เลี้ยงไก่เนื้อมาตรฐาน ครองตลาดภาคเหนือ “ประยูรฟาร์ม” เชียงราย

WM

ภาพจาก pixabay

“ประยูรฟาร์ม” เชียงราย เลี้ยงไก่เนื้อมาตรฐาน ครองตลาดภาคเหนือ

เลี้ยงไก่เนื้อมาตรฐาน ครองตลาดภาคเหนือ ชาวบ้านจังหวัดเชียงรายนิยมเลี้ยงไก่พื้นเมือง ไก่ไข่ และไก่เนื้อ เป็นอาชีพ จากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงรายระบุว่าในปี 2561 มีจำนวนไก่ทั้ง 3 ชนิด รวมประมาณ 3,243,952 ตัว มีปริมาณการผลิต 6,487,904 ตัน โดยแหล่งผลิตไก่สำคัญ ได้แก่ อำเภอพาน อำเภอแม่จัน อำเภอแม่สรวย และอำเภอเทิง

ไก่ที่คุณประยูรเลี้ยง ได้แก่ ไก่ลูกผสมพื้นเมือง กับไก่ไข่ตัวผู้หรือไก่ชี เป็นพันธุ์ที่ชาวบ้านในพื้นที่นิยมนำไปปรุงอาหารบริโภคมานานเพราะเนื้อแน่น รสอร่อย สมัยก่อนคุณประยูรเพาะลูกไก่เอง แต่มองดูว่ายุ่งยากต้องใช้เวลาและแรงงาน

จึงเปลี่ยนมาหาลูกไก่จากเครือข่ายจากศูนย์วิจัยพันธุ์สัตว์ที่พะเยาและเชียงใหม่ นำมาขุนเลี้ยงเอง ขณะเดียวกัน ยังสั่งเผื่อให้ผู้เลี้ยงเครือข่ายในกลุ่ม เพื่อเลี้ยงขุนแล้วรับซื้อคืนเพื่อจำหน่ายเป็นไก่เนื้อให้แก่ลูกค้าในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและหลายจังหวัดทางภาคเหนือ อีกทั้งส่งขายยังตลาดประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและพม่า

คุณประยูร ณ สุนทร  เจ้าของ “ประยูรฟาร์ม” ตั้งอยู่เลขที่ 304 หมู่ที่ 4 บ้านหนองผักจิก ตำบลทรายขาว อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย โทรศัพท์ (095) 696-1789, (096) 691-6222 เป็นฟาร์มเลี้ยงและชำแหละไก่ที่ได้มาตรฐานรับรองจากปศุสัตว์ ส่งขายตลาดในพื้นที่ภาคเหนือ รวมถึงตลาดเพื่อนบ้านต่างประเทศ

ลูกไก่ที่รับมาจะจัดการทำวัคซีนให้ครบทุกชนิดก่อนนำไปเลี้ยง โดยจะอนุบาลไว้ในโรงเรือนประมาณ 7-10 วัน แล้วจึงย้ายไปเลี้ยงในโรงเรือนใหญ่ โดยสามารถเลี้ยงได้ 2-3 พันตัว (เฉลี่ยพื้นที่เลี้ยงตารางเมตรละ 15-20 ตัว) ตอนนี้เลี้ยงทุกสายพันธุ์รวมประมาณ 2 หมื่นกว่าตัว สร้างโรงเรือน ลักษณะแบบกึ่งเปิด-ปิด ทั้งแบบธรรมดาทั่วไปกับบนบ่อปลาเพื่อใช้มูลไก่เป็นอาหารปลา

ในระยะแรกคุณประยูรผลิตอาหารเองเพราะวัตถุดิบหาง่าย แต่ภายหลังขาดแคลน มีความยุ่งยาก จึงหันมาพึ่งอาหารสำเร็จรูปแทน เป็นอาหารสำเร็จรูปของไก่เนื้อแรกเกิด แล้วใช้อาหารชนิดนี้เลี้ยงไก่ทุกวัยจนกระทั่งจับขาย

