การะเกด ใช้ปรุงเป็นยาหอมชุ่มชื่นหัวใจ แก้โรคในอกแก้เสมหะ

สรรพคุณของ การะเกด ใช้ปรุงเป็นยาหอมชุ่มชื่นหัวใจ แก้โรคในอก เจ็บอก เจ็บคอ แก้เสมหะ

การะเกด จัดเป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้น ลำต้นมักแตกกิ่งก้านสาขา มีรูปทรงคล้ายต้นเตย สูงได้ประมาณ 3-7 เมตร มีรากอากาศค่อนข้างยาวและใหญ่ มีเขตการกระจายพันธุ์ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน และนำไปปลูกกันทั่วไป ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะหรือริมน้ำ ดินทรายชายทะเล ลำห้วย ริมลำธาร สามารถพบขึ้นได้ตามชายหาดและพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทะเล[1]

การะเกด ชื่อสามัญ Screwpine[2]

การะเกด ชื่อวิทยาศาสตร์ Pandanus tectorius Parkinson ex Du Roi จัดอยู่ในวงศ์เตยทะเล (PANDANACEAE)

สมุนไพรการะเกด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า การะเกด การะเกดด่าง ลำเจียกหนู (กรุงเทพมหานคร), เตยด่าง เตยหอม (ภาคกลาง) เป็นต้น[1]

หมายเหตุ :

ต้นการะเกดที่กล่าวถึงในบทความนี้เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับต้นเตยทะเล (Seashore Screwpine) ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pandanus odorifer (Forssk.) Kuntze (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Pandanus odoratissimus L.f.)

ลักษณะของการะเกด

ใบการะเกด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับกันเป็น 3 เกลียวที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปรางน้ำ แผ่นใบค่อย ๆ เรียวแหลมไปหาปลายใบ ส่วนขอบใบมีหนามแข็งยาวประมาณ 0.2-1 เซนติเมตร ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.7-2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-9 เซนติเมตร แผ่นใบด้านล่างมีนวล[1]

ดอกการะเกด ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ต่างต้นกัน ดอกจะออกที่ปลายยอดและมีจำนวนมาก ติดอยู่บนแกนช่อ ดอกจะไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก โดยช่อดอกเพศผู้จะมีลักษณะตั้งตรง ยาวได้ประมาณ 25-60 เซนติเมตร มีกาบสีนวลหุ้ม มีกลิ่นหอม เกสรเพศผู้จะติดรวมอยู่บนก้านซึ่งยาวประมาณ 0.8-2 เซนติเมตร ส่วนช่อดอกเพศเมียนั้นจะมีลักษณะค่อนข้างกลม ประกอบไปด้วยเกสรเพศเมียเชื่อมติดกัน 3-5 อัน เป็นกลุ่มประมาณ 5-12 กลุ่ม ในแต่ละกลุ่มจะมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร ที่ปลายมีลักษณะหยักตื้นเป็นร่องระหว่างยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียจะเรียงกันเป็นวง[1]

ผลการะเกด ลักษณะของผลจะเบียดกันแน่นเป็นก้อนกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10-20 เซนติเมตร แต่ละผลมีขนาดกว้างประมาณ 2-6.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-7.5 เซนติเมตร เมื่อสุกจะมีกลิ่นหอม โคนสีเหลือง ตรงกลางเป็นสีแดง ส่วนตรงปลายยอดเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง ผลที่สุกแล้วจะมีโพรงอากาศจำนวนมาก[1]

สรรพคุณของการะเกด

  • ดอกมีกลิ่นหอม รสสุขุม ใช้ปรุงเป็นยาหอม ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ ใช้เป็นยาแก้โรคในอก เจ็บอก เจ็บคอ แก้เสมหะ บำรุงหัวใจ และบำรุงธาตุ (ดอก)[2],[3]
  • ยอดใช้ต้มกับน้ำให้สตรีดื่มตอนหลังคลอดบุตรใหม่ ๆ[3]
  • ประโยชน์ของการะเกด
  • ผลแก่จัด (ผิวผลเป็นสีแดง) สามารถนำมารับประทานได้ ซึ่งจะมีรสชาติคล้ายสับปะรด[3]
  • ดอกหอมใช้รับประทานได้ มีรสขมเล็กน้อย[2]
  • ดอกใช้อบกลิ่นเสื้อผ้าให้หอม (สตรีโบราณนิยมนำมาใส่หีบ เพื่ออบกลิ่นเสื้อผ้าให้หอม)[2],[3]
  • ใช้ดอกไปเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวหรือมันหมู แล้วปรุงเป็นน้ำมันใส่ผม ซึ่งในสมัยก่อนนิยมใช้กันมาก[2],[3]
  • ใบการะเกดสามารถนำมาใช้ในงานจักสานทำเป็นเครื่องมือใช้สอยต่าง ๆ ได้ดี เช่น กระสอบ เสื่อ หมวก กระเป๋า ฯลฯ เป็นวัตถุดิบของงานหัตถกรรมที่ดีและหาได้ง่าย[3]
  • การะเกดเป็นไม้ที่มีรูปทรงเฉพาะตัวที่สวยงามแปลกตา ดอกมีกลิ่นหอม ปลูกเลี้ยงได้ง่าย มีความทนทาน อายุยืนยาว และหาพันธุ์ปลูกได้ง่าย จึงสามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้ดี (เหมาะสำหรับปลูกตามที่ชื้นแฉะหรือริมฝั่งน้ำ)[1],[3]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “การะเกด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.
  2. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “การะเกด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.
  3. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 312 คอลัมน์ : ต้นไม้ใบหญ้า.  (เดชา ศิริภัทร).  “การะเกด : ความหอมในกลิ่นอายชาตินิยม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.