คลังเร่งดูแล ว่างงานพุ่งหนุนนโยบายคงดอกเบี้ย 0.50%

WM

ภาพจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย

ประคองเศรษฐกิจ สั่งคลังเร่งดูแลเผยว่างงานยังพุ่ง นโยบาย คงดอกเบี้ย 0.50% กนง.เอกฉันท์

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างหามาตรการที่เหมาะสมในระยะสั้น เพื่อดูแลค่าเงินบาท ที่กำลังเข้าสู่ภาวะแข็งค่า โดยมาตรการนั้นมีพร้อมใช้ แต่จะหยิบเครื่องมือใดจะต้องพิจารณาตามความความจำเป็นและเหมาะสม นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าว

เน้นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุดมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ  แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นกว่าคาด  แต่ก็ยังมีแนวโน้มที่ฟื้นตัวช้า  ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี

เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ   และยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง และยังเปราะบาง โดยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับดังกล่าว เพื่อรักษาขีดความสามารถและให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีขีดจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสม

WM
ภาพจาก pixabay

สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2563 แตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ แต่ก็ยังปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดไว้ แต่ก็ยังมีแนวโน้มที่ฟื้นตัวช้า โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ก่อนที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ระดับก่อนการระบาด

ส่งผลให้ตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง โดยในเดือน ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา มีอัตราการว่างงานขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.1% โดยเฉพาะรายได้ของแรงงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำลง ซึ่งจะทำให้กดดันการ บริโภคของภาคเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เมื่อปัจจัยต่างที่สนับสนุนประชาชนชั่วคราวได้หมดลง

ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ด้านระบบการเงินยังมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะมีความเปราะบางขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจและมีความเสี่ยงต่อฐานะการเงินของภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ   แต่สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปก็ยังมีแนวโน้มติดลบน้อยลงอีกจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น และจะอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายในปี 2564

ด้านการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนียวอยู่ในกรอบเป้าหมาย ขณะที่สภาพคล่องในระบบอยู่ในระดับสูง และต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ

สำหรับภาคธุรกิจและครัวเรือนบางส่วนที่ยังต้องการสภาพคล่องยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้นั้น โดยเฉพาะธุรกิจ SME  ส่วนด้านอัตราการแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐนั้น มีการปรับแข็งค่าขึ้นเร็วจากนักลงทุนต่างชาติที่กลับมาลงทุนในสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เพิ่มมากขึ้น ภายหลังผลการเลือกตั้งของสหรัฐฯ และความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19

“คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็ว ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางอยู่ จึงเห็นควรว่า  ให้มีการติดตามตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม”

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานภาครัฐมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยนโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการทางการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์

รวมทั้งผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลในวงกว้าง สำหรับมาตรการทางการคลังก็มีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จึงควรเร่งเบิกจ่ายและให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่เปราะบางอย่างตรงจุด ควบคู่กับการเร่งดำเนินนโยบายด้านอุปทานเพื่อปรับรูปแบบธุรกิจและยกระดับทักษะแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวยั่งยืนในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนนั้น  เต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

รวมทั้งติดตามความเพียงพอของมาตรการภาครัฐและปัจจัยต่างๆ ทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ความคืบหน้าของการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือน ในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

เศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจทั่วโลก บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ เจาะตลาดการวางแผนเศรษฐกิจ  เศรษฐกิจการเงิน เศรษฐกิจการลงทุน ติดตามข่าวเศรษฐกิจด่วน กระแสข่าวเศรษฐกิจ ที่ได้รับความสนใจ ได้ที่ doodido

ที่มา : ข่าวสด , efinancethai.com