7 ภาษากายของเบบี๋น้อย ที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ควรรู้

ทารกจะแสดงภาษากายเพื่อสื่อสารกับพ่อแม่ ในสิ่งที่ต้องการ

เมื่อทารกน้อยแสดงอาการท่าทางต่าง ๆ พ่อแม่มือใหม่หลายคนคงสงสัยกันใช่ไหมคะ ว่าเบบี๋ตัวน้อยกำลังจะสื่ออะไรกับเรา เนื่องจากทารกตัวน้อยยังไม่สามารถสื่อสารความต้องการเป็นคำพูดได้ จึงทำให้คุณพ่อคุณแม่ไม่อาจรับรู้ได้ว่าลูกต้องการอะไร ซึ่งเด็กทารกมักสื่อสารด้วยภาษากายถึง 90% เลยค่ะ ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่อยากเข้าใจความต้องการของลูกน้อยก็ต้องเรียนรู้ภาษาท่าทางของลูก เพื่อที่จะได้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกได้อย่างถูกต้อง จะส่งผลทำให้ลูกมีพัฒนาการและสุขภาพใจที่ดีอีกด้วย

เนื่องจากเด็กทารก…. จะยังไม่สามารถพูดหรือสื่อสารให้คนรอบข้างเข้าใจได้ทำให้เหล่าคุณพ่อคุณแม่มือใหม่อาจเกิดความเครียดในการรับมือกับลูกน้อย เพราะไม่รู้ว่าที่ลูกร้องนั้นต้องการอะไร แต่รู้หรือไม่ว่า…ทุกการกระทำของลูกน้อยสามารถสื่อความต้องการได้ โดยสามารถสังเกตได้จาก สีหน้า เสียง และท่าทางหรือที่เรียกว่า “ภาษากาย (Body Language)” นั่นเอง ถ้าคุณพ่อคุณแม่สามารถอ่านออกว่าลูกน้อย ต้องการบอกอะไรและตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว ข้อดีก็คือ เจ้าตัวเล็กจะรู้สึกปลอดภัย และเกิดความผูกพันกับพ่อแม่มากขึ้น ดังนั้น เราจึงมี 7 วิธีสังเกตภาษากายของลูกน้อยที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ควรรู้ มาติดตามกันเลยค่ะ

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/pexels-2286921/

1.ท่าทางเตะขา หรือถีบขา แล้วยิ้มไปด้วย
สิ่งที่ลูกน้อยกำลังพยายามสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ คือ เขากำลังมีความสุขและอยากเล่นเต็มที่ สังเกตได้จากการที่ลูกน้อยสบตาและเตะเท้าไปด้วย ดังนั้นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ ควรทำคือ การตอบสนองความรู้สึกของลูกด้วยการร้องเพลง หรือ พูดคุย เพื่อแสดงให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ก็กำลังมีความสุขมากเช่นกัน แต่หากลูกเตะขาและส่งเสียงร้องไห้ล่ะก็ อาจหมายถึงเขากำลังรู้สึกไม่สบายตัว และต้องการความช่วยเหลือจากคุณพ่อคุณแม่ เช่น อาจกำลังท้องอืด หรือผ้าอ้อมเปียกแฉะ คัน เป็นต้น

2.ท่าแอ่นหลัง
ถ้าลูกน้อยกำลังแอ่นหลัง พร้อมกับทำสีหน้าบึ้งตึงเหมือนจะร้องไห้ แสดงว่าลูกน้อยกำลังรู้สึกไม่สบายตัว อึดอัด แต่ถ้าแอ่นหลังในระหว่างกินข้าวและบ้วนอาหารออกมา เดาได้ว่าลูกอาจจะอิ่มแล้ว ควรหยุดป้อนอาหาร เพราะถ้ายังหลอกล่อให้ลูกกินต่อ อาจจะทำให้เกิด “ภาวะกรดไหลย้อนในเด็ก” ได้ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ คือ อุ้มลูกขึ้นมาและหาสาเหตุที่ทำให้ลูกไม่สบายตัว เช่น สำรวจผ้าอ้อม ดูว่าลูกหิวหรือปวดท้องกันแน่ จะได้สามารถแก้ปัญหาได้ถูกจุด แต่หากลูกอายุประมาณ 4-5 เดือน การแอ่นตัวอาจหมายถึงเขากำลังจะพยายามพลิกตัว ซึ่งเป็นไปตามพัฒนาการตามวัยของเขา

