อาชีพเสริมสำหรับเกษตรกร เลี้ยงกระต่ายดูแลง่าย สวยงาม ทำเงิน

WM

ภาพโดย Rebekka D จาก Pixabay

เลี้ยงกระต่าย อาชีพเสริมสำหรับเกษตรกร ได้ 2 เด้ง สวยงาม แถมขายทำเงิน

อาชีพเสริมสำหรับเกษตรกร เลี้ยงกระต่ายเอาไว้ทั้งขายทำเงินแบบสวยงามก็ได้ หรือจะเลี้ยงแบบขายเนื้อก็ดี วิธีการเลี้ยงกระต่าย เพื่อให้ผลตอบ แทนดีและสามารถเลี้ยงได้ในพื้นที่ที่ไม่มากนัก ขอให้มีพื้นที่สักหน่อยจะดีมาก

เพราะ กระต่ายเป็นสัตว์ขนาดเล็ก ที่กินหญ้า ผักผลไม้ได้หลายชนิด ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงไม่มาก ให้ผลผลิตเร็ว อาจจะเลี้ยงเป็นเพื่อนเล่น หรือขุนขายก็ได้ ประโยชน์ในการเลี้ยงกระต่ายมีหลายอย่างด้วยกัน อาทิให้ความเพลิดเพลินเป็นประโยชน์ในทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์

เป็นอาชีพเสริมสำหรับเกษตรกร เพราะขายลูกได้ ขายเนื้อได้เป็นสัตว์ทดลองและผลิตวัคซีนบางชนิด ผลพลอยได้ก็มี เพราะทั้งหนังของกระต่ายก็เอาไปทำเสื้อผ้าเครื่องประดับบ้านได้ และมูลของมันก็เป็นปุ๋ยได้ดีไม่แพ้กันครับ

พันธุ์กระต่ายที่นิยมเลี้ยงในประเทศ ไทยเป็นส่วนมากเป็น พันธุ์นิวซีแลนด์ไวท์ ลักษณะประจำพันธุ์ ขนสีขาวทั้งตัว ตาสีแดง หน้าสั้น ตะโพกใหญ่ ไหล่กว้าง เนื้อแน่น ให้ลูกดก เลี้ยงลูกเก่ง โตเต็มที่หนัก 4–5 กิโลกรัม

ส่วนกระต่ายพันธุ์เนื้อ นั้นจะเป็น พันธุ์แคลิฟอร์เนียไวท์ลักษณะประจำ พันธุ์ ขนสีขาว ฟูยาว ปลายหูและปลายเท้าจะมีสีดำหรือน้ำตาลเข้ม ตาสีแดง โตเร็ว เลี้ยงลูกเก่ง โตเต็มที่ หนัก 2.5–4 กิโลกรัม ใช้ทำพ่อแม่พันธุ์ หรือขุนขายเนื้อ

ส่วนกระต่ายเลี้ยงดูเล่นส่งขายตามจตุจักร ตลาดนัดสัตว์สวยงาม ก็จะเป็น พันธุ์แองโกล่า ลักษณะประจำพันธุ์ ขนยาวตรง มีสีหลายสี เช่น ขาว น้ำตาล เทา ดำ หน้าสั้น ตาสีดำ หรือน้ำตาล ให้ลูกน้อย ครอกละ 2–4 ตัว โตเต็มที่หนัก 1.8–2.5 กิโลกรัม เหมาะสำหรับเลี้ยงไว้ดูเล่น

ในการศึกษาเพื่อหาแนวทางในการเลี้ยงกระต่ายเพื่อเป็นอาชีพเสริมและเชิงพาณิชย์ พบว่าการเลี้ยงนอกจากพิจารณาเรื่องของพันธุ์กระต่ายที่ต้องการแล้ว ก็มีเรื่องของโรงเรือน ซึ่งควรอยู่บนที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง อากาศถ่ายเทได้สะดวก สามารถป้องกันศัตรู เช่น สุนัข แมว ได้ กรงกระต่ายควรทำด้วยลวดตาข่ายและอยู่สูงกว่าพื้นไม่น้อยกว่า 50 ซม.เพื่อป้องกันกลิ่นปัสสาวะของกระต่ายเอง ตรงนี้สำคัญนะครับถ้า กระต่ายอยู่กับปัสสาวะ ของตัวเองมากๆ จะเกิดโรคง่ายและอาจจะทำให้การเลี้ยงเสียหายในการรักษา กระต่ายที่ป่วย

