ส่องตลาด สปป.ลาว ช่องว่างภายในการเติบโตอย่างกว้ากระโดด

WM

ภาพจาก pixabay

คุยเรื่องรุกตลาดจีนและส่องดู สปป.ลาว ตลาดใหม่ที่ยังมีช่องว่างให้เติบโต

เมื่อมองดูจำนวนประชากรขนาดของตลาดทำให้ผู้ประกอบการหลายรายในประเทศไทยเริ่มสนใจในตลาดจีนมากยิ่งขึ้นเพราะเพียงแค่ 1%- 10% ของยอดจำหน่ายทั่วประเทศจีนก็มีมูลค่ามหาศาลอย่างสูงแต่ลืมไปหรือเปล่าว่าประเทศจีนเองก็มีผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศอยู่หลายรายที่สำคัญตลาดยิ่งมีขนาดใหญ่การแข่งขันก็ย่อมมีสูงขึ้นตามไปด้วยนั่นหมายความว่าใครก็ตามมีเงินลงทุนสูงมี Connection ที่ดีก็ย่อมได้เปรียบมากในตลาดประเทศจีน

หลายคนมองว่าตลาดประเทศไทยเริ่มเข้าใกล้จุดที่เรียกว่า“อิ่มตัว” อย่างเต็มที่นั่นเป็นเพราะอะไรหลายตลาดเริ่มมีอัตราการเติบโตที่ลดลงจากเดิมที่เคยเติบโต 2 Digi เดี๋ยวนี้เริ่มเติบโตเหลือเพียงแค่เลขหลักเดียวหลายธุรกิจจึงเริ่มมองหาตลาดใหม่แล้วก็เป็นที่ทราบกันว่า“แจ็คหม่า” เจ้าพ่อ e-Commerce รายใหญ่ของจีนประกาศไว้อย่างชัดเจนว่าในอีกไม่กี่ปีต่อจากนี้จีนจะเปิดประเทศเต็มรูปแบบ

ส่วนผู้ประกอบการรายย่อยที่ริอ่านเหิมเกริมเข้าสู่ตลาดจีนอาจต้องเจ็บตัวกลับมาเปรียบเสมือนแมงเม่าบินเข้ากองไฟดังนั้นผู้ประกอบการรายย่อยจึงควรมองหาโอกาสที่มีศักยภาพเพียงพอให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าไปทำตลาดได้เรากำลังหมายถึงพื้นที่ของกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งหากรวมจำนวนประชากรขนาดตลาดแล้ว  จะเห็นว่ามีศักยภาพแทบไม่ด้อยไปกว่าตลาดประเทศจีน

WM
ภาพจาก pixabay

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสปป.ลาวที่มีโอกาสและศักยภาพสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ CLMV ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความใกล้เคียงของประเทศไทยและสปป.ลาวไม่ว่าจะเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีภาษาการสื่อสารวิถีชีวิตเรียกได้ว่าคนไทยที่ไปอยู่ในสปป.ลาวก็สะดวกสบายไม่น้อยไปกว่าประเทศไทยเดินทางกลับกันคนจากสปป.ลาวก็สามารถใช้ชีวิตในประเทศไทยได้อย่างไม่แตกต่าง

อีกทั้งความเจริญของสปป.ลาวกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่กำลังเกิดขึ้นอย่างมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวที่จะเข้ามาเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงของประเทศไทยส่งผลให้สินค้าของสปป.ลาวสามารถกระจายตัวออกสู่นานาประเทศทั่วโลกเสมือนว่า สปป.ลาวมีท่าเรือน้ำลึกเพื่อใช้ในการส่งออก ขณะที่ตลาดจีนขนาดใหญ่ก็สามารถเชื่อมต่อกับสปป.ลาวได้อีกช่องทางหนึ่ง

นั่นหมายความว่านักท่องเที่ยวชาวจีนที่หลงใหลมนต์เสน่ห์ของวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งของไทยและของสปป.ลาวจะสามารถเดินทางได้สะดวกมากยิ่งขึ้นทดแทนการเดินทางด้วยเครื่องบินและจะเป็นตัวช่วยเร่งให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาในสปป.ลาวมากยิ่งขึ้นจากเดิมที่ในปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาในสปป.ลาวเพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี

ไม่เพียงเท่านี้รัฐบาลสปป.ลาวยังเตรียมนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศสปป.ลาว เพื่อนำเม็ดเงินรายได้จากการท่องเที่ยวมาพัฒนาประเทศ โดยแบ่งโซนการท่องเที่ยวในแต่ละสไตล์ เช่น หากชอบเที่ยวแบบวิถีชีวิต Slow Life ก็ต้องไปหลวงพระบาง หากต้องการเที่ยวความเป็นธรรมชาติผสมผสานวัฒนธรรมก็มีที่วังเวียง หรือหากต้องการท่องเที่ยวแสงสียามราตรีก็ต้องที่ปากเซ ต้องการเที่ยวแบบเมืองหลวงวัฒนธรรมก็มาที่เวียงจันทร์

ทั้งหมดจะเห็นได้ว่าประเทศสปป.ลาวกำลังจะมีรายได้มหาศาลขนาดใหญ่เข้ามาในรูปของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและกำลังหมายความว่าคนสปป.ลาวกำลังมีเงินมากขึ้นส่งผลให้คนชนชั้นกลางในสปป.ลาวกำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นซึ่งแต่เดิมคนกลุ่มนี้อยู่ในกลุ่มที่คนไทยมักจะอนุมานว่าเป็นกลุ่มรากหญ้าและย่อมหมายถึงความต้องการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นจากการที่มีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น

แล้วอะไรที่เป็นปัจจัยให้ผู้ประกอบการไทยต้องสนใจสปป.ลาวส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะสินค้าของไทยมีราคาถูกกว่าสินค้าที่นำเข้ามาจากเวียดนามยิ่งไปกว่านั้นผู้บริโภคชาวลาวมีทัศนคติที่ดีต่อสินค้าไทยมากกว่าสินค้าจากเวียดนามซึ่งเป็นสินค้าที่นำเข้ามาจากประเทศจีนโดยคนลาวมองว่าสินค้าไทยได้มาตรฐานเฉกเช่นเดียวกับสินค้าเกาหลีที่มีคุณภาพเนื่องจากสินค้าจากเกาหลีเข้ามาทำตลาดในสปป.ลาวอย่างต่อเนื่องหากแต่สินค้าเกาหลีส่วนใหญ่จะเป็นสินค้านำเข้าโดยตรงจึงทำให้มีราคาสูง

นอกจากนี้รัฐบาล สปป.ลาว ยังสนับสนุนให้ประชาชนหันมานิยมใช้เงินกีบของลาวเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งปัจจุบัน สปป.ลาวจะใช้เงิน 3 สกุลหลักคือ เงินบาทไทย เงินกีบลาว และเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคนลาวเดี๋ยวนี้เริ่มมีความนิยมใช้เงินกีบมากขึ้น จากการสอบถามคนในพื้นที่พบว่า อดีตสามารถใช้เงินบาทไทยและเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซื้อได้เลยแถมป้ายราคาสินค้าจะบอกเป็นราคาเงินบาท ก่อนจะแปลงไปเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ

เดี๋ยวนี้ป้ายสินค้าเริ่มแสดงราคาเงินกีบมากขึ้น โดยเฉพาะร้านค้าต่างๆ ที่เป็นร้านค้าท้องถิ่น ขณะที่ร้านค้าของฝากหรือร้านค้าที่ชาวต่างชาตินิยมเข้ามาจะแสดงทั้งราคากีบลาว บาทไทยและดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับสินค้าอยู่ใหญ่ในสปป.ลาวจะเริ่มที่ประมาณ 10,000-100,000 กีบ หรือประมาณ 40-400 บาท ซึ่งค่าครองชีพในสปป.ลาวมีอัตราที่สูงกว่าค่าครองชีพในไทย

หากเทียบง่ายๆ ข้าวราดแกงในไทยยังสามารถหาทานได้ในราคาไม่เกิน 50 บาท แต่ที่สปป.ลาวต้องใช้เงินอย่างน้อย 2-3 หมื่นกีบ หรือราคาน้ำมันในสปป.ลาวจะสูงกว่าไทยประมาณ 2-3 บาทต่อลิตร ซึ่งที่สปป.ลาวจะแบ่งน้ำมันหลักๆ 2 ประเภทคือน้ำมันเบนซินที่เรียกว่า “แอดซัง” และน้ำมันดีเซลที่เรียกว่า “กาซวน” โดยปั๊มน้ำมันใน สปป.ลาวมีหลายแบรนด์ แต่แบรนด์ที่ได้รับความนิยมของชาวลาวมากที่สุดคือ ปั๊ม Plus ซึ่งเป็นของนักธุรกิจลาว และปั๊ม PTT (ปตท.) เป็นของไทยที่ข้ามไปลงทุน