ขณะเดียวกัน ก็ยังพยายามใช้วัสดุจากธรรมชาติมาผลิตอาหารเพื่อช่วยลดต้นทุน ทั้งนี้ ให้อาหารไก่วันละ 2 ครั้งเช้า/เย็น ในแต่ละวันใช้อาหารเลี้ยงไก่ประมาณ 20 กระสอบ ราคากระสอบละ 400 บาท เพราะต้องใช้เลี้ยงไก่ทั้งหมดทุกรุ่น ทุกตัว

WM
ภาพจาก pixabay

ไก่ที่จับขายมีอายุ 60 วัน มีน้ำหนักเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1 กิโลกรัม ในบางครั้งหากขายดีน้ำหนักเพียง 8 ขีดลูกค้าก็ซื้อ ในทางกลับกันถ้าเจอปัญหาไก่ล้นตลาดอาจต้องเลี้ยงไปถึงอายุ 70 วัน ทำให้ไก่มีน้ำหนักอยู่ระหว่าง 1.5-1.8 กิโลกรัม ต่อตัว ซึ่งความจริงแล้วพ่อค้าก็ไม่ค่อยอยากซื้อนักเพราะตัวใหญ่เกินไปจึงทำให้ราคาลดต่ำลง

ในบรรดาไก่ที่เลี้ยงคุณประยูรบอกว่าไก่โต้งขายดีกว่าไก่พื้นเมืองและประดู่ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเนื้อแน่น อร่อย มีคุณภาพใกล้เคียงกับไก่สองชนิด แต่ที่สำคัญคือราคาถูก เนื่องจากมีต้นทุนต่ำตั้งแต่ลูกพันธุ์ที่มีราคาเพียงตัวละ 1.50 บาท ต่างจากประดู่หางดำที่มีราคาตัวละ 20 กว่าบาท เมื่อพ่อค้าซื้อไปชำแหละแปรรูปแล้วยิ่งดูไม่รู้เพราะเนื้อเหมือนกันทั้งสีและคุณภาพ

คุณประยูรวางแผนการผลิตไก่โดยใช้ตลาดนำ จึงไม่มีความจำเป็นต้องผลิตล่วงหน้า แต่ต้องรู้ข้อมูลความต้องการจากทุกปัจจัยล่วงหน้าเพื่อนำไปวางแผนการผลิตให้ตรงตามจำนวนที่ต้องการแล้วเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อความเสียหายในเรื่องราคาเนื่องจากต้องแบกรับต้นทุนหลายด้าน

“ธุรกิจค้าขายไก่เนื้อ สิ่งที่ต้องพบเจออย่างเลี่ยงไม่ได้ในบางครั้งคือการแข่งขันกับนายทุนใหญ่ ซึ่งเป็นปัญหากับผู้เลี้ยงไก่ในพื้นที่ที่ต้องแก้ไข อย่างไรก็ตาม ลูกค้าที่อยู่ในโซนภาคเหนือยังนิยมรับประทานไก่พื้นเมืองมากกว่า ความต้องการของตลาดจะมีขึ้น-ลงเกิดจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการแข่งขัน จำนวนไก่ รวมถึงเทศกาลสำคัญ”

นอกจากการขายไก่เป็นตัวแล้ว คุณประยูรยังต่อยอดธุรกิจด้วยการสร้างโรงเชือดไก่ที่ได้รับรองมาตรฐานเพื่อเปิดไปสู่ตลาดแปรรูป โดยมีกำลังการเชือดไก่ไม่ต่ำกว่า 500 ตัว ต่อวัน โดยแบ่งเป็นการเชือดแล้วถอนขนขายกับถอนขนดึงไส้

จึงทำให้ตอนนี้ประยูรฟาร์มเป็นธุรกิจเลี้ยงไก่ครบวงจรตั้งแต่การผลิต แปรรูป และการตลาด สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ค้าเนื้อไก่แปรรูป ผู้บริโภค ตลอดจนกลุ่มผู้ประกอบกิจการร้านอาหาร เพราะเป็นไก่ที่มาจากแหล่งผลิตคุณภาพ น่าเชื่อถือ ปลอดภัยได้มาตรฐานจริง

