กวาวเครือแดง สมุนไพรช่วยบำรุงสุขภาพร่างกายและยาอายุวัฒนะ

WM

ภาพจาก medthai

สรรพคุณของ สมุนไพร กวาวเครือแดง ช่วยบำรุงสุขภาพร่างกาย และใช้เป็นยาอายุวัฒนะ

กวาวเครือแดง จัดเป็นไม้เถายืนต้นขนาดใหญ่ อายุยิ่งมากเท่าไหร่ เถาก็จะยิ่งใหญ่และกลายเป็นต้น แต่ยังส่งเถาเลื้อยไปพาดพันตามต้นไม้ที่อยู่ในบริเวณใกล้ ๆ ลักษณะของใบคล้ายใบทองกวาว แต่ใบจะใหญ่กว่ามาก แต่ถ้าเป็นใบอ่อนจะมีขนาดเท่ากับใบพลวงหรือใบของต้นสัก ส่วนต้นหากใช้มีดฟันจะมียางสีแดงคล้ายโลหิตออกมา หากขุดโคนต้น ก็จะพบรากขนาดใหญ่เท่าน่องขาเลื้อยออกมาจากต้นโดยรอบ มีความยาวประมาณ 2 วา ขึ้นอยู่กับอายุและขนาดของลำต้น

สมุนไพรชนิดนี้จะพบได้มากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกของประเทศ ไล่ตั้งแต่ชายแดนไทย-พม่าตรงถึงภาคเหนือ เป็นไม้ที่ชอบขึ้นตามภูเขาสูง และในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธุ์ จะออกดอกเป็นดอกสีส้มเหลืองคล้ายดอกทองกวาวบานสะพรั่งอยู่บนยอดดอย แต่ในปัจจุบันใช่ว่าจะหาได้ง่ายนัก เพราะมีไม่มากเท่ากวาวเครือขาว[8]

กวาวเครือแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Butea superba Roxb. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE) เช่นเดียวกับกวาวเครือขาว

สมุนไพรกวาวเครือแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กวาวเครือ กวาวหัว ตานจอมทอง จานเครือ จอมทอง ไพมือ ไพ้ตะกุ เป็นต้น โดยกวาวเครือแดงจะมีหัวอยู่ใต้ดิน ลักษณะของหัวเป็นรูปทรงกระบอก มีหลากหลายขนาด เมื่อสะกิดที่เปลือกจะมียางสีแดงข้นลักษณะคล้ายเลือดไหลออกมา[1]

สมุนไพรกวาวเครือแดง เป็นสมุนไพรสำหรับเพศชายอย่างแท้จริง เพราะมีสรรพคุณในการบำรุงร่างกาย เป็นยาอายุวัฒนะ และที่สำคัญที่สุดยังช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ช่วยเพิ่มจำนวนของอสุจิ มีฤทธิ์เพิ่มความแข็งตัวของอวัยวะเพศ เช่นเดียวกับยาไวอากรา

WM
ภาพจาก medthai

สรรพคุณของกวาวเครือแดง

  • หัวกวาวเครือแดง มีรสเย็นเบื่อเมา ช่วยบำรุงสุขภาพร่างกาย และใช้เป็นยาอายุวัฒนะ (หัว)[1]
  • ช่วยทำให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายมีอายุยืนยาวขึ้น ช่วยทำให้ร่างกายและเนื้อเยื่อเสื่อมช้าลง[4]
  • ผลช่วยเจริญธาตุไฟในร่างกาย (ผล)[3]
  • ช่วยบำรุงผิวพรรณ บำรุงสุขภาพเนื้อหนังให้เต่งตึง (หัว)[1]
  • ช่วยทำให้หน้าอกโต (หัว)[1]
  • ช่วยบำรุงกำหนัดหรือเพิ่มความต้องการทางเพศ ช่วยเพิ่มจำนวนของอสุจิ มีฤทธิ์เพิ่มความแข็งตัวของอวัยวะเพศ เช่นเดียวกับฤทธิ์ของซิลเดนาฟิล ซิเตรต (Sidenal Citrate) ของยาไวอากรา (Viagra) (หัว)[1],[2]
  • กวาวเครือแดงมีคุณสมบัติช่วยบำรุงหลอดเลือด ทำให้เลือดหมุนเวียน (หัว)[4]
  • ใบและรากกวาวเครือแดงช่วยทำให้นอนหลับและเสพติด (ราก, ใบ)[3]
  • ช่วยบำรุงสายตา (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
  • รากและต้นช่วยแก้โลหิต (ราก[1], ต้น[3])
  • รากช่วยแก้ลมอัมพาต (ราก[1], ต้น[3])
  • ช่วยแก้อาการปวดฟัน (เปลือก)[3]
  • ช่วยแก้ไข้ (เปลือก, ทั้ง 5 ส่วน)[3]
  • ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ทั้ง 5 ส่วน)[3]
  • ช่วยขับเสมหะ (เปลือก)[3]
  • ช่วยแก้อาการจุกเสียด แก้อาการลงท้อง แก้สะพั้น (ผล)[3]
  • ช่วยแก้ตัวพยาธิ (ผล)[3]
  • ช่วยแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย (หัว)[1]
  • เปลือกเถากวาวเครือแดงมีรสเย็นเบื่อเมา ช่วยแก้พิษงู (เปลือกเถา)[1]

