วิกฤติการเงิน การบินไทยมีแผนจะขายเครื่องบินรวม 42 ลำ

WM

ภาพโดย Arek Socha จาก Pixabay

โละขายเครื่องบิน 42 ลำ วิกฤติการเงิน การบินไทยดิ้นหาเงินหมุนประคองตัวปี 64   หลังประเมินปีหน้ายังอ่วม 

วิกฤติการเงิน การบินไทย ดิ้นหาเงินหมุนประคองตัวปี 64 โละขายเครื่องบิน 42 ลำ รับแผนเขย่าฝูงบินเหลือ 60-70 ลำ ดันขายที่ดินอีก 3 แปลงย่านหลักสี่-ดอนเมือง หลังประเมินปีหน้ายังอ่วมกระแสเงินสดติดลบเดือนร่วม 2-3 พันล้าน

เหตุยังกลับมาบินได้น้อย ขายปาท่องโก๋ ขนคาร์โก้ ยังเอาไม่อยู่ ฉุดเงินในมือ 1 หมื่นล้านบาทอยู่ได้แค่เม.ย.นี้ เผยขายไม่ง่ายแต่ต้องทำควบคู่กับการบี้ลดเงินเดือนเพิ่ม จ่อเปิดโครงการร่วมใจจากระลอก 3

จากแนวโน้มการดำเนินธุรกิจของการบินไทยในปีหน้า ท่ามกลางวิกฤติการเงิน ทำให้เผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องต่อเนื่อง ส่งผลให้การบินไทย ต้องดิ้นเตรียมแผนขายทรัพย์สินเพื่อเสริมสภาพคล่องปี2564

ปัจจุบัน ณ ไตรมาส 3 ของปี 2563 การบินไทยมีกระแสเงินสดอยู่ที่ 9 พัน-1 หมื่นล้านบาท ที่ผ่านมาในแต่ละเดือนการบินไทย มีกระแสเงินสดติดลบอยู่ที่ราว 2-3 พันล้านบาทต่อเดือน เพียงพอใช้ได้ถึงเดือนเมษายนปี 64 เท่านั้น

เพราะทำการบินได้น้อยมาก มีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ราว 600 ล้าน- 1 พันล้านบาทจากปกติที่จะมีรายได้อยู่ที่ราว 1.5 หมื่นล้านบาทต่อเดือนโดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากการขนส่งสินค้าทางอากาศ(คาร์โก้) การให้บริการดูแลเครื่องบินของสายการบินลูกค้า และรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ จากฝ่ายครัวการบิน

หรือแม้แต่ขายปาท่องโก๋ ขายได้เดือนละ10 ล้านบาท หรือขายอย่างมากก็ไม่เกิน 20 ล้านบาท  ซึ่งรายได้ที่เกิดขึ้น เทียบไม่ได้รายได้ที่เคยได้รับเดือนร่วม 1.5 หมื่นล้านบาทคิดเฉพาะค่าใช้จ่ายจากการดำเนินการ ก็อยู่ที่ราว 2 พันล้านบาทต่อเดือน กว่า 50-60% เป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคคลากร อยู่ที่ราว 1,100 ล้านบาทต่อเดือน

WM
ภาพโดย Robert Kr?ger จาก Pixabay

แม้ที่ผ่านมาการบินไทย จะมีมาตราการลดค่าใช้ด้านบุคคลากร ที่ได้ดำเนินการไปอย่างการเปิดโครงการร่วมใจจากองค์กร( MAP A) มีพนักงานสมัครใจลาออก โครงการลาระยะยาว (LW20)และมีสิทธิร่วมใจจากองค์กร Mutual Separation Plan B (MAP B) แต่ก็ลดค่าใช้จ่ายไปได้ราว 300 ล้านบาทต่อเดือนเท่านั้นขณะที่การบินไทยยังต้องเผชิญกับภาวะการขาดทุนต่อเนื่อง โดยตลอดทั้งปี2563นี้

คาดว่าการบินไทยจะขาดทุนอยู่ที่ 7-8 หมื่นล้านบาท จาก 9 เดือนแรกของปีนี้ที่ขาดทุนอยู่ 4.95 หมื่นล้านบาท ดังนั้นในปีหน้าถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้การบินไทยก็จะขาดทุนไตรมาสละกว่า 2 หมื่นล้านบาท

ประกอบกับในปีหน้าแม้การบินไทยจะเริ่มทยอยกลับมาเปิดบินเพิ่มขึ้น โดยในช่วงไตรมาสแรกปี64 จะกลับมาเปิดเส้นทางบินในประเทศ ใน 2 จุดบินคือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่,กรุงเทพ-ภูเก็ต และการเปิดบินเที่ยวบินกึ่งพาณิชย์ใน 10 เส้นทางบินระหว่างประเทศ สู่ยุโรป เอเชีย แต่ตลอดทั้งปีหน้า ก็คาดว่าการบินไทยจะใช้เครื่องบินทำการบินได้ราว 40-45 ลำเท่านั้น

