ประกาศใหม่ที่ดินส.ป.ก. เจาะลึกอนุญาตทำกิจการอื่น-ช่วยเกษตรกร?

WM

ภาพจาก pixabay

เจาะลึกประกาศใหม่ที่ดิน ส.ป.ก. อนุญาตทำกิจการอื่น-ช่วยเกษตรกร?

เจาะลึกประกาศใหม่ที่ดินส.ป.ก. – หลังประกาศคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) เรื่องกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกันกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กำหนดตามมาตรา 30 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.2518 และแก้ไข เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2532 พ.ศ.2563 ที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ลงนามในประกาศคปก.ใหม่ 2 ฉบับ คือฉบับวันที่ 28 ต.ค.2563 และฉบับวันที่ 30 ต.ค.2563

มีเสียงคัดค้านและกังวลใจว่าการแก้ไขประกาศ คปก.ครั้งนี้ อาจเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน เพราะกิจการที่ระบุว่าสามารถดำเนินการได้มีทั้ง โรงงาน โรงน้ำแข็ง ปั๊มน้ำมัน ร้านจำหน่ายของชำ ร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ร้านจำหน่ายยา หอพัก เป็นต้น

ร้อนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาย้ำชัดว่าที่ ส.ป.ก. ต้องจัดสรรเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร สั่งการให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เร่งออกเอกสารสิทธิให้เกษตรกร และดำเนินการเรียกคืนที่ดินจากนายทุนเพื่อนำมาจัดสรรให้เกษตรกร และเกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

ส่วนประเด็นความกังวลใจว่าประกาศการใช้ที่ดิน ส.ป.ก.ที่เพิ่งออกมานั้น จะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนหรือไม่ ยืนยันว่าจะไม่ปล่อยให้มีการทุจริตหรือฉวยโอกาส จะติดตามทั้งเรื่องประสิทธิภาพและความโปร่งใส ให้เกษตรกรหลุดจากความยากจน

ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัสยืนยันว่าการแก้ระเบียบการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก.ไม่เอื้อนายทุน การปรับปรุงประกาศครั้งนี้เพื่อลดดุลพินิจและคอร์รัปชั่น การเข้ามากำกับดูแล ส.ป.ก. จะน้อมนำพระราโชบาย ร.9 ที่ให้ไว้ตั้งแต่ปี 2518 มาใช้ เพื่อประโยชน์แก่เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจน

มีแต่จะแก้ไขในสิ่งที่ปกปิด และกระทำผิดกฎหมาย ให้ตรงกับพระราโชบายของพระองค์ผู้ก่อตั้งคือ ร.9 โดยจะแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ต้องทำให้ครบ

สําหรับประกาศ คปก. เรื่องกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกันกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กำหนดตามมาตรา 30 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.2518 และแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2532 พ.ศ.2563

 

ถือเป็นกำหนดกิจการเพื่อให้เจ้าพนักงานปฏิบัติได้ง่าย ลดการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ ที่หากตีความตามกฎหมายฉบับเก่าหากต้องใช้ดุลพินิจทำให้แต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดตีความแตกต่างกันไปไม่มีมาตรฐาน

ที่ผ่านมามีการปรับปรุงประกาศ คปก. 2 ครั้ง คือเมื่อ 27 พ.ย.2533 นายชวน หลีกภัย รมว.เกษตรและสหกรณ์ (ในขณะนั้น) ลงนามเรื่องกำหนดกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุน หรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินตามมาตรา 30 วรรคห้า ดังนี้คือ

1.กิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และในวันที่ 9 พ.ค.2543 เมื่อครั้ง นายประภัตร โพธสุธน ดำรงตำแหน่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลงนามในประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุน หรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินตามมาตรา 30 วรรคห้า เพิ่มเติมข้อ 1.5 ของข้อ 1 ไว้ดังนี้

