ทำความเข้าใจ โรคซึมเศร้าในวัยรุ่น เป็นอย่างไร

โรคซึมเศร้าในวัยรุ่น เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม


ปีที่ผ่านมา หลายคนคงได้ข่าวจาก กรมสุขภาพจิต ว่าวัยรุ่นไทยมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าร้อยละ 44 หรือ ประมาณ 3 ล้านกว่าคน และคาดว่ามีวัยรุ่นที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าแล้วกว่า 1 ล้านคน และองค์การอนามัยโลกยังระบุว่า 1 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลก 1 ใน 20 คน ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้วัยรุ่นทั่วโลกฆ่าตัวตาย หรือไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

อาการเศร้าเป็นอารมณ์ทั่วไปที่เกิดขึ้นได้สำหรับมนุษย์ แต่กระบวนการฟื้นฟูจากอาการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน หลายคนเมื่อเศร้าแล้วกลับมาสู่สภาพเดิมได้ แต่หลายคนมีอาการซึมเศร้าหนักขึ้น และกลายเป็นโรคซึมเศร้าตามมาในท้ายสุด ทั้งนี้ มีงานวิจัยที่ชี้ว่าอาการซึมเศร้าจะถูกกระตุ้นจากอาการเสียศูนย์จากปัจจัยต่างๆ เช่น การถูกประเมิน คะแนนสอบ เมื่อผิดหวังไม่ได้สิ่งที่ต้องการก็จะเสียศูนย์ หรือแม้แต่ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ความรัก ความสัมพันธ์ และความรู้สึกผิด ก็ล้วนมีผลเช่นกัน

“แม้แต่คนที่เกิดอาการเสียศูนย์อย่างฉับพลันก็ไม่เหมือนกัน แต่ละคนมีวิธีรับมือต่างกัน ขึ้นอยู่กับสิ่งที่อยู่ภายในตัวว่าจะทำให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นร้ายแรงแค่ไหน เนื่องจากคนแต่คนมีประสบการณ์ชีวิตต่างกัน มีรูปแบบความคิดต่างกัน มองโลกไม่เหมือนกันและเป็นเหตุให้การแสดงออกของแต่ละบุคคลต่างกันไปด้วย บุคคลที่มีอาการซึมเศร้าอาจมีพฤติกรรมบางประการที่ต้องการความช่วยเหลือและการสนับสนุน ดังนั้นปัจจัยแวดล้อม เช่น ครู เพื่อน ครอบครัว จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นที่พึ่งพิง”

โรคซึมเศร้า
ภาพโดย StockSnap จาก Pixabay

งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าในนักศึกษาพบว่า นักศึกษาที่เรียนชั้นปีสูง ยิ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า และมีมากกว่าร้อยละ 6.4 ที่ฆ่าตัวตาย งานวิจัยชี้อีกว่า ชีวิตของนักศึกษากว่า 50 เปอร์เซ็นต์เกี่ยวข้องกับการเรียนหนังสือ ดังนั้นครูอาจารย์จึงมีบทบาทสูงมากในความชอบหรือไม่ชอบในการเรียน ขณะเดียวกัน คนที่นักศึกษาขอรับความช่วยเหลือเป็นคนแรกคือเพื่อน ส่วนสาเหตุของการฆ่าตัวตายมาจากปัญหาการทะเลาะกับคนใกล้ชิด รวมถึงปัญหาจากการเรียนหนังสือ

“สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้ามีความซับซ้อนเพราะมีปัจจัยหลายอย่างเกี่ยวข้องกัน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางสังคม ทางจิตใจ และทางร่างกาย” ความเครียด ความเครียดเล็กน้อยอาจส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่ความเครียดที่รุนแรงและเรื้อรังจะส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจ และอาจเป็นตัวกระตุ้นให้วัยรุ่นที่มีพันธุกรรมเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าหรือเป็นคนอารมณ์อ่อนไหวกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ นี่หมายความว่า สาเหตุจริง ๆ ของโรคซึมเศร้ายังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดและอาจเกิดจากหลายสาเหตุตามที่กล่าวมาก่อนหน้านี้

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเครียดอาจรวมถึงการที่พ่อแม่หย่าร้างหรือแยกกันอยู่ การตายของคนที่เรารัก การถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกล่วง ละเมิดทางเพศ ความเจ็บป่วย อุบัติเหตุร้ายแรง หรือความบกพร่องทางการเรียนรู้ซึ่งทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นที่ยอมรับ นอกจากนั้น การที่วัยรุ่นไม่สามารถเรียนได้ดีตามเป้าหมายที่สูงเกินจริงของพ่อแม่ก็ทำให้เกิดความเครียดได้ และสาเหตุอื่น ๆ อาจเป็นเพราะถูกเพื่อนแกล้ง รู้สึกไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคต ครอบครัวไม่อบอุ่นเพราะมีพ่อหรือแม่เป็นโรคซึมเศร้า หรือมีพ่อแม่ที่อารมณ์แปรปรวนเอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่ถ้าวัยรุ่นเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว มีวิธีอะไรบ้างที่จะช่วยได้?

