กรุงเขมา สมุนไพรอุ่นรักษาโรคโลหิตจางและฟอกเลือด ดับพิษไข้

WM

ภาพจาก medthai

สรรพคุณและประโยชน์ของสมุนไพรกรุงเขมา(เครือหมาน้อย) เป็นยาอุ่นรักษาโรคโลหิตจางและฟอกเลือด

กรุงเขมา หรือ เครือหมาน้อย จัดเป็นสมุนไพรพรรณไม้เถาเลื้อยขนาดกลางเนื้อแข็ง ไม่มีมือเกาะ เลื้อยพาดพันตามต้นไม้อื่น ๆ ยาวได้ประมาณ 1 เมตร มีรากสะสมอาหารใต้ดิน มีขนนุ่มสั้นขึ้นปกคลุมหนาแน่นตามเถา กิ่ง ช่อดอก และใบ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดหรือเหง้า ชอบดินร่วนปนทราย มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย แอฟริกา และอเมริกา ในประเทศไทยพบขึ้นทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบขึ้นในป่าดิบ ป่าผลัดใบ และป่าไผ่ ตามริมแม่น้ำลำธาร ตั้งแต่พื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงความสูงประมาณ 1,100 เมตร ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนธันวาคม[1],[3],[4]

กรุงเขมา ชื่อสามัญ Icevine, Pareira barva[2]

กรุงเขมา ชื่อวิทยาศาสตร์ Cissampelos pareira L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cissampelos poilanei Gagnep., Cissampelos pareira var. hirsuta (Buch.-Ham. ex DC.) Forman) จัดอยู่ในวงศ์บอระเพ็ด (MENISPERMACEAE)[2],[3]

สมุนไพรกรุงเขมา (อ่านว่า กรุง-ขะ-เหมา) มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เปล้าเลือด (แม่ฮ่องสอน), หมอน้อย (อุบลราชธานี), สีฟัน (เพชรบุรี), กรุงเขมา (นครศรีธรรมราช), เครือหมาน้อย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ก้นปิด (ภาคตะวันตกเฉียงใต้), กรุงเขมา ขงเขมา พระพาย (ภาคกลาง), อะกามินเยาะ (มลายู-นราธิวาส), ยาฮูรู้ ซีเซิงเถิง อย่าหงหลง (จีนกลาง), วุ้นหมอน้อย, หมาน้อย เป็นต้น[1],[3],[4]

ใบกรุงเขมา ใบเป็นใบเดี่ยว มีหลายลักษณะ เช่น รูปหัวใจ รูปไต รูปกลม หรือรูปไข่กว้าง ออกแบบสลับ ก้นใบปิด ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4.5-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4.5-11 เซนติเมตร ปลายใบส่วนมากมนหรือเรียวแหลมหรือเป็นติ่งหนาม โคนใบกลมตัด หรือเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีขนนุ่มสั้นกระจายทั้งหลังใบและท้องใบ เส้นใบออกจากโคนใบเป็นรูปฝ่ามือ ก้านใบยาวประมาณ 2-9 เซนติเมตร มีขนนุ่มสั้นหรือเกือบเกลี้ยงติดอยู่ที่โคนใบห่างจากขอบใบขึ้นมาประมาณ 0.1-1.8 เซนติเมตร ใบอ่อนจะมีขนอ่อนนุ่มขึ้นปกคลุมทั้งสองด้านและตามขอบใบ แต่ขนจะร่วงไปเมื่อใบแก่[3]

ดอกกรุงเขมา ออกดอกเป็นช่อกระจุกสีขาว ดอกมีขนาดเล็กประมาณ 0.2-0.5 มิลลิเมตร ดอกเป็นแบบแยกเพศและอยู่ต่างต้นกัน ออกเรียงแบบช่อเชิงหลั่นมีขนาดเล็ก แต่ละช่อกระจุกจะมีก้านช่อดอกยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่ม ออกเป็นกระจุกเดี่ยว ๆ หรือ 2-3 กระจุกในหนึ่งช่อ โดยช่อดอกเพศผู้จะออกตามง่ามใบ ก้านช่อกระจุกแตกแขนง ยืดยาว ประกอบด้วยกระจุกดอกอยู่ตามง่ามใบประดับ

