กรมเกษตรส่งนักบิน ปฏิบัติการทำฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ปี 2563

WM

ภาพโดย _Marion จาก Pixabay

กรมเกษตร เริ่มแล้ว! ฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ปี 2563 เกษตรฯ ขนทัพอากาศยาน นักบินขึ้นปฏิบัติการ

นายปนิธิ เสมอวงษ์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ เปิดเผยว่า แผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 ตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยออกประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้ง ยังคงมีจำนวน 22 จังหวัด (รวม 128 อำเภอ 676 ตำบล 3 เทศบาล 5,849 หมู่บ้าน)

พื้นที่ภาคเหนือ ที่ จ.เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และศรีสะเกษ

ภาคกลาง ที่ จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และฉะเชิงเทรา ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำเก็บกัก เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 19 แห่ง และอ่างเก็บน้ำ   ขนาดกลาง 142 แห่ง เพิ่มขึ้นจากภาคเหนือ 1 แห่ง และภาคใต้ 1 แห่ง สำหรับจุดความร้อนหรือจุดที่มีการเผาไหม้ (Hotspot) ในประเทศไทย พบว่ามีจำนวน 279 จุด กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ทุกภูมิภาค

รวมถึงได้รับอิทธิพลจากการเผาไหม้บริเวณประเทศเพื่อนบ้านด้วย จึงส่งผลให้ในหลายพื้นที่ของจังหวัดต่าง ๆ และบริเวณกรุงเทพฯ ปริมณฑล มีค่าคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง-เกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน

WM
ภาพโดย Jody Davis จาก Pixabay

ดังนั้น จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมกันลดการเกิดปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ โดยงดการเผาทุกชนิดทั้งในพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ป่า

สำหรับข้อมูลของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เรื่องปริมาณน้ำฝนสะสมรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 15 – 21 กุมภาพันธ์ 2563 พบว่า พื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ไม่มีปริมาณน้ำฝนสะสมและเริ่มประสบปัญหาภัยแล้ง ส่วนพื้นที่ภาคใต้ยังคงมีฝนปริมาณเล็กน้อย ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะติดตามสถานการณ์และวางแผนช่วยเหลือต่อไป

สำหรับการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ จากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ฝนหลวงทั่วประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่มีความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการเกิดเมฆ และความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆอยู่ในระดับ 60% ขึ้นไป

แต่ค่าดัชนียกตัวของอากาศ ไม่เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง (มากกว่า -2.0) ประกอบกับมีค่าความเร็วลมเกิน 36 กม./ชม. ในบางพื้นที่ ดังนั้น ทั้ง 11 หน่วยปฏิบัติการฯ ทั่วประเทศ จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน ร่วมกับวิเคราะห์ผลการรายงานสภาพอากาศจากประชาชนและอาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่เพื่อประกอบการตัดสินใจ

หากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทันทีทั้งนี้ พี่น้องประชาชน เกษตรกร สามารถแจ้งการขอรับบริการฝนหลวงได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทุกภูมิภาคของประเทศ และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทางเว็บไซต์/เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  รับมอบปีกฝนหลวงพิเศษ พระราชทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  รับมอบปีกฝนหลวงพิเศษ พระราชทาน โดย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีรับมอบ และพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้งประจำปี 2563

พร้อมด้วยร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ สนามบินนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์

พร้อมทั้ง ตรวจแถวชุดปฏิบัติการฝนหลวง 8 ชุด และคล้องพวงมาลัยให้กับผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 7 ภูมิภาค เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน ประกอบด้วย ชุดปฏิบัติการของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร 7 ชุด และชุดปฏิบัติการฝนหลวงกองทัพอากาศ 1 ชุด จากนั้นได้ปล่อยขบวนคาราวานเครื่องบินฝนหลวงออกปฏิบัติการ

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563 มีแนวโน้มที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้ส่งผลกระทบเรื่องการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค

น้ำเพื่อทำการเกษตร รวมถึงเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ที่มีปริมาณน้ำน้อยในขณะนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในฐานะหน่วยงานดูแลบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศ เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้รวดเร็วมากขึ้น

จากปกติที่มีการเริ่มปฏิบัติการฝนหลวงในวันที่ 1 มีนาคมของทุกปี มาเป็นวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ในวันนี้ โดยได้น้อมนำศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

เป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกรและผู้ใช้น้ำทั่วทั้งประเทศ รวมถึงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับระบบบริหารจัดการน้ำของประเทศด้วย

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในปี 2563 มีแผนปฏิบัติการประจำปีตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำ 5 ภูมิภาค จำนวน 7 ศูนย์ ประกอบด้วย หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 11 หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศ โดยมีฐานเติมสารฝนหลวง 5 ฐาน เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือให้ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลักในพื้นที่ 77 จังหวัด ตามแผนการดัดแปรสภาพอากาศ ดังนี้

1) ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว ระหว่างวันที่ 6 พฤศจิกายน – 2 กุมภาพันธ์ 2563 ปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่มีการร้องขอ และบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ PM 2.5 ใช้อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 6 ลำ

2) ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในระหว่างวันที่ 3 – 16 กุมภาพันธ์ 2563 ปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่มีการร้องขอ และบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ PM 2.5 ใช้อากาศยานรวมทั้งหมด 12 ลำ ได้แก่ อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 8 ลำ และอากาศยานของกองทัพอากาศ จำนวน 4 ลำ

3) ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป รวมจำนวน 11 หน่วยปฏิบัติการ ที่ จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ กาญจนบุรี ขอนแก่น อุดรธานี บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และสุราษฎร์ธานี ใช้อากาศยานอากาศยานรวมทั้งหมด 29 ลำ ได้แก่ อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 22 ลำ อากาศยานของกองทัพอากาศ จำนวน 6 ลำ และอากาศยานของกองทัพบก จำนวน 1 ลำ โดยเปิดฐานเติมสารฝนหลวง จำนวน 5 ฐาน ที่ จ.ตาก ลพบุรี สกลนคร จันทบุรี และสงขลา (หาดใหญ่)

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ มีแผนการบริหารจัดการน้ำโดยมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด กระทรวงเกษตรฯที่เกี่ยวข้อง คือ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และกรมพัฒนาที่ดิน

เพื่อบริหารจัดการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤติภัยแล้ง ปี2562/63 เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานและบูรณาการให้ความช่วยเหลือประชาชนท่ีได้รับผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้ง ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ จำนวน 4,316 หน่วย สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้เฝ้าระวังและ ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดในทุกพื้นที่” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว

เกษตร และ บทวิเคราะห์ เทคโนโลยีทางการเกษตร ตลาดขายพืชผลทางการเกษตร ผลกระทบทางการเกษตร งบประมาณและนโยบายรัฐเพื่อการเกษตร และการส่งออกพืชผลทางการเกษตร ที่ได้รับความสนใจ ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ , ประชาชาติ