“น้ำตำลึง”เครื่องดื่มสมุนไพรจากธรรมชาติของคนรักสุขภาพ!!

WM

เครื่องดื่มผักปั่นสูตรเพื่อสุขภาพ ช่วยบำรุงสายตา”น้ำตำลึง” 

หากพูดถึงผักริมรั้วอย่าง “ตำลึง”เป็นผักที่หลายๆ คนรู้จักกันเป็นอย่างดี และแถมเป็นผักที่หารับประทานง่าย ปลูกง่าย ราคาก็ไม่แพง เป็นผักสวนครัวที่เป็นที่ชื่นชอบชองใครหลายๆ คน ถ้าพูดถึงตำลึง ผักชนิดที่มีใบคล้ายกับรูปหัวใจสีเขียว ความเด่นของตำลึงอยู่ที่มีสรรพคุณในด้านการบำรุงสายตา ตำลึงประกอบไปด้วยโปรตีน วิตามินบี 1 วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส เส้นใยอาหารและเบตาแคโรทีน

หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับพืชริมรั้วอย่างตำลึง จากในเมนูอาหารคาว เช่น แกงจืดตำลึง หรือในแกงเลียง ไม่ก็นำไปลวกจิ้มน้ำพริก แต่หลายคนกลับไม่ชอบรับประทานเลยสักนิดเพราะรู้สึกว่าเหม็นเขียว วันนี้กระปุกคุกกิ้งขอนำเสนอทางเลือกใหม่ด้วยการนำใบตำลึงมาทำเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพที่อร่อยไม่แพ้อาหารคาวเลยนะคะ ทั้งดื่มง่าย แถมยังให้คุณประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย เพราะในใบตำลึงนั้นมีวิตามินเอสูงมาก จะช่วยบำรุงสายตา เต็มไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัส ที่ช่วยบำรุงกระดูก และยังมีวิตามินซีที่สามารถป้องกันเลือดออกตามไรฟันได้อีกด้วย

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/naturepost-1467357/

สิ่งที่ต้องเตรียม

  • ใบตำลึง 20 กรัม (ประมาณ 20-30 ใบ)
  • น้ำ 200 มิลลิลิตร
  • น้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อม 30 มิลลิลิตร
  • น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ
  • เกลือป่น ปริมาณเล็กน้อย
  • น้ำแข็ง สำหรับรับประทาน
WM
ขอบคุณภาพจาก: https://sites.google.com/site/0828094905jkl

วิธีทำ

1. ล้างใบตำลึงให้สะอาด จากนั้นใส่ใบตำลึง และน้ำต้มสุกลงในเครื่องปั่น ปั่นผสมจนละเอียด นำไปกรองคั้นเอาแต่เฉพาะน้ำ

2. นำน้ำตำลึงคั้นที่ได้เทใส่หม้อนำไปต้มจนเดือด ยกลงจากเตา พักไว้จนเย็น

3. เทน้ำตำลึงใส่แก้วตามด้วยน้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อม น้ำมะนาว และเกลือป่นเล็กน้อย คนผสมให้เข้ากัน เทใส่แก้วที่มีน้ำแข็งเตรียมไว้ พร้อมดื่ม

ตำลึง ชื่อทางวิทยาศาสตร์ สรรพคุณมีอะไรบ้าง

ต้นตำลึงมักจะขึ้นตามรั้วบ้าน ที่สำคัญมักจะขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยเฉพาะในฤดูฝน แต่เห็นตำลึงบ้าน ๆ อย่างนี้ก็มีชื่อทางวิทยาศาสตร์กับเขาเหมือนกันนะคะ แถมตำลึงยังมีชื่อสามัญ และชื่อเรียกตามท้องถิ่นอีกหลายชื่อ ตามนี้เลย

ตำลึง ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Coccinia grandis Voigt และยังมีชื่อสามัญของตำลึงหรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Ivy gourd ด้วยนะคะ ส่วนตำลึงในชื่อบ้าน ๆ นั้นเรียกกันอย่างหลากหลาย ทั้งตำลึง สี่บาท (ภาคกลาง) ผักแคบ (ภาคเหนือ) ผักตำนิน (ภาคอีสาน), แคเด๊าะ (แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://prayod.com

สรรพคุณของตำลึงจะมีอะไรบ้าง มาดูกันเลย

1. บำรุงสายตา

แหล่งวิตามินเอที่สำคัญที่เราสามารถหาได้จากอาหารก็ต้องยกให้ตำลึงเป็นแหล่งที่ดีของวิตามินเอเลยล่ะค่ะ และนอกจากวิตามินเอแล้ว เบต้าแคโรทีนในตำลึงยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สามารถเปลี่ยนตัวเองเป็นวิตามินเอได้อีก ดังนั้นตำลึงจึงจัดเป็นอาหารบำรุงสายตาตัวจี๊ดที่หากินได้ง่าย ๆ แถมยังอร่อยด้วย

2. เสริมภูมิต้านทาน

จะเห็นได้ว่าตำลึงมีวิตามินเอและเบต้าแคโรทีนซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอค่อนข้างสูง ส่วนนี้จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้เราไม่ป่วยไข้ได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะอาการไข้หวัด ซึ่งหากร่างกายขาดวิตามินเอ ก็มีโอกาสจะป่วยไข้ได้ง่ายเลยนะคะ

3. ตำลึงรักษาเบาหวาน

สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ตำลึงเป็นผักที่มีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างฟลาโวนอยด์ค่อนข้างสูง สามารถช่วยรักษาและป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ ทั้งโรคเบาหวาน เนื่องจากมีงานวิจัยที่พบว่าตำลึงช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ ส่วนในใบตำลึงก็มีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่หลายชนิด จึงช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้นั่นเอง ทั้งนี้การกินตำลึงเพื่อลดน้ำตาลในเลือด สามารถทำได้โดยใช้เถาแก่ของตำลึงประมาณครึ่งถ้วย นำมาต้มกับน้ำ หรือนำน้ำคั้นจากผลตำลึงดิบๆ ดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น น้ำตำลึงก็จะช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/whitesession-4645995/

4. บำรุงกระดูก

จากการศึกษาของสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าใบตำลึงมีแคลเซียมสูง และแคลเซียมจากตำลึงยังเป็นแคลเซียมชนิดที่ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้เทียบเท่ากับแคลเซียมที่อยู่ในนมวัว ดังนั้นผู้ที่มีอาการแพ้นมวัว หรือดื่มนมแล้วท้องเสียก็สามารถหันมารับแคลเซียมจากตำลึงแทนได้เช่นกัน

5. แก้อาการแสบคันจากแมลงสัตว์กัดต่อย

ใบตำลึงมีฤทธิ์เย็น ช่วยดับพิษร้อนจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้ในระดับหนึ่ง โดยให้ล้างแผลด้วยน้ำไหลให้สะอาด จากนั้นใช้ใบตำลึงไม่แก่จัดหรืออ่อนจัดจนเกินไป ล้างใบตำลึงให้สะอาด จากนั้นขยี้ใบตำลึงแล้วมาประคบผิวบริเวณที่ถูกแมลงสัตว์กัดต่อยสักพัก อาการแสบคันจะบรรเทาขึ้น แต่หากอาการแสบร้อนยังไม่หาย ให้หมั่นเปลี่ยนใบตำลึงบ่อย ๆ แต่หากอาการแสบร้อนหาย แต่อาการคันไม่หาย แนะนำให้ใช้ยาทาแก้คันแผนปัจจุบันร่วมด้วย

6. ช่วยย่อยอาหาร

ใบตำลึงและเถาตำลึงมีเอนไซม์อะไมเลสอยู่มาก ซึ่งเอนไซม์ตัวนี้มีคุณสมบัติช่วยย่อยอาหารจำพวกแป้งได้ดี ดังนั้นใครมีอาการแน่นท้อง ท้องอืดจากอาหารไม่ย่อย โดยเฉพาะคนที่กินแป้งเข้าไปมาก ๆ ให้ใช้ใบตำลึงประมาณ 1 กำมือ ผสมกับเถาตำลึงเด็ดขนาดเท่านิ้วก้อย 1 กำมือ โขลกรวมกันจนเป็นเนื้อเดียว จากนั้นคั้นเอาแต่น้ำตำลึงมาผสมน้ำอุ่น 1 แก้วกาแฟ กินก่อนอาหารประมาณ 5-10 นาที เพื่อเรียกน้ำย่อย หรือจะใช้ใบตำลึงแก่ลวกพอสุก กินเป็นผักเคียงพร้อมกับอาหารในแต่ละมื้อเลยก็ได้

เป็นยังไงกันบ้างค่ะ พอรู้สรรพคุณและรสชาติของน้ำตำลึงแก้วนี้แล้ว ถ้าคิดว่ามันก็คล้ายๆ น้ำพันช์ผลไม้ อาจทำให้คุณลืมรสชาติขมๆ และกลิ่นเหม็นเขียวของตำลึงได้อย่างหมดสิ้น DooDiDoแนะนำให้ลองเปลี่ยนมารับประทานตำลึงด้วยวิธีการนี้กันนะคะ ตำลึงเป็นผักริมรั้วที่หากินได้ง่าย มีให้กินตลอดทั้งปี แถมยังราคาถูก นำมาประกอบอาหารก็ทำได้หลากหลายเมนู และในตำลึงยังมีธาตุเหล็กที่มีความจำเป็นต่อสุขภาพผู้หญิง ช่วยบำรุงเลือด แคลเซียมช่วยให้กระดูกแข็งแรง การรับประทานตำลึงจึงทำให้ตาสวย ผิวสวยและเพิ่มความแข็งแรงให้กระดูกอีกด้วยนะคะ

ขอบคุณแหล่งที่มา: www.sanook.com