อาชีพทางเลือกเลี้ยงปลากราย ขายสร้างรายได้สูง

WM

ภาพจาก เส้นทางเศรษฐี

เส้นทางรวย อาชีพทางเลือกเลี้ยงปลากราย ขายส่งราคาดี

อาชีพทางเลือกเลี้ยงปลากราย เป็นสัตว์น้ำจืดที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำ ลำคลอง หนอง และบึง เกือบทั่วประเทศ โดยชื่อที่เรียกกันของแต่ละพื้นที่ก็จะมีความแตกต่างกันไปตามถิ่น เช่น ภาคเหนือ เรียกว่า ปลาหางแบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่า ปลาตองกราย เป็นต้น ปลากรายเป็นปลาประเภทกินเนื้อ ซึ่งอาหารที่หากินตามธรรมชาติ ได้แก่ ตัวอ่อนของแมลง กุ้งฝอย ลูกปลาขนาดเล็ก และสัตว์น้ำอื่นๆ

ปลากราย มีลักษณะลำตัวยาวบาง แบนข้าง ส่วนหัวมีขนาดที่เล็กเว้าเป็นสันโค้ง ลักษณะที่เด่นของปลากรายคือ เหนือครีบก้นจะมีจุดสีดำค่อนข้างใหญ่ ประมาณ 5-10 จุด เรียงเป็นแถว สีของตัวปลามีลักษณะเป็นสีขาวเงิน ฤดูวางไข่ที่เหมาะสมของปลากรายอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม-ตุลาคม

ปลากราย เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะนิยมนำมาขูดเอาเนื้อเป็นการเพิ่มมูลค่า เพราะจำหน่ายได้ราคาที่แพงกว่าปลาที่จำหน่ายเป็นตัว การนำเนื้อปลากรายมาปรุงอาหารนั้น สามารถทำได้หลากหลายเมนู เช่น ทอดมันปลากราย ลูกชิ้นปลากราย เป็นต้น ซึ่งคนส่วนใหญ่นิยมรับประทาน เพราะเนื้อปลามีรสชาติดี มีความนุ่มหนึบ

ซึ่งปัจจุบัน ปลากราย ที่จับได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติเริ่มมีจำนวนที่ลดน้อยลง จึงได้มีการเพาะพันธุ์และมีการเลี้ยงเป็นอาชีพมากขึ้น ถือเป็นการส่งเสริมด้านอาชีพต่อไป เหมือนเช่น คุณอนันต์ หิมารัตน์ อยู่บ้านเลขที่ 43 หมู่ที่ 4 ตำบลคลองใหม่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่มากด้วยประสบการณ์ เพราะปัจจุบันเขาไม่ได้เลี้ยงแต่ปลากรายเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำงานด้านการเกษตรอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้อีกด้วย

ทำเกษตรหลากหลาย รวมทั้งการประมง

คุณอนันต์ เล่าให้ฟังว่า อาชีพหลักเริ่มแรกคือ ทำสวนผลไม้เป็นรายได้ ต่อมา ปี 2537 จึงได้มาทดลองเพาะพันธุ์ปลาแรด สาเหตุที่ทดลองเพาะพันธุ์ปลาดู เกิดเนื่องมาจากที่บ้านได้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาแรดไว้ จึงได้นำไข่ปลาแรดมาทดลองเพาะพันธุ์ก็ยังไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

“ตอนมาทดลองเพาะพันธุ์ ก็มีตายบ้างช่วงนั้น ก็หาวิธีมาเรื่อยๆ เพื่อดูไม่ให้ตาย พอเราลองแล้วประสบผลสำเร็จดี ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้น คนที่รู้ก็สนใจลูกพันธุ์ปลาแรดก็มาซื้อไปเลี้ยง ต่อมาประมาณ 3 ปี ก็ได้ไปรู้จักกับคนที่เขาทำเพาะพันธุ์ปลากรายที่สุพรรณบุรี เราก็ซื้อลูกปลาจากเขามาเพื่ออนุบาลจำหน่ายลูกพันธุ์ ก็ผลตอบรับดี จำหน่ายได้ คราวนี้เราก็ไม่อยากทำแต่ลูกพันธุ์ ประมาณปี 40 ก็เริ่มทดลองเลี้ยงเองบ้าง” คุณอนันต์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการได้เริ่มเลี้ยงปลากราย

