7 วิธีให้พ่อแม่รับมือกับลูกในช่วงวัยทอง 2 ขวบ ที่เกรี้ยวกราด เอาแต่ใจ

WM

“ภาวะวัยทอง 2 ขวบ” เป็นพฤติกรรมปกติของเด็กช่วงวัยนี้และเป็นพัฒนาการตามวัย

คุณแม่หลายคนเคยสงสัยไหมคะ ว่าทำไมเมื่อลูกอายุ 2 ขวบ จะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป จากที่เคยเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย กลับกลายเป็นเด็กที่เอาแต่ใจ ชอบร้องไห้โวยวาย อารมณ์ขี้นๆ ลงๆ และอีกหลากหลายพฤติกรรมที่สร้างความหนักใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ และจะมีวิธีรับมือกับพฤติกรรมแบบนี้ได้อย่างไร วันนี้เราจะพาคุณพ่อคุณแม่มาหาคำตอบด้วยกันค่ะ

ในช่วงของวัยทอง 2 ขวบ หรือ Terrible Twos ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ปกติมาก ๆ ที่เด็กจะต้องผ่านช่วงพฤติกรรมที่เกเรในช่วงอายุ 18 เดือน ถึง 4 ขวบ และช่วงวัยนี้ก็ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเติบโตอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นในเรื่องทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมค่ะ จึงทำให้ในช่วงเวลานี้ เด็กวัยเตาะแตะส่วนใหญ่จะพัฒนาความรู้สึกของตนเองในการริเริ่มอยากทำอะไรต่าง ๆ ด้วยตัวเอง และเมื่อความปรารถนา ความต้องการของพวกเขาที่จะทำบางสิ่งบางอย่าง มันไม่ได้สอดคล้องกับความสามารถของพวกเขา จึงทำให้เกิดความไม่พอใจ หรือ รู้สึกขัดใจ เนื่องจากทักษะทางภาษาที่จะขอความช่วยเหลือจากคุณพ่อคุณแม่หรือคนรอบข้างเป็นไปอย่างไม่ราบรื่นนัก ก็ไม่แปลกที่พวกเขาจะแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่ดูไม่สุภาพหรือมีอารมณ์ฉุนเฉียวไปบ้าง

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/fujikama-2224449/

1. ต้องแน่ใจว่าลูกพักผ่อนเพียงพอ
ปล่อยให้พวกเขาได้งีบหลับเท่าที่พวกเขาต้องการ คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องพยายามวางแผนโดยเฉพาะตารางการออกนอกสถานที่หรือทำธุระเป็นเวลาอื่นที่ไม่อยู่ในช่วงเวลางีบหลับของลูก เพราะเมื่อลูกนอนหลับน้อยหรือไม่เพียงพอ พวกเขาก็อาจจะรู้สึกหงุดหงิดและงอแงได้ค่ะ

2. ลูกควรกินอาหารตรงเวลา
ทำตารางเวลากับมื้ออาหาร อย่างตัวแม่เอง แม่จะทำตารางเวลาอาหารเช้า เที่ยง และเย็นเป็นกิจวัตรทุกวันตั้งแต่ 1 ขวบ การวางแผนออกนอกสถานที่ นัดพบหมอ หรือต้องออกไปทำธุระต่าง ๆ จึงเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะลูกจะไม่รู้สึกหิว แต่หากจำเป็นต้องเดินทางระยะไกล คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะมีของว่างและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพเพื่อให้ลูกน้อยได้รองท้องในขณะอยู่นอกสถานที่ เพราะความหิวมากเกินไปก็อาจเป็นสาเหตุที่จะทำให้พวกเขาโมโห อารมณ์ฉุนเฉียว และเกรี้ยวกราด เหมือนนิทานกล่องข้าวน้อยฆ่าแม่ยังไงยังงั้นเลยทีเดียวค่า

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/stocksnap-894430/

3. อธิบายกิจกรรมที่จะต้องทำให้ลูกฟังก่อนเสมอ
พูดคุยกับลูกไว้ล่วงหน้าเลยค่ะ ว่าเราจะไปทำอะไร เที่ยวที่ไหน ไปกินร้านอาหารข้างนอกกันอย่างไร เหมือนเป็นข้อตกลงกันระหว่างคุณและลูก เพื่อลดสิ่งกระตุ้นและสาเหตุของพฤติกรรมฉุนเฉียวที่อาจเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น แม่เองจะบอกลูก ๆ เสมอว่าเมื่ออยากจะไปรับประทานอาหารข้างนอก ก็ควรนั่งทานให้เรียบร้อย ไม่ควรเดินไปเดินมา ไม่อย่างนั้นแล้ว ลูกก็อาจจะไม่ได้ไปรับประทานอาหารร้านโปรดของพวกเขาอีก พูดจาด้วยเหตุผลนะคะ ไม่ใช่เป็นการขู่ ให้พวกเขารับรู้ถึงเหตุและผลที่จะตามมา ซึ่งหากลูกอยากรับประทานเมนูโปรดที่ร้านนั้น ลูกจะรู้ว่าต้องนั่งทานให้เรียบร้อยและไม่วิ่งเล่นซุกซนในร้านอาหารค่ะ

