กระสัง สมุนไพร วิตามินซีสูง ลดคอเลสเตอรอล รักษาโรคตาและต้อ

WM

ภาพจาก medthai

สรรพคุณและประโยชน์ของสมุนไพร กระสัง วิตามินซีสูง ลดคอเลสเตอรอล รักษาโรคตาและต้อ

กระสัง จัดเป็นสมุนไพรไม้ล้มลุก ลำต้นเปราะหักง่าย มีความสูงได้ประมาณ 15-30 เซนติเมตร ลำต้นและใบเป็นสีเขียวและอวบน้ำ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด พบขึ้นทั่วไปในเขตร้อนทั่วโลก ในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักขึ้นในแปลงผัก ตามสวน และตามสนามหญ้าทั่วไป[1] จัดเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง (การกำจัดและป้องกันสามารถใช้ได้ทั้งวิธีการเขตกรรม เช่น ถาก ถอน ทิ้งอยู่เสมอ และการใช้สารเคมีต่างๆ เช่น กรัมม็อกโซน มาร์เก็ต (ไกลโฟเซต), ดามาร์ค (ไกลโฟเลท), ทัชดาวน์ (ไกลโฟเซต, ไตรมีเซียมซอลต์) ฯลฯ[2]

กระสัง ชื่อสามัญ Peperomia, Shiny leave[2] และมีชื่อวิทยาศาสตร์ Peperomia pellucida (L.) Kunth จัดอยู่ในวงศ์พริกไทย (PIPERACEAE)[2] (ข้อมูลทั่วไปใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Peperomia pellucida Korth)

สมุนไพรกระสัง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักราชวงศ์ (แม่ฮ่องสอน), ผักกูด (เพชรบุรี), ผักสังเขา (สุราษฎร์ธานี), ผักฮากกล้วย (ภาคเหนือ), ผักกระสัง (ภาคกลาง), ชากรูด (ภาคใต้), ตาฉี่โพ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1]

ใบกระสัง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ โดยจะออกจากลำต้นในลักษณะตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลม โคนใบเว้าตื้น ส่วนขอบใบเรียบ มีต่อมโปร่งแสง แผ่นใบหนาเป็นคลื่นเล็กน้อย[1] ผิวใบด้านบนเป็นมัน ด้านล่างขุ่นและมีสีอ่อนกว่า ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-4 เซนติเมตร[2]

ดอกกระสัง ออกดอกเป็นช่อตามซอกและที่ปลายกิ่ง ช่อดอกเป็นสีเขียวอ่อนหรือสีครีม ช่อดอกจะออกบริเวณข้อตรงข้ามกับใบ เรียงโค้งขึ้น ประกอบไปด้วยดอกเล็ก ๆ ที่ไม่มีก้าน มีดอกย่อยจำนวนมากเวียนรอบแกน ดอกเป็นแบบสมบูรณ์เพศ ไม่มีทั้งกลีบดอกและกลีบเลี้ยง มีใบประดับดอกละ 1 ใบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 2 อัน อยู่ข้าง ๆ รังไข่ อับเรณูเป็นสีขาว ก้านชูอับเรณูสั้น เกสรเพศเมียมี 1 อัน รังไข่มีลักษณะกลม อยู่เหนือฐานดอก[1],[2]

ผลกระสัง ผลเป็นผลสด มีลักษณะกลม ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดเป็นสีดำทรงกลมและมีขนาดเล็ก[1],[2]

สรรพคุณของกระสัง

  • ในตรินิแดด (Trinidad) นิยมใช้สมุนไพรชนิดนี้เป็นยาเย็นสำหรับเด็ก (ใบ)[1]
  • ในบราซิลจะใช้สมุนไพรชนิดนี้เพื่อลดคอเลสเตอรอล (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[6]
  • ในมาเลเซียเชื่อว่า การรับประทานผักกระสังจะสามารถช่วยรักษาโรคตาและต้อ (glaucoma) ได้ (ใบ)[6]
  • ใบนำมาตำให้แหลกใช้เป็นยาแก้ปวดศีรษะ (ใบ)[1],[4]
  • ใบผักกระสังที่ทำให้แหลกแล้ว สามารถนำมาใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้อักเสบได้ (ใบ)[1],[4],[5]
  • ใบใช้รับประทานสด ๆ จะมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคลักปิดลักเปิดหรือโรคเลือดออกตามไรฟัน เนื่องจากมีวิตามินซีสูง (ใบ)[4],[6]
  • ใบนำมาตำขยำใช้แปะทาเม็ดที่เป็นใต้ราวนม เป็นยาแก้มะเร็งเต้านม (ใบ)[6]
  • น้ำคั้นจากใบใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง (ใบ)[1],[4]
  • ในกียานา (Guyana) จะใช้ผักกระสังเป็นยาขับปัสสาวะ ลดไข่ขาวในปัสสาวะ ส่วนในแถบแอมะซอนจะใช้เป็นยาขับปัสสาวะ หล่อลื่น แก้หัวใจเต้นผิดปกติ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[6]
  • ใช้เป็นยารักษาเริม ด้วยการนำต้นผักกระสังมาผสมกับขมิ้นและข้าวสาร (ฮูยงงูกุมาตอกูยิ) ตำให้ละเอียด แล้วนำมาพอกทิ้งไว้ 1 คืน (ต้นและใบ)[6]
  • ยาชงจากใบใช้เป็นยาแก้ชัก (ใบ)[1],[5]
  • ใบใช้ตำพอกฝีและแผล หรือคั้นเอาน้ำทาแผลฝีที่มีหนอง จะช่วยรักษาแผลฝีหนองได้ (ใบ)[1],[4],[5]
  • ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้พิษฝี หรือนำมาแช่น้ำทาแก้ผื่นคัน (ทั้งต้น)[3]

