โรค Smartphone Syndrome ภัยเงียบของคนเล่นโทรศัพท์นานๆ!!

WM

คนที่ใช้มือถือตลอด อาการปวดนิ้ว มือชา นิ้วล็อก ไม่ต้องรอให้แก่ก็เป็นได้

เราต้องยอมรับว่าในปัจจุบันนี้ เรื่องของเทคโนโลยีมีความจำเป็น และมีบทบาทเป็นอย่างมากกับการดำเนินชีวิตประจำวัน เทคโนโลยีสมัยนี้มีความทันสมัย และช่วยในเราติดต่อสื่อสารกันได้รวดเร็ว จนกลายเป็นยุค 4.0 นับได้ว่าเทคโนโลยีเป็นส่วนนึงของการดำเนินชีวิตในยุคนี้เลยก็ว่าได้ สมาร์ทโฟนกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับคนยุคนี้ ยิ่งช่วงไหนมีข่าวฮอตประเด็นร้อนเกิดขึ้นในสังคม หลายคนหยุดไถหน้าจอโทรศัพท์ไม่ได้เลย แต่รู้ไหมว่าการเล่นโทรศัพท์มากๆ ทำให้เกิดโรคได้ 

วันนี้เราจะพามารู้จักกับ Smartphone Syndrome ว่าแต่โรคนี้คืออะไรเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของเราอย่างไร และมีผลต่อสุขภาพของเราอย่างไร ถ้าหากยังไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน THE STANDARD จะพาไปรู้จักโรคนี้ให้มากขึ้นจาก แพทย์หญิงเพ็ญลดา ครุธโกษา (ซีอีโอธุรกิจความงาม Aime Clinic) และหมอโจ้-พชร ชารัมย์ หมอฝังเข็มแก้อาการ Smartphone Syndrome

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/milius007-5730651/

Smartphone Syndrome คืออะไร

แพทย์หญิงเพ็ญลดาบอกว่า Work & Smartphone Syndrome หรืออีกชื่อคือโรคกล้ามเนื้อคอหดเกร็ง แต่ก่อนเราอาจจะเคยได้ยินโรค Office Syndrome มาก่อน ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่เกิดกับคนทำงานออฟฟิศ คนที่นั่งหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ จนส่งผลให้บริเวณคอ บ่า ไหล่มีอาการปวด บางคนลามลงมาถึงช่วงบริเวณข้อมือและแขน

แต่ในสมัยนี้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป เดี๋ยวนี้คนติดมือถือมากขึ้น ก้มหน้ากดมือถืออยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดปัญหาปวดที่บริเวณคอกับข้อมือหรือปวดนิ้วเริ่มมีมากขึ้น ซึ่งคำว่า Smartphone Syndrome ที่ต่างประเทศเขามีคำนี้มาสักพักแล้ว และมันก็ตรงกับอาการที่คนสมัยนี้เป็นกันเยอะโดยไม่รู้ตัว

อาการของคนที่เป็นโรค Smartphone Syndrome

หมอโจ้-พชร ชารัมย์ แพทย์แผนจีน วัย 28 ปี จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยแพทย์แผนจีนแห่งนครกวางโจว ประเทศจีน กล่าวถึงอาการของ Smartphone Syndrome ดังนี้ อาการหลักๆ ของโรค Smartphone Syndrome คือการปวดเกร็งที่เกิดกับเอ็นข้อมือ จริงๆ อาการนี้มันก็เกิดมานานแล้ว แต่ก่อนอาจจะมีคนเป็นไม่เยอะ แต่ปัจจุบันคนยุคนี้ติดเล่นมือถือตลอดเวลา พอเราขยับมือบ่อยๆ เป็นเวลานานมันจะเกิดการเสียดสีของเส้นเอ็น นานๆ เข้าก็เกิดการอักเสบ ส่งผลให้รู้สึกปวดบริเวณข้อมือมากขึ้น กลุ่มอาการที่เคยเป็นมาก่อนเกี่ยวกับเส้นเอ็นอักเสบ แต่ก่อนเราอาจพบในกลุ่มของนักกีฬาที่ใช้ข้อมือค่อนข้างเยอะ เช่น ปิงปอง แบดมินตัน เทนนิส ที่เกิดการอักเสบของข้อมือได้ ในกลุ่มพนักงานธนาคารหรือคนที่เป็นแอดมินเพจต่างๆ ที่ต้องใช้ข้อมือในการพิมพ์อย่างต่อเนื่องก็มักเกิดอาการปวดเส้นเอ็นบริเวณข้อมือได้เหมือนกัน

