กะเม็ง เป็นสมุนไพรบำรุงเลือด บำรุงร่างกายให้แข็งแรง แก้แน่นหน้าอก

WM

ภาพจาก medthai

ประโยชน์ของ กะเม็ง  เป็นสมุนไพรบำรุงเลือด บำรุงร่างกายให้แข็งแรง แก้อาการปวดเมื่อย

กะเม็ง จัดเป็นสมุนไพรไม้ล้มลุกขนาดเล็กที่ทอดไปตามพื้นตั้ง มีความสูงประมาณ 10-60 เซนติเมตร ลำต้นมีสีเขียวหรือสีน้ำตาลแดงและมีขนละเอียด บางต้นค่อนข้างเกลี้ยง และจะแตกกิ่งก้านที่โคนต้น[1],[2],[4],[5]

กะเม็ง มีชื่อสามัญ False daisy, White head, Yerbadetajo herb มีชื่อเครื่องยาว่า Herba Ecliptae

กะเม็ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Eclipta prostrata (L.) L. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE) เช่นเดียวกับกะเม็งตัวผู้[1],[2],[8]

สมุนไพรกะเม็ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กะเม็งตัวเมีย กาเม็ง คัดเม็ง (ภาคกลาง), หญ้าสับ ฮ่อมเกี่ยว ห้อมเกี้ยว (ภาคเหนือ), บังกีเช้า (จีน), ฮั่นเหลียนเฉ่า (จีนกลาง), บักอั่งเน้ย, อั่วโหน่ยเช่า, เฮ็กบักเช่า (จีน-แต่จิ๋ว) เป็นต้น[1],[2],[8],[11]

กะเม็ง มีทั้ง “กะเม็งตัวผู้” และ “กะเม็งตัวเมีย” จำกันง่าย ๆ ก็คือ กะเม็งตัวผู้ดอกมีสีเหลืองใหญ่ ส่วนกะเม็งตัวเมียดอกมีสีขาวและมีขนาดเล็ก และในบทความนี้เราจะพูดถึงเฉพาะกะเม็งตัวเมียครับ

ใบกะเม็ง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปหอกเรียวยาว ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบเป็นรอยเว้าเข้าเล็กน้อยทั้งสองด้าน ขอบใบเรียบหรือเป็นจักห่าง ๆ ประมาณ 2-3 จักช่วงปลายใบ ขอบใบทั้งสองด้านมีขนสั้น ๆ สีขาว ใบกว้างประมาณ 0.8-2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4-10 เซนติเมตร ก้านใบไม่มี (ถ้าเกิดในที่แห้งแล้งใบจะมีขนาดเล็ก แต่ถ้าเกิดในที่ชุ่มชื้นมีน้ำมากใบจะใหญ่) [1],[2],[5]

ดอกกะเม็ง ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่น ออกดอกเป็นช่อเดี่ยวที่บริเวณยอด หรือ 1-3 ช่อบริเวณง่ามใบ ดอกวงนอกรูปลิ้น เป็นดอกเพศเมีย มีประมาณ 3-5 ดอก กลีบดอกมีสีขาว ส่วนดอกวงในกลีบดอกติดกันเป็นหลอด ที่ปลายแยกเป็นกลีบ 4 กลีบ มีสีขาวและเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ส่วนก้านดอกเรียวยาว มีความยาวประมาณ 2-4.5 เซนติเมตร[1],[5]

ผลกะเม็ง ผลมีลักษณะเป็นรูปลูกข่าง มีสีเหลืองปนดำ เมื่อนำมาขยี้ดูจะมีน้ำสีดำออกมา ส่วนผลแก่แห้งมีสีดำไม่แตก ปลายผลมีรยางค์เป็นเกล็ดยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ขนาดของผลยาวประมาณ 3-3.5 มิลลิเมตรและกว้างประมาณ 1.5 มิลลิเมตร[1],[2],[5]

