จีนรุกตลาดออนไลน์หนัก ขายต่ำกว่าทุนส่งผลสินค้าไทยรับผลกระทบ

WM

ภาพโดย 3D Animation Production Company จาก Pixabay

เร่งสกัดสินค้า จีนรุกตลาดออนไลน์หนัก ยึดตลาดออนไลน์บี้เอสเอ็มอีไทยอ่วม

จีนรุกตลาดออนไลน์หนัก ยึดตลาดออนไลน์ ไล่บี้สินค้าเอสเอ็มอีไทยอ่วม จากข้อมูลของสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Thai e-Commerce Association) ระบุว่า ในปี  2561 มาร์เก็ตเพลส 3 ยักษ์ใหญ่ของไทย ได้แก่  Lazada , Shopee และ JD มีปริมาณสินค้าที่จำหน่ายรวม 75 ล้านชิ้น 

แบ่งเป็นสินค้าจากประเทศจีน 60 ล้านชิ้น และสินค้าในประเทศ 15 ล้านชิ้น ขณะที่ในปี 2562 มีปริมาณสินค้าที่จำหน่ายรวม 175 ล้านชิ้น แบ่งเป็นสินค้าจากประเทศจีน 135 ล้านชิ้นคิดเป็น 77% จากผู้ขาย 8.1 หมื่นราย และสินค้าในประเทศ 40 ล้านชิ้นคิดเป็น 23% จากผู้ขาย 1 ล้านราย แสดงให้เห็นว่าปริมาณการซื้อขายเพิ่มสูงขึ้นกว่า 1 เท่าตัว

ขณะที่กระแสนิยม “ช็อปปิ้งออนไลน์” เริ่มแพร่วงกว้างไม่ใช่เฉพาะในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่อีกต่อไป  แต่ในจังหวัดต่างๆก็ได้รับความนิยม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยทั้งที่เป็นผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายในมาร์เก็ตเพลสต่างๆ

ซึ่งมีอยู่กว่า 4 ล้านรายกลับไม่ได้รับผลประโยชน์ เมื่อผู้ผลิตจีน นำทัพสินค้าจีนที่มีต้นทุนต่ำกว่ามาชิงส่วนแบ่งตลาด และยังจัดโปรโมชั่นลดราคาให้ต่ำกว่าทุนล่อใจให้ผู้บริโภคเข้ามาซื้อสินค้าในมาร์เก็ตเพลสนั้นๆมากขึ้น นายฉัตรชัย  ตวงรัตนพันธ์  ที่ปรึกษา สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผย

หลายคนที่บอกว่า เอสเอ็มอีจะตายเพราะมีห้างใหญ่ แต่แท้จริงแล้วจะเห็นว่า ห้างไม่ได้สร้างปัญหาหรือทำให้เอสเอ็มอีเกิดปัญหาแต่อย่างใด ในทางตรงข้ามห้างเป็นตัวกลางในการนำสินค้าเอสเอ็มอีมาวางจำหน่าย และช่วยสร้างธุรกิจให้เติบโต

แต่วันนี้จะเห็นว่า อี-คอมเมิร์ซหรือช่องทางการขายผ่านออนไลน์ที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เริ่มส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีไทย โดยเฉพาะการเข้ามาของสินค้าจีน ผู้ประกอบการจีนที่นอกจากจะมีต้นทุนต่ำทำให้ขายสินค้าราคาถูกแล้ว ยังลดราคาให้ต่ำกว่าทุนโดยได้รับการสนับสนุนจากเจ้าของมาร์เก็ตเพลสอีกด้วย

“สิ่งที่ต้องเร่งแก้คือ สกัดไม่ให้สินค้าจีนทะลักเข้ามาในช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ  เอกชน สมาคมอี-คอมเมิร์ซ ต้องมีการกำหนดแผนหรือมาตรการต่างๆ ขณะเดียวกันมาตรการควบคุมอี-คอมเมิร์ซ ในด้านราคาและการเสียภาษี จะทำให้เอสเอ็มอีไทยมีโอกาสและแข่งขันในธุรกิจได้”

WM
ภาพโดย Tumisu จาก Pixabay

ทั้งนี้สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ในการควบคุมอี-คอมเมิร์ซ ในด้านราคาและการเสียภาษี  ใน 3 ประเด็นได้แก่

  1. เสนอให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่บาทแรก
  2. ห้ามอี-คอมเมิร์ซ ขายราคาต่ำกว่าทุน  เนื่องจากส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีและค้าปลีกไทย 
  3. การปราบปรามสินค้าหนีภาษีที่เติบโตจากอี-คอมเมิร์ซ

“แม้จะมีข้อตกลงยกเว้นอากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาทร่วมกันในระดับสากล แต่เป็นเพียงไกด์ไลน์ให้ยึดปฏิบัติ ไม่ได้เป็นข้อบังคับ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการค้าขายผ่านออนไลน์

วันนี้ในหลายประเทศยกเลิกข้อตกลงนั้น และเริ่มจัดเก็บภาษีแล้ว ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย  , อินโดนีเซีย เป็นต้น ดังนั้นประเทศไทยก็สามารถปฏิบัติได้และถือเป็นหนึ่งในแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทยด้วย”

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากรกล่าวว่า การยกเว้นอากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) สำหรับสินค้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท เป็นหลักปฏิบัติเดียวกับศุลกากรทั่วโลกที่จะมีการยกเว้น สำหรับสินค้าที่ราคาไม่สูงมาก

ดังนั้นจึงไม่สามารถยกเลิกได้ แต่ที่มีการหารือกันคือ จะให้มีการจัดเก็บภาษีแวตสำหรับสินค้าที่ส่งเข้ามาในราชอาณาจักรไทยตั้งแต่บาทแรก ซึ่งคาดว่า ส่วนที่เกี่ยวข้องน่าจะอยู่ระหว่างดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แต่ละประเทศทั่วโลกต่างประสบปัญหาการอาศัยช่องทางการการยกเว้นภาษีดังกล่าวสำหรับการค้าขายสินค้าออนไลน์(อี-คอมเมิร์ซ) ดังนั้นศุลกากรแต่ละประเทศจึงได้ประสานความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูล

ขณะที่กรมศุลกากรเองยังมีมาตรการดูแลหลายมาตรการเช่น กรณีการส่งพัสดุเร่งด่วน มีข้อปฏิบัติให้บริษัทผู้ขนส่งส่งข้อมูลล่วงหน้ามายังกรมศุลกากร เพื่อการตรวจสอบ การเอ็กเรย์สินค้าในกล่อง รวมถึงประสานความร่วมมือกับไปรษณีย์ระหว่างประเทศ และการบริหารความเสี่ยงในการตรวจสอบสินค้า

“สำหรับสินค้าจีนที่เข้ามาทุ่มตลาดในไทยนั้น ไม่ได้เกิดจากการสำแดงราคาต่ำเกินจริง แต่เพราะสินค้าจีนราคาต่ำอยู่แล้ว จากการผลิตเพื่อส่งขายทั่วโลก  ทำให้ราคาต่อหน่วยต่ำ”นายชัยยุทธกล่าว

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง บริษัท ตลาดดอตคอม กรุ๊ป จำกัด ในฐานะหัวหน้าเจ้าหน้าที่ประสานงานกิจการภาครัฐ  สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thai E-Commerce Association)  กล่าวว่า ทางออกสำหรับการแก้ปัญหาสินค้าจีนล้นทะลักเข้ามาในไทยนั้น ภาครัฐควรตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลด้านอี-คอมเมิร์ซโดยเฉพาะ  เนื่องจากทุกวันนี้มีหลายหน่วยงานดูแล ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน    พร้อมทั้งดึงเอกชนหรือ ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วม

นอกจากนี้ต้องเข้าไปตรวจสอบมาร์เก็ตเพลสว่ามีรายการสินค้าจีนรายใดผิดกฎหมายไม่ถูกต้อง ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นภาครัฐดำเนินการแล้ว   คือ มีการคัดกรองสินค้าโดยใช้มาตรฐานและคุณภาพ เข้ามาตรวจสอบสินค้าจีน  

ทั้งมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) และอาหารและยา (อย.)   ขณะเดียวกันต้องมีมาตรการภาษีมาสกัดกั้น   หรือ สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการไทย   นอกจากนี้ภาครัฐต้องส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้นำสินค้าออกไปจำหน่ายในต่างประเทศมากขึ้น

อุปกรณ์เสริมมือถือฮิตสุด

สำหรับสินค้าจีนที่มียอดขายสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อุปกรณ์เสริมโทรศัพท์มือถือ 3.3 ล้านชิ้น, เครื่องใช้ไฟฟ้า 3.02 ล้านชิ้น ,เสื้อผ้า รองเท้าผู้หญิง 1.79 ล้านชิ้น, เกมและของเล่น 1.68 ล้านชิ้น และเสื้อผ้า รองเท้า ผู้ชาย 1.59 ล้านชิ้น ขณะที่สินค้าที่ได้รับความนิยมน้อย ได้แก่ สินค้าหมวดสุขภาพและความงาม และสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม

ขณะที่ หมวดสินค้าที่มีปริมาณการขายสูงกว่าสินค้าในประเทศ 5 อันดับแรก ได้แก่ เกมและของเล่น 1.68 ล้านชิ้น, เสื้อผ้า รองเท้าผู้ชาย 1.59 ล้านชิ้น, กีฬา และกิจกรรมกลางแจ้ง 1.5 ล้านชิ้น, เครื่องเสียง 1.2 ล้านชิ้น และเครื่องประดับผู้หญิง 9.51 แสนชิ้น

เศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจทั่วโลก บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ เจาะตลาดการวางแผนเศรษฐกิจ  เศรษฐกิจการเงิน เศรษฐกิจการลงทุน ติดตามข่าวเศรษฐกิจด่วน กระแสข่าวเศรษฐกิจ ที่ได้รับความสนใจ ได้ที่ doodido

ที่มา  ฐานเศรษฐกิจ