ใบประดับมีลักษณะกลมและขยายใหญ่ขึ้น ดอกเพศผู้เป็นสีเขียวหรือสีเหลือง ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร มีกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนขึ้นประปราย และมีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 1.25-1.5 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนยาวห่าง มีเกสรเพศผู้เชื่อมติดกัน อับเรณูยาวประมาณ 0.75 มิลลิเมตร ส่วนช่อดอกเพศเมียนั้นจะเป็นช่อคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ทรงแคบ ยาวได้ถึง 18 เซนติเมตร

โดยจะประกอบไปด้วยช่อดอกที่เป็นกระจุกติดแบบคล้ายเป็นช่อกระจะ แต่ละกระจุกจะอยู่ในง่ามของใบประดับ ใบประดับมีลักษณะกลม เมื่อขยายใหญ่ขึ้นจะยาวได้ถึง 1.5 เซนติเมตร มีขนขึ้นประปรายหรือมีขนยาวนุ่ม ก้านดอกย่อยของดอกเพศเมียจะยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร กลีบดอกมี 1 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับกว้าง โคนสอบ ยาวประมาณ 0.75 มิลลิเมตร และมีกลีบเลี้ยง 1 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับกว้าง ยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ไม่มีเกสรเพศผู้ปลอม เกสรเพศเมียมี 1 อัน ขนาดประมาณ 0.5 มิลลิเมตร มีขนยาวห่าง ก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยง และยอดเกสรเพศเมียจะแยกเป็น 3 พู กางออก[3]

ผลกรุงเขมา ผลเป็นผลสด มีก้านอวบใหญ่ ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมรีอยู่ตอนปลาย ผลเป็นสีส้ม เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือสีน้ำตาลแดง ภายในผลมีเมล็ดลักษณะโค้งงอรูปพระจันทร์ครึ่งซีกหรือรูปเกือกม้า ผิวเมล็ดขรุขระ มีรอยแผลเป็นของก้านเกสรเพศเมียติดอยู่ด้านข้าง มีขนสั้นนุ่ม ผนังผลชั้นในเป็นรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ด้านบนมีสันขวางประมาณ 9-11 สัน เรียงเป็น 2 แถว ชัดเจน[1],[3]

