วิธีการช่วยเหลือเพื่อให้เด็กๆ มีมีสมาธิยาวนานขึ้น

WM

เด็กแต่ละคนก็จะมีความสามารถในการจดจ่อที่แตกต่างกัน

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ และคุณครูหลาย ๆ ท่านที่อยู่กับเด็กๆ การสร้างสมาธิให้เด็กๆ นั้นอาจเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายเป็นอย่างมากด้วย ยิ่งการทำให้เด็กมีสมาธิจดจ่ออย่างต่อเนื่องได้นานยิ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยิ่งถ้าเป็นสิ่งที่เด็ก ๆ รู้สึกไม่สนใจด้วยแล้ว การจะช่วยให้เขามีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้นก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก บางครั้งเด็ก ๆ อาจมองว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นเป็นเรื่องยากที่จะสร้างความสนใจให้ทำอย่างต่อเนื่องได้ เราจึงเห็นได้อยู่บ่อยครั้งเวลาที่เด็ก ๆ เริ่มแสดงอาการยุกยิก นั่งไม่นิ่ง ขยับตัวไปมา หยิบดินสอขึ้นมาเล่นบ้าง และมองหาสิ่งอื่นรอบตัว หรืออะไรก็ได้ที่นอกเหนือจากสิ่งที่เขาต้องจดจ่อตรงหน้าขึ้นมาทำแทน

ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก แนะนำว่าค่าเฉลี่ยของเด็กส่วนใหญ่ที่ควรมีสมาธิยาวนานต่อเนื่องนั้น คำนวณจากระยะเวลา 2-5 นาทีของการทำกิจกรรม คูณกับช่วงอายุของเด็ก เช่น เด็กช่วงอายุ 6 ขวบ ควรมีความสามารถในการจดจ่อยาวนานต่อเนื่องได้อย่างน้อย 30 นาที ต่อครั้ง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเด็กอายุ 6 ขวบคนนี้ จะสามารถจดจ่อได้อย่างน้อย 30 นาที หรือ 12 นาที ต่อครั้งก็ตาม เด็กแต่ละคนก็จะมีความสามารถในการจดจ่อที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความแตกต่างของกิจกรรมนั้น ๆ ด้วย

เรามาดูวิธีการช่วยเหลือเพื่อให้เด็ก ๆ มีความสามารถในการจดจ่อได้ต่อเนื่องกัน

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/ponce_photography-2473530/

1. ฝึกพฤติกรรมเพื่อสร้างสมาธิ
เราอาจเข้าใจได้ว่า การมีสมาธิอาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่การมีสมาธิที่ดีนั้นเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ เป็นสิ่งที่เราสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ ผู้ปกครองหรือคุณครูควรหาเวลาในการดูแลและฝึกเด็ก ๆ ให้เข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของการสร้างสมาธิ และรับรู้ว่าการมีสมาธินั้นดีและควรทำอย่างไร

การฝึกพัฒนาสมาธิในช่วงระหว่างวันนั้น สามารถทำได้โดยการแบ่งกิจกรรมโดยการพักเบรค เพื่อฝึกพฤติกรรมการมีสมาธิให้กับเด็ก อาจเริ่มจากการใช้ อุปกรณ์ในการจับเวลา นาฬิกาจับเวลา หรือนาฬิกาทราย นำมาใช้เพื่อเป็นอุปกรณ์สำหรับช่วยในการฝึกการรับรู้ให้แก่เด็กขณะทำกิจกรรมนั้น ๆ อยู่ โดยให้นักเรียนโฟกัสกับสิ่ง ๆ นั้น ภายในเวลา 2-3 นาที อย่างต่อเนื่อง และตั้งคำถามกับนักเรียนว่าพวกเขารู้สึกมีสมาธิจดจ่อเพียงใด การฝึกให้เด็กรู้จักการจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เด็กสามารถพัฒนาตนเองให้มีสมาธิได้เป็นอย่างดี

2. กำจัดสิ่งรบกวนรอบข้างออกไป
ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเห็นด้วยว่า การสร้างบรรยากาศการเรียนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้การเรียนรู้นั้นดีขึ้น ไม่ว่าจะทั้งที่โรงเรียนหรือที่บ้าน การสร้างสมดุลเรื่องสภาพแวดล้อมและกำจัดสิ่งรบกวนรอบข้างออกไปจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในการช่วยปรับสมดุลให้เด็กมีสมาธิจดจ่อกับการเรียนรู้มากขึ้น

ซึ่งหากผู้ปกครองไม่ระมัดระวัง เด็ก ๆ สามารถทำให้สิ่งรอบตัวกลายเป็นของเล่นขึ้นมาได้ในทันที ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์ชิ้นเล็กชิ้นน้อย เช่น คลิปหนีบกระดาษ อาจจะกลายเป็นของเล่นใหม่ของเด็กได้ กระดาษแผ่นเดียวอาจจะถูกพับเป็นจรวดบินว่อนรอบห้อง ถุงพลาสติกธรรมดาอาจถูกมัดกลายเป็นบอลลูนลอยขึ้นฟ้าได้ เพราะฉะนั้นการจำกัดให้มีอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับกิจกรรมนั้น ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กเกิดการวอกแวก ส่วนบริเวณห้องเรียนควรเป็นบรรยากาศที่มีแสงเพียงพอ จัดเก้าอี้และบริเวณที่นั่งให้มีอากาศถ่ายเท ไม่แออัด