กวาวเครือแดงจัดอยู่ในตำรับยาสมุนไพร “พิกัดเนาวโลหะ” ซึ่งประกอบไปด้วย รากกวาวเครือแดง รากขันทองพยาบาท รากทองกวาว รากทองพันชั่ง รากทองโหลง รากทองหลางหนาม รากทองหลางใบมน รากใบทอง และรากจำปาทอง โดยเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยแก้เสมหะ แก้ลม ลมที่เป็นพิษ ดับพิษ ช่วยชำระล้างลำไส้ สมานลำไส้ แก้โรคดี แก้โรคตับ แก้ริดสีดวงทวาร และขับระดูร้าย[1]

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ระบุว่ากวาวเครือแดงมีฤทธิ์เหมือนเอสโตรเจน ช่วยกดการทำงานของหัวใจ ทำให้หลอดเลือดหดตัว เพิ่มความดันโลหิต และช่วยกระตุ้นการหายใจ[3]

สำหรับสรรพคุณอื่น ๆ ของกวาวเครือแดง ซึ่งเป็นข้อมูลจากผู้จำหน่ายสมุนไพรกวาวเครือแดงสำเร็จรูป ได้แก่ ปรับสมดุลของฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone) ลดความอ้วน ลดไขมันในเส้นเลือด ช่วยรักษาโรคเส้นเลือดอุดตัน จึงช่วยรักษาโรคหัวใจบางชนิดได้ เพราะไปช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ช่วยทำให้ผมดกดำ[8] ทำให้ผมขาวกลับมาเปลี่ยนเป็นสีเทาและสีดำตามลำดับ

ช่วยบำรุงประสาทและสมอง ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ ช่วยเสริมสร้างแคลเซียมในการสร้างกระดูก ช่วยป้องกันโรคต่อมลูกหมากโต ป้องกันมะเร็งในต่อมลูกหมาก และยังช่วยลดเลือนริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่าหัวกวาวเครือแดงมีสาร Flavonoids (วิตามินพี) ในปริมาณสูง

ซึ่งมีประโยชน์ในด้านเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมการทำงานของหลอดเลือดในร่างกาย และช่วยต่อต้านเซลล์มะเร็ง (ซึ่งส่วนนี้ผู้เขียนยังหาข้อมูลทางวิชาการมาสนับสนุนไม่ได้ว่ามีสรรพคุณเช่นนั้นจริงหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่ากวาวเครือมีอยู่ด้วยกันถึง 4 ชนิด จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดการสับสนในเรื่องสรรพคุณและทำให้เข้าใจผิดได้ ดังนั้นคุณควรใช้วิจารณญาณกันเอาเองนะครับ)

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกวาวเครือแดง

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสมุนไพรกวาวเครือแดง มีฤทธิ์เหมือนเอสโตรเจน ช่วยกดการทำงานของหัวใจ ช่วยทำให้หลอดเลือดหดตัว เพิ่มความดันโลหิต และช่วยกระตุ้นการหายใจ[3]

จากการศึกษาทางเภสัชวิทยาของฤทธิ์ต่อระบบสืบพันธุ์ในสัตว์ทดลอง พบว่าหนูแรทตัวผู้ที่ได้รับกวาวเครือแดงในรูปแบบผงป่นละลายน้ำเข้มข้น 0.5 และ 5 มก./มล. ติดต่อกัน 3 สัปดาห์ พบว่าหนูแรทมีน้ำหนักตัวและปริมาณของอสุจิเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนหนูแรทที่ได้รับกวาวเครือแดงในรูปแบบสารสกัดเอทานอล พบว่าความยาวขององคชาติเพิ่มขึ้น ทำให้หนูมีพฤติกรรมการสืบพันธุ์เพิ่มมากขึ้น และเมื่อศึกษาต่อไปอีก 6 สัปดาห์