WM
ภาพจาก medthai

สรรพคุณของกรุงเขมา

  1. ทั้งต้นกรุงเขมามีรสขม ชุ่มหวานเล็กน้อย เป็นยาอุ่น ใช้เป็นยาฟอกเลือด กระจายเลือด แก้เลือดกำเดา (ทั้งต้น)[1] หรือใช้รากเป็นยาแก้โลหิต กำเดา (ราก)[3]
  2. เปลือกและแก่นเป็นยาบำรุงโลหิต (เปลือกและแก่น)[2] ลำต้นใช้เป็นยาบำรุงโลหิตสตรี (ลำต้น)[3]
  3. เนื้อไม้ใช้เป็นยารักษาโรคโลหิตจาง (เนื้อไม้)[2],[3]
  4. รากมีกลิ่นหอม รสสุขม ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ เป็นยาเจริญอาหาร เป็นยาบำรุง (ราก)[3] หมอยาไทยจะใช้รากนำมาทำให้เป็นผงละลายกับน้ำผึ้งกิน หรือขยี้กับน้ำ ดื่มเป็นยาอายุวัฒนะ รวมทั้งใช้รากเป็นส่วนประกอบในแป้งเหล้า โดยเชื่อว่าจะช่วยบำรุงร่างกาย (ราก)[7]
  5. ใช้เป็นยาสงบประสาท (ราก)[3]
  6. หมอยาไทยใหญ่จะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาลดความดันโลหิต ส่วนหมอยาพื้นบ้านบราซิลก็ใช้กรุงเขมาในสรรพคุณนี้เช่นกัน โดยใช้ราก ต้น เปลือก และใบนำมาต้มกิน เพื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูง (ทั้งต้น)[7]
  7. รากใช้เป็นยาลดระดับน้ำตาลในเลือด (ราก)[2]
  8. ตำรายาไทยจะใช้เป็นยาแก้ไข้ (เปลือกและแก่น, ราก, ทั้งต้น)[1],[2] รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ เป็นยาลดไข้ แก้ไข้มาลาเรีย ไข้ออกตุ่ม และแก้อาการไอ เจ็บคอ ไอเจ็บหน้าอก เป็นยาขับเหงื่อ (ราก)[3],[4],[7]
  9. ลำต้นใช้เป็นยาดับพิษไข้ทุกชนิด (ลำต้น)[2]
  10. ใช้เป็นยาแก้ร้อนใน (ใบ, ส่วนเหนือดิน)[3]
  11. ยาจีนจะใช้ทั้งต้นเป็นยาแก้ลมชื้น หรือโรคหัวใจ (ทั้งต้น)[1]
  12. รากใช้เป็นยาแก้โรคตา (ราก)[3] ส่วนลำต้นใช้เป็นยาพอกแก้ตาอักเสบ (ลำต้น)[3]
  13. ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้หืด (ใบ)[3]
  14. ใช้เป็นยาแก้ลม (ราก)[2],[3]
  15. ใช้เป็นยาขับเสมหะ แก้เสมหะ (ราก)[1],[2],[4]
  16. ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ (ราก)[2]
  17. เนื้อไม้ใช้เป็นยารักษาโรคปอด (เนื้อไม้)[2],[3]
  18. หมอยาไทยเลยจะใช้รากกรุงเขมานำมาต้มกินเป็นยารักษาระบบทางเดินอาหารในหลาย ๆ อาการ เช่น แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ, จุกท้อง, แก้ท้องบิด, ท้องเสีย, ท้องร่วง, ปวดท้อง, แก้เจ็บท้อง (อาการปวดเกร็งที่ท้อง), แก้กินผิด (อาการวิงเวียนศีรษะหลังกินอาหารบางชนิด), แก้ถ่ายเป็นเลือด[2],[3],[4],[7] บ้างว่าใช้เป็นยาระบาย ยาช่วยย่อย ยาถ่าย ใช้เคี้ยวแก้ปวดท้องและโรคบิด (ราก)[2],[3],[4]
  19. หมอยาพื้นบ้านในอเมริกาใต้จะใช้รากเป็นยาต้านอาการปวดเกร็งทั่วไป โรคลำไส้อักเสบ ใช้รักษาโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome – IBS) เป็นต้น[7]
  20. รากใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ขัดเบา ระบายนิ่ว แก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (ราก)[1],[2],[3],[4]
  21. ใช้เป็นยาบำรุงอวัยวะเพศให้แข็งแรง ช่วยรักษาโรคหนองใน (ราก)[3]
