หมูไทยปลอดโรค ASF ชี้โควิดดันส่งออกทะลุ 2.2 หมื่นล้านบาท

WM

ภาพจาก pixabay

กระทรวงเกษตรฯ ยัน หมูไทยปลอดโรค ASF ชี้โควิดดันส่งออกทะลุ 2.2 หมื่นล้านบาท

หมูไทยปลอดโรค ASF ไทยถือเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นในระดับโลกด้านสินค้าปศุสัตว์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยในอาหาร (Food Safety) ซื่งกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด ทำให้สินค้าปศุสัตว์ไทยเป็นที่ต้องการในตลาดโลก โดยเฉพาะความสำเร็จที่ไทยสามารถป้องกันโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF โรคร้ายแรงในสุกรที่สร้างความเสียหายให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรหลายประเทศ

แต่ไทยยังคงสถานะ “ปลอดโรค ASF” มานานกว่า 2 ปี จนเป็นไข่แดงเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ จุดนี้ทำให้สุกรไทยเป็นที่สนใจของตลาดต่างประเทศ ที่ต้องการนำเข้าสุกรจากฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ที่ปลอดโรค ปลอดสารตกค้าง ปลอดภัย เพื่อป้อนผู้บริโภคของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่เกิดการระบาดของโรค ASF ทำให้ปริมาณผลผลิตในประเทศลดลง ราคาสุกรมีชีวิตสูงขึ้น นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปรุความ กล่าว

“โดยล่าสุดมีข่าวดีจากภาคผู้ผลิตสุกร ที่ได้ลงนาม MOU การส่งออกสุกรมีชีวิตไปต่างประเทศ ทั้งเวียดนาม กัมพูชา และสปป.ลาว ความสำเร็จดังกล่าวนี้ เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ผนึกกำลังอย่างเหนียวแน่น จนสามารถป้องกันความเสียหายไม่ให้เกิดกับเกษตรกรผู้เลี้ยงและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร และสร้างโอกาสในการส่งออกเฉพาะในปี พ.ศ. 2563 ส่งออกสุกรมีชีวิตจำนวนมากกว่า 2.2 ล้านตัว รวมถึงเนื้อและผลิตภัณฑ์สุกร มีปริมาณมากกว่า 54,000 ตัน มีมูลค่าทะลุ 22,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่า 300 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา”

WM
ภาพจาก pixabay

นายสรวิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า หัวใจสำคัญของความสำเร็จในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค ASF และโรคอื่นๆ ในสุกร เรื่องนี้ต้องยกเครดิตให้กับความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่ กรมปศุสัตว์ ส่งเจ้าหน้าที่ระดมสรรพกำลังทั้งเฝ้าระวัง ป้องกัน และให้ความรู้ โดยเน้นย้ำเกษตรกรให้ดูแลสุขภาพสุกรเป็นพิเศษ มีการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด ด้วยระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity system) ในระดับสูงสุด ตามมาตรการควบคุมโรคติดต่อในสุกรของกรมปศุสัตว์ และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

ซึ่งที่ผ่านมาผู้ผลิตสุกรและเกษตรกรต่างให้ความร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ ในการป้องกันโรคตามหลัก “ป้องกันไว้ดีกว่าแก้” ขณะเดียวกัน ทั้งภาครัฐ สมาคมผู้เลี้ยงสุกร ภาคเอกชน และเกษตรกร ยังคงบริหารจัดการผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศเป็นหลัก

สำหรับปริมาณการผลิตสุกรขุนของไทยในปัจจุบัน อธิบดีกรมปศุตว์ กล่าวว่า อยู่ที่ 55,000 ตัวต่อวัน ขณะที่การบริโภคภายในประเทศอยู่ที่ 50,000 ตัวต่อวัน การผลิตจึงเพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศ

สำหรับผลผลิตส่วนที่เกินจากการบริโภคนั้น จะทำการส่งออกในรูปแบบสุกรขุน สุกรพันธุ์ ลูกสุกร ชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ เพื่อนำเงินตราเข้าประเทศ โดยมีคณะกรรมการดูแล ประกอบด้วย 5 หน่วยงานคือ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมพัฒนาธุรกิจสุกรไทย และสมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก ตามมติของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (พิกบอร์ด)

“ผู้บริโภคจึงไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนสุกรภายในประเทศ ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงก็ไม่ต้องกังวลว่าปริมาณภายในจะเหลือจนส่งผลกระทบต่อภาวะราคาเช่นกัน” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

ด้าน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ความสำเร็จในการสร้างผลผลิตสุกรให้เพียงพอกับคนไทย และยังเป็นสินค้าปศุสัตว์ที่บุกตลาดต่างประเทศ นำรายได้มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน

“ภายใต้ความมุ่งมั่นของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการผลักดันให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ ตระหนักและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในอาหารมาตั้งแต่ต้น ขณะเดียวกัน ไทยยังมีชื่อเสียงทั้งด้านการป้องกันโรคในคนและโรคในสัตว์ติดระดับโลก ยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในตลาดโลกได้เป็นอย่างดี

การผลิตและการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ โดยเฉพาะ “สุกร” สินค้าปศุสัตว์ที่สำคัญและเป็นที่น่าจับตามอง จนกลายเป็น “สินค้าเรือธง” ในวิกฤตโควิด-19 ดังนั้น ปี 2563 นี้ จึงถือเป็นปีทองของหมูไทยอย่างแท้จริง” นายเฉลิมชัยกล่าวทิ้งท้าย

เกษตร และ บทวิเคราะห์ เทคโนโลยีทางการเกษตร ตลาดขายพืชผลทางการเกษตร ผลกระทบทางการเกษตร งบประมาณและนโยบายรัฐเพื่อการเกษตร และการส่งออกพืชผลทางการเกษตร ที่ได้รับความสนใจ ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