WM
ภาพโดย Free-Photos จาก Pixabay

ส่วนเรื่องอาหารกระต่ายที่เป็นอาหารหยาบ ควรเป็นจำพวกที่มีเยื่อใยสูง แต่มีโปรตีนต่ำ เช่น หญ้าสด ผัก ผลไม้ ให้กระต่ายกินเป็นหลักจำนวน 10–15% ของน้ำหนักตัว วันละ 2 มื้อ หญ้ารูซี่ หญ้าขน ลิสงเถา (ถั่วปิ่นโต) ไมยราบยักษ์

**แต่ไม่ควรใช้ใบกระถินเลี้ยงกระต่าย เนื่องจากมีสารมิมโมซีน ที่มีผลต่อขนกระต่ายทำให้ ขนร่วงได้ง่าย **

ส่วนหญ้าและผักที่ฉ่ำน้ำ เช่น เปียกฝน หรืออวบน้ำ จะทำให้กระต่ายท้องเสีย จึงควรนำหญ้าหรือผักสดไปผึ่งในที่ร่มประมาณ 3–6 ชั่วโมงก่อน หรือเกี่ยวหญ้าหลังเวลา 10.00 น. ไปแล้ว จะดีต่อสุขภาพของกระต่ายมากครับ

ส่วนอาหารข้นจำพวก อาหารที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบต่าง ๆ จนมีปริมาณ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต วิตามินเกลือแร่ ฯลฯ ควรให้ตามความจำเป็นของอายุของกระต่าย ส่วนอาหารสำเร็จรูปที่ใช้สำหรับโค สามารถให้กระต่ายกินได้แต่ไม่เกิน 120-180 กรัม/ตัว/วัน (ขีด-ขีดครึ่ง) เพื่อเสริมอาหารหยาบบ้างจะได้เนื้อกระต่ายที่แน่นครับ

และจากการศึกษาในครั้งนี้พบว่าผลตอบแทนคุ้มค่าไม่น้อย โดยต้นทุน ค่าพ่อแม่พันธุ์กระต่าย ตัวผู้ 2 ตัว ตัวเมีย 8 ตัว รวม 10 ตัว ตัวละ 150 บาท เป็นเงิน 1,500 บาท

  • ค่ากรงกระต่าย ขนาด 4.80×0.60 เมตร สูง 1.80 เมตร จำนวน 2 หลัง รวมเป็นเงิน 5,000 บาท
  • ค่าอาหารข้น 4,680 บาท ค่ายาเวชภัณฑ์ 300 บาท รวมเป็นเงิน 11,480 บาท
  • หลังจากเลี้ยงเกษตรกรจะมีรายได้ จากที่แม่กระต่ายให้ลูก แม่ละ 5 ตัว ปีละ 4 ครอก ได้ลูกทั้งหมด 200 ตัวจำหน่ายลูกกระต่ายอายุ 1 เดือน ตัวละ 80 บาทเป็นเงิน 16,000 บาท
  • ถ้าจำหน่ายกระต่ายขุน อายุ 6 เดือน 100 ตัว ตัวละ 2 กก. กก.ละ 70 บาท เป็นเงิน 14,000 บาท
  • มูลกระต่าย จำนวน 10 กระสอบ กระสอบละ 20 บาท รวมเป็นเงิน 200 บาท

สรุปแล้ว จากการเลี้ยงกระต่ายที่เริ่มต้น 8 ตัวใน 1 ปี จะคืนทุนและมีกำไรไม่น้อยกว่า 2,720-4,720 บาท และหากต้องการกำไรที่มากกว่านี้ ก็เพิ่มปริมาณการเลี้ยงกระต่ายให้มากขึ้น ส่วนตลาดในตอนนี้เริ่มมีความนิยมมากขึ้นตามลำดับครับ

เกษตร และ บทวิเคราะห์ เทคโนโลยีทางการเกษตร ตลาดขายพืชผลทางการเกษตร ผลกระทบทางการเกษตร งบประมาณและนโยบายรัฐเพื่อการเกษตร และการส่งออกพืชผลทางการเกษตร ที่ได้รับความสนใจ ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา  ฟาร์มไทยแลนด์