WM
ภาพจาก medthai

สรรพคุณของกะเม็ง

  • ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ โดยใช้เข้ายาอายุวัฒนะได้หลายตำรับ มีทั้งใช้เดี่ยวและใช้ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ด้วยการทำเป็นผงหรือปั้นเป็นยาลูกกลอน ทำเป็นยาชงดื่มแทนชา หรือใช้ผสมกับน้ำผึ้งกินทุกวันเดือนดับ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าเป็นต้น)[12]
  • ต้นกะเม็งใช้เป็นยาบำรุงเลือด (ต้น[1],[3], ราก[4])
  • รากใช้ต้มเอาแต่น้ำกิน ช่วยแก้โรคโลหิตจาง (ราก)[5]
  • ใช้เป็นยาบำรุงร่างกายให้แข็งแรง แก้อาการปวดเมื่อย โดยใช้ต้นผสมกับพริกไทยและน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นลูกเล็ก ๆ (ต้น)[5]
  • ช่วยแก้โรคกระษัย ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาคั้นเอาแต่น้ำ กรองด้วยผ้าขาวบางผสมกับน้ำร้อนครึ่งแก้ว ผสมกับน้ำผึ้งแท้ 1 ใน 3 ส่วนของน้ำร้อนแล้วนำมารับประทานจะช่วยแก้กษัยได้ สูตรนี้ยังช่วยขับปัสสาวะและเป็นยาอายุวัฒนะอีกด้วย (ทั้งต้น)[13]
  • ทั้งต้นมีสรรพคุณช่วยแก้มะเร็ง (อาการเป็นแผลเรื้อรัง เน่าลุกลาม และรักษายาก) (ต้น[5], ทั้งต้น[4])
  • มีการใช้กะเม็งในการรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการนำต้นกะเม็งมาตากแดดให้แห้งแล้วนำไปคั่วให้พอหอม นำมาชงกับน้ำร้อนใช้ดื่มเป็นชา (ต้น)[12],[13]
  • น้ำคั้นจากต้นช่วยรักษาอาการดีซ่าน (ทั้งต้น)[4]
  • ช่วยรักษาอาการทางประสาท เป็นลมวิงเวียน มีอาการชักเกร็ง มือเกร็งและเกี่ยวกัน (อาการคล้ายกับโรค Hyperventilation) โดยใช้กะเม็งเป็นตัวยาหลักนำมาตำคั้นเอาน้ำผสมกับสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมอื่น ๆ เช่น ว่านหอมเปราะ ขิง เป็นต้น แล้วนำน้ำคั้นมาจิบกิน และใช้ผ้าชุบน้ำผสมน้ำคั้นดังกล่าวนำมาเช็ดหน้าและคลุมหัวไว้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าเป็นต้น)[12],[13]
  • ช่วยแก้อาการปวดศีรษะข้างเดียว (ลมตะกัง) ด้วยการใช้น้ำคั้นจากต้นนำมาหยอดที่จมูกเวลามีอาการปวด (ต้น)[2],[13]
  • ใช้แก้อาการมึนศีรษะ ตาลาย (ต้น)[8]
  • ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับตา (ราก)[5] ช่วยแก้อาการเจ็บตา แก้ตาแดง ด้วยการใช้ทั้งต้นประมาณ 1 กำมือนำมาต้มใส่น้ำตาลพอหวานเล็กน้อย ต้มให้เดือดประมาณ 15 นาทีแล้วนำมาดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 ครั้ง (ต้น, ทั้งต้น)[11],[13]
  • ช่วยแก้อาการหูอื้อ (ต้น)[8]

