ก่อสร้อย เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง ช่วยเจริญอาหาร แก้ปวดเมื่อย

WM

ภาพจาก medthai

สรรพคุณของสมุนไพร ก่อสร้อย เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง ช่วยเจริญอาหาร แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

ก่อสร้อย จัดเป็นสมุนไพรไม้ยืนต้น มีความสูงได้ประมาณ 20 เมตร เปลือกต้นเป็นสีเทาและมีลายเป็นทางสีดำ เปลือกนอกจะลอกออกเป็นแผ่นงอม้วน ลักษณะของลำต้นกิ่งมีช่องอากาศเป็นตุ่ม ๆ จำนวนมาก ตามยอดอ่อนจะมีขนปกคลุมเล็กน้อย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง เป็นพรรณไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีอากาศเย็น มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย เนปาล ภูฏาน พม่า ลาว และเวียดนาม ในประเทศไทยพบขึ้นทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมักจะพบขึ้นในพื้นที่ที่มีอากาศเย็น ตามภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800-900 เมตร ขึ้นไป เช่น บนดอยอินทนนท์ ดอยปุย ในจังหวัดเชียงใหม่, บริเวณภูกระดึง ภูหลวง จังหวัดเลย เป็นต้น[1],[2]

ก่อสร้อย ชื่อวิทยาศาสตร์ Carpinus viminea Wall. ex Lindl. จัดอยู่ในวงศ์กำลังเสือโคร่ง (BETULACEAE)[1],[2]

สมุนไพรก่อสร้อย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กำลังเสือโคร่ง (น่าน), ก่อสร้อย สนสร้อย ส้มพอหลวง (เลย), ก่อหัด (เพชรบูรณ์), เส่ปอบบล๊ะ เส่ปอบมละ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) เป็นต้น[1],[2]

WM
ภาพจาก medthai

ลักษณะของก่อสร้อย

ใบก่อสร้อย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลมเป็นหางยาว โคนใบแหลม มนกลม หรือเว้าเล็กน้อย ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยซ้อนกัน 2 ถึง 3 ชั้น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-11 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนา ผิวใบด้านล่างมีขนเล็กน้อยตามเส้นกลางใบ เส้นแขนงใบมีข้างละ 10-12 เส้น เส้นใบย่อยเป็นเส้นตรงและเส้นขนานกัน ซึ่งจะเห็นได้ชัดทั้งสองด้าน ส่วนก้านใบมีขน ยาวได้ประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร[1],[2]

ดอกก่อสร้อย ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ในต้นเดียวกัน แยกกันอยู่คนละช่อ ช่อดอกเพศผู้จะออกตามซอกใบ เป็นช่อห้อยลงมา ยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร มีใบประดับลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายแหลม มีสันนูน และมีขนตามขอบเล็กน้อย อับเรณูมีขนยาว ๆ กระจุกหนึ่งอยู่ด้านบน ส่วนช่อดอกเพศเมียจะออกบริเวณยอด โดยจะออกเป็นช่อตั้งตรงหรือเกือบตรง ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร มีดอกห่าง ๆ ใบประดับเป็นรูปยาวแคบ[1],[2]

ผลก่อสร้อย ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายผลแหลม ยาวประมาณ 5-7 มิลลิเมตร เปลือกผลแข็ง และมีเส้นนูนตามยาว 7-8 เส้น มีต่อมให้ยางเหนียวเป็นจุด ๆ และทั้งสองข้างจะมีใบประดับเจริญขึ้นเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอก ยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ข้างซ้ายและข้างขวาจะมีขนาดไม่เท่ากัน มีเส้นนูน 3-4 เส้น ส่วนขอบจักหรือหยัก[1],[2]

สรรพคุณของก่อสร้อย

  • เปลือกต้นใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (เปลือกต้น)[1]
  • เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร (เปลือกต้น)[1]
  • ใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ (เปลือกต้น)[1]
  • ใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บำรุงเส้นเอ็น (เปลือกต้น)[1]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ก่อสร้อย”.  หน้า 46-48.
  2. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ก่อสร้อย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.