อนาคต “อีคอมเมิร์ซ” ไม่ง่ายอย่างที่คิด! คลื่นระลอกใหม่ไม่ง่าย

WM

ภาพโดย justynafaliszek จาก Pixabay

เมื่อ “ยุคดิจิทัล” สร้างคลื่นระลอกใหม่โดยไม่ทันตั้งตัว อนาคต “อีคอมเมิร์ซ” ไม่ง่ายอย่างที่คิด!

แม้วิวัฒนาการของตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชียจะเติบโตต่อเนื่องและไม่มีทีท่าจะหยุดนิ่ง แต่สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือ คือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ทุกขณะจากการมาของเทคโนโลยี ทำให้ทุกธุรกิจต้องรับมือกับแรงกดดันในตลาดดิจิทัลให้ได้

ประเด็นนี้ คุณรามา ชริดฮาร์ รองประธานบริหาร ฝ่าย Digital and Emerging Partnerships and New Payment Flows มาสเตอร์การ์ด แสดงความเห็นว่า อนาคตของระบบดิจิทัลในเอเชียมาถึงแล้ว

ในประเทศจีนมีผู้คนนับล้านใช้สมาร์ทโฟนเพื่อเข้าใช้ระบบขนส่งมวลชนเป็นประจำทุกวัน ชำระค่าอาหารด้วย We Chat

WM
ภาพโดย Tumisu จาก Pixabay

หรือแม้แต่ใช้แอปเพื่อสั่งอาหาร ภายใต้การทำงานในออฟฟิศที่ใช้ประโยชน์จากบล็อกเชน ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และคลาวด์

ซึ่งทำงานประสานกันอย่างราบรื่น เทรนด์ที่เกิดขึ้นมาจากการใช้งานสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างปี 2560 ที่ภูมิภาคเอเชียมีการเชื่อมต่อมือถือใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 319 ล้านครั้ง มากกว่าการใช้งานในยุโรปที่เพิ่มขึ้นเพียง 5 ล้านครั้งในช่วงเวลาเดียวกัน

“สมาร์ทโฟนเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตของผู้คน วัฒนธรรม และสังคมอย่างรวดเร็วแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งยังสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ภายใต้ความท้าทายของผู้ประกอบการและผู้กำหนดนโยบายที่ต้องการช่วยกันทำให้ระบบดิจิทัลเติบโตอย่างต่อเนื่อง”

ผู้บริโภคในเอเชียเปิดรับการนำเทคโนโลยีมาใช้มากกว่านักช้อปปิ้งในตลาดอื่น ๆ โดยบริษัทวิจัย KantarTNS ระบุว่าจากการสำรวจในปี 2560 พบว่า 77% ของผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกสามารถใช้อินเทอร์เน็ต

ในช่วงที่ทำการสำรวจจับจ่ายซื้อสินค้าครั้งล่าสุดผ่านทางมือถือ เทียบกับ 61% ของผู้บริโภคทั่วโลกและอีก 24% ในยุโรป ขณะที่เอเชียยังเป็นผู้นำการชำระเงินออนไลน์จากการสำรวจของบริษัท KPMG โดยมีการทำธุรกรรมออนไลน์เฉลี่ย 22.1 ครั้งต่อคนต่อปี ขณะที่คนทั่วไปในภูมิภาคอเมริกาเหนืออยู่ที่ 19 ครั้งต่อปี

ส่วนเงินทุนหมุนเวียนจากนักลงทุนในภูมิภาคชี้ว่า การค้าขายออนไลน์ในเอเชียเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น Tech in Asia รายงานว่า การร่วมลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงแห่งเดียวเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัวในปี 2560 มีมูลค่าเกือบ 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ

การลงทุนเหล่านี้ช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 60 ในปี 2560 เพียงปีเดียว และคาดว่าจะขยายตัวจากประมาณ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2560 เป็น 2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2568

