กำแพงเจ็ดชั้น เป็นสมุนไพรช่วยฟอกโลหิตบำรุงหัวใจ แก้โลหิตเป็นพิษ

สรรพคุณของสมุนไพร กำแพงเจ็ดชั้น ช่วยฟอกโลหิตบำรุงหัวใจ แก้โลหิตเป็นพิษ

กำแพงเจ็ดชั้น สมุนไพรที่ขึ้นชื่อเรื่องการช่วยบำรุงโลหิตในร่างกาย (คนละชนิดกันกับต้น “ว่านกำแพงเจ็ดชั้น”) เป็นพันธุ์ไม้ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพราะอัตราการเกิดและการอยู่รอดมีความเสี่ยงต่อการถูกบุกรุกและทำลายมาก ในบางพื้นที่ของป่าตามชุมชนต่าง ๆ ก็มีจำนวนจำกัด ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจในการเพาะและขยายพันธุ์เพื่อใช้ปลูกทดแทนในป่า และส่งเสริมให้มีการปลูกตามหัวไร่ปลายนาในชุมชนต่อไป

กำแพงเจ็ดชั้น ชื่อวิทยาศาสตร์ Salacia chinensis L. จัดอยู่ในวงศ์กระทงลาย (CELASTRACEAE)

สมุนไพรกำแพงเจ็ดชั้น มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตะลุ่มนก (ราชุบรี), ตาไก้ ตาใกล้ (พิษณุโลก), ขอบกระด้ง พรองนก (อ่างทอง), กระดุมนก (ประจวบคีรีขันธ์), น้ำนอง มะต่อมไก่ (ภาคเหนือ), ขาวไก่ ตาไก่ ตากวาง เครือตากวาง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), หลุมนก (ภาคใต้), กลุมนก เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของกำแพงเจ็ดชั้น

ต้นกำแพงเจ็ดชั้น จัดเป็นไม้เถาหรือไม้พุ่มรอเลื้อยเนื้อแข็ง มีความสูงของต้นประมาณ 2-6 เมตร เปลือกต้นเรียบ มีสีเทานวล ด้านในเนื้อไม้มีวงปีเป็นสีน้ำตาลแดงเข้มจำนวนหลายชั้นเห็นได้ชัดเจน เรียงซ้อนกันอยู่ประมาณ 7-9 ชั้น สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ตามป่าชายทะเล ตามป่าดิบริมแหล่งน้ำหรือที่โล่ง และป่าเบญจพรรณ ที่มีความระดับความสูงถึง 600 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด[1],[2],[3]

ต้นกำแพงเจ็ดชั้นสมุนไพรกำแพงเจ็ดชั้น

ใบกำแพงเจ็ดชั้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน สลับตั้งฉาก ลักษณะของแผ่นใบเป็นรูปวงรี หรือรูปวงรีกว้าง หรือรูปวงรีแกมใบหอก หรือรูปไข่ หรือรูปไข่หัวกลับ ใบกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร ปลายใบแหลมหรือมน ส่วนโคนสอบ ขอบเป็นหยักหยาบ ๆ แผ่นใบค่อนข้างหนา หลังใบเรียบเป็นมัน มีสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเรียบ เนื้อใบกรอบ ผิวด้านบนและด้านล่างของใบค่อนข้างหนาและเป็นมัน มีเส้นแขนงของใบประมาณ 4-10 คู่ และมีก้านใบยาวประมาณ 0.6-1.5 เซนติเมตร[1]

ดอกกำแพงเจ็ดชั้น ออกดอกเป็นช่อ แบบเป็นกระจุกหรือช่อแยกเป็นแขนงสั้น ๆ ตามซอกใบหรือกิ่งก้าน ดอกมีขนาดเล็ก มีสีเหลืองหรือสีเขียวอมเหลือง ดอกมีกลีบ 5 กลีบ ปลายกลีบดอกมนและบิดเล็กน้อย แกนดอกนูนเป็นวงกลม มี 3-6 ดอกในแต่ละช่อ กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่กว้างหรือรูปรี มีความยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ มีขนาดเล็กมาก

ลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายมนกลม ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ที่ขอบเป็นชายครุย ส่วนจานฐานดอกเป็นรูปถ้วยลักษณะคล้ายถุง และมีปุ่มเล็ก ๆ อยู่ตามขอบ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร มีเกสรตัวผู้อยู่ 3 ก้าน ติดบนขอบจานของฐานดอก ก้านเกสรสั้น มีอับเรณูเป็นรูปส้อม ปลายเกสรชนกันเป็นยอดแหลม และยังมีรังไข่ซ่อนอยู่ในจานฐานดอก 3 ช่อง มีออวุล 2 เม็ดในแต่ละช่อง ก้านเกสรตัวเมียสั้น และก้านดอกมีความยาวประมาณ 6-10 มิลลิเมตร ออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม[1]

ผลกำแพงเจ็ดชั้น ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม เป็นรูปกระสวยกว้างหรือรูปรี ผิวเกลี้ยง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร โดยผลอ่อนจะมีสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือสีแดงอมส้ม และภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด ลักษณะกลม มีขนาดใกล้เคียงกับผล ผลสามารถรับประทานได้[1]

สรรพคุณของกำแพงเจ็ดชั้น

  • ลำต้นกำแพงเจ็ดชั้นช่วยบำรุงโลหิต ด้วยการใช้ลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มก่อนอาหารวันละ 1-2 ช้อนชา ช่วงเช้าและเย็น หรืออีกสูตรให้ใช้ผสมเข้ากับเครื่องยารากชะมวง รากตูมกาขาว และรากปอก่อน (ลำต้น) หรือจะใช้รากนำมาต้มหรือดองเป็นสุราไว้ดื่มก็ได้เช่นกัน (ราก)[1]
  • ช่วยบำรุงกำลัง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[6]
  • ช่วยฟอกโลหิต แก้โลหิตเป็นพิษทำให้ร้อน แก้โลหิตจาง ด้วยการใช้ต้นผสมเข้ายากับเปลือกต้นมะดูก (ต้น) หรือจะใช้รากนำมาต้มหรือดองสุราดื่ม ก็ช่วยดับพิษร้อนของโลหิตเช่นกัน (ราก)[1],[2]
  • เถากำแพงเจ็ดชั้นช่วยบำรุงหัวใจ (เถา)[4],[5]
  • รากใช้ต้มหรือดองกับสุราดื่มช่วยบำรุงน้ำเหลือง (ราก)[1],[5]
  • ช่วยแก้อาการผอมแห้งแรงน้อย (ใช้ต้นผสมกับเปลือกต้นมะดูก)[1]
  • ช่วยแก้เบาหวาน ด้วยการใช้ลำต้นผสมเข้ากับเครื่องยาแก่นสัก รากทองพันชั่ง หัวข้าวเย็นเหนือ หัวข้าวเย็นใต้ หัวร้อยรู และหญ้าชันกาดทั้งต้น (ต้น) ส่วนในกัมพูชาจะใช้เถาของต้นกำแพงเจ็ดชั้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคเบาหวาน (เถา)[1]
  • รากมีรสเมาเบื่อฝาด ใช้ต้มหรือดองกับสุราดื่ม ช่วยแก้ลมอัมพฤกษ์ (ราก)[1]
  • รากช่วยรักษาโรคตา (ราก)[1]
  • ต้นและเถาช่วยแก้ไข้ (ต้น, เถา)[5]
  • ช่วยแก้ประดง (ใช้ต้นผสมกับเปลือกต้นมะดูก)[1], (เถา)[5]
  • ช่วยแก้หืด ด้วยการใช้ลำต้นผสมเข้ากับเครื่องยาแก่นพลับพลา แก่นโมกหลวง แก่นจำปา ต้นสบู่ขาว ต้นคำรอก และต้นพลองเหมือด (ต้น)[1]
  • ช่วยแก้เสมหะ (ต้น)[5]