สาเหตุที่คนลาวนิยมเติมน้ำมัน 2 ปั๊มนี้เพราะเป็น 2 ปั๊มที่คนลาวใช้คำว่า “ครบเครื่อง”นั่นเป็นเป็นปั๊มที่มีร้านสะดวกซื้อ มีร้านอาหาร มีร้านคาร์แคร์เซอร์วิส โดยเฉพาะปั๊ม PTT ที่มีร้านกาแฟอย่าง Amazon Cafe ตามเข้าไปด้วย แต่คนลาวนิยมเติมน้ำมัน PTT มากกว่า เนื่องจากเป็นน้ำมันที่นำเข้ามาจากประเทศไทย ขณะที่ Plus นำเข้าน้ำมันมาจากเวียดนาม และอย่างที่กล่าวว่าคนลาวเชื่อมั่นในสินค้าที่มาจากประเทศไทย

โดยเฉพาะการซื้อยานพาหนะทั้งจักรยานยนต์และรถยนต์ ที่คนลาวจะใช้ราคาบาทไทยเทียบในการซื้อรถจักรยานยนต์ ซึ่งราคาสูงกว่าในไทยราว 20,000 บาท ขณะที่รถยนต์จะใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในการเทียบและมีราคาสูงกว่าไทยราว 2-4 หมื่นบาท ที่สปป.ลาวการขับรถ TOYOTA ถือเป็นกลุ่มคนที่มีฐานะพอสมควร แต่ที่ทำให้สะดุดใจมากกว่าคือป้ายทะเบียนรถใน สปป.ลาวจะเป็นพื้นสีเหลืองตัวเลขและอักษรสีดำเป็นส่วนใหญ่ นั่นเพราะป้ายทะเบียนรถแบบนี้บ่งบอกว่าเป็นรถที่ซื้อด้วยเงินสด ส่วนรถที่ซื้อเงินผ่อนหรือรถของบริษัทเอกชนจะเป็นป้ายทะเบียนพื้นสีขาวตัวเลขและอักษรสีดำ

 

ไม่เพียงเท่านี้คนลาวยังมีทัศนคติเรื่องการใช้จ่ายที่แตกต่างจากคนไทย โดยคนลาวจะนิยมซื้อเงินสดมากกว่าเงินผ่อน เนื่องจากคนลาวกลัวการเป็นหนี้ และจะมีผลต้องการทำงานเพราะคนลาวทำงาน 2 ช่วงเวลาทั้งภาครัฐและเอกชน โดยช่วงเข้าจะเริ่มทำงานตั้งแต่ 8 โมงและจะเลิกช่วงประมาณ 11 โมงจากนั้นจะเริ่มเข้าทำงานช่วงที่ 2 เวลาประมาณบ่ายโมงและจะเลิกงานช่วง 4-5 โมงเย็น

ทำให้คนลาวนิยมกลับไปทานข้าวที่บ้าน โดยซ้อของสดไปประกอบและปรุงอาหารที่บ้าน มากกว่าการไปนั่งทางในร้านอาหาร เพราะคนลาวมองว่าซื้อของสดไปทำกินที่บ้านสามารถซื้อทีเดียวในราคาเดียวสามารถทางได้ทั้งครอบครัว แต่หากไปทานข้าวนอกบ้านต้องเสียเงินต่อครั้งต่อคน ทำให้ใช้เงินเปลืองมากกว่าซื้อของสดไปทำกินที่บ้าน

คนลาวยังมีความเชื่อเรื่องตำนานคำสาปลาว ที่มีเรื่องว่าแต่เดิมนครเวียงจันทร์รุ่งเรืองอย่างมาก แต่เกิดเหตุพญาช้างจ่าฝูงนำช้างจำนวนมากบุกทำลายที่นาที่ไร่ แม้จะส่งกองทหารไปปราบแต่ก็ปราบไม่ได้ เจ้าเมืองเวียงจันทร์จึงประกาศหาผู้มาปราบพญาช้าง หากปราบพญาช้างตัวนี้ได้จะยกเมืองให้ครึ่งหนึ่ง พร้อมด้วยปราสาทหินและยกลูกสาวของเจ้าเมืองให้เป็นเมีย