  • ช่วยแก้หืด (ทั้งต้น)[4] หอบหืด (ราก)[5]
  • ช่วยแก้หลอดลมอักเสบ (ทั้งต้น[4], ราก[5])
  • ใช้ต้นนำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำหอม ใช้สูดดมช่วยแก้ไข้หวัดและโรคดีซ่าน (ต้น)[5]
  • ช่วยลดไข้ในเด็กได้ ด้วยการใช้รับประทานหรือนำมาต้มน้ำอาบ (ต้น)[9],[10]
  • ช่วยแก้หวัด อาการน้ำมูกไหลของทารก (ใบ)[5]
  • แก้อาการไอเป็นเลือด ก้อนเลือด ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 20-60 กรัม นำมาตำคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำอุ่นกิน (ต้น)[2],[5],[13]
  • ช่วยแก้อาการไอกรน (ต้น)[11]
  • ช่วยแก้อาการเลือดกำเดาไหล ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 1 กำมือ ล้างให้สะอาดแล้วนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำผสมกับเหล้าต้มกินหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง และในขณะที่มีเลือดกำเดาไหลที่จมูกก็ให้ตำคั้นเอาน้ำชุบสำลีอุดจมูกไว้ จะช่วยห้ามเลือดได้ดี (ต้น)[2],[13]
  • ช่วยทำให้อาเจียน (ใบ, ราก)[1],[4]
  • ช่วยแก้อาเจียนเป็นเลือด กระอักเลือด ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 120 กรัม นำมาตำชงกับปัสสาวะเด็กกิน (ต้น)[2],[5],[13]
  • หากปากและเหงือกเป็นแผล ให้ใช้ต้นนำมาอมแล้วบ้วนจะช่วยรักษาแผลได้ (ต้น)[12]
  • ช่วยแก้เด็กปากเปื่อย ปากเจ็บเนื่องจากเชื้อรา ด้วยการใช้น้ำคั้นจากใบของต้น 2 หยดผสมกับน้ำผึ้ง 8 หยด แล้วนำมาใช้ทาแผลเปื่อยเป็นประจำ (ใบ)[2],[12]
  • ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้ต้นสดนำมาผิงไฟให้แห้งแล้วบดเป็นผง นำมาใช้ทาบริเวณเหงือกจะช่วยแก้อาการปวดฟันได้ (ต้น)[2],[12] หรือใช้ดอกและใบนำมาต้มแล้วทาบริเวณเหงือก หรือนำดอกและใบมาต้มน้ำให้งวด แล้วนำมาใช้อม (ดอก, ใบ)[5],[13]
  • ช่วยแก้คอตีบ ขับเสลด โดยใช้ต้น 60-90 กรัม นำมาบดใส่เกลือเล็กน้อยใช้ชงกับน้ำกิน จะช่วยขับเสลดออกมา (ต้น)[2],[5]
  • ช่วยแก้อาการเจ็บคอ (ต้น)[11]
  • ช่วยแก้อาการแน่นหน้าอก (ราก)[5]
  • ช่วยแก้ลมให้กระจาย แก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง (ต้น)[11]
  • รากกะเม็งใช้เป็นยาขับลม แก้อาการท้องเฟ้อ (ราก)[1],[4]
  • ช่วยแก้อาการจุกเสียด (ทั้งต้น)[4]
  • ช่วยแก้อาการท้องร่วง (ราก)[5]
  • ใบและรากใช้เป็นยาถ่าย (ใบ, ราก)[4]
  • ช่วยแก้บิดถ่ายเป็นเลือด ด้วยการใช้ต้นแห้งประมาณ 30 กรัม ถ้าต้นสดให้ใช้ประมาณ 120 กรัม นำมาต้มน้ำกินติดต่อกัน 3-4 วัน (ต้น)[2],[3],[13] ส่วนรากก็ช่วยแก้โรคบิดเช่นกัน (ราก)[5]