พบว่าหนูที่ได้รับกวาวเครือแดงแบบผงป่นละลายน้ำ มีน้ำหนักสัมพัทธ์ของ Seminal Vesicles ต่อมลูกหมาก ความยาวขององคชาติ และพฤติกรรมการสืบพันธุ์เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนูที่ได้รับกวาวเครือแดงในรูปของสารสกัดเอทานอล กลับมีน้ำหนักสัมพัทธ์ของ Seminal Vesicles ลดลง และเมื่อศึกษาไปในระยะยาวและในปริมาณของสารสกัดที่เพิ่มมากขึ้นก็พบว่าระดับฮอร์โมน Testosterone ลดลง และมีปริมาณเอนไซม์ตับเพิ่มขึ้น ดังนั้นการรับประทานในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้เกิดพิษต่อตับได้ (พิชานันท์ ลีแก้ว, 2553, โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ, จุลสารข้อมูลสมุนไพร)[1]

การศึกษาทางคลินิกของฤทธิ์ต่อระบบสืบพันธุ์ในอาสาสมัครที่มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศอย่างน้อย 6 เดือน เมื่อรับประทานกวาวเครือแดงแคปซูล (ในขนาด 250 มิลลิกรัมต่อแคปซูล วันละ 4 แคปซูล) เป็นระยะเวลา 3 เดือน พบว่าอาสาสมัครมีสมรรถภาพทางเพศที่ดีขึ้นสูงถึง 82.4% จึงกล่าวได้ว่ากวาวเครือแดงสามารถช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพทางเพศได้ และไม่พบการเกิดพิษแต่อย่างใด (พิชานันท์ ลีแก้ว, 2553, โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ, จุลสารข้อมูลสมุนไพร)[1]

การศึกษาพิษเรื้อรังของกวาวเครือแดง ได้มีการทดลองในหนูขาวพันธุ์วิสตาร์ทั้งตัวผู้และตัวเมียเป็นระยะเวลา 6 เดือน ผลการทดลองพบว่าการให้ผงกวาวเครือแดงขนาด 10 มก./กก. ต่อวัน พบว่าไม่มีพิษต่อค่าทางโลหิตวิทยา ค่าทางชีวเคมีและพยาธิสภาพของอวัยวะภายใน

ส่วนหนูทดลองที่ได้รับในปริมาณมากกว่า 100 มก./กก. ต่อวัน พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของค่าโลหิตวิทยา ค่าทางชีวเคมีและพยาธิสภาพของอวัยวะภายใน โดยเฉพาะในหนูทดลองที่ได้รับผงกวาวเครือขนาดสูงสุด (1,000 มก./กก. ต่อวัน) พบว่ามีระดับเอนไซม์ Aspartate aminotransferase, Alanine aminotransferase, Alkaline phosphatase และ bilirubin ซึ่งแสดงถึงการทำงานของตับเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ และจากการตรวจสอบทางจุลพยาธิก็พบว่าเกิดความผิดปกติในตับหนูอย่างมีนัยสำคัญ จากผลการทดลองจึงพบว่าการให้ผงกวาวเครือแดงในขนาด 250 มก./กก. ต่อวันหรือมากกว่านั้นจะทำให้เกิดพยาธิสภาพของอวัยวะภายในของหนูโดยเฉพาะที่ตับ[7]

ประโยชน์กวาวเครือแดง

มีการใช้กวาวเครือแดงเพื่อทำเป็นยาคุมกำเนิดสำหรับสัตว์[1]

ใบกวาวเครือแดงมีขนาดใหญ่มาก จึงสามารถนำมาใช้ห่อข้าวแทนใบตองได้[8]

มีการนำสมุนไพรกวาวเครือแดงมาทำเป็นแชมพู สูตรทำให้เส้นผมแข็งแรง ป้องกันการหลุดร่วงของเส้นผม ป้องกันผมหงอกก่อนวัย เนื่องจากกวาวเครือแดงเป็นสมุนไพรที่มีคุณสมบัติช่วยบำรุงหลอดเลือด ทำให้เลือดหมุนเวียนได้ดี จึงสามารถนำสารอาหารไปหล่อเลี้ยงรากผมได้ดี และเมื่อใช้ผสมกับสมุนไพรกวาวเครือขาวที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงเรื่องหนังศีรษะทำให้มีน้ำหล่อเลี้ยงแบบธรรมชาติ แถมยังช่วยลดอาการคันหนังศีรษะและรังแคอันเกิดจากหนังศีรษะแห้งได้อีกด้วย และเมื่อนำมาใช้ทำเป็นแชมพูก็จะยิ่งทำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว[4],[5]