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/klimkin-1298145/

3. ปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้เหมาะสม
หากคุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูได้ลองมาหลากหลายวิธีแล้ว แต่ไม่สามารถที่จะพัฒนาให้เด็กมีสมาธิต่อเนื่องขึ้นได้ ลองปรับเปลี่ยนกิจกรรมและแยกย่อยกิจกรรมให้เล็กลงมา ลองปรับแยกกลุ่มกิจกรรมที่ใช้เวลาไม่มากนักในการทำให้เสร็จ แบ่งความยากของกิจกรรมให้ย่อยลงมา เช่น หากนักเรียนจะต้องทำกิจกรรมเนื้อหาเกี่ยวกับภาพรวมของรัฐเท็กซัส ที่มีรวมเรื่องราวเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ภูมิภาค วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ เป็นองค์ประกอบโดยรวม คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องแยกย่อยให้เด็กเริ่มทำทีละส่วน อาจเริ่มจากที่ละหัวข้อให้เสร็จก่อน จากนั้นค่อยขยับไปที่หัวข้อใหม่ และนำหัวข้อที่เสร็จแล้วมารวมกัน และต้องสังเกตว่าเด็กสามารถจดจ่อได้เพียงใด อาจจะอนุญาตให้เด็กพักเบรกได้อย่างน้อย 5 นาทีในระหว่างการทำกิจกรรม เนื่องจากเด็กอาจจะไม่สามารถจดจ่อได้เท่ากัน เมื่อพักเบรกเรียบร้อยแล้ว ก็กลับมาทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องให้ได้อย่างน้อย 5 นาที ขึ้นไป

4. เปลี่ยนเป็นการเล่นเกม
การฝึกพัฒนาสมาธิในรูปแบบของการเล่นเกมอาจจะเป็นวิธีที่ง่ายกว่าวิธีอื่น ๆ เด็กคนหนึ่งอาจจะสามารถโฟกัสอยู่กับการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ได้ต่อเนื่องเพียง 1-2 นาที เท่านั้น แต่กลับนั่งได้นานกว่า 15 นาทีต่อเนื่องเมื่อเขาอยู่กับเกมที่สนุกหรือชื่นชอบ เพราะฉะนั้น หากมีโอกาสหรือจังหวะที่เหมาะสม ลองเปลี่ยนการสอนหรือการเรียนรู้ของเด็กให้ออกมาในรูปแบบเกมที่สนุกสนาน ซึ่งจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นหากกิจกรรมเหล่านี้ ได้เปิดโอกาสให้เด็กได้ทำร่วมกับเพื่อนคนอื่น ๆ ด้วย ในห้องเรียนอาจจะลองจัดเป็นกลุ่มเล็กก่อน เพื่อให้เด็ก ๆ ได้มีส่วนร่วมในการเล่นและเรียนรู้ร่วมกัน เช่น ฝึกให้เด็ก ๆ แก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ร่วมกันภายในกลุ่มของตน และให้ร่วมเล่นแข่งกันระหว่างกลุ่มย่อย และกลุ่มที่สามารถแก้ไขหรือหาคำตอบที่ถูกต้องได้ก่อน ก็จะได้รับรางวัลจากการเล่นเกม เป็นต้น

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/ddimitrova-1155171/

5. แบ่งหรือแยกย่อยกิจกรรมต่าง ๆ
การทำการบ้านให้เสร็จทันเวลา หรือพยายามทำให้งานทุกอย่างที่ได้รับมอบหมายให้ทันทั้งหมดนั้น สำหรับเด็กบางคนอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อาจส่งผลต่อความเครียดของเด็ก และทำให้ไม่สามารถทำสิ่งใด สิ่งหนึ่งให้เสร็จได้เลย ผู้ปกครองสามารถคอยช่วยเหลือโดยการแบ่งย่อยงานต่าง ๆ ออกเป็นแต่ละส่วน ย่ิงในเด็กที่ต้องเผชิญกับอาการขาดสมาธิด้วยแล้ว พวกเขาจะไม่สามารถทำงานหรือจดจ่อได้อย่างต่อเนื่องเลย เพราะฉะนั้น การแบ่งย่อยชิ้นงานที่ต้องทำทีละนิดจะช่วยให้เด็กสามารถทำได้มากกว่าการพยายามให้เขาทำทุกอย่างให้เสร็จทีเดียว

ความสามารถในการมีสมาธิจดจ่อต่อเนื่องนั้น สามารถเปลี่ยนแปลงได้จากปัจจัยหลายอย่าง และแตกต่างกันในเด็กแต่ละคน หากคุณเป็นผู้ปกครอง หรือคุณครูของเด็ก และพบว่าลูกหรือนักเรียนของคุณยังไม่ค่อยมีสมาธิในห้องเรียน หลุดโฟกัสบ่อยขณะนั่งเรียน ก็อย่าลืมลองนำเทคนิค DooDiDo แนะนำนี้ไปปรับใช้เพื่อให้เข้าเด็กแต่ละคนดูนะคะ

ขอบคุณแหล่งที่มา: www.brainfit.co.th