  • ช่วยแก้เลือดออกในลำไส้และในปอด หรือมีแผลภายในมีเลือดออก ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 10 กรัม ผสมน้ำตาลกรวดต้มกิน หรือจะการใช้เมล็ดนำมาผิงไฟให้แห้งแล้วบดให้เป็นผงผสมกับน้ำข้าว ใช้กินวันละ 2 กรัม (ต้น, เมล็ด)[2],[13]
  • ช่วยรักษาลำไส้อักเสบ (ต้น)[2],[5]
  • ต้นช่วยแก้อุจจาระเป็นเลือด (ต้น)[5]
  • ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ต้น)[11]
  • ช่วยบำรุงอวัยวะเพศ (ต้น)[5] ช่วยบำบัดอาการบกพร่องของอวัยวะเพศทั้งชายและหญิง ช่วยเสริมพลังทางเพศ ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ทั้งต้น)[13]
  • ช่วยรักษาหนองใน ปัสสาวะเป็นเลือด ด้วยการใช้ใบสดและใบผักกาดน้ำสด ๆ อย่างละเท่า ๆ กันประมาณ 60 กรัม นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำกินวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (ใบ)[2],[13] ส่วนต้นก็ช่วยรักษาอาการปัสสาวะเป็นเลือดเช่นกัน (ต้น)[5]
  • ช่วยแก้อาการฝันเปียกอันเนื่องมาจากภาวะหยินของตับและไตพร่อง (ต้น)[8]
  • ช่วยแก้อาการตกขาวมากของสตรี ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ ด้วยการใช้ต้นประมาณ 30 กรัม นำมาต้มกินกับหมูหรือเป็ดก็ได้ (ต้น)[2],[5],[13]
  • ช่วยรักษาตับอักเสบเรื้อรัง ด้วยการใช้ต้นประมาณ 3-4 ต้น นำมาต้มให้เดือด เติมน้ำตาลเล็กน้อยพอหวาน ใช้ดื่มไม่เกิน 2 วัน จะช่วยแก้ตับอักเสบ บวมช้ำ และช่วยป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลายจากสารพิษต่าง ๆ ป้องกันไม่ให้เซลล์ตับถูกทำลายจากไวรัส และช่วยฟื้นฟูตับ (ต้น)[2],[13]
  • ช่วยบำรุงไต (ต้น)[2],[5] อั่วโหน่ยเช่ามีรสเปรี้ยวอมหวานและเย็น มีฤทธิ์ช่วยบำรุงตับและไต (ต้น)[8]
  • หากเริ่มเป็นโรคไต ถ้าเป็นได้ไม่นานก็ให้ใช้ทั้งต้นแห้ง 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำจนเดือด ใช้ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน และเย็น หรือจะใช้ต้มดื่มแทนน้ำทั้งวันก็ได้ โดยจะช่วยล้างสารพิษที่ตกค้างในไตจนหมด ทำให้ไตสมบูรณ์ ร่างกายแข็งแรง และไม่มีอาการปวดเมื่อย นอกจากนี้ยังช่วยในการชะลอวัย ทำให้ผิวพรรณดูสดใส ไม่ตกกระอีกด้วย หรืออีกสูตรให้เอาต้นมะเก็ง ต้นงวงช้าง น้ำนมราชสีห์อย่างละเท่ากัน นำมาตำให้ละเอียดผสมน้ำ คั้นเอาแต่น้ำรับประทานทุกวัน (ทั้งต้น)[13]
  • ช่วยบำรุงตับและม้าม แก้ตับอักเสบ (ราก)[4],[5]
