ขั้นตอนในการแจ้งเกิด และเอกสารที่ต้องใช้คุณแม่ต้องดู!

WM

หากพ่อแม่ไม่ดำเนินเรื่องแจ้งเกิดภายใน 15 วัน นับแต่ตั้งวันที่เด็กเกิด จะมีค่าปรับเป็นเงิน 1,000 บาท

เมื่อมีสมาชิกใหม่เกิดขึ้นมาในครอบครัว ทุกคนต่างก็มีความยินดีและดีใจ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ต่างก็ตื่นเต้นที่ได้เจอหน้าสมาชิกใหม่ตัวน้อย ๆ ที่จะเข้ามาเติมความรัก ความสดใสให้กับครอบครัว พ่อแม่มือใหม่หลายบ้านก็คงจะเตรียมตัว และเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ในการดูแลทารกน้อย และอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะลืมไม่ได้โดยเด็ดขาดก็คือ การแจ้งเกิด นั่นเอง เมื่อแจ้งเกิดแล้วก็จะได้สูติบัตร ถือเป็นเอกสารสำคัญทางราชการที่คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจให้ไปดำเนินการแจ้งเกิดจะได้รับภายในวันเดียวกันนั้นเลยค่ะ

การที่เด็กคนหนึ่งเกิดมาบนโลกใบนี้ย่อมเป็นเรื่องที่น่ายินดี แม้ว่าการเลี้ยงดูเด็กจะเป็นงานยากลำบาก แต่ก็ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่ยุ่งยากและต้องใช้เวลาเช่นกัน สิ่งนั้นก็คือ “การดำเนินเรื่องแจ้งเกิด ทำสูติบัตรสำหรับเด็ก” ที่ต้องไปติดต่อหน่วยราชการ ซึ่งหากคุณไม่อยากเสียเวลาและไม่อยากเสียสิทธิ์ที่พึ่งมีไป อย่าง เงินสงเคราะห์บุตรจากประกันสังคม, เงินคลอดบุตรประกันสังคม และเงินอุดหนุนบุตร(สำหรับผู้ที่ที่ไม่ได้รับสวัสดิการใดๆ จากรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ) คุณควรจะศึกษาถึงขั้นตอนการดำเนินการ รวมถึงเอกสารที่ต้องใช้ และเงื่อนไขต่าง ๆ มากมาย เพื่อที่จะไม่ต้องไปทำธุระให้เสียเที่ยวและจะได้ไม่ต้องลางานในครั้งต่อไป ซึ่งทุกอย่างที่เรากล่าวมานั้น เราจะบอกคุณทั้งหมดในบทความนี้ มีอะไรที่ต้องรู้บ้าง มาดูกันค่ะ

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://unsplash.com/@jimmy_conover

แจ้งเกิดเด็ก ทำที่ไหน
แม้ว่าปัจจุบันทางโรงพยาบาล สถานีอนามัย หรือสถานพยาบาล จะมีบริการดำเนินเรื่องแจ้งเกิดเด็กให้ในกรณีที่เด็กเกิดในโรงพยาบาล สถานีอนามัย หรือสถานพยาบาลนั้น ๆ แต่ในบางครั้งคุณอาจจะไม่สะดวกหรืออาจจะไม่ได้คลอดที่สถานพยาบาล การดำเนินเรื่องเองก็สามารถทำได้เช่นกันค่ะ โดยคุณสามารถแจ้งเกิดได้ที่สำนักงานเขตในพื้นที่ที่เด็กเกิด หรือหากเป็นต่างจังหวัดก็ต้องไปแจ้งเกิดที่เทศบาล อำเภอ ในพื้นที่ที่เด็กเกิดเช่นกันค่ะ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ (ยกเว้นในกรณีที่แจ้งเกิดช้า)

ต้องทำภายในกี่วัน
หากไม่ดำเนินเรื่องแจ้งเกิดภายใน 15 วัน นับแต่ตั้งวันที่เด็กเกิด จะมีค่าปรับเป็นเงิน 1,000 บาท

ใครเป็นผู้แจ้งเกิดเด็กได้บ้าง
บิดา, มารดา, เจ้าของบ้าน (ที่เด็กเกิดหรือที่ต้องการย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้าน) หรือใครก็ได้ที่ได้รับสิทธิ์มอบหมาย

เอกสารที่ใช้ สำหรับการทำเรื่องแจ้งเกิด
1.บัตรประจำตัวประชาชนของพ่อและแม่เด็ก
2.บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่มาแจ้งเกิด หรือ ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจดำเนินเรื่องแทน
3.หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร 1/1) ที่ออกโดยสถานพยาบาล
4.สำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าบ้าน ที่ต้องการย้ายชื่อเด็กเข้ามา

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://unsplash.com/@skillscouter