“ข้อ 1.5 กิจการที่เป็นการบริการหรือเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของเกษตรกรในด้านเศรษฐกิจและสังคม ในเขตดำเนินการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งกิจการนั้นต้องอยู่ในพื้นที่ที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนดให้เป็นพื้นที่เพื่อการนี้โดยเฉพาะ”

ประกาศ คปก.ใหม่ที่ ร.อ.ธรรมนัส ลงนามวันที่ 28 ต.ค.2563 จึงกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมในข้อกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อาทิ กิจการทางวิชาการเกษตร การสาธิตการทดลอง เพื่อประโยชน์ทางการเกษตร ศูนย์ผลิต จำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืช ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้อาชีพเกษตรกรรม สถานที่ผลิตปุ๋ยอินทรีย์/เคมี ร้านซ่อมแซมเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นต้น

ส่วนประกาศ คปก.ฉบับวันที่ 30 ต.ค.2563 เพื่อความชัดเจน ในการกำหนดเขตที่ดินชุมชน ตามข้อ 1.5 ของประกาศกระทรวงเกษตรฯ (การกำหนดเขตที่ดินชุมชน) โดยระบุกิจการเป็นแนวทางการปฏิบัติงาน

จากเดิมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (คปจ.) เป็นผู้ใช้ดุลพินิจ ทาง ส.ป.ก.เห็นว่าสังคมพัฒนาและเติบโต เพราะจากปี 2518 มีชุมชนเพียง 4,000-5,000 ชุมชน แต่การเติบโตของชุมชนเมือง ส่งผลให้ปี 2563 มีชุมชนเพิ่มเป็น 10,000 ชุมชน

กิจการในประกาศ คปก.ล่าสุดที่กำหนดที่สามารถตั้ง ในที่ ส.ป.ก.ได้มีดังนี้

  1. กิจการปั๊มน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม แก๊สแอลพีจีและอู่ซ่อมรถ เช่น ปั๊มน้ำมัน ปั๊มน้ำมันชุมชน สถานีน้ำมัน ประเภทปั๊มหลอด ตู้น้ำมันหยอดเหรียญ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงขนาดเล็ก ระบบผลิตไบโอแก๊ส ปั๊มน้ำมันและซ่อมจักรยานยนต์ กิจการอู่ซ่อมรถ (เงื่อนไขต้องเป็นยานพาหนะที่ใช้ในการเกษตร)
  2. กิจการผลิตน้ำและน้ำแข็ง เช่น โรงงานผลิตน้ำดื่ม โรงงานผลิตน้ำดื่มระบบอาร์โอ โรงงานน้ำแข็ง
  3. กิจการตลาดจำหน่ายสินค้า เช่น ตลาดกลางชุมชน ตลาดสด ตลาดนัด
  4. กิจการจำหน่ายรถยนต์และเครื่องกลทางการเกษตร เช่น ร้านจำหน่ายเครื่องกลทางการเกษตร ร้านจำหน่าย รถแทรกเตอร์และอุปกรณ์ เครื่องใช้ที่เกี่ยวข้อง
  5. กิจการร้านค้า เช่น ร้านจำหน่ายของชำ ร้านโชห่วย ร้านค้าปลีก ร้านจำหน่ายไฟฟ้าเครื่องใช้ในครัวเรือน ร้านตัดผม ทำผม ร้านตัดเย็บ จำหน่ายเสื้อผ้า เครื่องนอน
  6. กิจการจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง เช่น ร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ร้านจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์
  7. กิจการไปรษณีย์ เช่น สถานที่รับส่งวัสดุภัณฑ์ และไปรษณียภัณฑ์
  8. กิจการสุขภาพ เช่น คลินิก สถานพยาบาล ทันตกรรม ร้านจำหน่ายยา/เวชภัณฑ์
  9. กิจการคมนาคม เช่น สถานีขนส่ง รถรับจ้าง
  10. กิจการร้านอาหาร เช่น ร้านจำหน่ายข้าวแกง อาหารตามสั่ง ร้านก๋วยเตี๋ยว
  11. กิจการสาธารณะที่เอกชนขอใช้ เช่น โรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก
  12. กิจการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย เช่น ที่อยู่อาศัย ที่พัก หอพัก