  • ช่วยแก้ช่องคลอดเป็นผื่นคัน ด้วยการใช้ต้นประมาณ 120 กรัม นำมาต้มเอาน้ำผสมสารส้มใช้ชะล้าง (ต้น)[2],[13]
  • ใบกะเม็งนำมาโขลกเพื่อใช้พอกแผลสดเพื่อห้ามเลือด (ใบ)[1], เป็นยาฝาดสมาน (ต้น[5], ทั้งต้น[4]), ต้นมีฤทธิ์ในการห้ามเลือด ทำให้เลือดเย็น ช่วยแก้อาการเลือดออกเพราะภาวะหยินพร่องที่ทำให้เลือดร้อน เช่น อาการตกเลือดในสตรี ถ่ายหรือปัสสาวะเป็นเลือด ไอเป็นเลือด เลือดกำเดาไหล เป็นต้น (ต้น)[8] และยังช่วยป้องกันการติดเชื้อได้อีกด้วย[12]
  • ใช้เป็นยาห้ามเลือด ช่วยแก้บาดแผลมีเลือดออก รักษาแผลตกเลือด โดยใช้ต้นสดนำมาตำแล้วพอกแผล ถ้าเป็นต้นแห้งให้นำมาบดเป็นผงแล้วใช้โรยที่แผล (ต้น)[2],[3],[11],[13] หรือใช้ใบนำมาตำแล้วพอกแผลก็ช่วยห้ามเลือดได้ (ใบ)[5]
  • ช่วยแก้อาการอักเสบ บวมช้ำ ด้วยการใช้ต้นสด 3-4 ต้น นำมาล้างให้สะอาดแล้วนำไปต้มน้ำให้เดือดประมาณ 10 นาที แล้วผสมน้ำตาลทรายลงไปพอให้มีรสหวาน แล้วนำมาใช้ดื่มไม่เกิน 2 วัน อาการจะดีขึ้น (ต้น)[12]
  • ช่วยแก้อาการอักเสบเนื่องจากถูกแมลงสัตว์กัดต่อย ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำแล้วพอกบริเวณที่ถูกกัด (ไม่ได้ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าเป็นต้น)[12]
  • ช่วยรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก มีอาการฟกช้ำ อาการแพ้ได้เป็นอย่างดี ด้วยการใช้ต้นนำมาบดตำแล้วพอกที่แผล จะช่วยลดอาการอักเสบ อาการปวดแสบปวดร้อนได้ โดยให้พอกไปเรื่อย ๆ และเปลี่ยนยาบ่อย ๆ อาการอักเสบจะดีขึ้นเอง (ไม่ได้ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าเป็นต้น)[12],[13]
  • น้ำคั้นจากต้นใช้ทาแก้ขี้กลาก (ต้น)[1] ช่วยแก้กลาก เกลื้อน (ทั้งต้น)[4] รักษาโรคผิวหนังเป็นกลากเกลื้อนเนื่องจากเชื้อรา (ใบ)[5]
  • ต้นใช้ทาพอกแก้ผื่นคัน แก้ฝีพุพอง (ต้น)[11]
  • ช่วยรักษาโรคผิวหนังผื่นคันจากการทำนา โรคผิวหนังเรื้อรัง ช่วยรักษาอาการน้ำกัดเท้า เนื่องจากการศึกษาวิจัยพบว่ากะเม็งนั้นมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย ส่วนวิธีการใช้ ก็ให้ใช้น้ำคั้นจากใบสดนำมาทาบริเวณมือและเท้า แล้วปล่อยให้แห้งก่อนหรือหลังการลงไปทำนาจะช่วยป้องกันมือเท้าเปื่อยได้ แต่ถ้ามือเท้าเปื่อยอยู่แล้วก็ให้ใช้น้ำคั้นจากใบนำมาทารักษาวันละ 2 ครั้ง จนกว่าจะหาย (ใบ)[2],[3],[12]
  • ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยบริเวณเอวและหัวเข่า (ต้น)[8]
  • รากกะเม็ง ช่วยแก้อาการเป็นลมหน้ามืดหลังการคลอดบุตร (ราก)[4]