โรคซึมเศร้า
ภาพโดย Ulrike Mai จาก Pixabay

ผู้ที่มีอาการซึมเศร้า WM จะมองโลกให้แง่ลบ มองในแง่สิ่งเลวร้าย และสามารถนำไปสู่ความคิดที่จะฆ่าตัวตาย การรักษาจำเป็นต้องอาศัยการปรับวิธีคิด และการสร้างเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ให้กับผู้ป่วยผ่านวิธีต่างๆ พร้อมทั้ง การสร้างแนวทางให้กลับไปใช้ชีวิตได้ดังเดิม อาการของโรคซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงวัยรุ่น ซึ่งอาจสังเกตได้จากพฤติกรรมการนอน การกิน และน้ำหนักตัวที่เปลี่ยนไป และอาจมีความรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง โศกเศร้า และรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า

สัญญาณอื่นๆ ที่พบด้วยคือ การแยกตัวจากสังคม มีปัญหาเกี่ยวกับความจำและสมาธิ เคยคิดหรือเคยพยายามฆ่าตัวตาย และมีอาการทางกายที่ไม่ทราบสาเหตุ ถ้าผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตสงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า พวกเขาจะมองหาอาการเหล่านี้ที่เป็นมานานหลายสัปดาห์ซึ่งทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

“การป้องกันการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นมี 4 แนวทาง 1.การสร้างทักษะชีวิต วัยรุ่นต้องมองโลกตามความเป็นจริง จัดการอารมณ์และสังคมได้อย่างเหมาะสม 2.ไม่ผลิตข่าวซ้ำ 3.จำกัดวิธี เช่น เอาคนไปเฝ้าสถานที่สุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย และ 4.มีระบบเฝ้าระวัง เป็นโจทย์ของโรงเรียนและสถานศึกษาในการหาวิธี”

ถ้าคุณป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ขอให้คุณดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตด้วยวิธีที่เหมาะสม เช่น กินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับให้เพียงพอ และออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะการออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเคมีที่ทำให้อารมณ์ดีขึ้น ทำให้กระปรี้กระเปร่า และนอนหลับสบายขึ้น ถ้าเป็นไปได้ให้พยายามสังเกตว่าอะไรกระตุ้นคุณให้มีอาการซึมเศร้า มีสัญญาณเตือนอะไรที่ทำให้รู้ว่าคุณกำลังจะเริ่มซึมเศร้า และเตรียมแผนการที่เหมาะสมในการรับมือ ระบายความรู้สึกกับคนที่คุณไว้ใจ สมาชิกครอบครัวและเพื่อนสนิทที่คอยให้กำลังใจจะทำให้คุณรับมือกับโรคซึมเศร้าได้ดีขึ้น

หรืออย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาอาการของคุณได้ การจดบันทึกความคิดและความรู้สึกของคุณเป็นอีกวิธีที่ช่วยได้ โรคซึมเศร้าเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย พบได้บ่อยในวัยรุ่นมากกว่าที่หลายคนคิด หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะสามารถป้องกันการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นได้ หากมีอาการของโรค จึงควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์ เพราะเป็นโรคที่รักษาได้

โรคซึมเศร้าอันตรายและใกล้ตัวมากกว่าที่คุณคิด เพราะฉะนั้น DooDiDo ขอแนะนำให้ดูแลและให้ความสำคัญกับตัวคุณเอง ครอบครัว และคนใกล้ชิดให้มากๆ หากิจกรรมทำร่วมกัน ปาร์ตี้สังสรรค์กันบ้าง เปิดใจคุยกัน คอยให้กำลังใจกันและกัน ไปเที่ยวด้วยกัน ก่อนที่โรคซึมเศร้านี้จะแทรกตัวเข้าไปอยู่ในคนใกล้ชิดของคุณและพรากชีวิตเค้าไปจากคุณ

แหล่งที่มา : www.chula.ac.th, www.lovecarestation.com, www.jw.org