เรามาดู 6 วิธีปฏิบัติกับเด็กที่มีอาการสมาธิสั้น และนั่งไม่นิ่งกัน

WM

6 เทคนิค รับมือเมื่อเด็กๆ นั่งไม่นิ่ง 

สำหรับโรคเด็กซน หรือโรคสมาธิสั้นนั้น ถือว่าเป็นภาวะที่เด็กมีปัญหาเรื่องความซน อยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น และสมาธิสั้น เป็นต้น จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และประสิทธิภาพในการเรียนรู้ เช่น มีผลเสียต่อการเรียน เกิดปัญหาพฤติกรรม และการอยู่ร่วมกับคนอื่น หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาจะส่งผลเสียต่อเด็กอย่างมากทั้งในเรื่องการประสบความสำเร็จในด้านการเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์ ในอนาคตรับมืออย่างไร เมื่อเด็ก ๆ นั่งไม่นิ่ง

จากการสำรวจทั่วสหรัฐอเมริกา พบว่า มีคุณพ่อคุณแม่ และคุณครูส่วนใหญ่ที่เกิดความสงสัยว่า ทำไมในปัจจุบัน เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ จึงค่อนข้างยุกยิก และอยู่ไม่นิ่งมากกว่าเมื่อก่อน จากการศึกษาของสถาบันกรมควบคุมโรค (Center for Disease Control) พบว่า จากเด็กจำนวน 6.4 ล้านคน มีเด็กจำนวน 11% ที่ได้รับการตรวจ และวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกี่ยวกับสมาธิสั้น (ADHD) และเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการสมาธิสั้นเหล่านี้ มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 43% ในปี 2003-2011

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/5712495-5712495/

ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน อาการสมาธิสั้น ADHD ได้กล่าวถึงอาการเหล่านี้ว่า มีหลากหลายปัจจัยที่ส่งผลให้เด็กแสดงอาการขาดสมาธิ อยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น ซึ่งเป็น 3 อาการที่พบได้ในเด็กที่ขาดสมาธิ ADHD

ตามข้อมูลของนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ Dr. David Elkind ผู้เขียนหนังสือเล่มที่ขายดี เรื่อง “The Hurried Child” ได้กล่าวว่า เด็ก ๆ ที่เคยถูกเรียกว่าเป็นเด็กยุกยิกเมื่อก่อนนั้น ตอนนี้พวกเขาได้ถูกเปลี่ยนมาเรียกว่าเป็น “เด็กสมาธิสั้นหรือเด็กไฮเปอร์” แล้ว

แต่เด็กที่มีอาการยุกยิกก็ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะเป็นเด็กสมาธิสั้นเสมอไป ซึ่งคุณพ่อคุณแม่เองก็ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหากสงสัยว่าลูกอาจมีอาการสมาธิสั้นและขอรับการวินิจฉัยต่อไป ก่อนอื่นเลย เรามาดู 6 วิธีปฏิบัติกับเด็กที่มี อาการสมาธิสั้น และ นั่งไม่นิ่ง กันดีกว่า…

1. ส่งเสริมกิจกรรมการเคลื่อนไหว
มีงานวิจัยจำนวนมากที่รองรับว่าการออกกำลังกาย และการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างถูกวิธีจะช่วยลดอาการขาดสมาธิสั้นได้
คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องคอยดูแลและตรวจสอบว่าลูก ๆ นั้นได้ปลดปล่อยพลังจากการออกกำลังกายได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งสามารถเริ่มต้นได้ง่าย ๆ จากการวิ่งเล่นในสนาม การเดิน การเล่นกีฬา ดูว่าการทำงานของ แขน ขา ตา และมือ ทำงานประสานกันเป็นอย่างไรบ้าง คล่องแคล่ว คล่องตัวหรือไม่

2. เลือกโภชนาการ และปริมาณการบริโภคที่เหมาะสม
หากคุณพ่อคุณแม่ต้องส่งลูกไปโรงเรียนตอนเช้า จะต้องแน่ใจว่า เด็ก ๆ ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนสำหรับอาหารมื้อเช้า ที่ประกอบไปด้วย คาร์โบไฮเดรต และโปรตีน (เช่น ไข่ ขนมปัง ถั่ว ข้าวโอ๊ต และโยเกิร์ต)

ซึ่งการรับประทานมื้อเช้าที่เพียงพอจะช่วยให้เด็ก ๆ จดจ่อ และมีสมาธิในห้องเรียนได้มากขึ้น ที่สำคัญอาหารมื้อเช้าจะต้องไม่ใช่อาหารขยะประเภท Junk food ซึ่งจากงานวิจัยมีการศึกษาว่า junk food สามารถส่งผลต่ออาการขาดสมาธิได้ด้วย

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/5712495-5712495/

3. ฝึกทักษะให้เด็ก ๆ รู้สึกผ่อนคลาย
เมื่อใดก็ตามที่เด็ก ๆ รู้สึกมีอาการยุกยิก นั่งไม่นิ่งอยู่บ่อยครั้งที่โรงเรียน ผู้ปกครองสามารถช่วยเหลือด้วยการสอนเทคนิคให้เด็ก ๆ รู้จักเรียนรู้ร่างกาย และการผ่อนคลายตนเอง เช่น บอกลูกว่าเมื่อใดก็ตามที่หนูรู้สึกว่าอยากที่จะขยับตัว หรือเคลื่อนไหวร่างกายมาก ๆ ละก็ ลองสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ และค้างไว้สัก 5 วินาที จากนั้นปล่อยลมหายใจออกมา และทำซ้ำเช่นนี้ประมาณ 2-3 ครั้งต่อกัน