  22. ชนเผ่า Creoles ใน Guyana จะแช่ใบ เปลือก ราก ในเหล้ารัมเพื่อเป็นยาบำรุงสมรรถภาพทางเพศ (ราก, เปลือก, ใบ)[7]
  23. หมอยาไทยพวนจะใช้รากฝนกินกับน้ำเป็นยาแก้ปวดประจำเดือน แก้ไข้ทับระดู ช่วยปรับสมดุลของประจำเดือนให้เป็นปกติทั้งอาการที่มีประจำเดือนมากหรือน้อย ซึ่งคล้ายกับการใช้ของหมอยาพื้นบ้านในประเทศในแถบอเมริกาใต้และอเมริกาเหนือ โดยหมอยาเหล่านั้นจะใช้ เถา ราก ใบ และเปลือกของกรุงเขมาเป็นยาระงับอาการปวดทั้งก่อนคลอดและหลังคลอดบุตร ใช้รักษาอาการตกเลือดหลังคลอด ช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับระบบประจำเดือนของผู้หญิง เช่น อาการปวดประจำเดือน มีประจำเดือนมามากจนเกินไป อาการไม่สบายก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome – PMS) รวมไปถึงสิวที่เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน โดยมีความเชื่อว่าสมุนไพรชนิดนี้สามารถปรับสมดุลฮอร์โมนของเพศหญิงได้ (เถา, ราก, ใบ, เปลือก)[7]
  24. รากใช้เป็นยาขับระดู (ราก)[3] ต้น เปลือกและแก่นใช้เป็นยาแก้ระดูพิการของสตรี (ต้น, เปลือกและแก่น)[2]
  25. หมอยาไทใหญ่จะใช้รากของกรุงเขมาหรือเครือหมาน้อยนำมาต้มกินไปเรื่อย ๆ แทนยาคุมกำเนิด (แต่ไม่แนะนำให้ใช้ เพราะในปัจจุบันมียาคุมกำเนิดที่ดีอยู่แล้ว) (ราก)[7]
  26. ใช้เป็นยาแก้ถุงน้ำดีรั่ว ดีล้น ดีซ่าน (ราก, ทั้งต้น)[1],[3]
  27. ส่วนเหนือดินใช้เป็นยาแก้โรคตับ (ส่วนเหนือดิน)[3]
  28. ช่วยแก้อาการบวมน้ำ (ราก)[3]
  29. ใช้เป็นยาขับน้ำเหลืองเสีย (ราก)[3]
  30. รากและใบใช้เป็นยาพอกเฉพาะที่ แก้หิด โรคผิวหนัง (รากและใบ)[3] หมอยาพื้นบ้านจะนำใบมาขยี้ให้เป็นวุ้นใช้เป็นยาพอกรักษาฝี แก้หิด แก้ผดผื่นคัน รวมทั้งจากแมลงสัตว์กัดต่อย อาการแสบร้อนตามผิวหนัง อาการอักเสบของผิวหนัง พอกแผล แก้แผลมะเร็ง ช่วยลดอาการบวมตามข้อ (ใบ)[2],[3],[4],[6],[7]
  31. พ่อหมอประกาศ ใจทัศน์ ที่บ้านน้อมเกล้า จังหวัดยโสธร จะใช้รากฝนกับน้ำมะพร้าวให้กินแทนน้ำไปเรื่อย ๆ เพื่อรักษาประดงไฟ ซึ่งมีลักษณะอาการออกร้อนตามตัว หรือที่ภาษาแพทย์เรียกว่า Burning sensation (ราก)[7]
  32. ใช้เป็นยาห้ามเลือด สมานแผล (ทั้งต้น)[1] รากมีสรรพคุณเป็นยาสมาน (ราก)[3]
  33. ใช้เป็นยาแก้ปวด ในยาจีนใช้เป็นยาแก้ฟกช้ำดำเขียว แก้ปวดเอว ภายนอกใช้เป็นยาแก้ปวดบวม ฟกช้ำดำเขียว คล้ายกล้ามเนื้อ (ทั้งต้น)[1] ส่วนหมอยาพื้นบ้านจะใช้รากเป็นยาแก้ปวดเมื่อยตามตัว แก้ปวดหลังปวดเอว แก้บวม
  34. โดยจะฝนกินหรือต้มกินก็ได้ จะใช้เดี่ยว ๆ หรือใช่ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นก็ได้เช่นกัน ส่วนหมอยาพื้นบ้านชาวบราซิลจะใช้เป็นยาแก้ปวด แก้ไข้ (ราก)[2],[7] และหมอยาพื้นบ้านชาวอินเดียจะใช้การต้มใบและเถากินเป็นยาแก้ปวด (ใบและเถา)[7]
  35. ในอินเดียจะใช้กรุงเขมาเป็นยารักษาโรคธาตุอ่อน ทางเดินปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[1]

