ข้อควรรู้!! มะเร็งเต้านมกับความเข้าใจผิดๆ ที่ผู้หญิงต้องระวัง

WM

มะเร็งเต้านมเป็นภัยใกล้ตัวสำหรับผู้หญิงทุกคน หากเกิดความเข้าใจผิด ก็อาจจะปัญหาตามมา

ทุกคนรู้มั้ยคะว่าปัญหามะเร็งเต้านมเนี่ยเป็นที่หาที่ของสาวๆหลายประเทศทั่วโลกเลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะว่ามะเร็งเต้านมนั้นเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน ถึงแม้ผู้ชายก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้ แต่ก็เป็นอัตราส่วนที่น้อยค่ะ ดังนั้นวันนี้เราจึงมาบอกรายละเอียดถึง “เรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม” เพราะมะเร็งตัวนี้เป็นภัยใกล้ตัวสำหรับผู้หญิงทุกคนค่ะ หากเกิดความเข้าใจผิดแล้วล่ะก็อาจจะปัญหาตามมาในภายหลังก็ได้

แม้มะเร็งเต้านมจะเป็นโรคที่ได้ยินมานาน ได้ฟังมาบ่อย ใกล้ตัวคุณผู้หญิง และพบว่าเป็นมะเร็งร้ายอันดับ 1 ที่พบในผู้หญิงทั่วโลก แต่ยังมีความเข้าใจผิดบางอย่างเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมที่ควรรู้ ไม่ว่าจะเป็นข้อสงสัยเกี่ยวกับขนาดเต้านมเล็กเสี่ยงน้อยกว่าเต้านมใหญ่ มีก้อนเนื้อแต่ไม่เจ็บใช่มะเร็งเต้านมหรือไม่ จริงหรือไม่ที่รังสีจากเครื่องแมมโมแกรมทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม เป็นต้น จึงควรทำความเข้าใจให้ถูกต้อง

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/franio-4485/

มะเร็งเต้านม มะเร็งอันดับ 1 ของผู้หญิงทั่วโลก

เพราะมะเร็งเต้านมเป็นโรคมะเร็งในผู้หญิงที่พบมากเป็นอันดับ 1 ทั้งในตะวันตกและเอเชีย จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติระบุว่า มีผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมรายใหม่ประมาณ 20,000 คนต่อปีหรือ 55 คนต่อวัน ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นทุกปี

ตัวการมะเร็งเต้านม

สาเหตุการเกิดมะเร็งเต้านม ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่สัมพันธ์กับการเกิดโรค เช่น

  • มีอายุมากกว่า 50 ปี
  • ปัจจัยทางพันธุกรรม โดยเฉพาะหากครอบครัวมีญาติสายตรง เช่น มารดา พี่สาว น้องสาว หรือมีคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านมหลายคน หรือมีญาติเคยเป็นมะเร็งเต้านมพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง
  • ปัจจัยด้านฮอร์โมนเพศ คือ เริ่มมีประจำเดือนเมื่ออายุน้อยกว่า 12 ปี หรือประจำเดือนหมดช้าหลังอายุ 55 ปี
  • ผู้หญิงที่ไม่มีบุตรหรือมีบุตรคนแรกหลังอายุ 30 ปี
  • ผู้หญิงที่กินยาฮอร์โมนทดแทนหลังวัยทองเป็นระยะเวลานานเกิน 5 ปี มีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมได้
  • การดื่มสุรา เป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับโรค แต่ไม่ชัดเจนนัก
  • การกินยาคุมกำเนิด เป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับโรคอยู่บ้าง แต่ไม่ชัดเจนนัก

อาการมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านมอาจเรียกว่าเป็นโรคร้ายที่แฝงมาอย่างเงียบ ๆ เพราะอาการเริ่มต้นของมะเร็งเต้านม ส่วนใหญ่มักไม่รู้สึกเจ็บ จนกระทั่งก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น เมื่อนั้นผู้ป่วยจึงจะเริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น

  • มะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกจะเป็นก้อนเล็ก ๆ เหมือนกลุ่มหินปูน ซึ่งไม่สามารถคลำได้ อีกทั้งมักไม่มีอาการเจ็บ ผู้ป่วยที่รู้สึกเจ็บอาจพบเพียงแค่ 10% ซึ่งบ่งบอกได้ว่าก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ จนเกิดการบดเบียด ดึงรั้งหรือก้อนเนื้ออาจมีการอักเสบร่วมด้วย
  • สำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มาพบแพทย์มักจะอยู่ในระยะที่คลำเจอก้อนแล้ว เต้านมผิดรูปหรือเต้านมบุบ ซึ่งก้อนเนื้อหากมีขนาดใหญ่เกิน 1 เซนติเมตร แต่ยังไม่เกิน 2 เซนติเมตร และไม่มีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง ถือเป็นอาการในระยะที่ 1 แต่หากคลำเจอก้อนที่มีขนาดใหญ่เกิน 2 เซนติเมตร หรือมีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง มักเป็นอาการในระยะที่ 2 หรือ 3 แล้ว ซึ่งการตรวจเจอในระยะเริ่มต้น เช่น ในระยะ 0 หรือระยะที่ยังไม่มีการลุกลาม โอกาสที่จะรักษาให้หายนั้นมีสูงถึง 95 – 100% หากเจอในระยะที่ 1 โอกาสหายจะเหลือ 90% ระยะที่ 2 มากกว่า 70 – 80% ส่วนระยะที่ 3 ประมาณ 60 – 70% ที่มีโอกาสรักษาให้หายและไม่กลับเป็นซ้ำอีก
WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/alarconaudiovisual-4350688/

