ปัญหาโรคตาที่พบบ่อยในเด็กพร้อมวิธีรักษา ที่พ่อแม่ห้ามละเลย!

WM

โรคเกี่ยวกับตาในเด็กควรได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างระมัดระวัง

การที่ลูกมีสุขภาพร่างกายที่ดี แข็งแรงทุกส่วนเป็นสิ่งที่พ่อแม่อยากจะให้ลูกเป็น ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพร่างกายที่เป็นปกติ แข็งแรง สมบูรณ์ รวมทั้งสุขภาพของดวงตาที่พ่อแม่เกือบทุกบ้านให้ความสำคัญ เพราะดวงตาเป็นส่วนที่บอบบาง อาจทำให้เกิดความผิดปกติตามาได้ และวันนี้เราจะพาคุณพ่อคุณแม่มาดูโรคเกี่ยวกับดวงตา ที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็ก แถมยังเป็นโรคที่พบบ่อยอีกด้วย เพื่อจะได้ป้องกันและรักษาได้อย่างถูกวิธีค่ะ มาดูกันเลย

เวลาที่เราจ้องมองแววตาของลูก เราจะรู้สึกถึงความไร้เดียงสา ความรัก ความอบอุ่น ดวงตาของเด็กสะท้อนทุกสิ่งที่พวกเขารู้สึก ทั้งความเจ็บปวดและความสุข ทุกอย่างถูกอธิบายไว้ในนั้น ดวงตาเป็นอวัยวะที่บอบบางและอาจเกิดความผิดปกติขึ้นได้ และหากเกิดขึ้นแล้วก็เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการดูและรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากดวงตาเป็นหนึ่งในอวัยวะที่สำคัญที่สุดต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ปัญหาสายตา หรือโรคเกี่ยวกับตาในเด็กควรได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างระมัดระวัง

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/freestocks-photos-7014431/

1. ตาเหล่ (Strabismus)
ภาวะตาเหล่ พบได้ตั้งแต่ช่วงแรกเกิด คือภาวะที่ตาข้างใดข้างหนึ่งมีลักษณะ เข้าใน ออกนอก ขึ้นบน หรือลงล่าง และทำงานไม่สอดคล้องกัน ดวงตาไม่สามารถเล็งตรงไปที่วัตถุเดียวกันได้อย่างสม่ำเสมอ หากสภาพนี้ไม่ได้รับการรักษาปล่อยเอาไว้นานเกินไปจะไม่สามารถทำการรักษาได้ อาจนำไปสู่ภาวะตาขี้เกียจ (Amblyopia) โดยภาวะตาเหล่ส่วนใหญ่มักเกิดจากกรรมพันธุ์ นอกจากนี้อาจเกิดจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของดวงตาหรือเส้นประสาทตา

การรักษา : ภาวะตาเหล่ในเด็กไม่สามารถหายเองได้ สำหรับการรักษา จักษุแพทย์อาจเลือกใช้วิธีการแปะตาเพื่อปรับการทำงานของดวงตา หรือใช้แว่นสายตาแก้ไข แต่ในกรณีที่รุนแรงแพทย์จะพิจารณาเพื่อทำการผ่าตัด ข้อควรสังเกตสำหรับเด็กเล็ก คือ ดวงตาของเด็กแรกเกิดจะยังไม่สามารถมองไปในทิศทางเดียวกันได้ แต่เมื่อเด็กอายุได้ 3-4 เดือน ดวงตาจะเริ่มทำงานได้สอดคล้องกัน ถ้าหากเด็กอายุครบ 4 เดือนแล้ว แต่ดวงตายังไม่สามารถมองไปในทิศทางเดียวกันได้ ควรพาไปพบแพทย์โดยเร็ว

2. สายตาสั้น (Myopia)
สายตาสั้น คือ ภาวะค่าสายตาผิดปกติอันเกิดจากการหักเหแสงของตาที่มากเกินไป เด็กสายตาสั้นจะมองเห็นวัตถุที่อยู่ใกล้ได้อย่างชัดเจน แต่วัตถุที่อยู่ห่างไกลจะเบลอไม่ชัด เด็กสายตาสั้นส่วนใหญ่มีประวัติพ่อแม่สายตาสั้น มีการศึกษาในประเทศเขตทวีปเอเชียตะวันออก พบว่าถ้าทั้งพ่อและแม่มีสายตาสั้น จะมีโอกาสที่ลูกจะสายตาสั้นเท่ากับร้อยละ 77.3% สาเหตุเบื้องหลังสายตาสั้น คือ แสงไม่สามารถโฟกัสที่เรตินาได้ ดังนั้นวัตถุที่วางอยู่ไกลออกไปจึงดูพร่ามัว ในสภาวะนี้ รังสีของแสงจะโฟกัสภาพที่ด้านหน้าเรตินาไม่ใช่ที่เรตินาอาจเป็นเพราะลูกตายาวเกินไปหรือกระจกตาโค้งมากเกินไป

การรักษา : การมองเห็นสามารถแก้ไขได้ด้วยการใส่แว่นตา ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย และปลอดภัย จึงเป็นวิธีที่เหมาะที่สุดสำหรับเด็ก หากเด็กมีค่าสายตาสั้นมากกว่า -1.00 ถึง 1.50 diopter ควรพิจารณาให้ใส่แว่นตา ทั้งนี้การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดที่นิยมทำในผู้ใหญ่อาจไม่เหมาะหรับเด็ก เนื่องจากค่าสายตาเด็กอาจยังไม่คงที่

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/publicdomainpictures-14/

3. สายตาเอียง (Astigmatism)
ปัญหาสายตาเอียง พบได้บ่อยตั้งแต่แรกเกิด เป็นภาวะที่เกิดจากการหักเหของแสงที่ตกกระทบกระจกตาในแต่ละแนวไม่เท่ากันเนื่องจากกระจกตาผิดรูป เช่น มีส่วนโค้งไม่เท่ากัน เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลต่อความสามารถในการมองเห็นของเด็ก เด็กอาจมีปัญหาในการมองวัตถุ ทั้งในระยะใกล้ และไกล กล่าวคือ จะมองเห็นภาพเบลอ มองเห็นภาพซ้อนได้

การรักษา : การรักษาสายตาเอียงในเด็กจะมุ่งเน้นที่การเพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็น คอนแทคเลนส์และแว่นตาที่เหมาะสมกับสายตาของผู้ป่วยเป็นวิธีที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย

4. ตาขี้เกียจ (Amblyopia)
ตาขี้กียจ คือ การที่ตาข้างใดข้างหนึ่งของเด็ก มองเห็นได้ไม่ดี เมื่อเทียบกับตาอีกข้างหนึ่ง ภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อตาข้างหนึ่งมีพัฒนาการที่ผิดปกติ ในที่สุดหากปล่อยไว้ สมองจะหยุดรับสัญญาณจากตาข้างนั้น ทำให้มองเห็น ได้ไม่ชัด ภาวะตาขี้เกียจส่วนใหญ่มักเป็นผลมาจากอาการตาเหล่ หรือเมื่อตาข้างหนึ่งทำงานได้ดีกว่าอีกข้างหนึ่งอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกับโรคตาอื่นๆ ได้ เช่น หากเด็กมีปัญหา สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง หรือ ต้อกระจกแต่กำเนิด

การรักษา : ภาวะสายตาขี้เกียจนี้มักเกิดขึ้นในเด็กเฉพาะเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 -7 ปี หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจจะทำให้มีปัญหาในการมองเห็นอย่างถาวรหากพ่อแม่สังเกตเห็นพฤติกรรมที่ผิดปกติของลูก และพาไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษารวมถึงการทำให้ตาขี้เกียจทำงานหนักขึ้นเพื่อกระตุ้นระบบประสาท อาจใช้แผ่นปิดตา โดยการปิดตาข้างที่ดีกว่าเพื่อกระตุ้นให้ดวงตาอีกข้างที่ด้อยกว่าได้ถูกใช้งานบ้าง

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/zen23-802458/

5. สายตายาว (Hyperopia)
สายตายาวในทางการแพทย์หมายถึง อาการสายตายาวที่เกิดขึ้นตั้งแต่อายุยังน้อย โดยภาวะนี้จะตรงข้ามกับสายตาสั้น หากเด็กได้รับผลกระทบจากภาวะสายตายาว จะสามารถมองเห็นวัตถุที่วางในระยะไกลได้ชัดเจน แต่วัตถุที่อยู่ใกล้เคียงจะเบลอ เมื่อเด็กอายุมากขึ้นอาการมักจะหายไปได้เอง แต่ในรายที่การพัฒนาของสายตาหยุดลง และยังคงมีปัญหาสายตายาวอยู่เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ดวงตาจะปรับตัวด้วยการปรับโฟกัสของตา (Accommodation) เพื่อแก้ไขปัญหา แต่เมื่ออายุมากขึ้นการปรับโฟกัสของตาก็จะทำได้น้อยลง

การรักษา : หากสายตายาวเกิดตอนอายุยังน้อย อาจไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะว่าเลนส์ตาจะค่อยๆ ปรับตัวและแก้ไขภาวะสายตายาวได้เองเมื่ออายุมากขึ้น แต่เมื่อมีอายุที่เพิ่มมากขึ้นความยืดหยุ่นของเลนส์ตาอาจลดลงซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขด้วยการใส่แว่นสายตายาว หรือคอนแทคเลนส์สายตายาว

หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา ไม่ควรละเลยหรือปล่อยไว้นานนะคะ ควรพาลูกไปปรึกษาจักษุแพทย์เด็กโดยเฉพาะ เพื่อประเมินและวินิจฉัยทำการรักษาได้อย่างเหมาะสมค่ะ DooDiDo คุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังให้ลูกดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีรวมถึงการดูแลสุขภาพของดวงตาอีกด้วยนะคะ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างเลยค่ะที่ทำให้เด็กป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับตา

ขอบคุณแหล่งที่มา : www.amarinbabyandkids.com