ตลอดระยะเวลาการยึดอาชีพเลี้ยงไก่กว่า 20 ปี คุณประยูรดูแลเอาใจใส่และทุ่มเททั้งในเรื่องพันธุ์ไก่ สถานที่ และการให้อาหาร จนได้รับความไว้วางใจให้เป็นฟาร์มเครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีกรมปศุสัตว์ แล้วยังได้รับการยกย่องให้เป็นเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศ สาขาอาชีพเลี้ยงสัตว์

ในยุคปัจจุบันการประหยัดต้นทุนการผลิตสินค้าทางการเกษตร เป็นสิ่งสำคัญที่เกษตรกรหลายรายให้ความสำคัญ เพราะนอกจากจะช่วยให้ได้ผลผลิตกำไรมากขึ้นแล้ว ยังสามารถยึดทำเป็นอาชีพที่ยั่งยืนส่งต่อไปถึงลูกหลานได้

เพราะไม่เกิดภาวะหนี้สินที่ต้องหยุดหรือดำเนินการไป ในส่วนของการเลี้ยงปศุสัตว์ก็เช่นกันเกษตรกรผู้เลี้ยงมีความใส่ใจในเรื่องของการเลี้ยงแบบประหยัดต้นทุน โดยยึดการใช้อาหารที่หาได้ง่ายๆ ไม่ใช้ต้นทุนมากเป็นผลผลิตทางการเกษตรในสวนของตนเองมาใช้เลี้ยงแทน

คุณชลิต หอมยามเย็น อยู่บ้านเลขที่ 38/2 หมู่ที่ 2 ตำบลหัวเขา อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ได้นำไก่ไข่เข้ามาเลี้ยงภายในบริเวณบ้านของตนเอง โดยใช้พืชผลทางการเกษตรที่เหลือจากสวนมาเป็นอาหาร ส่งผลให้เป็นการประหยัดต้นทุนการผลิตมากขึ้น เมื่อจำหน่ายไก่ไข่จึงเกิดรายได้มีผลกำไรเต็มเม็ดเต็มหน่วย

คุณชลิต เล่าว่า เดิมทำงานอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ต่อมาได้ย้ายกลับมาอยู่บ้าน และเกิดความคิดที่อยากจะทำเกษตรแบบผสมผสาน ด้วยการปลูกข้าวอินทรีย์และสีข้าวผลิตจำหน่ายเอง ต่อมาเมื่อเห็นว่าภายในสวนที่ทำมีของเหลือจากการสีข้าวและผลผลิตอื่นๆ จึงได้นำไก่ไข่เข้ามาเลี้ยงอีกช่องทาง เพื่อให้ไก่ได้กินผลผลิตที่เหลือจึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้แบบประหยัดต้นทุน

ไก่ไข่ที่นำมาเลี้ยงทั้งหมดมีประมาณ 300 ตัว โดยเน้นเป็นการเลี้ยงแบบไก่ไข่อารมณ์ดี ซึ่งอาหารที่ใช้เลี้ยงจะเป็นอาหารที่ได้จากสวนและแปลงเกษตรของเขาเป็นหลัก เช่น รำข้าวที่เหลือจากการสีข้าวขาย ทำให้มีอาหารชั้นดีสำหรับให้ไก่ไข่กิน ช่วยให้ประหยัดต้นทุนได้เป็นอย่างมาก

“เริ่มแรกๆ ผมก็ทำเกษตรหลายอย่าง เพราะเหมือนเรามารับช่วงต่อจากแม่ ที่ทำพืชเชิงเดี่ยวอยู่สมัยนั้น ผมก็เลยอยากจะทำแบบไม่ให้มีเคมี เพราะเรารู้ว่าการใช้สารเคมีเป็นสิ่งที่น่ากลัว ดังนั้น เลยเน้นใช้สารชีวภัณฑ์เป็นหลัก

พอพืชที่เราปลูกไม่มีสารเคมีแล้ว ก็เกิดความคิดว่าของเสียที่เหลือจากในสวนเราสามารถนำมาทำอย่างอื่นได้ ทิ้งไปก็เสียดายเปล่าๆ จึงได้หาไก่ไข่มาเลี้ยงแรกๆ ประมาณ 50 ตัว ก็สามารถออกไข่ได้ดี จากนั้นก็ขยับขยายการเลี้ยงมาเรื่อยๆ จนมีถึง 300 ตัวจนถึงทุกวันนี้” คุณชลิต บอก

