กัลปพฤกษ์ สมุนไพรไทยใช้เป็นยาลด ถ่ายพิษไข้ แก้เสมหะ

สรรพคุณของสมุนไพรต้น กัลปพฤกษ์ ใช้เป็นยาลด ถ่ายพิษไข้ แก้เสมหะ

กัลปพฤกษ์ จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงได้ประมาณ 5-15 เมตร มีความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 12 เมตร เรือนยอดแผ่กว้าง แต่ไม่หนาแน่นทึบ แตกกิ่งต่ำและทอดกิ่งยาวขึ้นสู่ด้านบน เปลือกต้นด้านนอกเรียบเป็นสีเทา ส่วนเนื้อไม้เป็นสีเหลืองถึงสีน้ำตาล บริเวณยอดและกิ่งอ่อนมีขนอ่อนขึ้นปกคลุมหนาแน่น นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการนำเมล็ดมาเพาะเป็นต้นกล้า ขึ้นได้ในดินทั่วไป

สามารถขึ้นได้ในพื้นที่ที่ดินไม่ค่อยสมบูรณ์ ชอบความชื้นปานกลาง แสงแดดแบบเต็มวัน พรรณไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศพม่า ไทย ลาว เขมร เวียดนาม ในประเทศไทยพบขึ้นได้ตามป่าแดง ป่าโคก ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณแล้งทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั่วไป (บางครั้งพบอยู่บนเทือกเขาหินปูนที่แห้งแล้ง) ที่ระดับความสูงประมาณ 300-1,000 เมตร[1],[2],[3],[5]

กัลปพฤกษ์ ชื่อสามัญ Wishing Tree, Pink Shower, Pink cassia, Pink and White Shower Tree[1],[2],[3],[5]

กัลปพฤกษ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia bakeriana Craib (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cassia bakerana Craib) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[1],[3]

สมุนไพรกัลปพฤกษ์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เปลือกขม (ปราจีนบุรี), แก่นร้าง (จันทบุรี), กานล์ (เขมร-สุรินทร์), กาลพฤกษ์ กัลปพฤกษ์ (ภาคกลาง), กัลปพฤกษ์ ชัยพฤกษ์ (ภาคเหนือ) เป็นต้น[1],[2],[3],[4],[5]

หมายเหตุ : กัลปพฤกษ์ เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดขอนแก่น[4]

ลักษณะของกัลปพฤกษ์

ใบกัลปพฤกษ์ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ เป็นช่อยาวประมาณ 15-40 เซนติเมตร ก้านช่อใบยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร มีใบย่อยประมาณ 5-8 คู่ เรียงจากเล็กไปหาใหญ่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานถึงรูปใบหอก ปลายใบกลม บางครั้งมีติ่งสั้น ๆ อยู่ตรงปลายสุด โคนใบบนและเบี้ยวเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-9 เซนติเมตร แผ่นใบบาง เส้นแขนงใบมีข้างละ 7-9 เส้น เนื้อใบมีขนละเอียดนุ่มขึ้นปกคลุมทั้งสองด้าน โดยบริเวณด้านท้องใบจะมีขนขึ้นหนาแน่นมากกว่าด้านหลังใบ[1],[2],[5]

ดอกกัลปพฤกษ์ ออกดอกเป็นช่อกระจะตามกิ่งพร้อมกับแตกใบอ่อน ช่อดอกไม่แตกแขนง ยาวได้ประมาณ 5-10 เซนติเมตร มีขนสีเหลืองขึ้นปกคลุม ช่อดอกจะออกแน่นเป็นกลุ่มตลอดกิ่ง ก้านดอกยาวได้ประมาณ 4-6 เซนติเมตร ดอกมีใบประดับที่มีลักษณะเป็นรูปใบหอกชัดเจน มีขนาดกว้างประมาณ 7 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.7-1.2 เซนติเมตร เมื่อเริ่มบานดอกจะเป็นสีชมพู แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูเรื่อ ๆ จนถึงสีขาวเมื่อใกล้ร่วงโรย

กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ มีลักษณะเป็นรูปใบหอกแกมรูปไข่ ปลายกลีบแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 9-12 มิลลิเมตร มีขนนุ่มปกคลุมทั้งสองด้าน ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบเช่นกัน มีลักษณะเป็นรูปใบหอกแกมรูปไข่ ปลายมน โคนเรียวแคบ มีขนาดกว้างประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-5.5 เซนติเมตร ที่โคนกลีบดอกจะคอดเข้าหากันเป็นก้านแคบ ๆ ยาวได้ประมาณ 5 มิลลิเมตร กลางดอกมีเกสรเพศผู้สีเหลือง เกสรเพศผู้มี 10 อัน มีขนาดไม่เท่ากัน

แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกมี 3 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร กลุ่มที่ 2 จะมี 4 อัน ก้านชูอับเรณูยาวเพียงครึ่งหนึ่งของกลุ่มแรก ส่วนกลุ่มที่ 3 มี 3 อัน อับเรณูมีขนาดเล็กมาก ก้านชูอับเรณูยาวได้ประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร มีรังไข่เรียวโค้งยาวประมาณ 4 เซนติเมตร มีขนสีขาวขึ้นปกคลุมบาง ๆ รังไข่ติดอยู่บนก้านส่ง เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร[1],[2],[3],[5]

ผลกัลปพฤกษ์ ผลมีลักษณะเป็นฝักรูปทรงกระบอกยาวแคบ สีน้ำตาล แขวนลงมาจากกิ่ง ฝักมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ฝักมีขนนุ่มสีเทาปกคลุมตลอด ภายในฝักแบ่งออกเป็นช่อง ๆ ตามขวาง เนื้อในฝักเป็นสีขาวปนเขียว มีเมล็ดประมาณ 30-40 เมล็ด ผลจะออกในช่วงเดียวกับการผลิดอก คือช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระยะเดียวกับการทิ้งใบทั้งหมดในช่วงต้นฤดูร้อน โดยช่อดอกจะออกแน่นเป็นกลุ่มติดอยู่ได้นานหลายวัน โดยจะทยอยบานประมาณ 3-4 สัปดาห์ และจะแก่ประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน[1],[2],[3],[5]

เมล็ดกัลปพฤกษ์ เมล็ดมีลักษณะค่อนข้างกลม รูปไข่ รูปรี ถึงรูปขอบขนาน มีสีน้ำตาลเป็นมัน มีขนาดกว้างประมาณ 6-7 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.8-1.1 เซนติเมตร[5]

สรรพคุณของกัลปพฤกษ์

  • เปลือกฝักและเมล็ดมีรสขมเอียน ใช้เป็นยาลด ถ่ายพิษไข้ได้ดี (เปลือกฝัก, เมล็ด)[2],[3],[4]
  • เนื้อในฝักใช้แก้คูถ แก้เสมหะ (เนื้อในฝัก)[3]
  • ช่วยทำให้อาเจียน (เปลือกฝัก, เมล็ด)[2],[3],[4]
  • เนื้อในฝักมีรสหวานเอียนขม ใช้ปรุงเป็นยาระบายอ่อน ๆ ระบายอุจจาระธาตุ แก้พรรดึกได้โดยไม่ไซ้ท้อง ช่วยระบายท้องเด็กได้ดีมาก โดยให้ใช้ในขนาด 8 กรัม เหมาะสำหรับใช้ในเด็กเพราะไม่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงเหมือนยาระบายที่แรงกว่า (เนื้อในฝัก)[2],[3],[4]

ประโยชน์ของกัลปพฤกษ์

  • ในสมัยก่อนคนแก่จะใช้เนื้อในฝักกินกับหมาก[4]
  • ต้นกัลปพฤกษ์จัดเป็นไม้มงคลที่มีรูปทรงสวยงาม ให้ดอกสวย ออกดอกดกเต็มต้น มีสีชมพูอ่อนสดใสดูงดงามเหมือนดอกเชอร์รี่ อีกทั้งดอกกัลปพฤกษ์ก็มีทั้งสีชมพูและสีขาว จึงรวบรวบความงดงามของทั้งดอกเชอร์รี่และดอกแอปเปิ้ลไว้ในคราวเดียวกัน ในปัจจุบันนิยมจึงนำมาปลูกเป็นไม้ประดับกันทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่จะปลูกไว้ประดับอาคารบ้านเรือน ปลูกในสวนสาธารณะ และริมถนนทั่วไป และสามารถทนดินเลวและอากาศแห้งได้เป็นอย่างดี[1],[2],[3]
  • สำหรับความเชื่อของคนไทยในอดีตเชื่อกันว่า ต้นกัลปพฤกษ์มีอยู่ในแดนสวรรค์ เปรียบเหมือนแก้วสารพัดนึก หากปรารถนาสิ่งใด จะไปขอเอาจากต้นไม้นี้ อีกทั้งต้นกัลปพฤกษ์ยังถือเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ มีโชคมีชัย โดยเชื่อกันว่าหากบ้านใดปลูกต้นกัลปพฤกษ์ไว้เป็นไม้ประจำบ้าน โดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้จะเป็นสิริมงคล ทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิต พบแต่ความสุขสมหวังทุกประการ หากผู้ปลูกเป็นผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือและเป็นผู้ประกอบคุณงามความดี ก็จะเป็นสิริมงคลยิ่งนัก[3]
  • คนไทยสมัยก่อนถือว่า กิ่งก้านจากต้นกัลปพฤกษ์เป็นไม้มงคล เหมาะสำหรับการนำไปทำด้ามธง ถือว่าทำให้เกิดสิริมงคลดีนัก[3]
  • เนื้อไม้มีความละเอียดและให้น้ำฝาด ที่สามารถนำไปใช้ฟอกหนังได้[1]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. ไม้โตเร็วอเนกประสงค์, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “กัลปพฤกษ์”. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/pattani_botany/.
  2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “กัลปพฤกษ์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : agkc.lib.ku.ac.th.
  3. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 320 คอลัมน์ : ต้นไม้ใบหญ้า.  (เดชา ศิริภัทร).  “กาลพฤกษ์ : ดอกไม้แห่งกาลเวลาของชาวไทย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.
  4. หนังสือวัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย.
  5. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กัลปพฤกษ์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.