ภาคเอกชนวอนรัฐใช้ระบบเบิกจ่ายแบบ New Normal เพิ่มสภาพคล่อง

WM

ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay

จับชีพจรกำลังซื้อในประเทศ ภาคเอกชน พบ สัญญาณบวกในสินค้าคงทน ยอดขายรถยนต์ ที่อยู่อาศัย

ภาคเอกชนวอนรัฐใช้ระบบเบิกจ่าย ภาพรวมเศรษฐกิจขณะนี้้ หากพิจารณาจากความรู้สึกจะแย่มาก แต่หากพิจารณาบนฐานข้อมูล จะเห็นภาพเศรษฐกิจที่มีทั้งด้านดีและด้านแย่ในบางเซ็กเตอร์ โดยตัวเลขยอดขายรถยนต์ใหม่ ซึ่งสะท้อนการบริโภคสินค้าคงทนในการบริโภคภาคเอกชน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงาน การใช้ e-Payment เดือนกรกฎาคม 2563 พบว่า ปริมาณธุรกรรมการโอนและชำระเงินผ่าน Internet & Mobile banking และการใช้ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านช่องทาง online ยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่การทำธุรกรรมที่ผ่านจุดรับชำระเงิน เช่น เครื่อง EDC, ATM หรือ Counter มีแนวโน้มลดลง แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนจากผลของโควิด-19 ขณะที่ภาพรวมปริมาณธุรกรรมการใช้ e-Payment เฉลี่ยในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ 169 รายการ/คน/ปี สูงขึ้นจาก 135 รายการ/คน/ปี ในปี 2562 นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผย 

ทั้งนี้จะเห็นว่า ยอดขายรถยนต์ใหม่ ในช่วงเดือนเมษายนลดเหลือ 3 หมื่นคันต่อเดือน เทียบจากช่วงก่อนเกิดการระบาดของ โควิด-19 ที่มียอดขายประมาณ 6-8 หมื่นคันต่อเดือน และเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมแตะประมาณ 6 หมื่นคันต่อเดือน

ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นในการหารายได้ของประชาชนบางส่วน และหากเทียบกับวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 จะเป็นคนละบรรยากาศกับปีนี้

WM
ภาพโดย Jan Vašek จาก Pixabay

ขณะเดียวกัน ยอดขายที่อยู่อาศัยและระดับราคา โดยเฉพาะบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ ยังสามารถรักษาระดับราคาได้ดี แต่ราคาคอนโดมิเนียม อาจจะกระทบมากกว่าในรายผู้ประกอบการที่มีสต๊อก นอกจากนั้นในส่วนของการออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านรวมถึงห้างสรรพสินค้า หากเทียบช่วงเดือนเมษายนตัวเลขหดหายไปกว่า 20% ขณะที่การจับจ่ายใช้สอยในห้างสรรพสินค้าหายไป แต่เดือนสิงหาคม กิจกรรมดังกล่าวเริ่มกลับมาเป็นปกติแล้ว

“ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นแรงส่งของเศรษฐกิจในช่วงนี้ และอีกฐานข้อมูลที่สำคัญคือ การทำธุรกรรมภาคประชาชนผ่านโมบาย แบงก์กิ้ง ซึ่งปรับลดลงในเดือนเมษายน แต่เดือนมิถุนายนธุรกรรมฟื้นตัวมากกว่าเดิม โดยทะลุ 2.5 ล้านล้านบาทต่อเดือน สะท้อนสัญญาณดีขึ้นแต่ภาพรวมยอมรับว่า ยังเหนื่อย” อย่างไรก็ตาม แนวโน้มธุรกรรมโอนเงินและชำระเงินผ่าน Internet Banking และ Mobile Banking มีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

เห็นได้จากยอดสะสมเดือนกรกฎาคม ที่มีปริมาณธุรกรรมรวม 839.9 ล้านรายการ เพิ่มขึ้น 81.5% ส่วนมูลค่าธุรกรรมรวม 5.47 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.1% จากช่วงเดียวของปีก่อน โดยมีจำนวนบัญชีรวม 95.8 ล้านบัญชี