ไข่ไก่ที่นำมาเลี้ยงอยู่ที่เลือกว่าต้องการแบบไหน ถ้าใช้เวลาเลี้ยงนานก็จะซื้อลูกไก่ไข่มาทำการอนุบาลเอง แต่ถ้าต้องการให้ได้ผลผลิตที่ไวจะเลือกซื้อไก่ไข่ที่เป็นสาวๆ รุ่นๆ พร้อมไข่เข้ามาภายในฟาร์มได้ทันที โดยอาหารที่ใช้เลี้ยงไก่ไข่จะให้กินในตอนเช้าและเย็น ซึ่งช่วงเช้าหลังให้อาหารแล้ว จึงจะเริ่มเก็บไข่ให้หมดโรงเรือนที่เลี้ยง เพื่อที่จะได้มีไข่ที่สดใหม่ไม่ตกค้าง

การสร้างโรงเรือนให้ไก่ไข่ คุณชลิต บอกว่า ดูตามความเหมาะสม อย่าให้ไก่อยู่กันอย่างหนาแน่นจนเกินไป ซึ่งโรงเรือนจะเน้นให้อยู่ไกลจากแหล่งชุมชน ก็จะช่วยให้ไม่เกิดโรคเข้ามาภายในฟาร์ม ภายในโรงเรือนเมื่อเห็นว่ามีมูลไก่เยอะก็จึงนำมาใช้ประโยชน์ทำเป็นปุ๋ยใส่ภายในสวน เพราะมูลไก่เป็นปุ๋ยชั้นดีที่ทำให้ประหยัดต้นทุนในการทำสวนไปได้ในตัว

“รายได้จากการขายไข่ไก่เป็นรายวัน เฉลี่ยได้วันละ 200-250 ฟอง ช่วงที่ได้ไก่มาเลี้ยงใหม่ๆ ก็ยังไม่ได้ให้ไข่มากนัก แต่เมื่อเขาโตเต็มที่ ก็จะเริ่มให้ไข่มากขึ้นเรื่อยๆ อย่าง 300 ตัว ถ้าเรามีการเลี้ยงให้อาหารที่สมบูรณ์ ไข่ที่เก็บได้ต่อวันก็จะประมาณ 250 ฟอง ใน 1 เดือน จะได้รายได้จากการขายไข่ตกอยู่ที่ประมาณ 9,000 บาท ถือว่าเกิดรายได้เสริมอีกช่องทางที่คุ้มค่า เพราะการเลี้ยงเป็นแบบประหยัดต้นทุน” คุณชลิต บอก

คุณชลิต ยังทิ้งท้ายว่า การทำเกษตรต้องมองหลายมิติ บางครั้งอย่ามุ่งหวังที่จะให้ได้รายได้รวยๆ แต่ต้องสร้างแผนการผลิตที่ดีและเกิดประโยชน์ มองว่าภายในสวนมีอะไรเหลือจะรับมือจากของเหลือเหล่านั้นยังไง

อย่างเช่นเขาที่มองออกด้วยการสร้างผลประโยชน์ต่างๆ ให้ได้มากที่สุด ข้าวก็สีขายได้เอง ของเหลือจากสีข้าวก็นำมาเป็นอาหารให้ไก่ไข่กิน มูลไก่ที่ได้ก็นำไปใส่พืชต่างๆ ภายในสวน จึงเป็นสิ่งที่เกื้อกูลกัน ทำให้การทำเกษตรไม่เกิดหนี้สินและสร้างผลกำไรได้ไม่ยาก

ติดต่อสอบถามขอคำปรึกษาในเรื่องการทำเกษตรและเลี้ยงไก่ไข่แบบประหยัดต้นทุนได้ที่ คุณชลิต หอมยามเย็น หมายเลขโทรศัพท์ (086) 799-4054

เกษตร และ บทวิเคราะห์ เทคโนโลยีทางการเกษตร ตลาดขายพืชผลทางการเกษตร ผลกระทบทางการเกษตร งบประมาณและนโยบายรัฐเพื่อการเกษตร และการส่งออกพืชผลทางการเกษตร ที่ได้รับความสนใจ ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน