บอกลาปัญหากวนใจในที่ทำงาน ด้วยวิธีรับมือกับเพื่อนร่วมงานจอมขี้บ่น

WM

ในที่ทำงานเราต้องเจอคนหลากหลายประเภทที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ในการทำงานร่วมกับคนหลายคนในที่ทำงานนั้นเชื่อว่าคุณต้องเคยเจอกับเพื่อนร่วมงานที่ขี้บ่น ทำลายบรรยากาศการทำงาน จนทำให้คุณรู้สึกรำคาญ รู้สึกหมดกำลังใจในการทำงานกันอย่างแน่นอน เพราะการทำงานร่วมกับคนหลายคนนั้น เราไม่สามารถเลือกได้ว่าเราจะทำงานร่วมกับคนแบบไหน ดังนั้นหากเราต้องร่วมงานกับมนุษย์จอมบ่นล่ะก็ เลิกกังวลใจไปได้เลยค่ะ เพราะวันนี้เราพาคุณมาดูวิธีรับมือกับเพื่อนร่วมงานจอมขี้บ่นมาฝากค่ะ

โลกของการทำงาน โดยเฉพาะสังคมในที่ทำงานมีด้วยการหลายรูปแบบ เราต้องเจอคนหลากหลายประเภท สายเก็บตัวก็จะมีโลกส่วนตัวสูง สายเฮฮาก็จะพูดถึงคนโน้นคนนี้ไปเรื่อย สายซอร์ฟอาจมีอาการ Toxic Positive มองโลกในแง่บวกมากเกินไปจนถูกเอาเปรียบบ่อย ๆ ไปจนถึงเพื่อนร่วมงานสายแข็ง จู้จี้ขี้บ่น ช่างติ ฉะนั้นวิธีการคุยกับเพื่อนร่วมงานแต่ละประเภทก็แตกต่างกัน มาดู 5 วิธีรับมือกับเพื่อนร่วมงานขี้บ่นกันเลยดีกว่า

WM
ขอบคุณภาพจาก : https://www.freepik.com/dcstudio

1.จับตาดูพฤติกรรมคนช่างติ
การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหากคุณต้องเจอกับเพื่อนร่วมงานขี้บ่น คือการหลบฉาก หากเพื่อนตั้งท่าจะบ่น ควรหาข้ออ้างให้เนียนสักนิด เช่น ลืมไปว่าต้องส่งงานให้หัวหน้าตอนสิบโมง แล้วรีบขอตัว อีกวิธีที่เป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวคืออย่าปล่อยให้มนุษย์ช่างเม้าท์ ช่างบ่นหลุดพ้นจากสายตา เพราะอาจสร้างอันตรายให้กับเพื่อนร่วมงานและองค์กรได้ สิ่งที่เราจะทำได้คือคอยติดตามพฤติกรรมอย่างใกล้ชิดโดยการให้เขามีส่วนร่วมกับโปรเจกต์งานที่ทำอยู่เสมอ หัวหน้างานเองก็ไม่ควรปล่อยปะละเลย เข้ามามีส่วนร่วมกับทีม เพราะมนุษย์ขี้บ่นเหล่านี้ ชอบอยู่ใต้เรดาร์การจับจ้องของหัวหน้า แต่กลับไปสร้างความปวดหัวให้กับเพื่อนร่วมงาน ด้วยการบ่น พูดจาให้แตกแยก พฤติกรรมเหล่านี้จะไปทำลายกำลังใจในการทำงานให้กับทีมได้ หัวหน้างานจึงควรจับตาดูอย่างใกล้ชิดและเรียกมาตักเตือนหากมีพฤติกรรมไม่ดีเกิดขึ้น หรือจะใช้วิธีให้แต่ละคนตอบแบบสอบถามหลังจบโปรเจกต์ก็ได้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเรียกเตือน

2.กำหนดนโยบายองค์กรที่รัดกุม
มนุษย์ขี้บ่น ติโน่นนี่ไปเรื่อย งานเยอะก็บ่น งานน้อยก็คอมเพลน มีอยู่ในทุกองค์กร ทางแก้ปัญหาหนึ่งที่ทำได้ต้องมาจากองค์กร ในการกำหนดนโยบายการทำงานที่ชัดเจน ตลอดจนจัดสถานที่ทำงานให้ปลอดการพูดสิ่งไม่สร้างสรรค์ สร้างองค์กรที่เมื่อพักเบรกจากเวลางาน จะคุยแต่เรื่องราวที่มีสาระ เช่น มองหาไอเดียใหม่ๆ สำหรับงานชิ้นถัดไป สิ่งเหล่านี้อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สร้างได้ด้วยผู้นำในทีม และนโยบายการบริหาร

3.ให้โอกาสปรับตัว
หากพฤติกรรมความขี้บ่นสร้างปัญหามากเกินไป ก็ถึงเวลาที่จะต้องเรียกพนักงานมาตักเตือน โดยเริ่มจากการให้คำแนะนำและปรับเปลี่ยนทัศนคติ ว่าการพร่ำบ่นนั้นทำลายบรรยากาศการทำงาน และสร้างปัญหาให้กับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ยกตัวอย่างให้เห็นว่าจะเกิดความเสียหายอย่างไรจากการบ่นของพนักงาน ทั้งต่ออาชีพการทำงานของตัวเอง และต่อองค์กร แสดงให้เห็นแง่มุมเชิงบวกก่อนตัดสินหรือวิจารณ์อะไร

WM
ขอบคุณภาพจาก : https://www.freepik.com/freepik

4.ออกมาตรการเด็ดขาด
หลังจากให้โอกาสปรับตัวแล้ว แต่พฤติกรรมช่างบ่น ขี้นินทายังไม่เปลี่ยน ก็ต้องใช้มาตรการหนักในการจัดการ หัวหน้างานและฝ่ายบุคคลจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในขั้นตอนนี้ ร่วมกันกำหนดแนวทางเพื่อให้พนักงานปรับปรุงตัว มีเอกสารให้ลงนาม เหมือนเป็นการตั้ง Probation ด้านความประพฤติใหม่ เช่น ให้เวลา 1 เดือนในการปรับปรุงตัว หากภายใน 1 เดือนหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานยังเห็นว่าพฤติกรรมไม่เปลี่ยนแปลง จะมีบทลงโทษตามมา เช่น การหักเงินเดือน ปรับลดเงินโบนัส เป็นต้น

5.ถ้าไม่ไหวก็ต้องปล่อยไป
ถึงแม้พนักงานจอมบ่นจะมีความสามารถเรื่องงานหรือทักษะ Hard Skill มากเพียงใด แต่หากพฤติกรรมของคุณ ทำให้เพื่อนร่วมงานไม่สามารถทำงานร่วมด้วยได้ องค์กรก็อาจไม่เลือกที่จะเก็บคุณไว้ เมื่อได้ให้โอกาสอย่างถึงที่สุดแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายหากไม่สามารถปรับปรุงตัวได้ องค์กรมีสิทธิ์ที่จะเชิญพนักงานออก เพื่อไม่ให้บ่อนทำลายองค์กร

เพียงเท่านี้คุณก็จะสามารถทำงานได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องทนฟังอะไรที่บั่นทอนกำลังใจในการทำงานของคุณอีกต่อไปค่ะ ซึ่งในการทำงานร่วมกับคนมากหน้าหลายตา ต่างพ่อต่างแม่ย่อมจะต้องเจอกับอะไรที่เป็นอุปสรรคอย่างหลีกเรื่องไม่ได้ แต่คุณสามารถจัดการกับปัญหาเพื่อนร่วมงานขี้บ่นได้ตามวิธีที่ DooDiDo นำมาฝากค่ะ

ขอบคุณแหล่งที่มา : https://th.jobsdb.com