ในตำราโอสถพระนารายณ์ กรุงเขมาจัดเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งในตำรับยาสำหรับแก้เตโชธาตุพิการ ซึ่งประกอบไปด้วยโกฐสอ โกฐเขมา รากพิลังกาสา รากกรุงเขมา รากมะแว้งเครือ รากจิงจ้อใหญ่ ผลราชดัด ผลสรรพพิศม์ ผลสวาด ผลจันทน์เทศ จุกโรหินี มหาหิงคุ์ เทียนดำ และเทียนขาว อย่างละเท่ากัน นำมาทำเป็นจุลละลายกับน้ำนมโคหรือส้มมะงั่ว หรืออีกสูตรในตำรับยาแก้ลมอัมพาตหรือลมไม่เดิน

ด้วยการใช้รากกรุงเขมา 2 ส่วน, รากพริกไทย 2 ส่วน, ดีงูเหลือง 1 ส่วน และพิมเสน 1 ส่วน นำมาทำให้เป็นจุลละลายน้ำผึ้งรวงกินพอควร (ชยันต์ และคณะ, 2542) หรือในตำรายาโรคนิทาน ก็พบว่ามีการใช้สมุนไพรกรุงเขมาเป็นส่วนประกอบในตำรับยารักษาโรคหลายโรค เช่น โรคหัวใจ โรคเลือด อาการไอ จุกเสียด แน่นท้อง ท้องร่วง ริดสีดวง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นตำรับยาที่ประกอบไปด้วยสมุนไพรหลากหลายชนิด (เพ็ญนภา, กาญจนา, ม.ป.พ.)[5]

ขนาดและวิธีใช้

ใช้ทั้งต้น ยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือนำมาบดให้เป็นผง หรือนำยาสดมาตำพอกแผลตามที่ต้องการ (ถ้าใช้กรุงเขมาแบบไม่ได้สกัด ส่วนมากแล้วจะนิยมใช้เป็นยารักษาภายนอกมากกว่า)[1]

ข้อควรระวัง

ไม่ควรใช้สมุนไพรชนิดนี้กับสตรีตั้งครรภ์[7]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกรุงเขมา

รากมีปริมาณของอัลคาลอยด์สูง[2] สารที่พบ ได้แก่ สารจำพวกอัลคาลอยด์, Hayatinine, Hayatidine, Beburine, Cissamine, Cissampeline, Cissampareine, Pelosine, Sepurine, D-quescitol & Sterol, L-Beheerine เป็นต้น[1],[2],[3]

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบ ได้แก่ ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิตสูง ทำให้หัวใจเต้นช้าลง กดระบบทางเดินหายใจ กดระบบประสาทส่วนกลาง บำรุงหัวใจ ต้านฮิสตามีน ยับยั้งการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ต้านการชัก ม่านตาขยาย เพิ่มน้ำลาย ขับปัสสาวะ ต้านเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ต้านยีสต์ คลายกล้ามเนื้อ[2] มีฤทธิ์แก้ปวด แก้อักเสบได้ดี[7]

อัลคาลอยด์ Hayatine มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อและลดความดันโลหิต โดยมีฤทธิ์เทียบเท่ากับ d-tubercurarine ที่ได้จากยางน่อง ส่วน Cissampeline แสดงฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์[3]

เมื่อนำสาร Cissampareine ที่สกัดได้จากต้นกรุงเขมาขนาด 0.139 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม มาฉีดเข้ากล้ามเนื้อของกระต่ายทดลอง พบว่าสามารถทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตึงของกระต่ายคลายตัวได้ แต่ถ้านำมาฉีดเข้าในเส้นเลือดหัวใจของกระต่ายทดลองหรือหัวใจของกบที่แยกออกจากร่าง พบว่าสามารถช่วยกระตุ้นการเต้นของหัวใจให้แรงขึ้นได้ และไม่มีผลต่อความดันโลหิตของกระต่ายหรือกบ แต่ถ้านำมาใช้กับแมว พบว่ามีผลทำให้ความดันโลหิตลดลง[1]