คำแนะนำและข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรกะเม็ง

  • ต้นกะเม็งตัวเมียที่นำมาใช้ทำยา ควรนำมาทำยาตอนสด ๆ เพราะถ้าเก็บไว้นานประสิทธิภาพจะเสื่อมไป[2]
  • การเก็บกะเม็งเพื่อใช้เป็นยานั้น ควรเก็บมาทั้งต้นในขณะที่ต้นเจริญเต็มที่และกำลังออกดอก เมื่อเก็บมาแล้วก็ล้างเศษดินออกให้สะอาด แล้วนำมาหั่นเป็นท่อน ๆ หรือเป็นชิ้นเล็ก ๆ นำมาตากหรือผึ่งให้แห้ง แล้วเก็บไว้ที่แห้งและเย็น และยากะเม็งแห้งที่ดีควรมีสีเขียว ไม่มีเชื้อราหรือไม่มีสิ่งอื่นมาเจือปน[3]
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการม้ามพร่อง ไตหยินพร่อง มีอาการปัสสาวะบ่อย ๆ ไม่หยุด หรือถ่ายเป็นน้ำมาก[8]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของต้นกะเม็ง

  • กะเม็งมีฤทธิ์ในการเพิ่ม T-lymphocyte และยังมีการศึกษาในตำรับยาจีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า AFE ซึ่งมีกะเม็งเป็นส่วนประกอบ โดยสูตรยาดังกล่าวจะช่วยเพิ่มระดับของ Lymphocyte และ IgG ซึ่งเป็นสารที่สำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกัน และสมุนไพรชนิดนี้ยังช่วยทำให้เยื่อหุ้มเซลล์เม็ดเลือดแดงแข็งแรงขึ้น
  • จึงมีการนำมาใช้เป็นยาอายุวัฒนะ และอาจมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเอดส์โดยการใช้เป็นยาเสริมภูมิคุ้มกัน และยังมีฤทธิ์ในการลดการกดภูมิคุ้มกันซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้รักษาความปกติของร่างกายในขณะได้รับเคมีบำบัด[12]
  • การนำสารสกัดเมทานอลของกะเม็งแห้งทั้งต้นมาสกัดแยกส่วนตามคุณสมบัติการละลายด้วยไดคลอโรมีเทน, บิวทานอล และเอทิลอะซิเตต แล้วนำสารสกัดแต่ละส่วนมาตรวจหากลุ่มสารเบื้องต้น จะพบสารกลุ่มคูมาริน, ไตรเทอร์พีนอยด์, ฟีโนลิก, วงแลกโทน และสเตียรอยด์
  • เมื่อนำสารสกัดในส่วนของเอทิลอะซิเตตมาแยกจะพบสารสำคัญคือ Wedelolactone และตรวจสอบด้วยเทคนิค TLC, HPLC, HRMS และ NMR หลังจากนั้นก็นำสารสกัดหยาบ, สารสกัดจากไดคลอโรมีเทน, บิวทานอล, เอทิลอะซิเตต และ Wedelolactone มาทดสอบฤทธิ์การยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH พบว่าสารเหล่านี้แสดงการยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระได้เป็นอย่างดี[14]
  • การใช้แก้คอตีบ ให้ใช้ทั้งต้นล้างสะอาด นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำผึ้งอย่างละเท่ากัน ให้เด็กกินวันละ 100 cc. โดยแบ่งให้กินวันละ 4 ครั้ง และควรแบ่งให้เหมาะกับสุขภาพของคนไข้ด้วย เช่น ถ้าหากคนไข้มีโรคแทรกซ้อนเกี่ยวกับโรคหัวใจก็ให้พักผ่อนมาก ๆ ฉีดกลูโคสและวิตามินบำรุงด้วย ถ้าคนไข้มีโรคแทรกซ้อนเป็นปอดบวมหรือหลอดลมอักเสบ ก็ให้เพิ่มยารักษาอาการแทรกซ้อนนั้นด้วย และถ้าคนไข้มีอาการถึงขั้นหายใจไม่ออกแล้ว ก็ต้องเจาะคอช่วยด้วย เป็นต้น
  • ซึ่งผลจากการรักษาคนไข้จำนวน 92 ราย พบว่า หาย 84 ราย เสียชีวิต 8 ราย และยังได้ทดสอบเพิ่มอีก 37 ราย พบว่าหาย 35 ราย และเสียชีวิต 2 ราย โดยครึ่งหนึ่งอาการไข้จะลดลงเป็นปกติภายใน 24 ชั่วโมง
  • นอกนั้นต้องใช้เวลา 48-72 ชั่วโมง ยกเว้นเพียง 18 รายที่ต้องเจาะคอช่วย นอกนั้นจะหายใจได้คล่องภายใน 2-3 วัน ส่วนพวกเยื่อหุ้มจมูกและต่อมทอนซินอักเสบ ปกติแล้วรักษาด้วยวิธีนี้จะหายภายใน 3-4 วัน จำนวนเม็ดเลือดขาวจะกลับสู่ระดับปกติตามอุณหภูมิของร่างกาย[2]
