แนะนำ 8 วิธีรับมือกับเด็กสมาธิสั้น ที่พ่อแม่ต้องดู!

WM

ช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นได้อย่างถูกวิธี ทำให้ผู้ใหญ่ไม่เครียดและเด็กมีความสุข

สมาธิสั้นเป็นโรคพัฒนาการทางสมองที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการควบคุมตัวเองล่าช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน สังเกตได้จากอาการสำคัญ 3 ด้าน คือ ซน อยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity) ไม่สามารถจดจ่อกับกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดได้นาน เบื่อง่าย วอกแวก (Inattention) และหุนหัน วู่วาม รอคอยไม่เป็น (Impulsive) ส่งผลกระทบถึงการเรียนและการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เต็มศักยภาพหรือความสามารถที่แท้จริงของเด็ก

ในประเทศไทยพบว่า 3-5 % ของเด็กในวัยเรียนอายุ 5-12 ปี ประสบปัญหาเป็นโรคสมาธิสั้น หรือเด็กนักเรียน 20 คน จะพบเด็กสมาธิสั้น 1 คน สาเหตุมาจากสมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง โดยเฉพาะในสมองส่วนหน้า ที่ควบคุมเรื่องสมาธิ ความจดจ่อ การยับยั้งชั่งใจ และการเคลื่อนไหวของร่างกาย ทำงานน้อยกว่าเด็กปกติ อาการที่แสดงออกคือ ไม่มีสมาธิ วอกแวกง่าย อยู่ไม่นิ่ง ซน ควบคุมพฤติกรรมตัวเองได้ยากและหุนหันพลันแล่น ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก การทำกิจวัตรประจำวัน และการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่น สร้างความกลัดกลุ้มให้แก่พ่อ แม่ ผู้ปกครองเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นห่วงการใช้ชีวิตอนาคตของลูกหลาน

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/miguelrperez-131821/

โรคสมาธิสั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วใช่ว่าจะแก้ไขไม่ได้ ซึ่งเมื่อวันที่ 28ก.พ.ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดงานมหกรรมสร้างเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว ภายใต้หัวข้อ”กว่าทศวรรษ พัฒนาครอบครัวอบอุ่น สร้างคุณค่าคน คือผลงานของเรา” โดยในห้องประชุมเชิงปฏิบัติการ ‘เลี้ยง-เล่นอย่างสร้างสรรค์ “สมาธิสั้น” รับมือได้’ ดร.วีรวัฒน์ แสนศรี ประธานสาขากิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แนะนำเทคนิคการจัดการสมาธิสั้นให้อยู่หมัด ว่า เมื่อรู้แล้วว่าลูก หลาน เป็นโรคสมาธิสั้น เราสามารถดูแลอย่างสร้างสรรค์ได้

วิธีในการดูแลเด็กสมาธิสั้นมีอยู่ 8 วิธี เพื่อช่วยเด็กรับมือกับโรคได้ดีขึ้น

1. จัดมุมที่เงียบสงบไว้ให้เด็กได้ทำงาน หรือทำการบ้าน ห่างจากโทรทัศน์ไม่ให้มีเสียงเข้ามารบกวนสมาธิ และจัดของใช้ที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อลดสิ่งเร้าที่ดึงความสนใจของเด็ก

2. ใช้การสื่อสารที่สั้น กระชับ ชัดเจน ให้เด็กทวนคำสั่งว่ามีอะไรบ้าง เนื่องจากเด็กสมาธิสั้นมักมีความอดทนในการฟังต่ำ

3. ฝึกฝนวินัยในเด็ก สร้างกรอบกฎเกณฑ์ มีตารางเวลาชัดเจน ไม่ปล่อยปละละเลยหรือตามใจจนเคยตัว