3.ท่าขยี้หน้า ขยี้ตา
หากลูกน้อยกำลังทำท่านี้พร้อมเริ่มเบะปาก แสดงว่าลูกกำลังง่วงนอน ดังนั้น ควรหามุมสงบเพื่อกล่อมลูกให้นอน พร้อมให้ลูกทานนม เพียงเท่านี้ลูกน้อยก็หลับสนิทแน่นอน

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/pexels-2286921/

4.ท่ากำมือ
การกำมือเป็นท่าทางปกติของทารกเวลานอนหลับ เนื่องจากพัฒนาการทางระบบประสาทยังไม่มากพอ ที่จะขยับนิ้วมือ หรือ ขยับนิ้วได้เพียงเล็กน้อย แต่ถ้าเกิดในกรณีที่ลูกน้อยกำมือแน่นกว่าปกติ หมายความว่าลูกของคุณอาจจะมีอาการเครียดหรือหิวได้ ซึ่งถ้าหิวจัดจะมีอาการเกร็งตัวร่วมด้วย ดังนั้นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือ ทำให้ลูกน้อยเกิดความผ่อนคลาย โดยอาจจะอุ้มหรือขยับท่านอนให้อยู่ในท่าทางที่สบายขึ้นแล้วจึงเขาทานนมเป็นลำดับต่อไป

5.ท่าเบือนหน้าหนี
การเบือนหน้าหนีนั้นแปลได้หลายความหมาย แต่ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ การปฏิเสธสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เช่น ไม่ยอมให้คนแปลกหน้าอุ้ม หรือไม่อยากกินยาเวลาป่วย นอกจากนี้ อาจเป็นการบอกคุณพ่อคุณแม่ให้หันไปดูสิ่งที่ตัวเองมองอยู่ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น และถ้าเบือนหน้าหนีในระหว่างที่กำลังป้อนอาหาร มักเป็นการบอกว่าเขายังเคี้ยวหรือกลืนคำนี้ไม่เสร็จดี และยังไม่พร้อมกินคำใหม่

6.ท่าขยับปาก
เด็กทารกมักจะขยับปากเลียนแบบท่าทาง “การดูดนม” เพื่อส่งสัญญาณว่า “หนูหิวแล้ว” ท่าทางนี้จะแสดงออกตั้งแต่ลูกน้อยอายุได้
3 สัปดาห์ขึ้นไป ดังนั้นเมื่อเห็นลูกน้อยแสดงท่าทางนี้ คุณแม่ควรพาลูกน้อยเข้าเต้าทันที เพราะถ้าปล่อยให้ลูกหิวจนตัวเกร็ง จะส่งผลต่อพัฒนาการและอารมณ์ของลูกน้อยได้

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/2147792-2147792/

7.ท่าเหยียดแขน
แสดงว่า ลูกน้อยกำลังอารมณ์ดี หากอยู่ในช่วงกำลังฝึกลุกขึ้นนั่ง เด็กจะยืดแขนออกมาเพื่อทรงตัว ในกรณีนี้เหล่าคุณพ่อแม่ควรให้ความช่วยเหลือ โดยการช่วยประคองหรือเฝ้าระวังอยู่ห่างๆ แต่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปช่วยทุกครั้ง ควรปล่อยให้ลูกเรียนรู้ที่จะเคลื่อนไหวและจัดระเบียบร่างกายด้วยตัวเอง

สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ลองนำวิธีที่ DooDiDo นำมาฝาก ไปลองสังเกตภาษากายของลูกกันดูนะคะ น่าจะเป็นตัวช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจเบบี๋ตัวน้อยได้มากขึ้น และสามารถตอบสนองลูกได้อย่างถูกทางมากขึ้นค่ะ เพราะการอ่านภาษากายของลูกน้อยวัยทารกเป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ควรทำความเข้าใจ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับพัฒนาการของลูกน้อยให้เหมาะสมนั่นเองค่ะ

ขอบคุณแหล่งที่มา : https://bambinivilla.com