สังเกต 6 อาการบ่งชี้ว่าลูกน้อยของคุณมีอาการ “Over feeding”

WM

การให้ลูกกินนมมากเกินไป ส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกน้อย

เชื่อว่าคุณแม่หลายคนต้องเป็นกันอย่างแน่นอนในเรื่องของการให้นมลูกในปริมาณที่มาก เพราะกลัวว่าลูกน้อยจะไม่อิ่มท้อง แต่คุณแม่รู้ไหมคะว่า การที่คุณแม่นั้นให้ลูกทานนมมากเกินไปนั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกน้อยอย่างมากเลยค่ะ นำมาสู่อาการที่ทำให้ลูกร้องไห้ งอแง เนื่องจากการอืดท้อง ไม่สบายท้องเรียกว่าอาการ Over feeding นั่นเองค่ะ

นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เนื่องจากมีสารอาหารและภูมิคุ้มกันโรค เพราะฉะนั้นหลักสำคัญในการดูแลเด็กแรกเกิด-6 เดือน แค่กินนมแม่ก็เพียงพอแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่คุณแม่มือใหม่ควรท่องจำไว้ให้ขึ้นใจ นอกจากจะทำให้ลูกมีสุขภาพที่แข็งแรงแล้ว ยังเป็นการสร้างความอบอุ่นและความสัมพันธ์อันดีระหว่างคุณแม่และลูกรักอีกด้วย แต่คุณแม่รู้ไหมคะว่าการให้ลูกกินนมมากเกินไปนั้นก็ไม่ส่งผลดี เราจะพาไปดูอาการที่บ่งบอกว่าลูกของคุณแม่กินนมเยอะไป หรือที่เรียกว่าอาการ 0verfeeding ที่ส่งผลให้ลูกรักรู้สึกไม่สบายตัว ร้องโยเย และน้ำหนักเกินเกณฑ์ได้ เพียงแค่สังเกตอาการเหล่านี้ก็ทำให้คุณแม่รู้ได้ว่าลูกอิ่มหรือยังไม่อิ่ม

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/ben_kerckx-69781/

1. นอนร้องเป็นแพะ เป็นแกะ แอะ ๆ ๆ ๆ
เพราะเด็กทารกยังไม่สามารถสื่อสารออกมาเป็นคำพูดได้ การที่คุณแม่มือใหม่จะรู้ว่าตอนนี้ลูกรักกำลังรู้สึกอะไร ก็ต้องหมั่นสังเกตภาษาทารกที่แสดงออกมานะคะว่าร้องแบบนี้หมายความว่าอะไร ถ้าลูกนอนร้องเป็นแพะ เป็นแกะ ทำเสียงแอะ ๆ ๆ ๆ นั่นหมายความว่าตอนนี้กำลังรู้สึกไม่สบายตัว อึดอัด ด้วยอาการ 0verfeeding เพราะคุณแม่ให้หนูกินนมเยอะเกินไปจนล้นกระเพาะเล็ก ๆ แล้วนั่นเอง

2. บิดตัวเหยียดแขนเหยียดขา ส่งเสียงเอี๊ยดอ๊าด ๆ
นอกจากลูกจะนอนร้องเป็นแพะ เป็นแกะ แอะ ๆ ๆ ๆ แล้ว ลักษณะท่าทางของลูกรักที่แสดงออกมาก็เป็นอะไรที่คุณแม่ต้องใส่ใจนะคะ ยิ่งถ้าลูกบิดตัวเหยียดแขนเหยียดขา ส่งเสียงเอี๊ยดอ๊าด ๆ แบบนี้ นี่อาจจะเป็นอาการ Overfeeding ก็เป็นได้ ถึงเวลาที่คุณแม่จะต้องควบคุมการให้นมแม่แก่ลูก ไม่ให้มากจนเกินไปจนเกินความสามารถที่กระเพาะของเด็กทารกจะรับไหวนะคะ