WM
ภาพจาก เส้นทางเศรษฐี

เน้นให้กินอาหารเม็ด สะดวกต่อการจัดการ

ในขั้นตอนแรกที่จะเลี้ยงปลากรายในบ่อดินนั้น คุณอนันต์ บอกว่า จะต้องนำลูกปลากรายขนาดไซซ์เล็กที่ออกจากไข่ใหม่ๆ มาอนุบาลในบ่อปูน ขนาด 2×2 เมตร ใส่น้ำให้มีปริมาณความลึก 30 เซนติเมตร ปล่อยลูกปลากราย ประมาณ 15,000 ตัว ต่อบ่อ

“เราใช้เวลาอนุบาลในช่วงนี้ประมาณ 2 เดือน โดยลูกปลาที่ออกจากไข่ใหม่ๆ ในช่วงแรก เราจะให้กินลูกไรก่อน ให้กินอย่างนี้ประมาณ 20 วัน ขั้นตอนต่อไปเราก็จะเอามาฝึกอาหารเม็ดเล็ก ที่มีโปรตีนประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ได้กำหนดว่าต้องให้กี่มื้อ วันหนึ่งมากกว่า 3 มื้อ ผมว่างเดินผ่านมาเมื่อไหร่ก็จะให้อยู่ตลอด จนกว่าลูกปลาจะอิ่ม พอนานไปลูกปลาเริ่มแตกไซซ์ จากที่เคยอยู่ในบ่อปูน 15,000 ตัว ก็จะคัดออกเรื่อยๆ ไม่ให้หนาแน่นมากเกินไป ดูแยกไปจนได้ไซซ์ 4 นิ้ว ก็จะครบ 2 เดือนพอดี ก็จะเตรียมลงเลี้ยงในบ่อดินต่อไป บางส่วนก็จำหน่ายเป็นลูกพันธุ์” คุณอนันต์ กล่าวถึงขั้นตอนการอนุบาลลูกปลากราย

บ่อดินที่ใช้สำหรับเลี้ยงปลากรายของคุณอนันต์ เป็นบ่อดินที่มีขนาดประมาณ 5 ไร่ และขุดบ่อให้มีความลึกประมาณ 1.50 เมตร โดยการปล่อยลูกปลากรายลงไปในบ่อดินในช่วงแรก จะนำมุ้งเขียวมากักบริเวณให้ลูกปลาอยู่ในเนื้อที่ 200 ตารางวา ส่วนด้านบนก็ใช้ตาข่ายคลุมเพื่อกันนกไม่ให้ลงมากินลูกปลา ปล่อยลูกปลากรายเลี้ยงในบ่อดิน ประมาณ 40,000 ตัว ต่อบ่อ

“ลูกปลาก็จะเลี้ยงอยู่ในที่กักบริเวณสักระยะ จนกว่าจะเจริญเติบโตอีกสักหน่อย เพื่อที่นกหรือสัตว์อื่นๆ มากินไม่ได้ อาหารที่ใช้ก็จะเริ่มให้เป็น เบอร์ 1 ได้เลย เพราะลูกปลากรายสามารถกินอาหารเม็ดใหญ่ได้แล้ว เราก็จะเปลี่ยนอาหารให้มีเบอร์ที่ใหญ่ขึ้น ตามตัวปลาที่ใหญ่ขึ้นทุก 2 เดือน เปอร์เซ็นต์โปรตีนก็ยังอยู่ที่ 40 เหมือนเดิม ให้ 2 มื้อ ต่อวันช่วงเช้าและเย็น” คุณอนันต์ อธิบายขั้นตอนการนำลูกปลาปล่อยลงบ่อดิน

ปลากราย เป็นสัตว์น้ำจืดที่มีความอดทนในเรื่องโรค คุณอนันต์ บอกว่า ตั้งแต่เลี้ยงมาจะเกิดปัญหานานๆ ครั้ง ซึ่งหากพบโรคที่เกิดกับปลาในระหว่างที่เลี้ยงจะนำปลาส่งเข้าห้องแล็บเพื่อวินิจฉัยโรค เพื่อจะได้ป้องกันได้อย่างถูกวิธีแบบที่ไม่เป็นการคาดเดาไปเอง