จากการทดสอบความเป็นพิษ เมื่อฉีดสารสกัดจากใบและกิ่งกรุงเขมาด้วยน้ำ หรือแอลกอฮอล์เข้าช่องท้องของหนูถีบจักรทดลอง พบว่าขนาดต่ำสุดที่เป็นพิษคือ 1 มล./ตัว และเมื่อฉีดสารสกัดอัลคาลอยด์เข้าหลอดเลือดของหนูถีบจักร

พบว่าในขนาดที่สัตว์ทดลองทนได้คือ 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และเมื่อฉีดสารสกัดจากรากกรุงเขมาด้วยแอลกอฮอล์ต่อน้ำ ในอัตราส่วน 1:1 เข้าที่ช่องท้องหรือใต้ผิวหนัง พบว่าขนาด 10 กรัมต่อกิโลกรัม ไม่พบพิษ ส่วนพิษในกระต่ายพบว่าเมื่อฉีดสารสกัดด้วยน้ำเข้าหลอดเลือดในขนาด 0.4 กรัมต่อตัว ไม่พบพิษ[2]

เมื่อปี ค.ศ.1979 ที่ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นกรุงเขมาด้วยน้ำและแอลกอฮอล์ (1:1) ในสัตว์ทดลอง ผลการทดลองพบว่า สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองได้[2]

ประโยชน์ของกรุงเขมา

ในประเทศจีนจะใช้สารสกัดจากกรุงเขมาและดอกลำโพง นำมาฉีดให้คนไข้ที่ต้องผ่าตัดส่วนท้องหรือส่วนอก เพื่อทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว ซึ่งจะช่วยให้การผ่าตัดนั้นง่ายขึ้น[1]

ในปัจจุบันนิยมนำมาปลูกไว้ในครัวเรือน เพราะเป็นพืชปลูกง่าย ทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี จะปลูกลงดินให้เลื้อยกับไม้ใหญ่หรือทำค้างแบบปลูกถั่วก็ได้ เพราะสามารถเก็บผลผลิตมาขายเป็นอาหารพื้นบ้าน ใช้เป็นอาหารสัตว์ของโคกระบือ และนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ดี[6]

ใบนำมาคั้นเอาน้ำ เมื่อผสมกับเครื่องปรุงอาหารจะทำให้มีลักษณะเป็นวุ้น โดยใบกรุงเขมาจะมีสารเพกทินอยู่ประมาณ 30% (มีคุณสมบัติในการพองตัวอุ้มน้ำ) ถ้านำใบมาขยำกับน้ำ กรองเอากากออก เมื่อทิ้งไว้จะแข็งตัวเป็นวุ้น เรียกว่า “วุ้นหมาน้อย” สามารถนำมารับประทานเป็นอาหารได้ โดยนำใบมาประมาณ 20 ใบ ล้างน้ำให้สะอาด แล้วหาชามใบใหญ่ ๆ นำใบกรุงเขมามาขยี้กับน้ำ 1 แก้ว ขยี้ไปเรื่อย ๆ จะรู้สึกว่ามีเมือกลื่น ๆ มีฟองเล็กน้อย ขยี้ไปจนได้น้ำสีเขียวเข้ม

จากนั้นให้แยกเอากากออกแล้วกรองด้วยผ้าขาวบางเอาแต่น้ำไว้ (ระหว่างคั้นใบให้คั้นใบย่านางผสมลงไปด้วย ซึ่งจะช่วยให้วุ้นแข็งตัวเร็วขึ้น) หลังจากกรองได้น้ำแล้ว ก็นำไปปรุงอาหารคาวหรือหวานได้ ถ้าเป็นอาหารคาว จะมีการเติมตั้งแต่เนื้อปลาสุก ปลาป่น ปลาร้า ผักชี หัวหอม ต้นหอม ข่า ตะไคร้ พริก เกลือป่น ฯลฯ จากนั้นก็เทน้ำคั้นหมาน้อยลงในถาด พอทิ้งไว้ราว 4-5 ชั่วโมง จะได้วุ้นอาหารคาวรสแซ่บ ตัดวุ้นออกเป็นชิ้น ๆ ให้พอดีคำ จะเป็นอาหารรับลมร้อนที่ดีมาก ส่วนคนอีสานจะนิยมนำมาทำเป็นเมนู “ลาบหมาน้อย” [1],[3],[5],[6]

