทะเลประเภทเดียวกันไปเลย เช่น คนที่แพ้กุ้ง ก็ต้องงดทานปูด้วย เพราะมีโอกาสแพ้ปูได้เช่นกัน หรือคนที่แพ้ปลาแซลมอนก็มีโอกาสแพ้ปลาชนิดอื่นด้วย

8. ถั่วเหลือง
ตัวการที่ทำให้เกิดการแพ้ คือโปรตีนถั่วเหลือง ซึ่งอาจผสมอยู่ในน้ำเต้าหู้ หรือในอาหารที่ใช้นมถั่วเหลืองเป็นส่วนผสม เช่น เบเกอรี่ต่างๆ

สำหรับ 8 อาหารที่ DooDiDo นำมาเสนอในวันนี้ คุณแม่ต้องคอยระวังและคอยสังเกตอาการหลังจากที่ลูกทานนะคะ หากลูกของคุณทานอาหารชนิดเหล่านี้แล้วมีอาการคัน มีผื่นขึ้น หรือถ้าสงสัยว่าลูกมีอาการแพ้ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันทีค่ะ

ขอบคุณแหล่งที่มา : www.thaibabyfoodblender.com, https://pharmacy.mahidol.ac.th