กอมก้อห้วย เป็นสมุนไพรมีสรรพคุณขับเหงื่อ บำรุงร่างกาย บำรุงธาตุ

WM

ภาพจาก medthai

สรรพคุณของสมุนไพร กอมก้อห้วย เป็นยาขับเหงื่อ บำรุงร่างกาย บำรุงธาตุ

กอมก้อห้วย จัดเป็นสมุนไพรพรรณไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่ม มีอายุหลายปี มีความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้าน ลำต้นและกิ่งก้านมีลักษณะเป็นสันเหลี่ยมและเป็นร่องตื้น ๆ มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลขึ้นปกคลุมหนาแน่น มีเขตการกระจายพันธุ์ในจีน อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย พม่า และฟิลิปปินส์ ส่วนในประเทศไทยพบตามขอบชายป่า ตามที่รกร้าง ที่โล่งแจ้ง ที่ระดับความสูงจนถึง 2,400 เมตร[1],[2],[3]

กอมก้อห้วย ชื่อวิทยาศาสตร์ Anisomeles indica (L.) Kuntze (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Epimeredi indicus (L.) Rothm.) จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)[1],[2]

สมุนไพรกอมก้อห้วย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สาบเสือ (สระบุรี), หญ้าฝรั่ง (ประจวบคีรีขันธ์) เป็นต้น[1]

WM
ภาพจาก medthai

ลักษณะของกอมก้อห้วย

ใบกอมก้อห้วย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปไข่แกมวงรี ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลมสั้น โคนใบตัดถึงเป็นรูปลิ่มกว้าง ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยแกมหยักโค้ง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-9 เซนติเมตร แผ่นใบด้านบนมีขนหยาบ ส่วนด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม ก้านใบยาวประมาณ 1-4.5 เซนติเมตร[1],[2]

ดอกกอมก้อห้วย ออกดอกเป็นช่อเชิงลด โดยจะออกเป็นกระจุกที่ซอกใบ ใบที่ออกดอกมีก้านสั้นถึงไม่มี ใบประดับยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงดอกเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก มีขน มีต่อมสีเหลือง มีขนครุย กลีบย่อยนั้นมีขนาดประมาณ 1.3 เซนติเมตร ด้านนอกเกลี้ยง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกออกเป็นกลีบ ด้านบนเป็นรูปขอบขนาน สีขาว ด้านล่างหยักเป็นพู 3 พู ส่วนตรงกลางแผ่กว้าง มีสีม่วงเข้ม ส่วนข้างเป็นรูปไข่สีขาว ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน เชื่อมติดกันสองกลุ่ม ขนาดยาวไม่เท่ากัน ยื่นพ้นหลอดกลีบดอก รังไข่เกลี้ยง[1],[2]

ผลกอมก้อห้วย ผลเป็นผลแห้งไม่แตก ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวยหรือรูปเกือบกลม สีดำเป็นมัน มีขนาดประมาณ 1.5 มิลลิเมตร[1],[2]

สรรพคุณของกอมก้อห้วย

  • ต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงธาตุ (ต้น)[3]
  • ใบใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาบำรุงธาตุ แก้รูมาติซึม (ใบ)[3]
  • ใช้เป็นยาแก้ไข้ (ต้น)[3]
  • ใบใช้ชงกับน้ำกินเป็นยาขับเหงื่อ (ใบ)[3]
  • ต้นใช้เป็นยาขับลม ขับปัสสาวะ (ต้น)[3]
  • ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ใบกอมก้อห้วย นำมาเคี้ยวพ่นลงบนบริเวณที่ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย (ใบ)[1]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “กอมก้อห้วย”.  หน้า 103.
  2. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “กอมก้อห้วย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.
  3. คุยเฮิร์บ (KUIHERB).  “กอมก้อห้วย, สาบเสือ, หญ้าฝรั่ง”.  อ้างอิงใน : หนังสือสมุนไพรไทย ตอนที่ 6.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.inf.pharm.su.ac.th/~kuiherb/.