ปัจจุบันมีการนำสมุนไพรกวาวเครือแดงไปผลิตหรือแปรรูปเป็นยาสมุนไพรอย่างหลากหลาย เช่น ครีมกวาวเครือแดง, สบู่กวาวเครือแดง, ยากวาวเครือแดง, เจลกวาวเครือแดง, กวาวเครือแดงแคปซูล, ครีมนวดกวาวเครือแดง เป็นต้น

คำแนะนำและข้อควรระวัง

กวาวเครือเป็นสมุนไพรที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ จึงถูกขึ้นบัญชีเป็นสมุนไพรควบคุมประกาศของกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2549 เพื่อจำกัดการครอบครองในกรณีที่ขุดจากป่าและเพาะปลูกเอง เมื่อขุดแล้วต้องปลูกทดแทน โดยผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยหรือหมอพื้นบ้าน (40-120 กิโลกรัม) หรือหน่วยงานศึกษาวิจัยต่าง ๆ (80-240 กิโลกรัม) โรงงานอุตสาหกรรม (400-1,200 กิโลกรัม) และสำหรับเกษตรกรหรือประชาชนทั่วไป (20-60 กิโลกรัม)

สามารถครอบครองสมุนไพรควบคุมดังกล่าวได้ในปริมาณตามที่ระบุไว้ในประกาศตาม พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บ. หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นการนำสมุนไพรกวาวเครือทุกชนิดมาใช้จึงต้องคำนึงถึงกฎหมายด้วย และควรได้รับการแนะนำจากแพทย์แผนไทย แม้ว่าปริมาณที่รับประทานจะปลอดภัยมากกว่ายาไวอากราก็ตาม[2]

ตามข้อกำหนดขององค์การอาหารและยาของประเทศไทย (อย.) ระบุขนาดการรับประทานสมุนไพรกวาวเครือแดงไม่ควรเกินวันละ 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน[1]

สำหรับผู้ที่เป็นโรคตับหรือโรคหัวใจไม่ควรรับประทาน หรือควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้สมุนไพรชนิดนี้[1]

ผลข้างเคียงกวาวเครือแดง ตามตำราสมุนไพรไทยระบุไว้ว่า กวาวเครือชนิดหัวแดงนี้มีพิษมาก ปกติแล้วจะไม่นิยมนำมาทำเป็นยาสมุนไพร เพราะการรับประทานในปริมาณมากเกินไปอาจจะทำให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้ เช่น อาจมีอาการมึนเมา มีอาการคลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น[1]

สมุนไพรกวาวเครือแดงมีพิษเมามากกว่าสมุนไพรกวาวเครือขาว[1]

การรับประทานกวาวเครือแดงในปริมาณที่มากเกินไปอาจจะทำให้เกิดพิษต่อตับ หรือทำให้เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ได้[1]

การรับประทานกวาวเครือแบบชง ตามตำรับยาพื้นบ้านของภาคเหนือ ระบุว่าให้รับประทานกวาวเครือแดงวันละ 2 ใน 3 ส่วนของเมล็ดพริกไทย หรือรับประทานเท่าขนาดของเมล็ดมะกล่ำใหญ่[6]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.
  2. มูลนิธิสุขภาพไทย.  “กวาวเครือแดงแรงฤทธิ์ ข่าวดีสำหรับบุรุษ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org.
  3. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.  สมุนไพรในร้านขายยา.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.msu.ac.th.
  4. กิจการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.  “กวาวเครือ ใช่แค่อึ๋มปึ๋งปั๋งยังบํารุงเส้นผม”.  (รศ.ดร.วิชัย เชิดชีวศาสตร์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.research.chula.ac.th.
  5. โรงเรียนมัธยมบึงปรือ.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: school.obec.go.th/mattayommb.
  6. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th.
  7. สถาบันวิจัยสมุนไพร.  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์.  “พิษเรื้อรังของกวาวเครือแดง”.  ทรงพล ชีวะพัฒน์, ปราณี ชวลิตธำรง, สมเกียรติ ปัญญามัง, สดุดี รัตนจรัสโรจน์, เรวดี บุตราภรณ์
  8. “กวาวเครือ ยอดสมุนไพรไทย”.  (สันยาสี).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.sanyasi.org.