ด้านท้าวศรีโคตรตะบองที่ไปเรียนวิชาอาคมจากพระอาจารย์แห่งหนึ่งก็มาถึงนครเวียงจันทร์และได้รับรู้ประกาศนั้น จึงขันอาสาเพราะมีวิชาอาคมแก่กล้าจึงสามารถปราบพญาช้างจ่าฝูงได้ ส่งผลให้ช้างทั้งโขลงหนีหายเข้าไปในป่า เจ้าเมืองเวียงจันทร์จึงทำตามที่สัญญา แต่เพราะท้าวศรีโคตรตะบองไม่หล่อแถมจมูกแหมบอัปลักษณ์ที่สุดในนครเวียงจันทร์ ทำให้เจ้าเมืองถูกยุยงให้กำจัดท้าวศรีโคตรตะบอง แต่เพราะมีอาคมแก่กล้าทำให้อยู่ยงคงกระพัน

ร้อนถึงขนาดยุให้ลูกสาวที่เป็นเมียท้าวศรีโคตรตะบองค้นหาจุดอ่อนจนทราบว่าคือ “รูทวาร” หลังท้าวศรีโคตรตะบองถูกเหล็กแหลมเสียบรูทวาร ก่อนสิ้นใจได้สาปแช่งเมืองนี้ว่า จะหาความเจริญไม่มีตลอดกาลปาวสาน แต่เพราะเห็นใจในความรักของเมียแต่ถูกหลอกใช้จึงสาปอีกว่า วันใดเกิด “หินฟูน้ำ งูใหญ่พาด ช้างเผือกเข้าเมือง” ให้สิ้นคำสาปที่ให้ไว้ก่อนหน้านี้

แม้เป็นเพียงตำนานแต่ชาวลาวเชื่อเรื่องนี้อย่างมาก โดยปัจจุบันชาวลาวเชื่อว่า “หินฟูน้ำ งูใหญ่พาด ช้างเผือกเข้าเมือง” เกิดขึ้นมาแล้วในลาว และเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าคำสาปของท้าวศรีโคตรตะบองถูกถอนแล้ว โดย “หินฟูน้ำ” คนลาวเชื่อว่าคือสะพานมิตรภาพไทย-ลาวที่อยู่บนแม่น้ำโขง ส่วน “งูใหญ่พาด” คนลาวเชื่อว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว คืองูตัวใหญ่ที่พาดผ่านประเทศสปป.ลาวและ “ช้างเผือกเข้าเมือง” คนลาวเชื่อว่าช้างเผือกคือนักท่องเที่ยวและนักธุกิจทั่วทุกสารทิศ ที่จะเริ่มเข้ามาในประเทศสปป.ลาว

ทั้งหมดนี้คือ สปป.ลาวที่กำลังจะพัฒนาและเติบโตขึ้น ประเทศที่มีภาษาใกล้เคียงกันแบบไม่ต้องใช้ล่ามหรือวุ้นแปลภาษาของโดเรม่อนก็สามารถพูดคุยเข้าใจกันได้ วัฒนธรรมที่ความใกล้เคียงคล้ายคลึงกัน สภาพภูมิอากาศที่เหมือนกัน โซนเวลาเดียวกัน ความนิยมเหมือนกันเพราะที่ สปป.ลาวสามารถรับชมรายการทีวีของไทยหลักๆ ได้ทุกช่อง รู้จักดาราไทยไม่ต่างกับคนไทย เทรนด์ของไทยเป็นอย่างไร เทรนด์ของสปป.ลาวก็เป็นอย่างนั้น

เศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจทั่วโลก บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ เจาะตลาดการวางแผนเศรษฐกิจ  เศรษฐกิจการเงิน เศรษฐกิจการลงทุน ติดตามข่าวเศรษฐกิจด่วน กระแสข่าวเศรษฐกิจ ที่ได้รับความสนใจ ได้ที่ doodido

ที่มา : marketingoops