หรือจะลองฝึกโดยการทำขา หรือแขนของหนูให้นิ่งเหมือนมนุษย์หุ่นยนต์ และค่อย ๆ ปลดปล่อย โดยการสลัดแขนขาให้เหมือนตุ๊กตาที่สลัดแขนขาได้ ทำแบบนี้ สลับกันไปมาสัก 2-3 ครั้งต่อกัน หรืออาจจะเป็นการลองฝึกให้เด็ก ๆ ลองนึกถึงสิ่งดี ๆ เช่น ภาพวิว หรือธรรมชาติที่น่าผ่อนคลาย เพื่อช่วยให้เด็ก ๆ ได้รู้สึกผ่อนคลาย และไม่เครียดจนเกินไป

4. พูดคุยกับคุณครูของลูก ๆ เกี่ยวกับข้อดีของอาการยุกยิก
จากการศึกษาใหม่พบว่า การที่เราอนุญาตให้เด็ก ๆ ได้แสดงอาการยุกยิกบ้าง จะช่วยให้เด็ก ๆ สามารถโฟกัสกับสิ่งที่ทำในห้องเรียนได้มากขึ้น แต่จะต้องคอยระวังด้วยว่า อาการยุกยิกนั้น จะไม่สร้างความรำคาญ และรบกวนให้กับผู้อื่นในห้องเรียน

ซึ่งคุณครูบางคนอาจจะใช้อุปกรณ์เป็นตัวช่วย เช่น แผ่นวงกลมสำหรับกำหนดขอบเขตเพื่อให้เด็ก ๆ สามารถแสดงอาการยุกยิกได้ตามขอบเขตพื้นที่ที่กำหนดให้เท่านั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถปรึกษาและพูดคุยกับคุณครูที่ดูแลเพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมกับเด็ก ๆ ด้วย และหากได้ผลดี สามารถลองทำแนวทางเดียวกันเมื่อลูก ๆ นั่งทำการบ้านหรืองานที่ได้รับมอบหมายที่บ้านด้วย

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://unsplash.com/@anniespratt

5. จัดการเวลานอนให้เพียงพอ
การนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ (น้อยกว่า 8-9 ชั่วโมง) สามารถเป็นตัวกระตุ้นที่จะทำให้เด็ก ๆ เกิดอาการขาดสมาธิ และอดทนต่อสิ่งต่าง ๆ ได้น้อยลง

คุณพ่อคุณแม่ควรจัดตารางเวลาการเข้านอนของเด็ก ๆ ให้เป็นเวลาสม่ำเสมอในแต่ละวัน ควรงดเวลาในการดูสื่อต่าง ๆ เช่น ทีวี มือถือ เกม หรือ social media อย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนเข้านอน และควรจัดสรรห้องนอน เตียง ให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก ปลอดโปร่ง ควรหาหมอน ผ้าห่ม หรือตุ๊กตาที่ทำให้เด็กรู้สึกสบายและผ่อนคลาย เพื่อให้เด็กนอนหลับง่ายมากขึ้น

6. สร้างการสื่อสาร และสารสัมพันธ์ที่ดีกับคุณครูที่โรงเรียน
ในบางครั้งที่นักเรียน อาจมีปัญหาด้านพฤติกรรมที่โรงเรียน ผู้ปกครองควรหาเวลาในการพบปะพูดคุยกับคุณครูประจำวิชา เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับจุดแข็งและจุดอ่อนของลูก ลองสอบถามว่า หากพบว่าลูกนั่งไม่ได้ ต้องลุกหรือขยับตัวอยู่ตลอดเวลา สามารถอนุญาตให้น้องนั่งแบบพับขาขึ้นมาบนเก้าอี้ได้หรือไม่ในบางครั้ง แจ้งอาการ และพฤติกรรมของลูกให้คุณครูรับทราบ และเข้าใจ หาวิธี หรือตำแหน่งในการนั่งในห้องเรียนให้เหมาะสม เช่น อาจไม่นั่งตำแหน่งหลังห้องเรียน หรือนั่งติดหน้าต่างจนเกินไป เพราะอาจสร้างความวอกแวกให้เด็กเพิ่มขึ้น เป็นต้น เพื่อช่วยให้เด็กโฟกัสได้มากขึ้น และติดตามรายงานผลความคืบหน้าถึงพัฒนาการความเคลื่อนไหวของเด็กว่าเป็นอย่างไร

ดังนั้น DooDiDo คิดว่าเราควรตระหนักว่า เด็ก ๆ ที่นั่งไม่นิ่งหรือควบคุมร่างกายให้อยู่นิ่งได้ยากนั้น จะต้องได้รับการดูแล และคำแนะนำอย่างใกล้ชิดจากทั้งคุณพ่อคุณแม่ และคุณครูที่โรงเรียน เพื่อให้เขาสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ และสามารถดึงประสิทธิภาพการเรียนรู้ออกมาได้มากที่สุด

ขอบคุณแหล่งที่มา: www.brainfit.co.th