ป้องกันรักษามะเร็งเต้านม

ควรตรวจเช็กเต้านมด้วยตนเองตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไปเป็นประจำทุกเดือน เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจทางรังสีด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram) ร่วมกับอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) อย่างน้อยปีละ  1 ครั้ง เพื่อเป็นการตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มต้น หรือระยะก่อนลุกลามเพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิตหรืออัตราการรักษาให้หาย หากก้อนที่ตรวจเจอจากแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์มีลักษณะที่บ่งบอกว่ามีโอกาสเป็นมะเร็ง แพทย์จะทำการเจาะชิ้นเนื้อมาตรวจโดยใช้เข็ม ซึ่งเป็นการตรวจที่คนไข้ไม่ต้องเจ็บตัวมากและไม่ทำให้เนื้องอกมีการแบ่งหรือแพร่กระจาย

สำหรับการรักษาโรคมะเร็งเต้านม หลัก ๆ คือการผ่าตัดสำหรับมะเร็งระยะที่ยังไม่มีการแพร่กระจาย ซึ่งปัจจุบันสามารถผ่าตัดได้ทั้งแบบสงวนเต้าหรือผ่าออกเฉพาะบางส่วนที่มีปัญหา หรือผ่าตัดออกทั้งเต้าแล้วเสริมสร้างเต้านมใหม่โดยใช้เนื้อเยื่อของผู้ป่วยหรือซิลิโคน ส่วนการรักษาเสริมด้วยวิธีอื่น ๆ ในกรณีที่มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นแล้ว มีทั้งการให้เคมีบำบัด การฉายแสง การให้ยาต้านฮอร์โมน และให้ยาออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงกับเซลล์มะเร็ง

หากมะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ จะทำการให้ยาเคมีบำบัดเป็นตัวหลัก เพราะการผ่าตัดอาจไม่ช่วยในเรื่องที่มะเร็งแพร่กระจาย อย่างไรก็ตาม หากมะเร็งแพร่ไปยังอวัยวะที่ไม่สำคัญ เช่น กระดูกและผิวหนัง ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อีกนาน แต่หากกระจายไปที่ตับ ปอด หรืออวัยวะภายใน อัตราการรอดชีวิตจะลดลง ทั้งนี้การรักษาแบบประคับประคองในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยได้

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/silviarita-3142410/

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม

1) อาหารไขมันสูง ของมัน และของทอดเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม

ข้อเท็จจริง อาหารไม่ได้เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านม แต่อาหารบางอย่างจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม เช่น อาหารไขมันสูง เมื่อรับประทานมาก ๆ จะสะสมกลายเป็นไขมันในร่างกาย และเปลี่ยนไปเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งฮอร์โมนเพศมีผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านม ส่วนอาหารพวกเนื้อสัตว์ไม่ได้พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านมด้วยเช่นกัน นอกจากนี้การบริโภคพืชผักหรือไฟเบอร์จะช่วยลดการเกิดมะเร็งได้ทุกชนิดรวมทั้งมะเร็งเต้านมด้วย

2) การสวมชุดชั้นในขณะนอนหลับเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม

ข้อเท็จจริง ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยัน แม้ในอดีตจะมีหนังสือตีพิมพ์ว่า การสวมชุดชั้นในขณะนอนหลับจะเกิดการบีบรัดระบบน้ำเหลือง ทำให้ระบบน้ำเหลืองไหลเวียนไม่สะดวกและมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถยืนยันได้ถึงความเกี่ยวพันดังกล่าว การสวมชุดชั้นในขณะหลับจึงไม่ได้เป็นการเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด

3) หากไม่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมก็จะไม่เป็นมะเร็งเต้านม

ข้อเท็จจริง เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะมะเร็งเต้านมมีความสัมพันธ์กับพันธุกรรมแค่ 10% และมะเร็งเต้านมในปัจจุบันเกิดขึ้นได้เองมากกว่าเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

WM
ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/th/users/foundry-923783/

4) ผู้หญิงที่มีเต้านมเล็กมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมน้อยกว่าผู้หญิงเต้านมใหญ่

ข้อเท็จจริง ไม่เป็นความจริง ปัจจัยเรื่องขนาดไม่ได้มีผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านม เพราะฉะนั้นผู้หญิงที่มีเต้านมเล็กและใหญ่ มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้เท่าๆ กัน

5) ทำแมมโมแกรมบ่อยๆ เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม

ข้อเท็จจริง ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยัน อีกทั้งรังสีที่ใช้ในการตรวจแมมโมแกรมมีปริมาณน้อย รวมทั้งการตรวจเช็กแมมโมแกรมเพียงปีละ 1 ครั้งไม่ได้มีอันตรายหรือเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับบทความที่ DooDiDo นำมาฝาก “เรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม” ทุกคนเข้าใจผิดกันไปแล้วกี่ข้อเอ่ย? ที่ผ่านมาถึงแม้ว่าจะเกิดความเข้าใจผิดกันบ้าง หากยังไม่สายเกินแก้ก็ไม่เป็นไรเลยค่ะ ถ้าหากเรามีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้วล่ะก็เราก็จะมีพฤติกรรมที่ถูกต้อง และสาวๆ ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งเต้านมได้ค่ะ

ขอบคุณแหล่งที่มา: www.wattanosothcancerhospital.com