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/andreas160578-2383079/

จะรู้ได้อย่างไรว่ากำลังเป็นโรค Smartphone Syndrome หรือไม่

หลายคนพอเล่นมือถือนานๆ แล้วเกิดอาการปวดแปลบๆ ก็มักจะไม่ได้คิดอะไร ส่วนใหญ่จะไม่สังเกตว่าตัวเองเสี่ยงจะเป็นโรคเกี่ยวกับเส้นเอ็นหรือเปล่า เพราะคิดว่าเมื่อยมือเมื่อไร แค่บีบๆ หรือสลัดมือสักพักก็ผ่อนคลายได้ แต่ถ้าทิ้งไว้เป็นเวลานานแล้วพบว่าอาการปวดทวีความรุนแรงมากขึ้น มีอาการบวมเกิดขึ้น ก็ถือว่าเสี่ยงจะเป็นโรค Smartphone Syndrome อาการเหล่านี้ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานโดยไม่รักษาจะไม่เป็นผลดีต่อเส้นเอ็นและข้อมือ วิธีสังเกตเบื้องต้นอย่างง่ายๆ คือลองใช้นิ้วมือทั้งสี่กำหัวนิ้วโป้งไว้ เหยียดแขน และกดกำมือลง ถ้ารู้สึกเกร็งๆ แสดงว่ามีอาการของโรค Smartphone Syndrome แล้วล่ะ แต่ถ้ากดมือลงแล้วปวดเลยก็ควรรักษา  

ขั้นตอนการรักษาโรค Smartphone Syndrome

อันดับแรกต้องมาปรึกษากับแพทย์ก่อน หมอจะถามถึงอาการ ระยะเวลาที่เริ่มแสดงอาการ รวมถึงสอบถามเรื่องไลฟ์สไตล์ ชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร ทำงานอะไร เพื่อจะหาสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้น ช่วยให้เราประเมินอาการของโรคได้ ขั้นตอนต่อมาคือการคลำ การคลำจุดที่ปวดจะทำให้รู้ที่มาของอาการปวดว่าเกิดจากกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็น มันจะต่างกันจากลักษณะกายภาพซึ่งทำให้เรารู้ว่าตรงไหนคือกล้ามเนื้อ ตรงไหนคือเส้นเอ็น และการปวดแบบโรคนี้ส่วนมากก็จะเกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นบริเวณข้อต่างๆ จากนั้นค่อยนำไปสู่การรักษาด้วยการฝังเข็ม

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/firmbee-663163/

ตอนนี้ก็ได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่อง Smartphone Syndrome ไปพอสมควรทีเดียว “ถ้าเราปฏิบัติตัวดี โรคนี้ก็จะไม่เกิดขึ้นเลย อยากแนะนำว่าในทุกๆ 1 ชั่วโมงควรเซตเวลาพักสัก 10-15 นาทีโดยที่ไม่ต้องแตะคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเลย ควรทำการพักสายตา พักคอ พักข้อมือ และทำการสลัดข้อมือเบาๆ ยืดกล้ามเนื้อไปด้วย อย่าทำงานเพลิน อย่าติดมือถือจนเกินไป สุขภาพดีเริ่มต้นที่การปฏิบัติตัวดี”

ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานๆ นั้นมีโอกาสสูงมากที่เราจะมีการใช้งานที่ผิดท่า ผิดมุมไปจากภาวะปกติ จนทำให้เส้นเอ็นและข้อต่อต้องรับแรงซ้ำๆ เป็นเวลานานจนเกิดการบาดเจ็บเล็กๆ สะสมไปเรื่อยๆ ที่ทำให้เราเผลอเล่นมือถืออยู่ในท่าเดิมนานๆ โดยไม่รู้ตัว จนอาจส่งผลให้เกิดการปวด อักเสบ หรือการผิดรูปของข้อมือและนิ้วมือก่อนวัยอันควรได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นคนที่ไม่ค่อยแข็งแรง หรือไม่เคยออกกำลังกายก็จะมีโอกาสเป็นได้ง่ายกว่า เพราะโครงสร้างต่างๆ ของข้อและเส้นเอ็นไม่สามารถรับแรงที่ผิดปกติซ้ำๆ ได้ไหว โดยเฉพาะในเด็กที่อายุน้อย ซึ่งข้อต่อกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ก็จะทำให้มีอาการได้ง่ายกว่าวัยผู้ใหญ่

ยังไงแล้วล่ะก็ DooDiDo ขอแนะนำให้เพื่อนๆ อย่าลืมกลับไปสำรวจตัวเองดูพฤติกรรมการใช้มือถือของเราเป็นอย่างไร อย่ามัวแต่แชตเพลินจนลืมขยับหรือยืดเหยียด ให้พยายามเปลี่ยนท่าทางของมือและนิ้วมือบ่อยๆ วันละหลายๆ ครั้งได้ยิ่งดี เพียงเท่านี้ก็จะห่างไกลอาการปวดข้อมือ ปวดนิ้ว นิ้วล็อก และใช้ชีวิตได้อย่างแฮปปี้แล้วค่ะ

ขอบคุณแหล่งที่มา: https://thestandard.co/smartphone-syndrome