กระทุ่มนา สมุนไพรลดความดัน รักษาโรคผิวหนังทุกชนิด

WM

ภาพจาก Medthai

สมุนไพร กระทุ่มนา ช่วยลดความดันโลหิต รักษาโรคผิวหนังทุกชนิด แก้มะเร็งคุดทะราด

ต้นกระทุ่มนา จัดเป็นสมุนไพรไม้ต้นผลัดใบขนาดกลาง เป็นทรงพุ่มกลม มีความสูงได้ประมาณ 8-15 เมตร แตกกิ่งแขนงต่ำ ลำต้นคดหรือเปลาตรง เปลือกลำต้นด้านนอกเป็นสีเทา หลุดออกเป็นแผ่นเล็ก ๆ มีรูระบายอากาศขนาดใหญ่ทั่วไป ทำให้ดูเปลือกขรุขระ ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีเหลืองอ่อน

เมื่อลำต้นแก่โคนต้นมักจะเป็นพูพอน นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ชอบดินเหนียว ต้องการน้ำค่อนข้างมาก ควรปลูกในที่มีแสงทั้งวัน มีเขตการกระจายพันธุ์จากตอนใต้ของจีนจนถึงมาเลเซีย ในประเทศไทยพบขึ้นในป่าเบญจพรรณชื้นที่ค่อนข้างโปร่งใกล้น้ำและตามทุ่งนาทั่วไป

WM
ภาพจาก kroobannok

กระทุ่มนา มีชื่อสมุนไพรท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ถ่มพาย (เลย), โทมน้อย (เพชรบูรณ์), กระทุ่มดง (กาญจนบุรี), กาตูม (เขมร-จันทบุรี), ตำ (ส่วย-สุรินทร์), ท่อมนา (สุราษฎร์ธานี), ท่อมขี้หมู (สงขลา), กระท่อมขี้หมู ตุ้มแซะ ตุ้มน้อย ตุ้มน้ำ (ภาคเหนือ), กระทุ่มน้ำ (ภาคกลาง), กระทุ่มหมู, กว้าวตุ้ม, ตู้ม, แซะ เป็นต้น[1],[2]

กระทุ่มนา ชื่อสามัญ Mitrayna Korth  ชื่อวิทยาศาสตร์ Mitragyna diversifolia (Wall ex G.Don) Havil.[1],[3] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Mitragyna javanica Koord. & Valeton[2]) จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE) เช่นเดียวกับกระทุ่มบก

ใบกระทุ่มนา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามเวียนสลับตั้งฉากกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปขอบขนาน รูปรี หรือรูปรีค่อนข้างกลม ปลายใบมน โคนใบมนหรือเว้าเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร หลังใบเกลี้ยง

ส่วนด้านล่างมีขนขึ้นประปรายหรือเกลี้ยง เนื้อใบค่อนข้างเหนียว เส้นใบมี 8-12 คู่ แยกเยื้องกันชัดเจน ปลายเส้นใบจรดเส้นใบถัดไป เส้นใบขนานกันเป็นระเบียบสวยงาม เห็นได้ชัดเจน ก้านใบยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร มีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบคู่ละ 1 คู่ ลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 0.5-1.3 เซนติเมตร ปรากฏชัดเจนตามปลายกิ่ง[1],[3]

ดอกกระทุ่มนา ออกดอกเป็นช่อกระจุกซ้อน 3 ชั้น ระนาบเดียวกัน สลับกับตรงข้าม โดยจะออกตามซอกใบ มีใบประดับขนาดใหญ่ทุกชั้น ลักษณะคล้ายใบแซมห่าง ๆ มีเส้นใบเช่นเดียวกับใบปกติ ก้านใบเป็นสีแดง บริเวณส่วนล่างของช่อ ก้านช่อแยกออกเป็นมุม 45 องศาฯ ที่โคนก้านดอกแต่ละชั้น ก้านช่อดอกแต่ละชั้นจะยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ก้านช่อกลม

ดอกเป็นสีเหลืองแบบกระจุกแน่น ดูรวมกันแล้วเหมือนดอกกลม มีขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร แต่ละช่อจะมีดอกเล็ก ไม่มีก้านดอก กลิ่นหอมแรง กลีบรองกลีบดอกเล็กมาก ติดกันคล้ายรูปถ้วย ขอบตัด กลีบดอกเป็นสีเหลือง โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว

ส่วนปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มีก้านเกสรเพศเมียยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ดอกมีกลิ่นหอม ออกดอกในช่วงประมาณเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน[1],[2],[3]

ผลกระทุ่มนา ผลมีลักษณะรูปทรงกลมหรือรูปไข่ขนาดเล็ก ผิวผลขรุขระ แข็ง อัดรวมกันเป็นก้อนกลม ผลเมื่อแห้งจะแตกออก ภายในมีเมล็ดมีปีก[1] เป็นผลในช่วงระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม[3]

สรรพคุณของกระทุ่มนา

  • ใบมีรสขมเฝื่อนเมา มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิตและออกฤทธิ์กดต่อประสาทและกล้ามเนื้อ (ใบ)[1],[2]
  • ยาแผนโบราณของไทยจะใช้ใบกระทุ่มนา (แทนใบกระท่อม) เป็นยาแก้ท้องร่วง ปวดมวนท้อง ซึ่งมีฤทธิ์เหมือนใบกระท่อม แต่อ่อนกว่า สามารถนำมาใช้แทนกันได้ (ใบ)[1],[2],[3]
  • เปลือกต้นและใบใช้เป็นยาแก้บิดมูกเลือด (เปลือกต้น, ใบ)[1],[2],[3]
  • เปลือกต้นมีรสฝาดร้อน ใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนังทุกชนิด แก้มะเร็งคุดทะราด (เปลือกต้น)[1],[2],[3]
  • ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระทุ่มนา
  • ในใบกระทุ่มนามีอัลคาลอยด์ประเภท hteroyohimbine และ oxidole หลายชนิดด้วยกัน[3]
  • ได้มีการนำ mitraphyline ซึ่งเป็นอัลคาลอยด์ประเภท oxindole ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่าอัลคาลอยด์ชนิดนี้มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิตและออกฤทธิ์กดต่อกล้ามเนื้อเรียบในสัตว์ทดลอง[3]

ประโยชน์ของกระทุ่มนา

เนื้อไม้ใช้ประโยชน์ในด้านการนำไปแปรรูปกระทุ่มนา[3]

ใช้ประโยชน์ในด้านการปลูกเป็นไม้ประดับ ความน่าสนใจของต้นไม้ชนิดนี้คือจะมีลำต้นเปลาตรง เรือนยอดกลมมีดอกสีเหลืองพราวไปทั้งต้น ดอกมีกลิ่นหอมแรง ใบเขียวเกือบตลอดทั้งปี ผลัดใบไวและผลิใบไว ชอบขึ้นในที่ริมน้ำ ลำคลอง หรือตามป่าเบญจพรรณชื้น จึงสามารถนำมาปลูกประดับในที่ลุ่มน้ำท่วมขังได้ดี หรือจะปลูกเป็นไม้ประธานในการจัดสวนก็ไม่เลว โดยเฉพาะกับพื้นที่ที่น้ำมักมีการท่วมขังอยู่เสมอ[3]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  • หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “กระทุ่มนา (Kra Thum Na)”.  หน้า 31.
  • หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  “กระทุ่มนา”.  หน้า 59.
  • พรรณไม้บริเวณพระตำหนักเรือนต้น, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กระทุ่มนา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/palace/chitralada/cld6-2.htm.
  • ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “กระทุ่มนา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.