ถ้าจะทำเป็นของหวาน อาจคั้นเอาน้ำใบเตยผสมลงไปด้วย แต่งเติมด้วยน้ำเชื่อม น้ำกะทิ ถ้าให้ดีก็ผสมน้ำผึ้ง ทิ้งไว้ให้เย็น เมื่อได้วุ้นหวานเย็นนี้มาก็ให้หั่นเป็นชิ้น ๆ นำมาใส่กับน้ำแข็งน้ำหวาน ใช้ดื่มกินอร่อยนัก เป็นขนมหวานเลิศรสที่อร่อยและดีต่อสุขภาพ โดยจะมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรที่เหมาะกับฤดูร้อน เพราะให้รสเย็น ช่วยแก้ไข้ ลดความร้อนในร่างกาย อีกทั้งวุ้นหมาน้อยยังเป็นวุ้นธรรมชาติที่ให้เพกทินสูง จึงช่วยเพิ่มกากอาหารในลำไส้ ช่วยย่อย แก้ปวดท้อง แก้ร้อนใน ช่วยในการขับถ่าย ดูดสารพิษจากทางเดินอาหาร ลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคมะเร็ง ลดการดูดซึมของน้ำและไขมัน

จึงเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ส่วนผู้ที่ฟื้นไข้เมื่อได้รับประทานแล้วจะช่วยทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า เป็นต้น โดยกองโภชนาการ กรมอนามัย ได้มีการศึกษาคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะในส่วนของใบที่มีการนำมาแปรรูปเป็นอาหาร พบว่าใน 100 กรัม จะให้พลังงาน 95 กิโลแคลอรี, โปรตีน 8.5 กรัม, ไขมัน 0.7 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 13.6 กรัม, เบต้าแคโรทีน 6,577 ไมโครกรัม และวิตามินเอ 1,096 ไมโครกรัมอาร์อี (กองโภชนาการ กรมอนามัย)[1],[3],[5],[6]

ในด้านความงามก็สามารถนำใบมาทำเป็นสมุนไพรมาส์กหน้า บำรุงผิว แก้สิวได้ด้วย เพียงแค่เด็ดใบนำมาล้างน้ำ ขยี้ใบให้เป็นวุ้น ๆ แล้วนำพอกหน้า หลังพอกจะรู้สึกผิวหน้าเต่งตึงสดใสเปล่งปลัง รู้สึกเย็นสบาย ช่วยแก้อาการอักเสบและสิวได้ ในปัจจุบันจึงมีผู้นำไปผลิตเป็นเจลพอกหน้ากันแล้ว[6],[7]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “กรุงเขมา”.  หน้า 46.
  2. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “กรุงเขมา”.  หน้า 55-56.
  3. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “เครือหมาน้อย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.
  4. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กรุงเขมา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.
  5. หนังสือพิมพ์มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 417, วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2550.  “กรุงเขมา พืชป่ามหัศจรรย์ ณ แดนถิ่นอีสาน”.
  6. สมาคมเภสัชและอายุรเวชโบราณ แห่งประเทศไทย.  “วุ้นหมาน้อยหรือวุ้นจากต้นกรุงเขมา (Mha Noi Jelly) เครื่องดื่มและอาหารสุขภาพ คลายร้อน”.  อ้างอิงใน : มูลนิธิสุขภาพไทย.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.ayurvedicthai.com.
  7. ตำรับยา ตำราไทย.  “เรื่องน่ารู้ของเครือหมาน้อย กรุงเขมา : วุ้นธรรมชาติ ยาเย็น แก้ไข้ แก้ปวด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : thrai.sci.ku.ac.th.