Smart Farmer คุณสมชาย จ.ระนอง ที่ผ่านการรับรอง GAP

WM

ภาพจาก เกษตรก้าวไกล

เจาะแนวคิด “สมชาย บุญเขื่อง” Smart Farmer แห่งละอุ่น กับสวนผลไม้คุณภาพ GAP

Smart Farmer สวน ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ของ “สมชาย บุญเขื่อง” แห่งบ้านบุรีรัมย์ หมู่ที่ 1 ตำบลในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง โทร.09-3727-8074 จึงได้รับการรับรองมาตรฐานตามระบบการจัดการคุณภาพ GAP อีกทั้ง ยังได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตร

โดยสำนักงานเกษตรอำเภอละอุ่น และสำนักงานเกษตรจังหวัดระนอง ให้เป็นแปลงเรียนรู้เพื่อเตรียมความพร้อมแปลงใหญ่ไม้ผล ทั้งในส่วนของทุเรียน และมังคุด เปิดให้เกษตรกรทั้งในพื้นที่และจากใกล้เคียงได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้เพื่อเริ่มต้นกับการพัฒนาอาชีพ

“ตอนนี้พวกเราที่เป็นเกษตรกร ทั้งตำบลในวงเหนือและในวงใต้ของอำเภอละอุ่น กำลังมุ่งมั่นในการยกระดับคุณภาพผลผลิตให้ได้ GAP เพื่อเป็นมาตรฐานการรับรองคุณภาพเพื่อส่งออกทุเรียนไปยังตลาดต่างประเทศ” คุณสมชาย บอกกล่าวถึงเป้าหมายสำคัญ ภายใต้การสนับสนุนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกอย่างสามารถดำเนินการได้อย่างเห็นผลตามเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพ

ที่สำคัญอีกประการ คือ การได้มีขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ทุเรียนและมังคุด กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รอเพียงประกาศออกมาอย่างเป็นทางการเท่านั้น “ทุเรียน และมังคุดของที่นี่อร่อยมาก ต้องมาชิม แล้วถ้ามาชิมครั้งแล้ว ต้องมาอีกแน่นอน” อีกหนึ่งคำเชิญชวนเมื่อถามถึงจุดเด่นของไม้ผลขึ้นชื่อของท้องถิ่นแห่งนี้

เรียกได้ว่า วันนี้ได้กลายเป็นแหล่งผลิตผลไม้ชั้นเยี่ยม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรขึ้นชื่อ ของจังหวัดระนอง จากบุรีรัมย์มาทำสวนบ้านในวง สำหรับลุงสมชายนั้น พื้นเพเดิมนั้น เกิดและโตที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยเมื่อปี 2528 ได้ย้ายถิ่นฐานทำกินจากบ้านเกิดมาอยู่ที่ตำบลในวงแห่งนี้ โดยเริ่มจากการปลูก กาแฟ เป็นหลัก

WM
ภาพจาก เกษตรก้าวไกล

ดังนั้นจึงไม่ต้องถามว่า เคยมีประสบการณ์การทำสวนไม้ผลมาก่อนหรือไม่… ต่อมาในปี 2536 ได้เริ่มปรับเปลี่ยนมาปลูกทุเรียน โดยทุกอย่างลุงสมชายได้มาเริ่มต้นเรียนรู้ นับหนึ่งใหม่ เช่นเดียวกับเพื่อนเกษตรกรคนอื่นๆในพื้นที่แห่งนี้ แต่ด้วยเป็นคนที่มีลักษณะหัวไวใจสู้ เปิดรับทุกเรื่องราวเกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพ เรียกว่า เรียนรู้แล้วเรียนรู้อีก พร้อมทั้งลงมือทำจริง

จึงส่งผลให้มีองค์ความรู้เพิ่มพูน กลายเป็นปราชญ์เกษตรของหมู่บ้าน เป็นผู้รู้ที่คอยแนะนำให้กับเพื่อนๆคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิตทุเรียนนอกฤดูได้ โดยควบคุมปริมาณน้ำกับการออกดอกของทุเรียน หรือการดูแลช่วงระยะเวลาการออกดอกของมังคุด ทำให้สามารถกำหนดระยะเวลาช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดได้ตามความต้องการ