ขั้นตอนในการแจ้งเกิดเด็ก
1.ไปยื่นเอกสารต่อเจ้าหน้าที่นายทะเบียนท้องที่ (ที่เด็กเกิด)
2.นายทะเบียนจะทำการตรวจสอบเอกสารและความถูกต้องของหลักฐานต่าง ๆ
3.จากนั้นนายทะเบียนจะทำการลงข้อมูลในสูติบัตรและจะเพิ่มชื่อเด็กไปในทะเบียน รวมถึงในสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าของบ้านด้วย
4.ทำการมอบสูติบัตรตอนที่ 1 และมอบสำเนาทะเบียนบ้านคืนแก่ผู้ที่มาแจ้ง

หากแจ้งเกิดช้าต้องทำอย่างไร
ในกรณีที่คุณมาแจ้งเกิดเกิดระยะเวลาที่กำหนด นอกจากจะต้องเตรียมเงินไปแล้ว 1,000 บาท คุณจะต้องเตรียมเอกสารต่อไปนี้ด้วยนะคะ

เอกสารที่ต้องใช้ ในกรณีที่แจ้งเกิดเกินกำหนด
– ใช้เอกสารเช่นเดียวกับ เอกสารที่ใช้แจ้งเกิดทั่วไปตามที่กล่าวไว้ในข้อ 1-4
– ต้องนำพยานบุคคลที่รับรองมาด้วย อาจจะเป็นผู้ทำคลอด ผู้เห็นการเกิด (ซึ่งจะต้องมีฐานะที่มั่นคง เชื่อถือได้) และพยานต้องมีภูมิลำเนาตามที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้ (ไม่น้อยกว่า 5 ปี) โดยจะต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชนของจริง มายื่นต่อนายทะเบียน หรือเป็นข้าราชการสัญญาบัตร 2 คน
– หากเด็กมีอายุเกิน 7 ปี จำเป็นต้องใช้ภาพถ่ายของเด็ก 1 รูป

กรณีที่เด็กไม่ได้เกิดในโรงพยาบาล
ในกรณีที่คุณไม่ได้คลอดที่โรงพยาบาล นอกจากเอกสารที่ต้องใช้ในข้อ 1-4 แล้วคุณอาจจะต้องใช้ใบนัดหมอ , บัตรโรงพยาบาลที่ฝากครรภ์ และสมุดฝากครรภ์ เพราะคุณไม่ได้คลอดที่สถานพยาบาลจึงทำให้ไม่มี ท.ร 1/1

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://unsplash.com/@jimmy_conover

การแจ้งเกิดเด็กลูกครึ่ง
แน่นอนค่ะว่าในกรณีที่เด็กเป็นลูกครึ่งนั้นจะต้องมีเงื่อนไขที่เพิ่มเข้ามาเล็กน้อย ซึ่งจะแบ่งเป็น

กรณีที่เด็กเกิดในประเทศไทย
– ใช้เอกสารตามข้อ 1-4
– เด็กจะได้สัญชาติไทย ก็ต่อเมื่อ
– พ่อหรือแม่ต้องมีสัญชาติไทย และต้องจดทะเบียนสมรสกัน แต่สามารถแยกย่อยได้อีก 2 กรณี
– หากแม่มีสัญชาติไทย จะจดหรือไม่จดทะเบียนสมรสก็ได้ เด็กก็จะได้สัญชาติไทย
– หากพ่อมีสัญชาติไทย จะต้องจดทะเบียนสมรส เด็กถึงจะได้สัญชาติไทย

กรณีที่เด็กเกิดต่างประเทศ แต่ต้องการเข้าทะเบียนบ้านในไทย
– เด็กจะต้องแจ้งเกิดและได้รับสูติบัตรจากสถานกงสุลมาเรียบร้อยแล้ว
– จากนั้นให้ใช้เอกสารตามข้อ 1-4 และใช้เอกสารสูติบัตรที่ออกโดยสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุล
– ต้องมีหนังสือเดินทางที่ใช้ในการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยด้วย

การแจ้งเกิดนั้นเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จำเป็นที่ต้องทำให้ลูกอย่างถูกต้องนะคะ ก่อนจะไปทำการแจ้งเกิดให้กับลูก ต้องศึกษาข้อมูลให้ดี และเตรียมเอกสารให้พร้อมเพื่อจะได้ไปจัดการเรื่องการแจ้งเกิดให้เรียบร้อย โดยที่ไม่ต้องไป ๆ มา ๆ หากคุณพ่อคุณแม่ยังไม่รู้จะเริ่มยังไง ก็ลองศึกษาข้อมูลตามที่ DooDiDo นำมาฝากในวันนี้นะคะ และเมื่อพ่อแม่ได้รับสูติบัตรมาแล้ว ควรตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลของลูกก่อน หากพบว่ามีข้อมูลใดที่ไม่ถูกต้อง หรือผิดพลาด ควรรีบแจ้งต่อเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการแก้ไขทันทีค่ะ

ขอบคุณแหล่งที่มา : https://bestreview.asia