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/joffi-1229850/

3. เสียงครืดคราดในคอ คล้ายมีเสมหะ เพราะนมล้นขึ้นมาที่คอหอย
เห็นลูกรักร้องไห้ ในความเป็นจริงแล้วอาจไม่ได้แปลว่าหิวนมทุกครั้งไป แต่คุณแม่มือใหม่ส่วนใหญ่มักจะคิดว่าลูกหิวนม เอะอะก็เอาลูกเข้าเต้าหรือเอาขวดนมเข้าปากลูกท่าเดียว จนลูกมีอาการ Overfeeding ซึ่งมีสาเหตุจากการให้ลูกกินนมมากเกินไปนั่นเอง โดยหนึ่งอาการที่แสดงให้คุณแม่รู้ได้ ก็คือลูกรักจะทำเสียงครืดคราดในคอ คล้ายมีเสมหะ เพราะนมล้นขึ้นมาถึงคอหอยแล้วรู้ไหมคะคุณแม่

4. แหวะนมหรืออาเจียนนมออกมาทางปากหรือจมูก
ถ้าลูกกินนมมากจนเกินความสามาถของกระเพาะเล็ก ๆ จะรับไหว ลูกก็อาจจะแหวะนมหรือาเจียนนมออกมาทางปากหรือจมูกได้ ซึ่งเป็นอาการ Overfeeding ที่สามารถพบได้บ่อย ๆ ประกอบกับนมเป็นของเหลวจึงทำให้ไหลย้อยออกมาได้ง่าย โดยอาการแหวะนมนี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นในช่วง 6-7 เดือน สำหรับเด็กทารกที่มีอาหารแหวะนมมาก จะพบอาการนี้ได้จนถึงอายุ 10-12 เดือน และมักจะหยุดเมื่ออายุ 18 เดือน เมื่อระบบการย่อยของลูกแข็งแรงดีแล้ว

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/publicdomainpictures-14/

5. พุงกางเป็นทรงน้ำเต้าตลอดเวลา พุงไม่แฟบเลย
ลูกรักกินนมแม่แล้ว พุงกางเป็นทรงน้ำเต้าตลอดเวลา ดูแล้วพุงไม่แฟบลงเลยแบบนี้ คุณแม่สันนิษฐานไว้ได้เลยว่าลูกมีอาการ Overfeeding คุณแม่ต้องหยุดให้ลูกกินนม แล้วเบี่ยงเบนความสนใจด้วยการเล่นกับลูก อุ้มลูกเดินบ้าง หรือจับลูกเรอหลังกินนม เพื่อขับลมในท้องขณะดูดนมเข้าไปนะคะ เน้นให้ลูกกินนมแม่น้อยๆ แต่ให้กินบ่อยๆ ก่อนที่ลูกจะหิวนมจัดๆ เพื่อป้องกันลูกดูดนมแม่ในปริมาณที่มากและเร็วจนเกินไป

6.น้ำหนักลูกเกินเกณฑ์
เรื่องของน้ำหนักลูกรักก็สามารถจะบ่งบอกได้ถึงอาการ Overfeeding ได้เช่นเดียวกัน หากลูกน้อยมีน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้นมากกว่า 35 กรัมต่อวัน หรือเกิน 1 กิโลกรัมต่อเดือน เป็นเพราะลูกกินนมแม่มากเกินไป ถ้ายังกินนมแม่เข้าไปอีกจะทำให้ลูกรักรู้สึกอึดอัด ปวดท้อง โยเย ร้องกวน หรือมีอาการแหวะนม เพราะน้ำนมล้นกระเพาะแล้ว ดังนั้นคุณแม่มือใหม่จึงควรใส่ใจเรื่องน้ำหนักของลูกรักที่จะต้องเป็นไปตามเกณฑ์

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/angel4leon-560486/

น้ำหนักตามเกณฑ์ปกติของเด็ก 0-12 เดือน
0-3 เดือน น้ำหนักลูกควรเพิ่มขึ้น 600-900 กรัม/เดือน
4-6 เดือน น้ำหนักลูกควรเพิ่มขึ้น 450-600 กรัม/เดือน
7-12 เดือน น่ำหนักลูกควรเพิ่มขึ้น 300 กรัม/เดือน

ลูกน้อยวัยทารกเป็นวัยต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด คุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการของลูกน้อยให้ดี หากลูกมีอาการผิดปกติตามที่ DooDiDo ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ ให้คุณแม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานนม และหากยังไม่ปกติให้รีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อให้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูนะคะ

ขอบคุณแหล่งที่มา : https://happymom.in.th