“การที่ทุเรียน 1 ลูกจะเจริญเติบโตมาจนให้สามารถเก็บเกี่ยวได้นั้น ต้องใช้ใบทุเรียนประมาณ 300 ใบในการช่วยปรุงอาหารและส่งมาเลี้ยงที่ลูก” หนึ่งในข้อมูลที่คุณสมชาย ทิศกระโทก บอกกล่าว (วันนี้คุณสมชาย บุญเขื่อง ควงคู่มากับ คุณสมชาย ทิศกระโทก เพื่อนเกษตรกรรุ่นน้องที่มาจากบุรีรัมย์เช่นกัน)

“นอกจากองค์ความรู้ที่เกษตรกรเจ้าของสวนต้องมีแล้ว อีกสิ่งที่มาช่วยคือ สภาพพื้นที่ สภาพอากาศที่ตำบลในวงนี้เหมาะสมมาก”

สำหรับพื้นที่ของในวง ซึ่งปัจจุบันแบ่งออกเป็นตำบลในวงเหนือ และตำบลในวงใต้นั้น ตั้งอยู่จุดกึ่งกลางระหว่างสองคาบสมุทร คือ คาบสมุทรฝั่งอันดามันของจังหวัดระนอง และฝั่งทะเลอ่าวไทยที่เชื่อมต่อกับจังหวัดชุมพร

“ในวงนั้น เป็นชื่อเรียกตามสภาพภูมิประเทศ ซึ่งหมายถึง ในวงเขา ที่นี่พื้นที่ส่วนใหญ่รอบล้อมด้วยภูเขาหินปูนสูงชัน มีที่ราบเล็กน้อย อีกทั้งยังตั้งอยู่ในจุดที่มีฝนตกชุกที่สุดของประเทศ หรือที่รู้จักกันว่า ฝนแปดแดดสี่ จึงทำให้มีความชื้นสัมพันธ์สูง และอุณหภูมิที่ต่ำกว่าเขตอื่นในจังหวัดเดียวกัน

ด้วยลักษณะดังกล่าวจึงทำให้ทุเรียน รวมถึงผลไม้อื่นๆ ไม่ว่า มังคุด ลองกอง เงาะ มีรสชาติที่อร่อย

“อย่างมังคุดผมว่า มีที่คีรีวง กับที่ในวงนี่ละ อร่อยที่สุด และมังคุดที่นี่เราก็จะเน้นเพื่อการส่งออก จึงต้องมีการดูแลเป็นพิเศษไม่แพ้ทุเรียนเหมือนกัน”

“ส่วนทุเรียนนั้น ที่นิยมปลูกเป็นพันธุ์หมอนทอง ซึ่งตอนนี้ได้ขอจด GI ในชื่อทุเรียนในวงระนอง”

สำหรับทุเรียนในวงระนอง นั้นลุงสมชายได้ให้ข้อมูลตามที่ขอจดทะเบียน GI ว่า หมายถึง ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ผลทรงกลมรี น้ำหนักอยู่ระหว่าง 3-7 กิโลกรัม มีร่องพูชัดเจน เปลือกบาง หนามถี่สีเขียว เนื้อหนาเนียนละเอียดมีสีเหลืองทอง เมล็ดลีบ รสชาติหวานหอมมัน กรอบ กลิ่นไม่ฉุน และที่สำคัญต้องปลูกในเขตตำบลวงในเหนือและตำบลในวงใต้เท่านั้น

การดูแลทุเรียนแบบคนในวง

สำหรับในสวนของคุณสมชายนั้น จะมีการจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็น แปลงทุเรียน และแปลงมังคุด โดยมีลองกองและเงาะเป็นพืชแซม

“อย่างทุเรียนในสวนจะมีหลายรุ่น เพราะมีการปลูกเสริมทดแทนต้นที่อายุมาก หรือต้นที่ตายไป มีตั้งแต่อายุ 20 ปี ขึ้น จนถึงต้นอายุ 4 ปี”