และจนถึงปี2568 จะใช้ได้ราว 70 ลำ จากเครื่องบินทั้งหมด 101 ลำ เป็นเครื่องบินของการบินไทย 81 ลำ และเครื่องบินที่ให้ไทยสมายล์ เช่าเครื่องบิน 20 ลำนี่เองจึงทำให้ในปีหน้าการบินไทย ต้องหาเงินหมุนเข้ามาต่อลมหายใจ นอกเหนือ จากการรอเงินกู้เข้ามาเสริมสภาพคล่อง

หากแผนฟื้นฟูกิจการ ผ่านการพิจารณาจากเจ้าหนี้และศาลล้มละลายกลาง โดยการบินไทยได้ดำเนินการสำรวจตลาดความ ต้องการเครื่องบินมือสองและค้นหาผู้สนซื้อเครื่องบินมือสอง ไปแล้วจำนวน 2 ครั้ง ปัจจุบันมีแผนจะขายเครื่องบินรวม 42 ลำ  แบ่งเป็น

  • โบอิ้ง777-200ER จำนวน 6 ลำ
  • แอร์บัสเอ380-800 จำนวน 2 ลำ
  • แอร์บัสเอ300-600 จำนวน 1 ลำ
  • แอร์บัสเอ340-500 จำนวน 3 ลำ
  • แอร์บัสเอ340-600 จำนวน 6 ลำ
  • โบอิ้ง777-300 จำนวน 6 ลำ
  • โบอิ้ง737-400 จำนวน 2 ลำ
  • โบอิ้ง 747-400 จำนวน 10 ลำ
  • โบอิ้ง777-200 จำนวน 6 ลำ

โดยมีการประเมินเบื้องต้นราคาขายอยู่ที่ตั้งแต่ 50 ล้าน-1 พันล้านบาท ต่อลำ (ขึ้นกับชั่วโมงบิน)แต่การขายก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากปัจจุบันมีเครื่องบินในตลาดที่จอดรอขายเป็นจำนวนมากจากพิษโควิด-19 อีกทั้งกระบวนการขายของการบินไทยกว่าจะขายได้ต้องใช้เวลา นอกจากนี้การบินไทย ยังเตรียมจะขายที่ ใน 3 แปลง ที่จะผลักดันให้การขายให้เกิดขึ้นในปีหน้า ได้แก่

  1. ที่ดินบริเวณหลักสี่ ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์ลูกเรือ
  2. ที่ดินติดกับเจ้เล้ง ที่เดิมเคยเป็นภัตตาคารการบินไทย
  3. พื้นที่บริเวณหัวสนามบินดอนเมือง

ทั้งนี้ที่ดินบริเวณหลักสี่ ได้รับความสนใจจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ที่จะซื้อมาทำสำนักงาน แต่ปัญหาคือกระบวนการตั้งงบที่ใช้เวลาไม่ตํ่ากว่า 6 เดือน จึงทำให้ไม่แน่ใจว่าการบินไทยจะรอไหวหรือไม่

แต่ก็ต้องทยอยขาย เพื่อนำเงินก้อนเข้ามารวมไปถึงการบินไทย ยังคงต้องเดินหน้าล ดต้นทุนโดยเฉพาะด้านบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ในปีหน้า โดยล่าสุดได้เปิดโครงการTogether We Can 2 ที่จะขอความร่วมมือกับพนักงานในการขยายเวลา

การปรับลดเงินเดือนและค่าตอบแทน และโครงการลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือนและค่าตอบแทน จากเดิมที่โครงการTogether We Can สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม2563 ขยายไปเริ่มต่อเนื่อง ในวันที่ 1 ม.ค.-30 เมย.ปีหน้า และเปิดทางให้พนักงานทำอาชีพเสริมได้ แต่ต้องไม่ใช่งานของคู่แข่ง ขัดผลประโยชน์บริษัท

นอกจากนี้ยังมีแผนจะเปิดโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร (MSP C) ระลอกที่ 3 ด้วย หลังจากการเปิดโครงการร่วมใจจากองค์กร( MAP A) มีพนักงานสมัครใจลาออก จำนวน 1,918 คน และโครงการลาระยะยาว (LW20) มีพนักงานร่วมโครงการ2,699 คน

และมีสิทธิร่วมใจจากองค์กร Mutual Separation Plan B (MAP B) มีจำนวน 360 คน เบ็ดเสร็จมีพนักงานลาออกไป 2,278 คนแต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะในปีหน้าจะยังคงมีพนักงานคงเหลือราว 1.4-1.5 หมื่นคน และตามแผนหากต้องลดจำนวนฝูงบินลงกว่า 40% ความต้องการพนักงานก็จะต้องลดลงกว่าครึ่ง จากปัจจุบันที่การบินไทยมีพนักงาน 1.9 หมื่นคน

เศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจทั่วโลก บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ เจาะตลาดการวางแผนเศรษฐกิจ  เศรษฐกิจการเงิน เศรษฐกิจการลงทุน ติดตามข่าวเศรษฐกิจด่วน กระแสข่าวเศรษฐกิจ ที่ได้รับความสนใจ ได้ที่ doodido

ที่มา  ฐานเศรษฐกิจ