ขณะที่บริการรับโอนเงินรูปแบบใหม่ (พร้อมเพย์) มีความคืบหน้าพบว่า จำนวนลงทะเบียนสะสมอยู่ที่ 55.2 ล้านเลขหมาย มีปริมาณการโอนเงินเฉลี่ยต่อวัน 14.8 ล้านรายการ มูลค่าเฉลี่ยต่อวัน 5.89 หมื่นล้านบาท มูลค่าเฉลี่ยต่อรายการ 840 บาทต่อรายการ ภาพรวมเฉลี่ย 3,980 บาทต่อรายการ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวว่า แม้ภาคการบริโภค การผลิต เริ่มคลี่คลาย แต่ยังเป็นสัญญาณบวกแบบแผ่วๆ เพราะปัญหาการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ภาคส่งออกลดลง 77% ซึ่งมีภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกอยู่ประมาณ 50% ดังนั้นกำลังซื้อทั้งของโลกและในประเทศไทยลดลง 

“ภาคเอกชนอยากให้ภาครัฐใช้ระบบเบิกจ่ายงบประมาณแบบ New Normal เพื่อเร่งเบิกจ่าย เพิ่มเม็ดเงินสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการหลายอุตสาห กรรมในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน โทรคมนาคม ระบบก่อสร้าง รวมถึงหลายอุตสาหกรรมที่เป็นคลัสเตอร์

ซึ่งรับงานภาครัฐแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงิน แม้ในสัญญาระบุชำระเงิน 30- 60 วัน แต่ทางปฎิบัติภาครัฐจะมีกระบวนการตรวจรับ เมื่อมีคอมเม้น ต้องนำไปปรับปรุงแก้ไข กว่าจะส่งเรื่องสู่ระบบเบิกจ่ายก็ต้องใช้เวลาเนินนานออกไปกว่า 120 วัน” 

ด้านแหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์กล่าวว่า เท่าที่ได้ลงพื้นที่เยี่ยมลูกค้าต่างจังหวัดพบว่า ในวงการค้าเกิดปัญหาธุรกิจและปัญหาบุคคลกับบุคคลที่ปล่อยสินเชื่อแล้วไม่สามารถเรียกคืนเงินได้ตามกำหนด บ้างเกิดการเบี้ยวหนี้ ทำให้ระยะหลังผู้ประกอบการธุรกิจไม่กล้าปล่อยเครดิต นอกจากนี้ในส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังประสบปัญหาการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)ค่อนข้างยาก

ซึ่งเป็นภาษีซื้อและภาษีขายจากกรมสรรพากร ยิ่งตอกยํ้าข่าว รัฐจัดเก็บภาษีไม่เข้าเป้าและปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ จึงมีความเป็นห่วงว่า การเบิกจ่ายเงินงบประมาณจะมีปัญหา นายสมนึก บุญใหญ่ ผู้จัดการใหญ่ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย (ชสอ.) กล่าวว่า

ปัจจุบันสหกรณ์สมาชิกมีความต้องการกู้เงิน เพื่อนำไปชำระคืนหนี้เงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า เพราะเงินกู้ของชสอ.คิดดอกเบี้ย 3.25%ต่อปี ขณะที่แหล่งเงินกู้อื่นคิด 4%ต่อปี และสมาชิกต้องการนำเงินส่วนเหลือไปใช้จ่าย

แต่ ชสอ.ยังไม่สามารถอนุมัติเงินกู้แก่สหกรณ์สมาชิกได้ เพราะบางแห่งกู้เกือบเต็มเพดาน ซึ่งสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วประเทศ เพื่อนำประเด็นดังกล่าวหารือ ร่วมหาแนวทางที่เหมาะสม

เศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจทั่วโลก บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ เจาะตลาดการวางแผนเศรษฐกิจ  เศรษฐกิจการเงิน เศรษฐกิจการลงทุน ติดตามข่าวเศรษฐกิจด่วน กระแสข่าวเศรษฐกิจ ที่ได้รับความสนใจ ได้ที่ doodido

ที่มา  ฐานเศรษฐกิจ