ด้าน นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า สังคมมีคำถามถึงประกาศของ ส.ป.ก.กำหนดกิจการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย เช่น ที่อยู่อาศัย ที่พัก หอพักนั้น ขณะนี้บ้านเมืองเจริญ ชุมชนขยาย

เมื่อปี 2536 มีชุมชนอยู่ประมาณ 5,000 แห่ง แต่ขณะนี้มีมากกว่า 10,000 แห่ง จึงต้องเข้าไปดูการเติบโตของชุมชน ว่าการมีบ้าน รีสอร์ต หรือหอพัก มันเข้าเกณฑ์ กิจการต่อเนื่องกับความเป็นอยู่ของเกษตรกรหรือไม่

สมมติว่ามีการทำสวนยางพารา จำเป็นต้องมีบ้านพัก หอพัก เพื่อให้เกษตรกร คนกรีดยางอยู่ ถือว่าหอพักนั้นเป็นกิจการเกี่ยวเนื่องกับเกษตร ส่วนหอพักนักศึกษา ต้องเข้าไปดูว่าหอพักนั้นทำเพื่อให้ลูกหลานเกษตรกรอยู่หรือไม่

“กรอบปฏิบัติยังต้องใช้ดุลพินิจของ คปก.แต่ต้องว่ากันตามกฎหมาย เข้าเกณฑ์ตามวัตถุประสงค์ของการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ก็สามารถทำได้ อาทิ การทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกผักในพื้นที่ ทำเกษตรเพื่อป้อนโฮมสเตย์นั้นๆ สามารถทำได้ เพราะเข้าเกณฑ์ ทำกิจการเกี่ยวเนื่องการเกษตร”

WM
ภาพจาก pixabay

สำหรับที่ผ่านมาการพิจารณาอนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อกิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องฯ ของ ส.ป.ก.จังหวัดต่าง ๆ เกิดความล่าช้า และเกิดการตีความไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อกฎหมายให้ใช้ดุลพินิจ จึงเกิดการตีความกฎหมายและผลการใช้ดุลพินิจของ คปจ.ที่แตกต่างกันไป 72 จังหวัดที่มีที่ส.ป.ก.

ตีความการใช้ประโยชน์บนที่ดิน ส.ป.ก.ออกไปแตกต่างกัน 72 อย่าง เรียกได้ว่า 72 จังหวัด 72 มาตรฐาน

การออกประกาศ คปก.ครั้งนี้จึงเป็นการกำหนดความชัดเจนของกิจการ เพื่อลดการใช้ดุลพินิจซึ่งอาจเป็นที่มาของการคอร์รัปชั่น ในกลุ่มคนที่มีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติการดำเนินกิจการในที่ส.ป.ก.

แต่สิ่งพึงระวังคือจะทำอย่างไรให้การขยายตัวและการพัฒนาชุมชนเมืองสามารถเดินหน้าได้ พร้อมกับคงไว้ซึ่งที่ดิน ส.ป.ก.ที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกร ดังจุดประสงค์เมื่อครั้งก่อตั้ง ส.ป.ก.ปี 2518

ข่าว ความเคลื่อนไหว , ท้องถิ่นทั่วไทย , รัฐบาล , องค์การบริหารส่วนตำบล , อบต. , เทศบาล , เทศบาลเมือง , เทศบาลนคร , ทต. , องค์การบริหารส่วนจังหวัด , อบจ. , ข่าวรอบโลก , ข่าวการเมือง , ข่าวเศรษฐกิจ , ข่าวท่องเที่ยว ความร้อนแรงในประเดนต่าง ๆ ข่าวด่วน กระแสข่าว ข่าวชาวบ้าน ที่ได้รับความสนใจ ได้ที่ doodido

ที่มา : ข่าวสด