  • ลำต้นใช้ปรุงเป็นยาระบาย โดยใช้เข้ากับเครื่องยาคอแลน ตากวง ดูกไส พาสาน และยาปะดง (ลำต้น) หรืออีกสูตรให้ใช้ผสมเข้ากับเครื่องยารากชะมวง รากตูมกาขาว และรากปอด่อน (ต้น) หรือจะใช้รากและแก่นกำแพงเจ็ดชั้น นำมาต้มเป็นน้ำดื่มเป็นยาระบายก็ได้เช่นกัน (แก่น, ราก)[1]
  • ช่วยขับผายลม (ใช้ต้นผสมกับเปลือกต้นมะดูก)[1],[2]
  • ดอกช่วยแก้อาการบิดมูกเลือด (ดอก)[1],[5]
  • ลำต้นใช้ปรุงเป็นยาขับปัสสาวะ โดยใช้เข้ากับเครื่องยา แก่นตากวง แก่นตาไก้ แก่นตาน แก่นดูกไส และแก่นตานกกด (ลำต้น)[1],[5]
  • ช่วยแก้มุตกิด ช่วยฟอกและขับระดูขาว ขับน้ำคาวปลาของสตรี ด้วยการใช้ต้นผสมเข้ายากับเปลือกต้นมะดูก หรือจะใช้ใบหรือรากกำแพงเจ็ดชั้นก็ได้เช่นกัน (ต้น, ใบ, ราก)[1],[2],[5]
  • ในฟิลิปปินส์มีการใช้รากกำแพงเจ็ดชั้นเข้ากับยาแผนโบราณเพื่อช่วยบำบัดอาการปวดประจำเดือน (ราก)[3]
  • ลำต้นใช้ปรุงเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร โดยใช้เข้ากับเครื่องยา แก่นกระถิน ปูนขาว และว่านงวงช้าง แล้วนำมาต้ม (ลำต้น)[1]
  • ช่วยแก้น้ำดีพิการ (ต้น)[5]
  • เถาช่วยแก้ซางให้ตาเหลือง (เถา)[5]
  • ช่วยรักษาโรคตับอักเสบ (ใช้ต้นผสมกับเปลือกต้นมะดูก)[1]
  • หัวช่วยรักษาบาดแผลเรื้อรัง (หัว)[5]
  • ช่วยรักษาตะมอยหรือตาเดือน (หัว)[5]
  • ลำต้นใช้ปรุงเป็นยาแก้ปวดเมื่อย โดยใช้เข้ากับเครื่องยา ตากวง ตาไก่ ขมิ้นเกลือ ดูกหิน ตับเจ่า และอ้อยดำ (ให้ใช้เฉพาะลำต้นของทุกต้นนำมาต้มน้ำดื่ม) หรือจะใช้ลำต้นนำมาต้มน้ำดื่ม หรือนำไปดองกับสุราก็ได้เช่นกัน (ต้น)[1]
  • แก่นและรากใช้ต้มน้ำดื่มเป็นแก้เส้นเอ็นอักเสบ (แก่น, ราก)[1]
  • ช่วยแก้อาการปวดตามข้อ แก้ไขข้อพิการ เข้าข้อ (ใช้ต้นผสมกับเปลือกต้นมะดูก)[1],[2]
  • ในภูมิภาคอินโดจีนใช้เข้ายาพื้นบ้านเพื่อช่วยลดกำหนัดหรือความต้องการทางเพศ (ผล)[3]

ประโยชน์ของกำแพงเจ็ดชั้น

  • นอกจากจะใช้เป็นยาสมุนไพรแล้ว ผลก็สามารถใช้รับประทานได้เช่นกัน (ผล)[1],[3]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.
  2. มูลนิธิสุขภาพไทย.  “กำแพงเจ็ดชั้น ไม้ชื่อแปลกช่วยบำรุงโลหิต”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org.
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์.  อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 7.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.
  4. กรมปศุสัตว์.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dld.go.th.
  5. เดอะแดนดอตคอม.  “Gallery ดอกกำแพงเจ็ดชั้น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.the-than.com.
  6. ส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “การศึกษาความหลากหลายพรรณพืชสมุนไพร ในพื้นที่โครงการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ โครงการพัฒนาส่วนพระองค์ จังหวัดชุมพร”.  (ชัยรัตน์ รัตนดำรงภิญโญ).