  • การแก้วัณโรคปอดและอาการไอเป็นเลือด ให้ใช้ทั้งต้นร่วมกับรากหญ้าคาทำเป็นยาฉีด ใช้เป็นยาฉีด 1 cc. (ต้น 0.5 กรัม, รากหญ้าคา 0.5 กรัม) ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งละ 4 cc. วันละ 2-3 ครั้ง สำหรับพวกที่มีอาการอาเจียนเป็นเลือดออกมาก ๆ
  • ให้ใช้ยานี้ 4 cc. เพิ่มกลูโคส 50% และผสมกับยาระงับประสาท 20 cc. ใช้ฉีดวันละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกัน 4-5 วัน โดยอาการข้างเคียงที่อาจพบได้คือ อาการสั่น แต่เมื่อเหงื่อออกก็หาย ซึ่งเกิดจากการเตรียมยาที่ไม่ดีพอ [2]
  • มีงานศึกษาวิจัยจำนวนมากที่ระบุว่ากะเม็งสามารถช่วยป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลายจากสารพิษ รวมทั้งจากแอลกอฮอล์ ช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์ตับถูกทำลายจากไวรัส และยังช่วยในการฟื้นตัวของตับที่ถูกทำลายอีกด้วย[12]
  • มีรายงานว่าสมุนไพรกะเม็งสามารถช่วยแก้ความเป็นพิษที่ตับ ที่เกิดจากการทำให้เซลล์ตับเป็นพิษด้วยสารพิษบางชนิด พบว่าได้ผลดี ทั้งยังพบว่ามีฤทธิ์แก้ไข้และช่วยแก้แพ้ในหนูขาวและหนูถีบจักรได้ ดังนั้นจึงยืนยันได้ว่า กะเม็งนั้นสามารถนำมาใช้ในการรักษาโรคตับอักเสบ โรคผิวหนังเป็นผื่นคันได้[3]
  • สารสกัดน้ำและสารสกัดบิวทานอลมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ Staphylococcus aureus และ Escherichia coli ในหลอดทดลอง และสารสกัดมีฤทธิ์ช่วยปกป้องตับจากสารพิษ Carbon tetrachloride ในหนูตะเภาเพศเมียได้ผลดี[9]
  • ต้นกะเม็งมีฤทธิ์ในการห้ามเลือดสุนัขเมื่อใช้ภายนอกได้เป็นอย่างดี และยังช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงหัวใจของหนูตะเภาได้ดีขึ้น[9]
  • กะเม็งมีฤทธิ์คลายเครียด ช่วยทำให้นอนหลับ โดยสมุนไพรชนิดนี้มีฤทธิ์ในการเพิ่มระดับของ Melatonin ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จะหลั่งออกมาในตอนกลางคืน ซึ่งสารนี้จะช่วยในการปรับสภาพร่างกายให้เหมาะแก่การนอนหลับ จึงช่วยในเรื่องการนอนหลับได้[12]
  • จากการศึกษาพิษเฉียบพลันด้วยการใช้ผงยาทางปากกับหนูถีบจักร พบว่า LD มีค่าเท่า 163.4 กรัม/กิโลกรัม[9]
  • เมื่อผู้ป่วยโรคหัวใจได้รับประทานสารสกัดจากต้นกะเม็งในขนาด 15 กรัมต่อครั้ง วันละ 2 ครั้ง ต่อติดกันเป็นเวลา 1 เดือน พบว่าสารสกัดดังกล่าวสามารถช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ อาการเค้นอก หายใจติดขัด มีอาการแน่นหน้าอก และอาการปวดหลังได้ผลเป็นอย่างดี[9],[10]
  • จากการนำกะเม็งมาทำเป็นสารสกัดหยาบแล้วนำไปทดสอบฤทธิ์ พบว่าสามารถช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อ HIV ในหลอดทดลองได้ โดยสารออโรบอล (Orobol) และสารเวเดโลแลคโตน (Wedelolactone) ที่แยกได้จากใบของต้นกะเม็ง มีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อินทีเกรส (HIV-1 integrase) ซึ่งมีหน้าที่เชื่อมสาย DNA ของเชื้อไวรัสเข้ากับ DNA ของคน จึงช่วยทำให้เชื้อไวรัส HIV ไม่สามารถแพร่กระจายไปสู่เซลล์อื่น ๆ ได้อีก แต่ผลการทดลองดังกล่าวยังอยู่ในระดับหลอดทดลองเท่านั้น
  • เพราะการจะพัฒนาเป็นยาต้านไวรัสจากสารสกัดบริสุทธิ์คงต้องใช้เวลาศึกษาวิจัยอีกหลายขั้นตอนและใช้เวลาอีกนาน รวมไปถึงการทดสอบความเป็นพิษในสัตว์ทดลองด้วย (ข่าวเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2553) (รศ.ดร.สุภิญญา ติ๋วตระกูล นักวิจัยและอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)[6]

