กาฬพฤกษ์ ใช้เป็นยาสมุนไพร ถ่ายพิษไข้ แก้พิษไข้ ยาระบายในเด็ก

สรรพคุณของสมุนไพร กาฬพฤกษ์ ใช้เป็นยาถ่ายพิษไข้ แก้พิษไข้ ยาระบายในเด็ก

กาฬพฤกษ์ จัดเป็นสมุนไพรพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงได้ถึง 20 เมตร ลักษณะลำต้นคล้ายคลึงกับต้นคูนหรือต้นราชพฤกษ์ เรือนยอดเป็นพุ่มหรือแผ่กว้าง โคนต้นมักมีพูพอน เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ แตกเป็นร่องลึก ตามกิ่งอ่อน ใบอ่อน และช่อดอกมีขนนุ่มสีน้ำตาลขึ้นหนาแน่น ยอดอ่อนเป็นสีแดง พรรณไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเขตร้อน และมีเขตการกระจายพันธุ์ในเขตร้อนทั่วไป ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือการตอนกิ่ง เป็นพรรณไม้ที่มีปลูกกันทั่วไปตามบ้านและวัด ทั่วทุกภาคของประเทศ[1],[2],[3]

กาฬพฤกษ์ ชื่อสามัญ Horse cassia, Pink Shower[1],[2]

หมายเหตุ : ต้นกาฬพฤกษ์ที่กล่าวถึงในบทความนี้ เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับต้นกัลปพฤกษ์ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia bakeriana Craib ดอกมีสีชมพู), ต้นชัยพฤกษ์ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia javanica L. ดอกมีสีชมพูเข้ม) และต้นราชพฤกษ์ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia fistula L. ดอกมีสีเหลือง) ส่วนต้นกาฬพฤกษ์นั้นจะมีดอกมีเป็นสีส้มอมแดง

กาฬพฤกษ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia grandis L.f. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[1],[2]

สมุนไพรกาฬพฤกษ์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เปลือกขม (ปราจีนบุรี), กัลปพฤกษ์ (กรุงเทพมหานคร), กาลพฤกษ์ ไชยพฤกษ์ ราชพฤกษ์ (ภาคกลาง), กานล์ กาลส์ (เขมร), กาฬพฤกษ์ยอดแดง เป็นต้น[1],[2],[4] (คำว่า “กาฬ” และคำว่า “พฤกษ์” นั้น จะแปลตรง ๆ ได้ว่า “ต้นไม้สีดำ”)

ลักษณะของกาฬพฤกษ์

ใบกาฬพฤกษ์ ใบมีขนาดเล็กลักษณะคล้ายใบแคฝรั่งหรือใบขี้เหล็ก โดยเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ แกนกลางใบประกอบยาวได้ประมาณ 15-30 เซนติเมตร ก้านใบประกอบยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร มีใบย่อยประมาณ 10-20 คู่ เรียงจากเล็กไปหาใหญ่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบมนมีติ่งหรือหยักเว้าเล็กน้อย โคนใบเบี้ยว มีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร แผ่นใบบางเรียบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยงเป็นมันหรือมีขนประปราย ส่วนด้านล่างมีขนขึ้นหนาแน่น ใบอ่อนหรือยอดอ่อนเป็นสีแดง[1],[2],[3]

ดอกกาฬพฤกษ์ ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกเป็นแบบช่อกระจะ ออกตามกิ่งพร้อมกับผลิใบอ่อน ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ใบประดับเป็นรูปไข่ ปลายแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ร่วงได้ง่าย

ดอกมีลักษณะคล้ายดอกต้นเชอร์รี่และมีกลิ่นหอม ดอกกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับถึงค่อนข้างกลม มีขนาดกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร มีขนนุ่ม ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ เมื่อเริ่มบานจะเป็นสีแดงคล้ำแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูอมส้มตามลำดับ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ มีขนาดกว้างประมาณ 8-10 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร

ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน มีขนาดยาวไม่เท่ากัน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกจะมี 3 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 3 เซนติเมตร กลุ่มที่ 2 มี 5 อัน ก้านชูอับเรณูจะสั้น ส่วนกลุ่มที่ 3 จะมี 2 อัน ก้านชูอับเรณูสั้นมากและอับเรณูจะฝ่อ รังไข่มีลักษณะเรียวโค้ง มีขนหนานุ่ม เกสรดอกเป็นสีเหลือง ออกดอกในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม[1],[2],[3]

ผลกาฬพฤกษ์ ผลมีลักษณะเป็นฝักค่อนข้างกลม เป็นแท่งหรือรูปทรงกระบอกยาว โคนและปลายสอบ เปลือกฝักหนาแข็งเป็นสีค่อนข้างดำ ผิวขรุขระ มีรอยแตก ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร ที่ขอบฝักเป็นสันตามแนวยาวทั้งสองข้าง ผิวฝักมีรอยแตก ฝักแก่จะแห้งแล้วไม่แตก เนื้อในของฝักเป็นสีขาวและแห้ง จะซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 20-40 เมล็ด[1],[2],[3]

เมล็ดกาฬพฤกษ์ เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปรี รูปไข่ ถึงรูปขอบขนาน เมล็ดอ่อนเป็นสีครีม ส่วนเมล็ดแก่เป็นสีน้ำตาล มีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-1.8 เซนติเมตร[1],[2],[3]

สรรพคุณของกาฬพฤกษ์

  • เนื้อในฝักใช้เป็นยาแก้พิษไข้ (เนื้อในฝัก)[1]
  • เปลือกและเมล็ด ใช้รับประทานเป็นยาทำให้อาเจียน และเป็นยาถ่ายพิษไข้ได้ดี (เปลือก, เมล็ด)[1],[3]
  • เนื้อในฝักใช้ปรุงรับประทานเป็นยาระบายอ่อน ๆ ระบายอุจจาระธาตุ แก้พรรดึกไม่ไซ้ท้อง และระบายท้องเด็กได้ดีมาก โดยสามารถรับประทานได้ถึงครั้งละ 8 กรัม จะไม่ปวดมวนและไม่ไซ้ท้องเลย แต่ความแรงของยานี้จะสู้ต้นคูนไม่ได้ (เนื้อในฝัก)[1],[3],[4]

ประโยชน์ของกาฬพฤกษ์

  • คนสมัยก่อนจะใช้เนื้อในฝักกินกับหมาก[4]
  • เนื้อไม้และเปลือกมีสารฝาด สามารถนำมาใช้ในการฟอกหนังได้[4]
  • นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป และจัดเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลแก่จังหวัดบุรีรัมย์[2]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “กาลพฤกษ์”.  หน้า 62.
  2. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กาฬพฤกษ์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.
  3. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กาฬพฤกษ์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.
  4. สำนักศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาชุมชน, มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี.  “กาฬพฤกษ์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จา ก: www.rbru.ac.th/db_arts/rbruflower/pdf/Grandis.pdf.