สำหรับการปลูกทุเรียนของคุณสมชาย รวมถึงเกษตรกรคนอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียน ในส่วนของต้นพันธุ์ที่นำมาปลูกนั้น จะนิยมใช้วิธีการเสียบยอด โดยมีการนำต้นทุเรียนพื้นบ้านลงปลูกไว้ก่อน โดยระยะปลูกจะอยู่ที่ประมาณ 8 x 8 เมตร เมื่อต้นตอโตได้ขนาดตามต้องการ จะนำยอดพันธุ์หมอนทองที่คัดเลือกไว้มาเสียบ เมื่ออายุได้ประมาณ 2 ปี หรือมีความสูงประมาณ 3 เมตร จะเริ่มทำการตัดแต่งกิ่ง เน้นกิ่งที่ไม่สมบูรณ์เป็นโรคออก ซึ่งจะช่วยทำให้ทุเรียนมีลักษณะลำต้นที่โปร่ง

“ต้องเน้นการดูแลครับทุเรียน ต้องมีการจัดการต่างๆตามระยะ เพื่อให้มีความสมบูรณ์ของต้นมากที่สุด โดยปกติทุเรียนของตำบลเราจะเก็บเกี่ยวประมาณช่วงเดือนกรกฎาคม–สิงหาคมของทุกปี”

“ถ้าในมุมมองจากประสบการณ์แล้ว สิ่งสำคัญมาก คือ การทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุด เรียกว่า หากดินดีแล้วทุกอย่างก็จะดี ซึ่งที่ผ่านมานั้นจะเน้นการปรับปรุงดินมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการใส่ปุ๋ยคอกเป็นหลัก ขณะนี้การใช้สารเคมีนั้นจะใช้ให้น้อยที่สุดหรือไม่ใช้เลย สำหรับการกำจัดวัชพืชในสวน โดยเปลี่ยนมาใช้วิธีการตัดหญ้าบ่อยๆแทน”

การที่จะสังเกตว่า ดินดีหรือไม่ นอกจากการสัมผัสแล้วรู้ว่านุ่มแล้ว ดูที่ไส้เดือนที่มาอาศัย โดยจะพบว่ามีไส้เดือนอยู่มากในสวนแห่งนี้

“ทุกวันนี้เรามุ่งที่ตลาดส่งออกเป็นหลัก จึงเน้นการทำทุเรียนคุณภาพในระดับมาตรฐานส่งอออก ต้องมีการใส่ใจดูแลอย่างดีและเป็นพิเศษครับ” คุณสมชาย กล่าว

อีกจุดที่ทางเกษตรกรเจ้าของสวนแห่งนี้เน้นย้ำ คือ การใช้สารเคมี ต้องใช้ให้น้อยที่สุดหรือไม่ใช่เลย แต่หากต้องใช้ก็ต้องใช้อย่างปลอดภัย

“ผลไม้ทุกอย่างที่มีในสวน สามารถเด็ดมากินได้เลยครับ ผมรับรองปลอดภัยแน่นอน ผมเป็นเจ้าของสวนก็กินผลไม้ของสวนตัวเองครับ ไม่ใช่ไม่กิน ซึ่งสวนของผมนั้นเป็นสวนตัวอย่างในหลายๆด้าน จึงต้องมีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกปี โดยหนึ่งในผลที่ออกมาคือ ปลอดภัยจากสารเคมีครับ” คุณสมชาย กล่าวทิ้งท้าย

ดังนั้น ที่นี่จึงเป็นอีกจุดที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะมาเรียนรู้หรือมาลิ้มลองรสความอร่อยของผลไม้คุณภาพ GAP เกษตรกรผู้นี้ รวมถึงเกษตรกรคนอื่นๆในพื้นที่ต่างๆ ยินดีพร้อมต้อนรับอย่างเต็มที่เลยทีเดียว…และย้ำว่าที่บ้านในวงยังทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนมีโฮมสเตย์ไว้รับรองทุกท่านด้วยครับ

เกษตร และ บทวิเคราะห์ เทคโนโลยีทางการเกษตร ตลาดขายพืชผลทางการเกษตร ผลกระทบทางการเกษตร งบประมาณและนโยบายรัฐเพื่อการเกษตร และการส่งออกพืชผลทางการเกษตร ที่ได้รับความสนใจ ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา  เกษตรก้าวไกล