ประโยชน์ของต้นกะเม็ง

  • ทั้งต้นใช้ผสมกับลูกมะเกลือดิบ นำมาโขลกใช้ย้อมสีผ้าให้ดำได้[1]
  • น้ำคั้นจากต้นใช้ย้อมสีผมให้ดำ ทำให้คิ้วหนวดดกดำ[1],[2]
  • ช่วยแก้ผมหงอกก่อนวัย ด้วยการใช้น้ำคั้นจากต้นเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันงา ใช้ทาให้ทั่วศีรษะจะช่วยทำให้ผมดกดำขึ้น และช่วยแก้ปัญหาผมหงอกก่อนวัย[3],[5]
  • ในประเทศอินเดียมีการใช้น้ำคั้นจากต้นสดมาใช้สัก เพื่อให้รอยสักเป็นสีเขียวคราม[1]
  • มีผลงานการทดลองของโรงเรียนนิยมศิลป์อนุสรณ์ อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ ได้ทดลองการทำหมึกโรเนียวจากต้นกะเม็ง โดยผลการทดลองพบว่าเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับหมึกโรเนียวในท้องตลาด จะได้ตัวอักษรที่ชัดเจนและแห้งเร็ว[7]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กะเม็ง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.
  2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน.  นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 7 คอลัมน์: สมุนไพรน่ารู้.  “กะเม็งตัวเมีย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.
  3. ศูนย์สมุนไพรทักษิณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.  “กะเม็ง สมุนไพรที่ไม่ควรมองข้าม”.  (รศ.ดร.สนั่น ศุภธีรสกุล ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: herbal.pharmacy.psu.ac.th.
  4. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “กะเม็ง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th.
  5. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).
  6. ผู้จัดการออนไลน์.  “วิจัย กะเม็ง-กระชาย มีฤทธิ์ต้านไวรัส HIV”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th.
  7. ฐานข้อมูลโครงงานวิทยาศาสตร์ ห้องสมุด สสวท..  โรงเรียนนิยมศิลป์อนุสรณ์ อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์.  “การทำหมึกโรเนียวจากกะเม็ง”.  (มัธยมต้น ชนะเลิศประกวดรางวัลที่ 1 สาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ภาคเหนือตอนล่าง ปี 2545).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: elib.ipst.ac.th.
  8. สถาบันการแพทย์ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้.  “อั่วโหน่ยเช่า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: tcm.dtam.moph.go.th.
  9. Zhang Y, Lin ZB. Herba Ecliptae: mo han lian In: Wang BX, Ma JK, Zheng WL, Qu SY, Li R, Li YK (eds.). Modern study of pharmacology in traditional Chinese medicine. 2nd ed. Tianjin: Tianjin Science & Technology Press, 1999.
  10. Institute of Medicinal Plant Development and Institute of Materia Medica, Chinese Academy of Medicinal Sciences. Chinese Materia Medica. Vol. IV. 2nd ed. Beijing: Renmin Weisheng Publishing House, 1988.
  11. ภูมิปัญญาอภิวัฒน์.  “กะเม็งสมุนไพรดูแลตับไตหัวใจ ห้ามเลือด แก้บิด ผมหงอกเร็ว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.budmgt.com.
  12. ฟาร์มเกษตร.  “สมุนไพรกะเม็ง”.  อ้างอิงใน: thrai.sci.ku.ac.th/node/936.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.farmkaset.org.
  13. “กะเม็งตัวเมีย ยอดยาดีหมอพื้นบ้าน”.  (จำรัส เซ็นนิล).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.jamrat.net.  [7 ธ.ค. 2013].
  14. ฐานข้อมูลการประชุมวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “พฤกษเคมี และการยับยั้งการเกิดออกซิเดชันในเบื้องต้นของกะเม็ง”.  (พจมาน พิศเพียงจันทร์, สรัญญา วัชโรทัย, อุไรวรรณ ดิลกคุณานันท์, อุดมลักษณ์ สุขอัตตะ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: kucon.lib.ku.ac.th.