การเติบโตอย่างรวดเร็วของระบบดิจิทัลในเอเชียทำให้ธุรกิจต่าง ๆ และผู้กำหนดนโยบายต้องเผชิญ       ความท้าทายในการหาวิธีที่ดีที่สุด ระหว่างประโยชน์จากการพัฒนาระบบดิจิทัลกับการเรียนรู้ที่จะจัดการกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามในช่วงเริ่มต้นบริษัทต่าง ๆ ต้องพยายามแสวงหากลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อให้ผ่านสิ่งรบกวนในตลาดดิจิทัล เพราะหากไม่ทำเช่นนั้นความเสียหายอาจเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้บริโภคจะเกิดความสับสนกับทางเลือกต่าง ๆ ในโลกออนไลน์

ความสับสนอาจทำให้ผู้บริโภคลังเลที่จะไว้ใจธุรกิจใหม่บนอินเทอร์เน็ตในช่วงเวลาที่ธุรกิจเหล่านั้นกำลังเติบโต นอกจากหน่วยงานกำกับดูแลและผู้กำหนดนโยบายในเอเชียยังมุ่งเน้นไปที่การปกป้องข้อมูลผู้บริโภค

ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจก็มีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลเพื่อทำให้ผู้บริโภคและธุรกิจมั่นใจในประสบการณ์ใช้งานออนไลน์ โดยเฉพาะเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นหรือช่องทางต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิมนั้นมีการพัฒนาไปในทิศทางที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ ผู้นำรัฐบาลของแต่ละประเทศต่างส่งเสริมการเติบโตของเอสเอ็มอี และสนับสนุนบริษัทขนาดใหญ่ในปัจจุบันที่ช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงตลาดได้ เพื่อช่วยให้บริษัทต่าง ๆ และธุรกิจแบบหุ้นส่วนสามารถเข้าถึงและให้บริการผู้บริโภคได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบดิจิทัลอย่างไม่เท่าเทียมก็ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากอาจมีคนกลุ่มหนึ่งถูกทิ้งไว้ข้างหลังเนื่องจากไม่มีทักษะด้านดิจิทัลหรือไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีประชากรกว่า 40% ยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างสม่ำเสมอ

ภูมิภาคเอเชียยังอยู่ในจุดที่ยังสามารถสังเกตและเรียนรู้จากการพัฒนากฎระเบียบในภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก อาทิ กฎระเบียบว่าด้วยการปกป้องข้อมูลทั่วไป (General Data Protection Regulation) ทำให้เกิดมาตรฐานการปกป้องข้อมูลที่สอดคล้องกันทั่วยุโรป

ทำให้ผู้บริโภคในยุโรปสามารถควบคุมข้อมูลของตนเองรวมทั้งบังคับให้องค์กรต่าง ๆ ต้องรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคเริ่มตั้งแต่ในกระบวนการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในทางกลับกัน เรื่องการปกป้องข้อมูลในทวีปเอเชียมีความแตกต่างกันมากกว่า

จากการตัดสินว่าอะไรคือข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลที่มีความอ่อนไหวยังเป็นเรื่องที่ไม่ชัดเจน รวมถึงการดูแลรักษาข้อมูลเหล่านั้นยังเกิดขึ้นได้ยาก บางประเทศเน้นให้เกิดการถ่ายโอนข้อมูลข้ามพรมแดนอย่างปลอดภัย

แต่บางประเทศก็มุ่งป้องกันไม่ให้ข้อมูลถูกถ่ายโอนออกนอกประเทศด้วยเหตุผลต่างๆ กลายเป็นอุปสรรคต่อการเชื่อมต่อระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ ทำให้ผู้บริโภคจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการปกป้องข้อมูลของตนเอง

ศึกษาวิธีที่ดีที่สุดในการปกป้องความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ เพื่อยกระดับการเข้าถึงระบบดิจิทัล ความเข้าใจในเทคโนโลยี และพัฒนาทักษะในเทคโนโลยีรุ่นถัดไป เพื่อมั่นใจว่าประชากรในเอเชียจะใช้และได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง

เศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจทั่วโลก บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ เจาะตลาดการวางแผนเศรษฐกิจ  เศรษฐกิจการเงิน เศรษฐกิจการลงทุน ติดตามข่าวเศรษฐกิจด่วน กระแสข่าวเศรษฐกิจ ที่ได้รับความสนใจ ได้ที่ doodido

ที่มา : marketingoops