4. เบี่ยงเบนความสนใจ เมื่อเด็กดื้อหรือซนมากให้หากิจกรรมอื่นมาแทน

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/n-k-6493067/

5. ให้เด็กออกกำลังกายและทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหว เพื่อช่วยลดพลังงานส่วนเกิน ช่วยให้มีสมาธิและลดความเครียด

6. การนอนหลับให้เพียงพอก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้เด็กมีสมาธิและมีสุขภาพที่ดี

7. ลดระยะเวลาในการทำกิจกรรมให้สั้นลง แต่ทำบ่อยขึ้น เน้นเรื่องความรับผิดชอบและอดทน ตั้งเป้าหมายของกิจกรรมให้ง่ายๆ สั้นๆ อย่างชัดเจนและเสร็จเป็นชิ้นๆ ไป

8. ควรให้คำชมหรือรางวัลเมื่อเด็กทำพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เด็กทำพฤติกรรมที่ดีต่อไป

“ในเด็ก 100 คน จะเป็นสมาธิสั้น 3-5 คน ซึ่งก็มีทั้งเป็นโรคสมาธิสั้นแท้ และสมาธิสั้นเทียม เด็กบางคนไม่ได้เป็นสมาธิสั้นจากโรค แต่เป็นสมาธิสั้นเทียมที่เกิดจากการเลี้ยงดู การตัดสินว่าใครเป็นโรคสมาธิสั้น ต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยเท่านั้น ซึ่งผู้ที่เป็นโรคสมาธิสั้นบางรายอาจต้องใช้ยารักษาร่วมกับการปรับพฤติกรรมร่วมด้วย

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/debbienews-812901/

โดยยาที่ใช้จะมีฤทธิ์ในการกระตุ้นเซลล์สมองให้หลั่งสารที่จำเป็นในการช่วยให้เด็กสามารถควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น มีสมาธิยาวนานขึ้น แต่ถ้าสมาธิสั้นจากการเลี้ยงดู แค่ปรับพฤติกรรมของเด็ก ปรับทัศนคติของผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เด็กก็สามารถกลับมาเป็นปกติได้ สมาธิสั้นยิ่งเจอเร็วเท่าไร และพ่อ แม่มีความตระหนัก ก็จะเข้าสู่กระบวนการแก้ไขเด็กได้ตรงประเด็นและเร็วขึ้น ไม่ควรปล่อยให้ปัญหาสะสมจนเด็กโต เพราะเด็กมีอายุเกิน 7 ปีไปแล้ว พฤติกรรมเหล่านนั้นจะกลายเป็นพฤติกรรมที่ถาวรและปรับยาก ซึ่งคนที่จะดูแล และเข้าใจเด็กได้ดีที่สุดคือ พ่อ แม่ หรือผู้เลี้ยงดู เพราะอยู่กับเด็กตลอด อีกทั้ง การปฏิบัติที่ผิดวิธีอาจจะเสริมให้เกิดสมาธิสั้น เช่น การเลี้ยงลูกโดยใช้แท็บเล็ต ใช้ทีวี เพื่อให้เด็กนิ่งนั่งอยู่กับที่ ยิ่งจะทำให้เด็กแย่ลง” ดร.วีรวัฒน์ กล่าว

ทั้งหมดคือวิธีรับมือกับลูกที่สมาธิสั้นที่ DooDiDo นำมาฝากค่ะ หากคุณพ่อคุณแม่เรียนรู้ เข้าใจ และยอมรับกับโรคสมาธิสั้นที่เกิดในลูกของคุณได้ คุณพ่อคถณแม่นั้นจะมีส่วนช่วยให้ลูกๆ มีความสุขกับการเรียน การใช้ชีวิตประจำวันได้สมวัย และเสริมสร้างพฤติกรรมที่ดีให้กับลูกได้ ทำให้เด็กโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาวะที่ดีขึ้น ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขค่ะ

ขอบคุณแหล่งที่มา : https://www.thaihealth.or.th/Content/41130-7%20%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81%20’%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99′.html

https://www.rakluke.com