4. อย่าแลกเปลี่ยนพฤติกรรมฉุนเฉียวด้วยสิ่งที่ลูกต้องการ
การให้ขนม ลูกอม ของเล่น หรืออะไรก็ตามที่พวกเขาต้องการมัน เพราะนั่นจะทำให้การจัดการกับพฤติกรรมของลูกจะยากขึ้นในครั้งต่อไป การหลีกเลี่ยงอารมณ์ฉุนเฉียวในระยะยาวคือการยืนหยัดและไม่ใจอ่อนกับลูกค่ะ…แม่เตือนแล้วนะคะ อิอิ

5. หากิจกรรมสร้างสรรค์ให้ลูกทำเสมอ
ลูกก็รู้สึกเบื่อได้ค่ะ คุณพ่อคุณแม่สามาระแก้เบื่อลูกได้ด้วยการพยายามหาวิธีการที่สร้างสรรค์และเป็นที่ยอมรับของสังคมแทนที่จะล้อเลียนลูกที่แสดงท่าทีเบื่อหน่าย เช่น หากคุณต้องไปทำธุระหรือติดต่อธุรกรรมอะไรนาน ๆ ลูกอาจจะรู้สึกเบื่อที่พวกเขาต้องรอเป็นเวลานาน ๆ ไม่ได้วิ่งเล่นหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ สักที…เคล็ดลับที่แม่ใช้กับลูก ๆ คือการพกหนังสือเล่มโปรดของพวกเขาไปอ่าน หรือกระดานวาดรูป ก็เป็นวิธีแก้เบื่อให้พวกเขาได้ค่ะ

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/stocksnap-894430/

6. พ่อแม่ควรมีความสม่ำเสมอและใจเย็นไว้
การอยู่บ้านเป็นที่ที่ดีที่สุดที่จะปล่อยให้ลูกของคุณได้ปล่อยอารมณ์ฉุนเฉียวของพวกเขาออกมา แต่หากอยู่ในที่สาธารณะก็ให้นำลูกออกจากสถานการณ์นั้นโดยเร็วที่สุด หากลูกของคุณระเบิดอารมณ์ออกมาเมื่อไหร่ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำคือ หายใจเข้าลึก ๆ นับ 1-100 ก็ว่ากันไป แล้วตอบสนองต่อพฤติกรรมของพวกเขาอย่างสงบ ประณีประนอมบ้าง แต่อย่ายอมตามความต้องการของพวกเขานะคะ

7. อธิบายพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของลูก
เมื่อลูกของคุณประพฤติตัวไม่เหมาะสม อธิบายให้ลูกรู้ค่ะว่าเหตุใดพฤติกรรมเหล่านั้นจึงไม่เป็นที่น่าพอใจ แทนที่จะให้คำอธิบายที่ยืดยาวซึ่งลูกของคุณอาจไม่สามารถเข้าใจได้ ให้คุณพ่อคุณแม่ลองพยายามบ่ายเบี่ยงความสนใจไม่ว่าจะเป็นทางคำพูดหรือท่าทาง เพื่อช่วยให้พวกเขาได้จดจ่อกับสิ่งอื่นแทน เช่น อาจจะชี้ให้ดูนกดูไม้ ชวนลูกร้องเล่นเต้นรำกับเพลงที่พวกเขาโปรดปราน หรือ แม้แต่การทำเสียงสัตว์ หมู หมา เป็ด ช้าง ก็ช่วยให้พวกเขาไม่แสดงพฤติกรรมฉุนเฉียวออกมาให้เห็น ถือเป็นการสกัดดาวรุ่ง ก่อนพุ่งแรง ได้ดีทีเดียวค่ะ

พฤติกรรมต่างๆ ที่ลูกน้อยวัยทอง 2 ขวบแสดงออกมานั้น DooDiDo เป็นพฤติกรรมที่ปกติตามวัยของเขานั่นเองค่ะ คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจกับพัฒนาการตามช่วงอายุของเขา ค่อยๆ อธิบายหากลูกแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าว และเตรียมตัวเตรียมใจในการรับมือกับช่วงวัยทอง 2 ขวบของลูกให้ดีนะคะ

ขอบคุณแหล่งที่มา : https://bestreview.asia