หมอยาพื้นบ้านบางคนจะกินผักกระสังเป็นยาแก้ปวดข้อ ซึ่งในประเทศฟิลิปปินส์จะมีการกินผักกระสังสด ๆ หรือนำมาต้มกินเพื่อรักษาโรคเกาต์ อาการปวดข้อ และข้ออักเสบ โดยการนำผักกระสังต้นยาวสัก 20 เซนติเมตร นำมาต้มกับน้ำ 2 แก้ว ให้เหลือประมาณ 1 แก้ว ใช้แบ่งรับประทานครั้งละครึ่งแก้ว เช้าและเย็น (ในปัจจุบันฟิลิปปินส์กำลังศึกษาวิจัยเพื่อใช้เป็นยารักษาโรคข้ออักเสบรวมทั้งโรคเกาต์จากการที่ผักกระสังสามารถลดปริมาณกรดยูริกในกระแสเลือด)

นอกจากนี้ชาวฟิลิปปินส์ยังใช้ทั้งต้นสดนำมาบดประคบฝีหรือตุ่มหนอง และโรคผิวหนังอื่น ๆ ซึ่งจากการศึกษาสมัยใหม่พบว่า ผักชนิดนี้มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านแบคทีเรียได้หลายชนิด ทั้งยังมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ ซึ่งจะช่วยกำจัดเนื้อตายทำให้ฝีแตกได้โดยง่าย (ต้นและใบ)[6]

ในโบลิเวียมีบันทึกที่มีอายุนานนับพันปีชื่อว่า “Altenos Indians Document” ซึ่งกล่าวไว้ว่า ผักกระสังทั้งต้นใช้บดผสมกับน้ำใช้กินเป็นยาห้ามเลือด ใช้ส่วนเหนือดินโปะแผล ใช้ส่วนของรากต้มกินเป็นยารักษาไข้ (ทั้งต้น)[6]

นอกจากนี้ในประเทศอื่น ๆ ยังมีการใช้ผักกระสังเป็นยารักษาอาการปวดท้อง ทั้งแบบธรรมดาและปวดเกร็ง รักษาฝี สิว หัด อีสุกอีใส แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แก้อาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ระบบประสาทแปรปรวน มีแก๊สในกระเพาะ ปวดข้อรูมาติก[6]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระสัง

มีรายงานการศึกษาที่พบว่า ผักกระสังมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง เชื้อแบคทีเรีย ต้านการอักเสบ แก้อาการปวด และไม่มีพิษภัย[6] โดยสารสกัดด้วยน้ำจากใบกระสังมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อ Micrococcus pyogenes Lehm. et Neum. var. aureus Huck. และเชื้อ Escherichia coli (Miq.) Cast. et Chalm.[1]

จากการศึกษาพบว่า ผักกระสังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและมีวิตามินสูง โดยใน 100 กรัมจะมีวิตามินสูงถึง 18 มิลลิกรัม ทางสถาบันวิจัยโภชนาการของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้พบว่าผักกระสังเพียง 100 กรัม จะมีเบต้าแคโรทีนประมาณ 285 ไมโครกรัม[6]

สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการวิจัยพบว่า ผักกระสังมีฤทธิ์เสริมสร้างและซ่อมแซมกระดูกส่วนที่สึกหรอได้[7]

WM
ภาพจาก medthai

ประโยชน์ของกระสัง

ต้นและใบใช้รับประทานเป็นผักสด โดยนำมาผัด ลวก หรือนึ่งเป็นอาหาร[1] หรือใช้ทำยำผักกระสัง ด้วยการนำผักมาหั่นเป็นชิ้นพอประมาณสัก 1-2 ทัพพี, กุ้งแห้ง 1-2 ช้อนโต๊ะ, น้ำมะนาว 1-2 ช้อนโต๊ะ, มะม่วงซอย 1-2 ช้อนโต๊ะ, แคร์รอตซอยฝอย ๆ 1-2 ช้อนโต๊ะ, ขิงซอย 1-2 ช้อนโต๊ะ, น้ำเปล่า 1-2 ช้อนโต๊ะ, น้ำตาลทราย 1-2 ช้อนโต๊ะ, พริกขี้หนูแห้งทอด พอประมาณ, ถั่วลิสงคั่ว พอประมาณ, หมูหยอง พอประมาณ, หัวหอมซอย พอประมาณ, โหระพาและสะระแหน่ไว้แต่งรส