ระยะเวลาที่เลี้ยงปลากรายจนกว่าจะได้ไซซ์ขนาดที่ตลาดต้องการ ใช้เวลาประมาณ 9 เดือน ถึง 1 ปี

ขนาดไซซ์ 1 กิโลกรัม ขึ้นไป เป็นไซซ์ที่แม่ค้าชื่นชอบ

คุณอนันต์ เล่าว่า ปลากรายที่เลี้ยงภายในฟาร์มจะเลี้ยงให้มีอายุประมาณ 1 ปี จะได้ปลาที่มีน้ำหนัก ประมาณ 1 กิโลกรัมกว่าๆ ต่อตัว โดยตลาดส่วนใหญ่จะเป็นแม่ค้าที่มารับซื้อถึงฟาร์ม และส่งจำหน่ายตามท้องตลาดบ้าง

“ส่วนใหญ่ที่จำหน่าย จะเป็นแม่ค้าจากต่างจังหวัดเสียส่วนมาก มารับซื้อกันถึงที่ เราก็จะลากอวนจับให้เขา ราคาก็ขึ้นอยู่ว่าช่วงนั้นปลาขาดตลาดมากหรือน้อย ก็เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งแม่ค้าจะชอบปลาที่มีขนาดตัวไซซ์ 1 กิโลกรัมเศษๆ ตัวอ้วนๆ เพราะเวลาที่เขาไปขูดเนื้อก็จะได้เนื้อเยอะหน่อย” คุณอนันต์ เล่าถึงกลไกตลาด

ซึ่งปลากรายส่วนใหญ่ที่มีแม่ค้ามารับซื้อ จะนิยมนำไปขูดแล้วนำไปประกอบอาหารจำพวกแกง และทำเป็นทอดมันปลากราย ซึ่งแม่ค้าบางเจ้าก็รับซื้อกันมานานตั้งแต่ที่เขาเริ่มเลี้ยงปลากรายใหม่ๆ

คุณอนันต์ ยังบอกอีกด้วยว่า ทุกวันนี้สำหรับเขาการเลี้ยงปลากรายเป็นสิ่งที่มีความสุข และยังส่งมอบความสุขต่อให้กับคนอื่นๆ คือ การถ่ายทอดวิทยาการความรู้ให้กับผู้ที่สนใจอยากเลี้ยงอย่างไม่หวงวิชาแม้แต่น้อย

“ทุกคนที่มาสอบถามผม ผมยินดีให้คำตอบไม่มีปิดบังใครเลย ยินดีให้คำปรึกษา ทีนี้ส่วนใครที่อยากเลี้ยงเป็นอาชีพ ก็อยากให้ดูเรื่องพื้นที่ ว่าที่ดินเรามีน้ำพร้อมไหม จะได้ไม่ลำบากในเรื่องน้ำ คราวนี้เวลาที่เลี้ยงก็ต้องกักลูกปลาด้วย เพื่อควบคุมศัตรูพวกนกที่จะมากิน เพื่อที่ลูกปลาเราจะได้รอดได้เยอะที่สุด อีกอย่างลูกปลาเดี๋ยวนี้ก็ฝึกให้กินอาหารเม็ด มันก็จะสะดวกในเรื่องการจัดการ ไม่ต้องไปหาเหยื่อสดให้ยุ่งยาก และที่สำคัญที่สุด ต้องสอบถามหาความรู้กับคนที่เขาประสบผลสำเร็จ อันนี้ก็จะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับผู้เริ่มต้น” คุณอนันต์ กล่าวแนะนำ

เกษตร และ บทวิเคราะห์ เทคโนโลยีทางการเกษตร ตลาดขายพืชผลทางการเกษตร ผลกระทบทางการเกษตร งบประมาณและนโยบายรัฐเพื่อการเกษตร และการส่งออกพืชผลทางการเกษตร ที่ได้รับความสนใจ ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา  เส้นทางเศรษฐี