จากนั้นรวมเครื่องปรุงทุกอย่างเข้าด้วยกัน แล้วปรุงรสตามใจชอบ เพียงเท่านี้ก็พร้อมรับประทานได้แล้ว[5] ส่วนยำผักกระสังอีกสูตรจะใช้ผักกระสัง 6 ช้อนคาว, เนื้อหมูสามชั้น 2 ช้อนคาว, หนังหมู 2 ช้อนคาว, กุ้งต้ม 2 ช้อนคาว, หอม 1 ช้อนคาว, กระเทียม 1 ช้อนคาว, ถั่วลิสง 1 ช้อนคาว, พริกชี้ฟ้าแดง 2 เม็ด, น้ำปลา, น้ำตาล และมะนาว

โดยขั้นตอนในการทำนั้นจะเริ่มจากการนำหมูและหนังหมูมาต้มให้พอสุก หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ยาวประมาณ 1 นิ้ว ซอยหอม กระเทียมตามยาวของกลีบ นำไปเจียวให้พอเหลือง

จากนั้นนำถั่วลิสงมาหั่นตามยาวเป็นฝอย ๆ พริกแดงให้ผ่าเอาเมล็ดออก ตัดเป็นสองท่อน แล้วหั่นตามยาวเป็นฝอย ๆ แล้วคลุกเครื่องปรุงข้างต้นเข้าด้วยกัน ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาล และมะนาวตามชอบใจ

แล้วจึงนำผักกระสังมาตัดรากทิ้ง เด็ดเป็นท่อนสั้น ๆ ล้างน้ำให้สะอาด ทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำ คลุกเคล้ากับเครื่องข้างต้นให้เข้ากัน แล้วจัดใส่จานพร้อมกับโรยหน้าด้วยหอมเจียวและพริกแดง เป็นอันเสร็จ (คู่มือการปรุงอาหารจากผักพื้นบ้านไทย, ยิ่งยง ไพสุขศานติวัฒนา)

ผักชนิดนี้มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงและถูกจัดว่าเป็นผักต้านมะเร็งชนิดหนึ่ง[6]

น้ำคั้นจากใบใช้ทารักษาสิว ทำให้สิวยุบเร็วขึ้น[6]

ผักกระสังเป็นสมุนไพรสำหรับผู้หญิงอีกชนิดหนึ่ง เพราะนอกจากจะใช้รักษาสิวได้แล้ว สาว ๆ ในสมัยก่อนยังใช้น้ำต้มจากผักชนิดนี้นำมาล้างหน้าบ่อย ๆ เพื่อเป็นการบำรุงผิวและทำให้ผิวหน้าสดใสอีกด้วย[6]

นอกจากนี้ยังมีการใช้ผักกระสังเป็นยาสระผม โดยนำใบมาขยำกับน้ำแล้วชโลมศีรษะให้ศีรษะเย็นเพื่อช่วยป้องกันผมร่วงและทำให้ผมนุ่ม เพราะผักชนิดนี้มีธาตุอาหาร มีความเป็นกรดอ่อน ๆ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อรา และเชื้อแบคทีเรีย[6]

ปัจจุบันมีการนำสมุนไพรชนิดนี้ไปผลิตเป็นสารสกัดเพื่อจำหน่ายในต่างประเทศ[6]

ข้อควรระวัง : สำหรับผู้ที่แพ้พืชที่มีกลิ่นฉุนประเภท Mustard (พืชเครื่องเทศทั้งหลาย) ไม่ควรรับประทานผักชนิดนี้[6]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กระสัง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.
  2. ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ผักกระสัง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : clgc.agri.kps.ku.ac.th.
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “Peperomia pellucida (L.) Humb., Bonpl. & Kunth”. อ้างอิงใน : หนังสือสารานุกรมสมุนไพร เล่ม 4 กกยาอีสาน หน้า 188. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.
  4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “กระสัง”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.
  5. วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานีน้อมรับพระราชดำริ, โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กระสัง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : rspg.svc.ac.th.
  6. กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. “เรื่องน่ารู้…ของผักกะสัง”. อ้างอิงใน : หน่วยปฏิบัติการวิจัยเคมีสารสนเทศ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dra.go.th.
  7. ผู้จัดการออนไลน์. “สมุนไพรไม้เป็นยา : กระสัง อีกหนึ่งสมุนไพรต้านมะเร็ง ซ่อมแซมกระดูก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.manager.co.th.